eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ข้อสังเกตและข้อกังวลต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี
จากเอกสารโครงการที่เกี่ยวข้อง

 

โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต Living River Siam
นำเสนอในการประชุมรับฟังความคิดเห็น อ.เชียงของ จ.เชียงราย
22 มกราคม 2554

            โครงการเขื่อนไซยะบุรีซึ่งเข้าสู่กระบวนการแจ้งและปรึกษาหารือ (PNPCA) ตามข้อตกลงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พบว่ายังมีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการต่อสาธารณะน้อยมาก อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเอกสารที่มีการเปิดเผยทางเว็บไซต์ www.mrcmekong.org พบข้อสังเกตหลักๆ บางประการดังนี้

ผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง
            พบว่าเอกสารโครงการยังมีการศึกษาหรือระบุถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงน้อยมาก โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในลุ่มน้ำโขง ซึ่งตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปีที่ผ่านมาชุมชนริมแม่น้ำโขงโดยเฉพาะในภาคเหนือของประเทศไทยมีบทเรียนแล้วจากผลกระทบข้ามพรมแดน หลังจากมีการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนคือ ความผันผวนของระดับน้ำที่ผิดธรรมชาติ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปลา การประมง และวิถีชีวิตของชุมชน
            ข้อกังวลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งควรมีการศึกษาเพิ่มเติม หรือเปิดเผยต่อสาธารณะ ได้แก่

  • การไหลของน้ำที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการสร้างเขื่อนแลผลิตกระแสไฟฟ้า
  • ระดับน้ำที่จะผันผวนขึ้นลงผิดธรรมชาติ เมื่อเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า
  • ตะกอนที่จะถูกกักเก็บในอ่างเก็บน้ำ ผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรริมน้ำเมื่อจะปริมาณตะกอนลดลง และการพังทลายของตลิ่ง
  • ระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนที่จะถูกทำลาย อาทิ แก่ง วังน้ำลึก หาดทราย สันดอน ร่องน้ำลึก
  • การรักษาสมดุลย์ระบบนิเวศแม่น้ำ (environmental flow) เมื่อมีเขื่อน จะจัดการอย่างไร

ข้อเสนอ: ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดในประเด็นระบบนิเวศ ทั้งฐานข้อมูลระบบนิเวศแม่น้ำโขง ณ ปัจจุบัน ก่อนมีเขื่อน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการสร้างเขื่อน
ผลกระทบต่อพันธุ์ปลาและการประมง
            เอกสารโครงการยังมีการศึกษาในประเด็นพันธุ์ปลาน้อยมาก ทำให้องค์ความรู้เรื่องพันธุ์ปลามีอย่างจำกัด และไม่สามารถหามาตรการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้
            ข้อกังวลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งควรมีการศึกษาเพิ่มเติม หรือเปิดเผยต่อสาธารณะ ได้แก่

  • “ทางปลาผ่าน” หรือบันไดปลาโจน ยังไม่มีความชัดเจน เพียงแต่ระบุไว้ลอยๆ ไม่สามารถรับรองได้ว่าจะใช้ได้จริงหรือไม่ กับพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงที่มีความหลากหลายทั้งสายพันธุ์ ขนาด พฤติกรรม การอพยพ แหล่งอาศัยและวางไข่ บทเรียนที่ล้มเหลวพบได้จากกรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งบันไดปลาโจนที่สร้างขึ้นมาไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อการแก้ปัญหาผลกระทบต่อปลาและการประมง
  • หากปลาสามารถอพยพผ่าน “ทางปลาผ่าน” ขึ้นไปทางตอนบนได้จริง จะลงมาสู่ทางตอนล่างของเขื่อนได้อย่างไร
  • อ่างเก็บน้ำของเขื่อนจะเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขงให้กลายเป็นน้ำนิ่ง แล้วจะส่งผลกระทบต่อการอพยพของปลาอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อมีเขื่อนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากแบง เขื่อนปากชม
  • ไม่มีการระบุถึงมูลค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อการประมง และการชดเชยความเสียหายนั้น
  • ไม่มีการศึกษาผลกระทบเชิงสังคมต่อชุมชนริมน้ำซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาการหาปลาในแม่น้ำโขงเพื่อการดำรงชีพและรายได้
  • การบริหารอ่างเก็บน้ำและเขื่อนเมื่อมีการผลิตกระแสไฟฟ้า จะจัดการอย่างไรให้ไม่เกิดผลกระทบต่อปลาและการประมง

ข้อเสนอ: ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดในประเด็นพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง ซึ่งจำเป็นต้องมีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งมีองค์ความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับพฤติกรรมของปลา ทั้งการอพยพ แหล่งอาศัยและวางไข่ อาหาร ทั้งนี้ควรใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้ครบวงจรฤดูกาล ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศและพฤติกรรมของปลา

ผลกระทบต่อการเดินเรือ
เอกสารโครงการยังมีการศึกษาในประเด็นผลกระทบต่อการเดินเรืออย่างจำกัด ไม่มีการระบุถึงความเสียหายต่อการเดินเรือของชาวบ้านซึ่งเป็นเรือขนาดเล็กที่ใช้สัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านและหาปลา ข้อกังวลและคำถามได้แก่

  • เรือหาปลาหรือเรือขนาดเล็กของชาวบ้านจะสัญจรผ่านเขื่อนโดยใช้ช่องทางเรือ (ship log) อย่างไร ใครจะเป็นผู้ดำเนินการอำนวยความสะดวก ใครเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
  • ผลกระทบต่อภาคขนส่ง หรือสินค้า เรือรับจ้างโดยสาร
  • มาตรการแก้ปัญหาการเดินเรือขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ เมื่อร่องน้ำเปลี่ยนจากอ่างเก็บน้ำ หรือท้ายน้ำของเขื่อน

ผลกระทบเชิงสังคม
            จากเอกสารที่เปิดเผยพบว่าไม่มีการศึกษา หรือมีการศึกษาอย่างจำกัด ในประเด็นผลกระทบเชิงสังคมต่อชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติแม่น้ำโขง โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร วิถีชีวิต วัณธรรม และเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนต่อชุมชนในประเทศไทย ทั้งเหนืออ่างเก็บน้ำที่จ.เชียงราย และท้ายน้ำที่จ.เลย และจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อเสนอต่อเอกสารและการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

  • ควรเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมดต่อสาธารณะ และแปลเป็นภาษาท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงได้ร่วมพิจารณาและมีส่วนร่วมต่อโครงการอย่างแท้จริง เอกสารเหล่านี้มีอาทิ รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม รายงานแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  • ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมและจัดทำฐานข้อมูลในประเด็นที่ระบุข้างต้น โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ
  • ควรมีการศึกษาผลกระทบแบบข้ามพรมแดน ไม่ศึกษาเฉพาะในพื้นที่โครงการ
  • ในส่วนของประเทศไทย ควรมีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ตามกฎหมายของไทย เนื่องจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการที่ลงทุนโดยบริษัทจากประเทศไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า

ข้อเสนอโดยสรุป
            ประสบการณ์ที่ผ่านมา ตลอดจนการศึกษาและข้อมูลที่มีอยู่ ชี้ให้เห็นว่า ไม่ควรมีการพัฒนาเขื่อนไซยะบุรี หรือใดๆ ก็ตามบนแม่น้ำโขง

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา