eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เรื่องเล่าจากสายน้ำ: พาไป “เล่นคำ” ที่......ปากชม

 จันทรา ใจคำมี
โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต

รุ่งสางของวันใหม่หลังจัดการกับภารกิจในบ้านเสร็จสิ้น ขบวนรถซิ่งหรือรถอีแต๊ก ซึ่งเป็นภาษาถิ่นของชาวบ้านปากชมใช้เรียกรถไถนาดัดแปลงให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย คุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งใช้บรรทุกผลผลิตทางการเกษตร สิ่งของเครื่องใช้ บรรทุกคน และใช้สูบน้ำ วันนี้ได้นำพาเจ้าของพร้อมอุปกรณ์เครื่องใช้ในการลง “เล่นคำ” เป็นภาษาถิ่นของชาวบ้านอำเภอปากชม จังหวัดเลย เรียกการขุดหาทองคำหรือร่อนทองคำในแม่น้ำโขง

รถซิ่งแล่นออกจากชายคาบ้านมุ่งสู่ท้องน้ำโขง ที่แปลสภาพแวดล้อมโดยรวมเป็นดอนทรายขนาดใหญ่ ที่มีแก่งหินสลับกับแอ่งน้ำขังที่ชาวบ้านเรียกว่า “บุ่ง” ที่มีต้นพืชชนิดไม้พุ่มขึ้นเขียวชอุ่ม เช่น ต้นไคร้ หลายชนิด ปะปนรวมทั้งพืชธรรมชาติที่ชาวบ้านใช้เป็นอาหาร เช่น ต้นผักคาดนา ผักเผ็ดช้าง ที่ชาวบ้านนำมากินกับแจ่วบอง ยามลงเล่นคำริมแม่น้ำโขงได้อย่างเอร็ดอร่อยหรือที่ชาวบ้านทางภาคอีสานพูดกันว่า แซบอีหลีเด้อ

ส่วนสายน้ำโขงที่เป็นร่องน้ำลึกยามหน้าแล้ง จะเหลือเพียงร่องน้ำที่มีขนาดเล็กและไหลแรง ไม่เหลือผืนน้ำอันกว้างใหญ่ในช่วงฤดูน้ำหลากไว้ให้เห็นเลย

จุดหมายปลายทางของเจ้าม้าเหล็กอย่างรถซิ่งได้นำพาเจ้าของมาถึงริมร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง ที่ชาวบ้านได้อาศัยประสบการณ์ทีมีสั่งสมมาหลายชั่วอายุคนในการค้นหาจุดที่คาดว่า จะมีทองคำและที่แปวเดือนห้าแห่งนี้คือขุมทรัพย์ที่ชาวบ้านกำลังค้นหา

แปวเดือนห้า หมายถึง บริเวณที่น้ำไหลเชี่ยวแรงมากในเดือนห้า หรือเดือนเมษายน เป็นสถานที่เล่นคำหรือร่อนทองของชาวบ้านปากเนียม สงาว และโนนสวรรค์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย เป็นบริเวณร่องน้ำลึกที่อยู่ติดเขตของบ้านก้อนคำ แขวงเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ท่ามกลางแดดอันร้อนระอุของฤดูร้อน ภาพที่เห็นเบื้องหน้าคือคนกลุ่มหนึ่งกำลังขะมักเขม้นออกแรงขุดหาขุมทรัพย์ใต้พื้นพิภพ ที่มาพร้อมกับสายน้ำทับถมผสมปนเปอยู่กับดิน หิน ทราย มาช้านาน

ขุมทรัพย์นี้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของสังคมมนุษย์นั่นก็คือ “ทองคำ” ทุกช่วงเวลาของการลดลงของแม่น้ำโขงถึงจุดต่ำสุดเหลือเพียงร่องน้ำเล็ก ๆ แต่ไหลเชี่ยวแรง บริเวณริมขอบฝั่งแม่น้ำโขงจึงเป็นจุดขุดค้นหาทองคำของชาวบ้าน

ภาพที่เห็นเบื้องหน้าชาวบ้านพากันขุดเป็นหลุมลึกประมาณ ๑-๓ เมตร ใช้ถังน้ำวิดน้ำออกให้แห้งหรือบางคนก็ใช้เครื่องสูบน้ำออกและเก็บหินก้อนใหญ่ออกทิ้ง ตักเอาขึ้นมาเพียงทรายหยาบกับทรายละเอียดที่คาดว่าจะมีเกล็ดทองคำผสมอยู่ขึ้นมา นำไปร่อนเอาทรายหยาบออกเหลือเพียงทรายละเอียด ที่มีเกล็ดทองปนอยู่นำใส่ไว้ในภาชนะที่มีตาข่ายตาถี่สีฟ้าที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดรองไว้อีกชั้นหนึ่ง โดยใช้มือกวักน้ำไล่ให้เกล็ดทองคำลงไปในภาชนะ

อุปกรณ์ที่ใช้เล่นคำหรือร่อนทองชาวบ้างเรียกว่า “บ้าง”ทำจากไม้ท่อนที่มีขนาดใหญ่นำมาคว้านให้ได้รูปทรงคล้ายกะทะก้นแหลม การที่นำทรายที่มีทองคำผสมอยู่ใส่ใน “บ้าง” แล้วนำไปร่อนด้วยน้ำในแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกขั้นตอนนี้ว่า “เล่นคำ”

ขั้นตอนต่อไปคือการ “เนียงคำ”เป็นวิธีการ แยกทองคำออกจากทรายละเอียด โดยใช้สารปรอทคลุกเคล้ากับทรายละเอียดที่มีเกล็ดทองคำผสมอยู่ แล้วนำไปร่อนกับน้ำอีกครั้ง เอาทรายละเอียดออกเหลือแต่ปรอทที่เป็นตัวดูดยึดแร่ทองคำไว้  แล้วนำไปแยกปรอทออกจากทองคำ โดยใช้ผ้าเนื้อบางกรองเอาปรอทออกบิดรัดให้เป็นก้อนกลม ๆ ปรอทจะไหลลงในภาชนะที่รองรับปรอทไว้ใช้ในครั้งต่อไป ส่วนเนื้อทองก็จะรวมตัวกันเป็นก้อนกลม โดยมีสารปรอทเคลือบอยู่ด้านนอก

ทองคำที่ได้จากการเล่นคำ มี ๒ ชนิด คือ ทองคำที่เป็นเกล็ดละเอียด ที่ต้องนำไปผ่านกระบวนการเนียงคำด้วยปรอท ให้เป็นก้อนกลม และทองคำที่มีเกล็ดขาดใหญ่ ที่ชาวบ้านเรียวกว่า “คำเสี้ยน หรือทองเสี้ยน” ที่ไม่ต้องผ่านการเนียงคำหลังจากร่อนด้วยน้ำเอาทรายหยาบออกจะสามารถมองเห็นทองเสี้ยน ชาวบ้านจะหยิบแยกออกมาใส่ไว้ในขวดขนาดเล็กต่างหาก สามารถนำไปขายได้เลย โดยไม่ต้องทำการแยกสารปรอทออกจากทอง

ในแต่ละวันชาวบ้านจะได้ทองคำจากการเล่นคำมีขนาดประมาณเมล็ดถั่วดำหรือบางคนก็จะเก็บไว้ก่อนให้ได้ปริมาณมาก ๆ ก่อนค่อยทำการ “เนียงคำ” บางคนก็จะเก็บรวมกันไว้ ๔-๕ วันแล้วค่อยเนียงคำครั้งหนึ่งก็จะได้ทองคำหลาย ๆ ก้อน

การจะได้ทองคำก้อนใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับโชคช่วยด้วย หากชาวบ้านพบแหล่งที่มีทองคำไหลมากองรวมกันในจุดเดียวมากก็จะร่อนทองได้มากหากพบทองคำอยู่แบบกระจายก็จะได้ก้อนขนาดเล็ก
เมื่อได้ทองคำที่มีสารปรอทเคลือบอยู่ ก็มาถึงขั้นตอน “การบาทอง” คือวิธีการนำความร้อนมาช่วยแยกสารปรอทออกจากเนื้อทองคำ เพื่อนำไปขาย โดยอาศัยเครื่องมือจากพ่อค้าที่มารับซื้อทองหรือร้านขายทอง

การนำทองคำออกขายของชาวบ้านมี ๒ วิธีคือ มีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน โดยทำการ “บาทอง” ให้ถึงในหมู่บ้าน ส่วนอีกวิธีหนึ่ง ชาวบ้านจะนำก้อนทองคำไปให้ร้านทอง “บาทอง” ให้แล้วขายทองให้กับร้านทองเลย

นางมีชัย ไพรสน  ชาวบ้านหาดเบี้ย อำเภอปากชม จังหวัดเลย เล่าให้ฟังว่า “ขายทองให้กับร้านทองจะได้ราคาดีกว่าขายให้กับพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้านหากขายให้กับร้านทองจะได้ในราคากรัมละ ๑,๐๐๐ บาทแต่ถ้าขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อจะได้กรัมละ ๙๐๐-๙๕๐ บาท ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเก็บทองไว้ให้ได้หลาย ๆ ก้อนก่อน อาจจะ ๒๐-๓๐ ก้อนถึงจะนำออกขาย หรือรอดูราคาทองก่อนหากได้ในราคาที่พอใจแล้วถึงจะขาย”

การเล่นคำของชาวบ้านจะเป็นเพียงช่วยระยะเวลาอันสั้นคือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน มีรายได้อยู่ระหว่าง ๓๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ บาท ขึ้นอยู่กับโชคที่มากับความขยันขันแข็งความร่วมมือกันของคนในครอบครัว ที่จะช่วยกันเล่นคำ ซึ่งเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการทำอาชีพหลักคือการทำเกษตรริมโขงหรือดอนโขงและเกษตรบนภูเขา แต่ชาวบ้านอำเภอปากชมแห่งนี้ยังคงมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ต่างจากท้องถิ่นอื่นที่อาศัยช่วงเวลานี้พักเอาแรงรอฤดูฝนมาเยือนแล้วเตรียมลงมือปลูกพืชผลทางการเกษตรอีกรอบปีหนึ่ง

แม้จะมีงานให้ทำตลอดทั้งปี แต่ชาวบ้านยังมีวัฒนธรรมในการหยุดทำงานในทุกวันพระ โดยเป็นการรักษาประเพณีอันดีงานของท้องถิ่นเอาไว้ ทุกวันพระชาวบ้านจะพากันไปทำบุญตักบาตรที่วัด ซึ่งถือเป็นโอกาสในการหยุดพักการทำงานไปด้วย

เมื่ออาทิตย์เริ่มอัสดง ขบวนรถซิ่งหรือรถอีแต๊กก็จะพากันกลับคืนสู่ชายคาบ้าน พร้อมกับความอิ่มเอมใจของชาวบ้าน แม้ร่างกายจะเหนื่อยล้าจากการเล่นคำ แต่ก็มีต้นทุนสำรองไว้รอเวลานำออกจำหน่าย เอาเงินมาจุนเจือครอบครัวในช่วงฤดูแล้ง ที่ถือว่าเป็นช่วงว่างงานของชาวชนบทในทุก ๆ ปี และเป็นช่วงเวลาพักผ่อนของชาวบ้านส่วนใหญ่ ที่ว่างเว้นจากการเก็บผลผลิตทางการเกษตรออกขายที่เป็นรายได้หลักของแต่ละครัวเรือน ที่มีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงและเสี่ยงต่อการขาดทุนหากผลผลิตไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่การเล่นคำของชาวบ้านใช้ต้นทุน เพียงน้ำมันใส่รถซิ่งกับซื้อสารปรอท

แม่เกย ไชยนนท์ ชาวบ้านปากเนียม เล่าฟังว่า “เราซื้อปรอทจากร้านทองหรือจากพ่อค้าที่มาซื้อทองบาทละ ๕๐ บาท ใช้ได้ ๒-๓ ปี ส่วนน้ำมันรถซิ่งใช้บรรทุกของและคนมารวมทั้งใช้สูบน้ำวันละประมาณ ๑๐๐ บาท บงวันก็ยังเหลือไว้ใช้วันต่อไป ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนขุดด้วยจอบ เสียม วิน้ำออกจากบ่อบางคนก็ใช้ถังวิดน้ำไม่ใช้เครื่องสูบเอาน้ำออก รายได้ต่อวันก็ประมาณ ๕๐๐-๑๐๐๐ บาทก็ถือว่าคุ้ม เมื่อเทียบกับว่าเป็นช่วงว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา”

รายได้จากการเล่นคำของชาวบ้าน จึงถือเป็นทุนสำรองของชาวบ้านในการที่จะใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และยังเป็นทุนในการนำไปใช้ในการทำเกษตรริมฝั่งโขงและ เกษตรบนภูเขาของชาวบ้านในฤดูกาลทำไร่ทำนาในช่วงฤดูฝนที่เป็นอาชีพหลักของคนในท้องถิ่น ส่วนการเล่นคำถือเป็นรางวัลจากธรรมชาติที่มอบให้กับผู้คนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างของไทยแห่งนี้มาอย่างยาวนาน.......

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา