eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

หาดบ้าย  หาดทรายทอง  วิถีชีวิตบนเกษตรริมโขง

โดย น.ส. เครือมาศ ภักดีไพบูลย์ โปรมแกรมวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

บนดินแดนที่เรียกกันว่าทิเบตมีธารน้ำเล็กๆ สายหนึ่งก่อตัวขึ้นมาจากน้ำแข็งที่ปกคลุมอยู่บนที่ราบสูง ได้ละลายและค่อยๆ ไหลรวมกันจากหยดสู่หยดจนกลายมาเป็นธารน้ำที่มาบรรจบกันด้วยพลังมหาศาลของแรงโน้มถ่วงโลก  สายน้ำแห่งนี้ได้ไหลมาจากที่ที่ได้รับการเรียกขานว่า  “หลังคาของโลก”  ไหลมาบรรจบกับธารน้ำต่างๆ  ผ่านที่แห้งแล้งลัดเลาะตามหุบเขาจนเกิดเป็นแม่น้ำของ  หรือ  แม่น้ำโขง  โดยเริ่มต้นตั้งแต่จีน พม่า ไทย ลาว เขมร   และเวียดนาม  ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนถึง   6  ประเทศ  หรือถ้าจะตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก็มักคุ้นหูกับคำว่า  “ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”

ที่ราบลุ่ม  2  ฝั่งแม่น้ำโขงนับว่ามีหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย    จึงไม่แปลกที่จะมีผู้คนเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำโขง  บ้านหาดบ้ายถือเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มฝั่งแม่น้ำโขงทางด้านตอนเหนือของดอยหลวง  เป็นบ้านชายแดนระหว่างอำเภอเชียงของ-เชียงแสน  รวมทั้งชายแดนของประเทศไทยและลาวอันมีแม่น้ำโขงกั้นพรมแดน  เมื่อปี พ.ศ.2545  บ้านหาดบ้ายถูกแยกออกเป็นสองหมู่บ้านคือบ้านหาดบ้ายหมู่ 1 และบ้านหาดทรายทองหมู่ 8 ในเขตตำบลริมโขง  อำเภอเชียงของ  จังหวัดเชียงราย  โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองอำเภอเชียงของของประมาณ   36  กิโลเมตร  โดยมีถนนหมายเลข  1129  เป็นเส้นทางสายหลักตัดเลียบแม่น้ำโขงผ่านอำเภอเชียงของและเชียงแสน

ชาวบ้านบ้านหาดบ้าย  หาดทรายทอง  ดำเนินวิถีชีวิตสัมพันธ์กับธรรมชาติบนพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำโขงมาตั้งแต่บรรพกาลมาจนถึงปัจจุบัน  โดยมีวิถีแห่งการทำการเกษตร  หรือที่เรียกกันว่า  “เกษตรริมโขง”   กล่าวคือ เมื่อถึงฤดูกาลน้ำลดในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม นับเป็นช่วงเวลานาทีทองของบ้านหาดบ้าย และบ้านหาดทรายทอง  เพราะผืนดินริมโขงจะมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก  เนื่องจากในช่วงที่ผืนดินริมโขงจมอยู่ใต้น้ำ  ตะกอนและแร่ธาตุต่าง ๆ  ได้พัดพาทับถมบริเวณดังกล่าว เมื่อน้ำลดพื้นที่จึงเหมาะกับการเตรียมการทำการเกษตรริมโขงของชาวบ้าน  การเกษตรริมโขงจึงพึ่งพาปุ๋ยและสารเคมีในปริมาณที่น้อย  ช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูกให้กับชาวบ้านได้ดี  ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีความสำคัญต่อชาวบ้านหาดบ้ายและบ้านหาดทรายทอง  ในด้านเศรษฐกิจเนื่องจากได้รับผลิตผลทางการเกษตรที่ดี   สร้างความมั่นคงทางทรัพยากรและความมั่นคงทางอาหาร

สำหรับเรื่องระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินริมโขง  ชาวบ้านบอกว่ามีการจับจองมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่ได้บุกเบิกแผ้วถางและมีการสืบทอดกรรมสิทธิ์ในที่ดินรุ่นต่อรุ่นนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  กรณีที่ใครจับจองแล้วไม่ทำการเกษตรก็สามารถให้คนอื่นทำแทนได้  จะไม่มีการซื้อขายที่ดินใดๆ ทั้งสิ้น    

พืชที่นิยมปลูกและนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของบ้านหาดบ้าย  หาดทรายทอง  ได้แก่  ถั่วลิสง  ชาวบ้านบอกว่าจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อในราคาประมาณถังละ  70-80  บาท  ราคานี้จะไม่แน่นอน  ขึ้นอยู่กับราคาในตลาด  ถ้าราคาในตลาดสูงก็จะได้ราคาดี  เช่น  ถ้าตลาดรับซื้อถังละ  100  บาท  พ่อค้าคนกลางก็รับซื้อราคาประมาณถังละ  70-80  บาท  ขึ้นอยู่กับพ่อค้าแต่ละคนที่มารับซื้อ  ส่วนใบยาสูบเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ราคามั่นคงแน่นอน จึงสร้างความอุ่นใจให้กับชาวบ้านทำให้ชาวบ้านสามารถคำนวณต้นทุนและผลกำไรในการปลูกใบยาสูบได้ดีกว่าผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ   ใบยาสูบจะขายกันในกิโลกรัมละ 5 บาท  สำหรับข้าวโพดเป็นพืชที่ราคาไม่แน่ไม่นอน  บางปีราคาถูก  บางปีก็ราคาแพง  ราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ  2 บาท ถึงกิโลกรัมละ 5 บาท  ในการขายผลผลิตทางการเกษตร  พ่อค้าคนกลางจะโทรมาสั่งไว้ก่อนล่วงหน้าประมาณ 3 วัน  หรือไม่ก็มาดูผลผลิตเอง  มีการตกลงราคากันระหว่างพ่อค้าคนกลางกับชาวบ้าน   หลังจากนั้นก็จะจับจองผลผลิต  ระหว่างนั้นอาจมีการวางเงินจองผลผลิตไว้ก่อน (วางมัดจำผลผลผลิตทางการเกษตร)  เพื่อให้แน่ใจในการตกลงซื้อ-ขายผลผลิตทางการเกษตรต่อกัน  ระยะเวลาและจำนวนเงินในการตกลงกันในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับความพอใจทั้งสองฝ่ายที่จะกำหนดขึ้นมาเอง  เช่น  ตกลงขายถั่วลิสงให้จะมารับผลผลิตในระยะเวลา 2 วัน  วางมัดจำล่วงหน้าไว้  2,000  บาท  ถ้าไม่มาเอาภายใน  2 วันถือว่าโมฆะ  ชาวบ้านจะขายผลผลิตให้พ่อค้าคนอื่นก็ได้  แต่ส่วนมากแล้วจะไม่มีการผิดสัญญาเกิดขึ้น  นอกเสียจากว่าพ่อค้าที่จองผลผลิตจะไม่มาเอาจริงๆ  ในการทำสัญญาซื้อ-ขายผลผลิตทางการเกษตรในบ้านหาดบ้าย  หาดทรายทอง  จะเป็นสัญญาในการพูดคุยตกลงกันจะไม่มีลายลักษณ์อักษรเหมือนสัญญาทั่วไป  เพราะพ่อค้าและชาวบ้านต่างรู้จักกันดีเปรียบเสมือนญาติพี่น้องกัน  มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน  มีการค้าขายอย่างนี้มานับตั้งแต่เริ่มทำการเกษตรสมัยปู่ยา  ตายายมาแล้ว  และนี้ก็คืออีกหนึ่งของความภาคภูมิใจในการทำการเกษตร  ที่ถึงแม้จะไม่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ  แต่อาชีพเกษตรกรรมสามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์กับบุคลอื่นๆ และความสามัคคีของสมาชิกในหมู่บ้านหาดบาย  หาดทรายทอง ได้ดี  เห็นได้จากการบอกเล่าของชาวบ้านที่ว่าในการเก็บเกี่ยวผลผลิตในแต่ละครั้งก็จะมีการไปเอามือกัน (ภาษาเหนือเรียกเอามื้อ) และนี้ก็คือการทำเกษตรริมโขงของบ้านหาดบ้าย  หาดทรายทอง            

วิถีชีวิตดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลง เมื่อโครงการต่างๆ เริ่มทยอยจ่อคิวกันบนสายน้ำโขงที่กล่าวกันว่าเป็นการพัฒนาเพื่อทำให้สายน้ำโขงเป็นสายน้ำทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกษตรริมโขงที่ชาวบ้านหายบ้ายและหาดทรายทองค่อยๆ เลือนหายไปกับการพัฒนาที่เพิ่มขึ้น  เนื่องจากได้รับผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น   พ่อบุญมี  ธรรมวงศ์  แห่งบ้านหาดทรายทองก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ได้ทำเกษตรริมโขงเพื่อเป็นการเลี้ยงชีพมาตั้งแต่จำความได้ แต่ในปัจจุบันนี้กลับมีรายได้จากการทำเกษตรริมโขงลดน้อยลงทั้งที่เป็นรายได้หลักของครอบครัว  ซึ่งพ่อเล่าให้ฟังว่า  “ในอดีตนั้นน้ำโขงจะขึ้น-ลงตามฤดูกาล  เราก็จะรู้ว่าเดือนไหนควรหรือไม่ควรปลูกที่จะลงมือทำอะไร  แต่มาในปัจจุบันแม่น้ำโขงขึ้น-ลงผิดปกติ  ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิด-ปิดเขื่อนของจีนที่ต้องใช้น้ำในการล่องเรือส่งสินค้าช่วยในการขนส่งสินค้า  จึงทำให้การทำเกษตรริมโขงถูกน้ำท่วมหลังการเพาะปลูก ได้รับความเสียหายเนื่องจากกระแสน้ำขึ้น-ลงอย่างรวดเร็ว  แม้ว่าจะเป็นในช่วงฤดูแล้งก็ตาม  และยังมีการระเบิดแก่งที่เป็นอันตรายในการขนส่งสินค้าเพราะทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทางในการไหล  ส่งผลให้กระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งแล้วยังก่อให้เกิดการหายไปของที่ดอนที่ใช้ในการทำเกษตรริมโขงในช่วงน้ำลด  ในตอนนี้พื้นที่ที่ใช้ในการทำเกษตรริมโขงก็ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์เหมือนก่อน  เนื่องจากการท่วมประจำปีของแม่น้ำโขงที่จะนำพาตะกอนและแร่ธาตุต่างๆ  นั้นน้อยลง จึงทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรลดลง  ดังนั้นการทำการเกษตรริมโขงจึงจำเป็นต้องหันไปพึ่งพาปุ๋ยเคมีมากขึ้น” 

เกษตรริมโขงซึ่งเปรียบดังชีวิตและความมั่งคงทางอาหารของชาวบ้าน  บัดนี้ได้ถูกย่ำยีจากโครงการต่างๆที่อ้างว่าคือการพัฒนา ปัจจุบันนี้เกษตรริมโขงได้หายใจอย่างเบาบางลงพร้อมๆ กับลมหายใจของชาวหาดบ้ายและหาดทรายทอง  แท้ที่จริงแล้วควรเป็นเช่นนี้หรือ? 

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา