eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“แก่งคุดคู้” ความสัมพันธ์ระหว่างคนเชียงคานกับน้ำโขง

โดยอนุชิต สิงห์สุวรรณ นิสิตฝึกงานมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

“แก่งคุดคู้” แก่งหินขนาดใหญ่ที่ทอดตัวขว้างลำน้ำโขงในช่วงที่ไหลผ่านอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ด้วยสภาพธรรมชาติที่ประกอบด้วยกลุ่มก้อนหินสีดำขนาดมหึมา ในยามที่น้ำไหลกระทบจะก่อให้เกิดเสียงดังสนั่น และกระแสน้ำวนที่เชี่ยวกราดแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ หลายคนที่มาเยือน ณ.ที่แห่งนี้เกิดคำถามขึ้นในใจว่าใครกันหนอช่างสรรค์สร้างสิ่งนี้ให้กับโลก?

คนเชียงคานในอดีตก็เกิดความสงสัยในความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้เช่นเดียวกันจึงได้สร้างตำนาน “จึ่งคึงดังแดง” ขึ้นมาเพื่ออธิบายความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของน้ำโขงในบริเวณนี้ ตามตำนานได้กล่าวว่า

นานมาแล้วมีนายพรานชาวลาวคนหนึ่งชื่อตาจึ่งคึง นายพรานผู้นี้มีรูปร่างสูงใหญ่ มีจมูกสีแดงใบโต ซึ่งรูจมูกนั้นกว้างมากในยามที่ตาจึ่งคึงนอนหลับเด็กๆได้แอบเข้าไปเล่นสะบ้าในรูจมูก จึงมีคำกล่าวเป็นภาษาเลยว่า “จึ่งคึงดังแดง นอนตะแคงจุฟ้า เด็กน้อยเล่นสะบ้าอยู่ในฮูดัง”

ตาจึ่งคึงเป็นผู้มีความสามารถในการล่าเนื้อป่า(สัตว์ป่า)และเนื้อน้ำ(สัตว์น้ำ) ความเก่งกาจของเขาเป็นที่เลื่องลือไปไกลในทั่วสารทิศ บ่ายวันหนึ่งในขณะที่ตาจึ่งคึงกำลังหาปลาอยู่ริมแม่น้ำโขงได้แลไปเห็นควายเงินตัวใหญ่มากินน้ำอยู่ฝั่งตรงข้าม ด้วยความปรารถนาที่อยากจะกินเนื้อควายสีเงินตัวนี้ ตาจึ่งคึงจึงซุ่มดักยิงควายเงินอยู่ที่พุ่มไม้ริมน้ำ ในระหว่างที่เขากำลังเหนี่ยวไกลปืนได้มีเรือสินค้าแล่นมาจากทางใต้ ควายเงินเห็นเรือสินค้าเกิดตกใจวิ่งหนีเข้าป่า ตาจึ่งคึงจึงยิงพลาดเป้า ด้วยความโกรธพ่อค้าที่เป็นเหตุให้เขาไม่สามารถล่าควายเงินได้ ตาจึ่งคึงจึงยิงปืนไปที่ภูเขาลูกหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมน้ำฝั่งลาวเพื่อระบายความโกรธ ด้วยความแรงของกระสุนปืนทำให้ยอดเขานั้นขาดหวิ่นไป ซึ่งในเวลาต่อมาภูเขาลูกนี้จึงได้ชื่อว่า “ผาแบ่น” และหมู่บ้านในฝั่งไทยที่อยู่ตรงข้ามก็ถูกเรียกว่า “บ้านผาแบ่น” (แบ่น หมายถึง เล็ง)

ไม่เพียงเท่านี้ตาจึ่งคึงได้หาวิธีที่จะทำให้เรือสินค้าไม่รบกวนการล่าสัตว์ของเขา โดยตาจึ่งคึงได้นำก้อนหินจากภูเขามากั้นลำน้ำไว้ เณรน้อยเห็นดังนั้นจึงคิดว่าถ้าหากตาจึ่งคึงนำหินมากั้นน้ำโขงได้สำเร็จคง จะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนและสัตว์ที่อาศัยน้ำโขงในการดำรงชีพและเป็นเป็นเส้นทางสัญจรไปมา เณรน้อยจึงได้ออกอุบายให้ตาจึ่งคึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นไม้คานใช้ในการหาบก้อนหิน เพราะการทำเช่นนี้จะใช้เวลาน้อยกว่าถือหินไปที่ละก้อน ตาจึ่งคึงหลงเชื่อกลอุบาย จึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นไม้คานหาบก้อนหิน ในระหว่างที่หาบไปนั้นไม้คานเกิดหัก ความคมของไม้คานซึ่งเป็นไม้ไผ่ได้บาดคอตาจึ่งคึงถึงแก่ความตาย ร่างของตาจึ่งคึงนอนตายในลักษณะคุดคู้ บริเวณที่เขานำก้อนหินมากั้นน้ำไว้จึงได้ชื่อว่า “แก่งคุดคู้”

ส่วนควายเงินในเวลาต่อมาได้ตายลงชาวบ้านได้นำเนื้อส่วนหนึ่งมาผ่าแบ่งกัน บริเวณที่ชาวบ้านนำเนื้อควายมาผ่าแบ่งกันนั้นได้ชื่อว่า “ห้วยน้ำปาด”(ปาด หมายถึง ผ่าหรือตัด) อยู่ในเขตอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

ส่วนซากควายเงินทีเหลือนั้นได้กลายเป็นภูเขาใหญ่อยู่บริเวณทางทิศใต้ของแก่งคุดคู้มีชื่อว่า “ภูควายเงิน”

ตำนานเรื่องนี้นอกจากจะเป็นการอธิบายความเป็นมาของสถานที่ต่างๆของคนในชุมชนท้องถิ่นแล้ว ยังบอกถึงวิถีชีวิตของผู้คนผูกพันกับสายน้ำเส้นนี้มาตั้งแต่ครั้งอดีต

เมื่อประมาณก่อนทศวรรษที่ ๒๕๒๐ ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากสภาพธรรมชาติของแม่น้ำโขงในบริเวณแก่งคุดคู้ในการหาอยู่หากิน  แม่น้ำโขงนับตั้งแต่แก่งคุดคู้ลงไปทางทิศตะวันออกจนถึงอำเภอปากชมจะเต็มไปด้วยเกาะแก่งหินมากมาย ซึ่งนอกจากแก่งคุดคู้แล้วยังมีแก่งฟ้า แก่งจันทร์เป็นแก่งที่สำคัญอีกด้วย สภาพระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนของแก่งเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของปลา และสัตว์น้ำนานาชนิด ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มลดเผยให้เห็นบรรดาเกาะแก่งต่างๆมากมาย ซึ่งชาวบ้านได้ใช้เกาะแก่งเหล่านี้เป็นพื้นที่ในการหาปลา

พ่อคำ วงศ์วันได้บอกเล่าเกี่ยวกับการหาปลาว่า “ยามน้ำขึ้นมันไม่มีที่จับปลา มันจับปลาลำบากน้ำมันเยอะ หลังช่วงปีใหม่ไปน้ำมันเริ่มลด มันเห็นหินเห็นแก่งซึ่งเราต้องใช้เป็นที่ในการปักเบ็ด กางมอง วางทุ่นตามคก ตามหิน

“อีกอย่างหนึ่งช่วงหน้าแล้ง น้ำลดมันมีแต่ปลาใหญ่ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้เริ่มมีปลาใหญ่แล้ว ปลานี้ก็มีปลาจก ปลาคัง ปลาเคิ้ง ปลากดแก้ว ช่วงหน้าน้ำนี้เราไม่หาปลามันหายาก ปลามันขึ้นน้ำอื่นไปวางไข่หมด”

ด้วยการที่เมืองเชียงคานมีปลาอยู่มาก และรสชาติดีจึงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปทั้งชุมชนที่อยู่ในบริเวณริมน้ำโขง และชุมชนที่อยู่ลึกเข้าไปในบริเวณแม่น้ำสาขา เมื่อชาวเชียงคานจับปลาน้ำโขงได้ก็จะนำมาแปรรูปเป็นปลาร้า ปลาส้ม ปลาจ่อม ปลาแห้งไว้กินในครัวเรือน และนำเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นที่อยู่ไกลแม่น้ำโขงออกไป โดยใช้เส้นทางหลักในการสัญจรแลกเปลี่ยนสินค้าคือ “แม่น้ำเลย” แม่น้ำสาขาที่สำคัญของแม่น้ำโขงในบริเวณนี้

นอกเหนือจากชาวบ้านจะจับปลาจากแม่น้ำโขงที่มีอยู่อย่างบริบูรณ์เพื่อการดำรงชีพแล้ว
ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี ชาวบ้านจะมาจับจองที่ดินบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อปลูกฝ้าย ซึ่งฝ้ายจากริมแม่น้ำโขงนี้เองที่ชาวบ้านนำมาทักทอเป็นผ้าฝ้าย และนำมาทำเป็นผ้าห่มนวมอันขึ้นชื่อของเมืองเชียงคาน

แก่งคุดคู้ และวิถีชีวิตของคนเชียงคานเริ่มเปลี่ยนแปลงจาก “ยุคหาอยู่หากินเป็นยุคหาซื้อหาขาย” ในช่วงประมาณทศวรรษ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา เมื่อมีนายทุนเหมืองแร่เข้ามาจับจองที่ดินริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณแก่งคุดคู้ การเข้ามาของนายทุนได้ทำให้ชาวบ้านไม่มีที่ดินในการปลูกฝ้ายเหมือนเช่นเคย และนอกจากนี้นายทุนได้สร้างบ้านพักและได้ตัดถนนเข้าสู่ตัวแก่ง ซึ่งได้ทำให้ความงดงามตามธรรมชาติของแก่งคุดคู้เป็นที่ประจักษ์แก่คนภายนอก

เมื่อมีคนภายนอกเข้ามาเที่ยวชมมากขึ้น ชาวบ้านน้อยชุมชนบริเวณใกล้เคียงจึงได้ช่วยกันตัดต้นไม้ ถางหญ้าปรับปรุงพื้นที่ และได้ทำอาหาร เครื่องดื่มมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว เป็นต้นว่า ส้มตำ กุ้งเต้น ถั่วลิสงคั่ว น้ำมะพร้าว น้ำอ้อย ฯลฯ ในเวลาต่อมาทางราชการมีความเห็นที่จะพัฒนาแก่งคุดคู้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด จึงได้เข้ามาดำเนินการในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิเช่น ร้านจำหน่ายสินค้า จุดชมวิว ลานจอดรถ ห้องน้ำ เป็นต้น

นอกจากนั้นในบริเวณนี้มีมะพร้าวอยู่เป็นจำนวนมากทางกรมพัฒนาชุมชนจึงเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านทำมะพร้าวแก้วขาย ซึ่งสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นอย่างมาก ในช่วงน้ำลดเดือนตุลาคม-เมษายนเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ชาวบ้านจะมีรายได้ประมาณเดือนหลายพันบาท โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีรายได้ถึงวันละ ๗,๐๐๐-๘, ๐๐๐บาทต่อคน

อาชีพที่ทำรายได้ให้กับชาวบ้านอีกอย่างคือ การขับเรือนำเที่ยวล่องแม่น้ำโขง ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ขับเรือนี้ในอดีตคือพรานปลาผู้คุ้นเคยกับแม่น้ำมาเป็นอย่างดี ซึ่งนับตั้งแต่แก่งคุดคู้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นต้นมาพรานปลาเหล่านี้ได้หาปลา และขับเรือควบคู่กันไปด้วย โดยรายได้จากการขับเรือในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้ถึงวันละ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ บาทต่อคน

ไม่เพียงแต่ชาวบ้านเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวของแก่งคุดคู้ ภายในเมืองเชียงคานได้มีร้านอาหาร โรงแรม ที่พักหลายแห่งไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มาชื่นชมความงามของสถานที่แห่งนี้ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแก่งคุดคู้ต่อเศรษฐกิจชุมชนเมืองเชียงคานได้เป็นอย่างดี

ในปัจจุบันน้ำโขงเมืองเชียงคานได้ซ่อนภาวะวิกฤตหลายอย่างอันเกิดจากการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนบน การขึ้นลงของระดับน้ำโขงที่ผิดปกติได้ส่งผลกระทบวิถีชีวิตคนเชียงคานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวไม่อาจคาดการณ์ฤดูกาลท่องเที่ยวแก่งคุดคู้ตามสภาพธรรมชาติเช่นเดิม ซึ่งได้ทำให้นักท่องเที่ยวผิดหวังเมื่อมาเที่ยวชม ชาวบ้านมีรายได้ลดลงจากเดิม ร้านอาหาร ที่พักเริ่มเงียบเหงา

แม่วรรณ เครือทองศรีได้เล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “น้ำโขงเดี๋ยวนี้มันขึ้นเร็ว ลงเร็วไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนช่วงหลังปีใหม่ไม่นานมันไม่ลดไปต่ำขนาดนั้น แต่เดี๋ยวนี้ลดต่ำลงมาก บางวันเขาปล่อยน้ำมามันก็มา คนที่เคยมาเที่ยวเขาแปลกใจ พ่อค้า แม่ค้าที่เคยค้าขายขึ้นอยู่กับน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติก็เดือดร้อนไปด้วย ถ้าเขามาทำอะไรกับแก่งเหมือนที่เคยทำกับด้านเหนือน้ำ คนเชียงคานคงอยู่ไม่ได้ คนเข้ามาเที่ยวเขาก็มาดูหินดูแก่ง ไม่มีหินไม่มีแก่งจะดูอะไร คนเชียงคานจะทำอย่างไร”

ทุกวันนี้แก่งคุดคู้สถานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างคนเชียงคานกับแม่น้ำโขงมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันได้มีลมหายใจที่แผ่วเบาลง และในไม่ช้าคงจะหมดลมหายใจไปพร้อมๆกับคนเชียงคาน!

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา