eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

4 ชาติเล็งสร้างฝาย7แห่งกัก "แม่น้ำโขง"


กรุงเทพธุรกิจ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

"สุวิทย์" ระบุปริมาณน้ำในลุ่มน้ำโขงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการกักน้ำของเขื่อนจีน เผย 4 ประเทศสมาชิกเตรียมพิจารณาแก้ปัญหาด้วยการสร้างฝาย 7 แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง
สถานการณ์แม่น้ำโขงลดระดับลงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เนื่องจากความแห้งแล้งทางธรรมชาติประกอบกับ ประเทศจีนได้กั้นน้ำโขงไว้เพื่อประโยชน์ของเทศ จึงทำให้หลายประเทศที่ใช้น้ำโขงร่วมกันได้รับผลกระทบ โดยด้านหนึ่งทำให้ประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงเดือดร้อนอย่างหนัก

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีปัญหาแต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ เรียกว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าปกติแต่ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ เรากำลังดูว่า ปริมาณน้ำจากจีนที่ไหลลงมาในแม่น้ำโขงจริงๆ มีเท่าไหร่ พบว่าน้ำจากจีนที่ไหลสู่น้ำโขงคิดเป็น 18% สปป.ลาว 35% ไทย 18% กัมพูชา 18% และเวียดนาม 11% เพราะฉะนั้นการสร้างเขื่อนในจีน ก็มีผลกระทบบ้าง เพราะถ้าดูจากสภาพการไหลของน้ำลดลง อีกทั้งยังพบว่าปริมาณน้ำฝนซึ่งเป็นน้ำต้นทุนไหลลงสู่น้ำโขงก็ต่ำกว่าปกติ

สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่สามารถเรียกร้องใดๆ ได้ ต้องมาดูว่าปัญหาน้ำแล้งจะได้รับการแก้ไขอย่างไร มีแนวทางการจัดการน้ำในลำน้ำโขงหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือเอ็มอาร์ซีได้พิจารณาที่จะสร้างฝายประมาณ 7 แห่งในพื้นที่ตอนล่างลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อที่จะกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากและบริหารจัดการน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง แต่การจะสร้างฝายดังกล่าว ก็คงต้องดูเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทั้งการประมง หรือระบบนิเวศน์ต่างๆ ด้วย

"หากเราไม่มีระบบในการบริหารจัดการน้ำที่ดี และไม่สามารถกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนได้ ก็เกิดปริมาณน้ำล้นตลิ่ง และเกิดปัญหาแล้งซ้ำซาก พี่น้องที่อาศัยในสองฝั่งแม่น้ำโขงก็จะได้รับผลกระทบต่อไป ซึ่งเราก็ต้องมาพิจารณาว่าการสร้างฝายทั้ง 7 แห่งจำเป็นจะต้องสร้างไหม ถ้าจำเป็นต้องสร้างจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับระบบนิเวศน์ โขงตอนล่างทั้ง 4 ประเทศ จากการศึกษาเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเชื่อว่าฝายทั้ง 7 แห่งน่าจะป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะจะเห็นได้ว่าทุกๆ ปีระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลง และถ้าเราไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ผลกระทบที่รุนแรงก็จะเกิดขึ้นตามมา"

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า กรณีที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้ทำหนังสือเพื่อขอความร่วมมือจีนให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการไหล ระดับน้ำ และข้อมูลอุทกศาสตร์ในภาพรวม และเตรียมที่จะออกหนังสือหนังสืออย่างเป็นทางการไปถึงประเทศจีนเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาร่วมกันนั้น ในฐานะที่ไทยเป็นประธานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในปีที่ผ่านมา ขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการ ก็ได้มีมติในการที่จะประสานไปยังประเทศจีนอยู่แล้ว ในเรื่องของการดูแลการปล่อยน้ำ อย่างน้อยก็ต้องปล่อยน้ำขั้นต่ำลงมาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับระบบนิเวศน์ในเขตลุ่มน้ำโขงตอนล่างทั้ง 4 ประเทศ

"จีนจะเป็นสมาชิกหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือความร่วมมือกันมากกว่า ถ้าเขาให้ความร่วมมือกับเราในการให้ข้อมูลเรื่องการดูแลปริมาณการไหลของน้ำขั้นต่ำได้ ทั้งนี้ในวันที่ 4-5 เม.ย. จะมีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงที่พัทยา จะมีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการลำน้ำสาขาและแม่น้ำโขง ทั้งปริมาณน้ำ คุณภาพน้ำในลุ่มน้ำโขง เพื่อนำไปสู่กระบวนการด้านการบริหารจัดการน้ำที่ดีต่อไป รวมไปถึงการพิจารณาเกี่ยวกับสร้างฝายทั้ง 7 แห่งด้วย" นายสุวิทย์ ระบุ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา