eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

Siphandon …วิถีในภาพถ่าย

เรื่อง/ ภาพ แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา จากสำนักพิมพ์ทางช้างเผือก

  
รูปภาพชาวประมงกำลังหาปลาจากหลี่ ในบริเวณน้ำตกคอนพะเพ็ง หลี่ผี
และดอนสะฮองที่กระแสน้ำมีความแรงมากกว่าน้ำตกไนแองการาถึง 2 เท่า

มหานทีอันกรากเชี่ยวกลางคลื่นแหลมคมของผาหินสูงตระหง่าน ในกระแสน้ำที่ถั่งโถมบ้าคลั่งนี้ คือจุดหมายของชาวประมงที่มุ่งมาหาปลาในเสี้ยวอันตราย ขณะที่คนไทยรู้จักสี่พันดอน-คอนพะเพ็ง-หลี่ผีในภาพแหล่งท่องเที่ยวอันยิ่งใหญ่ของประเทศลาว ‘สุเทพ กฤษณาวารินทร์’ กลับเป็นผู้เยือนที่ก้าวลึกลงสู่ห้วงวิถีของชาวประมง ใช้ชีวิตนับปีร่วมเสี่ยง ร่วมรู้สึก ร่วมบันทึก เพื่อเก็บภาพเกือบ 30 ภาพนำมาเสนอสู่สังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ

สุเทพเล่าว่าแม้จะเคยเดินทางเลียบแม่น้ำโขงมาแล้วตั้งแต่ยูนานจนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เรียกได้ว่าได้เห็นแม่น้ำโขงมาเกือบตลอดสาย แต่กลับประทับใจเป็นพิเศษกับสภาพภูมิศาสตร์ของสี่พันดอน หรือแม่น้ำโขงในช่วงไหลออกจากเมืองจำปาศักดิ์ ที่จะเริ่มแตกออกเป็นหลายสายเกิดเกาะแก่งมากมายในอาณาบริเวณ 15 กิโลเมตร เมื่อลำน้ำเหล่านี้ไหลทอดมาถึงสุดแนวประเทศลาวมาปะทะแนวเทือกเขาพนมดงรัก น้ำโขงจะถูกบีบให้แคบลงแล้วไหลโค้งหนีแนวเทือกเขาไปทางทิศตะวันตกเพื่อรวมตัวกันก่อนจะไหลราบเรียบลงสู่แผ่นดินกัมพูชา ลักษณะที่แม่น้ำโขงยุบตัวลงเป็นโตรกผาสูงอย่างฉับพลันนี้ได้ก่อให้เกิดน้ำตกที่ยิ่งใหญ่หลายแห่ง เช่นที่ คอนพะเพ็ง รวมทั้งกลุ่มน้ำตกแก่งหลี่ผี บริเวณที่มีการอพยพผ่านของปลาถึง 30 ตันต่อชั่วโมง และเป็นพื้นที่หากินอันน่าอัศจรรย์ของชาวประมง

“หลี่เป็นเครื่องมือหาปลาของชาวประมงกลางลำน้ำขนาดใหญ่ มันเป็นวิธีการจับปลาที่ไม่แค่เสี่ยงอันตราย แต่มันเป็นวิธีพิเศษที่ไม่เคยเห็นที่ไหนในโลก เรื่องนี้มันน่าจะเป็นเรื่องที่บอกเล่าสู่โลกภายนอก” สุเทพ พูดถึงแรงบันดาลใจแรกที่ดึงดูดให้เขาให้เข้าไปถ่ายภาพในพื้นที่เหล่านั้น

จนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในการประชุมนานาชาติเรื่อง “เขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก – เสียงประชาชนข้ามพรมแดน” ชุดภาพ Siphandon อันทรงพลังที่ฉายชัดถึงความสัมพันธ์ของคนหาปลา เครื่องมือประมง และสายน้ำโขงของสุเทพ ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

สุเทพกล่าวว่าตลอด 20 ในฐานะช่างภาพอาชีพที่ต้องการจะนำปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมมาสะท้อนสู่สาธารณะด้วยภาพถ่าย งานชุดนี้ที่เริ่มขบคิดหาทางเข้าไปถ่ายภาพมาตั้งแต่ในปี 2000 จนมาแล้วเสร็จในปี 2004 ไม่ได้เป็นแค่ความภาคภูมิใจ แต่ยังคาดหวังว่าจะสร้างผลกระทบไปถึงชาวประมงที่เขาถ่ายภาพมาด้วย

โดยภาพถ่ายของสุเทพได้แสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ สัตว์น้ำ และชีวิตคนหาปลาได้อย่างงดงามและเปี่ยมพลัง แต่ข้างหลังภาพสุเทพกลับซุกซ่อนภาพอีกด้านหนึ่งไว้อย่างตรงกันข้าม เป็นการวิพากษ์ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ผลกระทบต่อระบบนิเวศปลายน้ำ และชีวิตของชาวประมงที่หาเช้ากินค่ำ และพยายามจะวิ่งตามให้ทันกระแสการบริโภคที่ลุกคืบเข้าไปในวิถีชีวิต

โดยเฉพาะประเด็นที่สุเทพและชาวประมงเป็นห่วงอย่างมาก คือ ผลกระทบจากเขื่อนตอนบนของจีนที่ทำให้น้ำขึ้น-น้ำลงผิดปกติ แปรปรวนฤดูกาลอพยพของปลา และการลดลงของปริมาณปลาที่จับได้ในแต่ละปี แล้วในพื้นที่สี่พันดอนหรือลาวตอนใต้ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่แพ้โตนเลสาบ มีปริมาณปลาเป็นอันดับสอบรองจากโตนเลสาบ เป็นจุดเชื่อมต่อของปลาอพยพและจุดวางไข่ที่สำคัญที่สุดในแม่น้ำโขง ดังนั้นเขื่อนเพียงเขื่อนเดียวในพื้นที่เหล่านี้ก็เพียงพอที่จะทำลายวงจรชีวิตของพันธุ์ปลาในน้ำโขง และชีวิตวัฒนธรรมให้สูญสิ้นได้แล้ว

จากการทำงานในพื้นที่นานนับปี สุเทพเล่าถึงการปะทะทางความคิดระหว่างชาวประมงกับเขื่อนในน้ำโขงว่า “ชาวประมงเองก็รู้ว่าถ้ามีเขื่อนเขาจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เขารู้ในสามัญสำนึกของเขาว่า ถ้าสร้างเสร็จตรงนี้ก็จับปลาไม่ได้อีกต่อไป ปลาจะหมดไป แต่เนื่องจากลาวยังเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ เขารู้แต่เขาพูดอะไรไม่ได้ ...ถามว่าเขาทำอะไรได้ไหม เขาก็บอกว่าเขาทำอะไรไม่ได้ บางคนก็คิดไปถึงขั้นที่ว่าดีซะอีกจะได้ไฟใช้ฟรี ไปพูดกันในหมู่บ้าน แต่ก็ไม่มีประเทศไหนในโลกให้คุณใช้ไฟฟรีหรอก ไม่เคยเห็น  …ภาพที่ดอนสะฮองผมเน้นเป็นพิเศษอีกที่หนึ่ง เพราะนี่จะเป็นเขื่อนแรกในลำน้ำโขงตอนล่าง ผมคิดว่ามันเป็นคีย์เมสเสจที่สำคัญที่สุด คือ ถ้าเขื่อนแรกสร้างได้ เขื่อนอื่นก็จะตามมาอีกเป็นพรวน ...รูปภาพพวกนี้อาจเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เล็กๆ เรื่องหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้”

เขื่อนดอนสะฮอง เป็นเขื่อนหนึ่งใน 6 แห่งของรัฐบาลลาวและกัมพูชา กั้นแม่น้ำโขงที่บริเวณน้ำตกคอนพะเพ็ง ในเขตสี่พันดอนทางตอนใต้ของลาวใกล้ชายแดนกัมพูชา มีกำลังผลิต 240 เมกะวัตต์ โดยในปี 2549 รัฐบาลลาวได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท เมกะเฟิรสท์คอร์ป ของมาเลเซีย เงินลงทุนราว 10,000 ล้านบาท วางแผนที่จะก่อสร้างเขื่อนให้แล้วเสร็จในปี 2553 ล่าสุดรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแล้วเสร็จ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยแก่สาธารณะ

ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนแขนงหนึ่งที่ทำงานอยู่ท่ามกลางมรสุมทางการเมือง วิกฤตด้านมนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อม สุเทพมองการทำงานของช่างภาพต้องมีการปรับตัว

“ในโลกมันมีผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ รัฐหรือบริษัทใหญ่ๆ ที่มีอำนาจมากกว่า เรียกว่าผู้กระทำ แล้วก็มักจะไม่ยุติธรรมต่ออีกฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมว่าบทบาทของสื่อแน่นอนล่ะที่คุณจะต้องให้เนื้อหาที่ครอบคลุม เป็นประโยชน์ และไม่โอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ตอนนี้ผมมองว่าสื่อไม่ถึงกับจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการนำเสนอแบบโบราณ ขณะที่การทำให้คนทั่วไปรับรู้มีความจำเป็นอยู่ในระดับหนึ่ง แต่การที่จะนำเรื่องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแล้วก็มีผลกระทบน่าจะสำคัญกว่า เพราะคุณเอาเรื่องออกมาจากพื้นที่ที่คุณไปถ่ายทำ เหมือนกับไปขุดทองที่เขามีออกมา แต่คุณให้ประโยชน์กลับไปที่เขาแค่ไหน คุณพยายามแค่ไหนที่จะช่วยเขาสามารถเก็บสิ่งที่อยากเก็บตรงนั้นไว้ได้ ช่างภาพสารคดีที่ดีต้องแสดงออกถึงการเป็นผู้สังเกตที่รู้ผิดรู้ชอบต่อสังคมด้วย” สุเทพ พูด

ภาพถ่ายเชิงสารคดี ชุด Siphandon สุเทพนำไปจัดแสดงงานมาแล้วในกัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน และฝรั่งเศส ภาพถ่ายของเขาถูกใช้ตามองค์กรท้องถิ่นและองค์กรนานาชาติเกี่ยวกับการรณรงค์และการศึกษาเพื่อปกป้องและอนุรักษ์แม่น้ำโขง เช่น กองทุนสัตว์ป่าโลก, the International Rivers Network และ มูลนิธิฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรณรงค์เกี่ยวกับผลกระทบของการสร้างเขื่อนในประเทศลาวและกัมพูชา ในปี 2008 สุเทพได้รับรางวัล Days Japan International Photojournalism Award และ National Press Photographers Association (NPPA) หรือสมาคมช่างภาพและผู้สื่อข่าวของอเมริกา รวมทั้งภาพสารคดีแม่โขงของเขายังได้รับการสนับสนุนจากองค์กร Blue Earth Alliance เพื่อใช้ในการเผยแพร่เพื่อปกป้องและอนุรักษ์ลุ่มน้ำโขงต่อไป

โดยการแสดงครั้งล่าสุดที่กรุงพนมเปญ ร่วมกับ NGO Forum ประเทศกัมพูชา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ขณะที่การหาพื้นที่สาธารณะเพื่อแสดงงานในกรุงเทพกลับไม่ได้รับการตอบรับจากเอกชนเท่าที่ควร

สุเทพแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “คนกัมพูชาคิดว่าเขื่อนดอนสะฮองจะสร้างผลกระทบอย่างหนักให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำในโตนเลสาบและระบบนิเวศปลายน้ำ แต่กับน้ำโขงในความรู้สึกของคนกรุงเทพฯ คนในเมือง หรือคนไทยส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าน้ำโขงอยู่ไกลตัว ทั้งที่จริงเราใช้ทรัพยากรจากแม่โขงอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว ข้าวที่เรากินก็มาจากน้ำของแม่น้ำโขง พลังงานส่วนหนึ่งที่เราใช้ก็มาจากน้ำโขงอยู่ดี มันมีส่วนที่เราได้ประโยชน์จากน้ำโขง”

สุเทพทิ้งท้ายถึงสิ่งที่อยากจะสื่อสารถึงสังคม “งานชิ้นนี้เราคิดว่ามันน่าจะช่วยก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง การที่เราเกิดมามีอาชีพเป็นศิลปิน เราคิดว่าภาพถ่ายมันเป็นทัศนะ มันเป็นภาพที่ดี ที่มีพลัง มันจะทำให้คนเห็นแล้วสะเทือนใจและคิดตามได้มากกว่าแค่คำพูด เราจะพยายามเอามันออกมาให้มันใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดในพื้นที่สาธารณะ ให้คนทั่วไปได้รู้ได้เห็นธรรมชาติที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วถ้าเขายิ่งรู้ว่าสิ่งนี้มันกำลังจะหายไป เขาจะคิดอย่างไร เขาจะคิดว่าเขาจะต้องมีส่วนช่วยในการรักษาหรือเปล่า ...โดยเฉพาะถ้ามันสามารถเข้าถึงคนที่อยู่ในระดับนโยบาย เพื่อให้เขาได้เห็นแล้วคิดใหม่ ไม่ใช่หลับหูหลับตาทำอะไรในแผนที่เท่านั้น”

 

“เราควรเริ่มตระหนักได้แล้วว่า รัฐบาลของเราจะไปทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ ไม่ว่าในประเทศตัวเอง หรือในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรร่วมกันของโลก ในยุคนี้เรามองเรื่องการเมืองหรือเรื่องมนุษยธรรมแล้วต้องมองเรื่องสิ่งแวดล้อมที่น่าจะสำคัญกว่าด้วย เพราะมันมีผลกระทบมหาศาลไม่ใช่ต่อคนๆ เดียว เราต้องเริ่มตรวจสอบรัฐบาลตัวเอง ในการที่จะไปทำโครงการอะไรบ้าบอคอแตก จริงๆ แล้วได้ประโยชน์กับใคร เรื่องพลังงานก็น่าจะมามองในเรื่องพลังงานชีวภาพ หรือการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากกว่า” สุเทพพูด


สุเทพ กฤษณาวารินทร์ กับการแสดงผลงานภาพถ่ายชุด Siphandon
หน้าอาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2551


รูปภาพของ ท้าวสำเนียง คำไบ ที่ยังคงใช้ชีวิตในเขตสี่พันดอน
ด้วยการจับปลาซึ่งเป็นสถานที่ที่อันตรายมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก


รูปภาพเกล็ดปลาบนในหน้าของท้าวมา คำพูทอน
ขณะกำลังทำปลาแห้งไปขายในตลาดในช่วงปลาอพยพเดือนมิถุนายน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา