eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด ประสานเสียงต้านเขื่อนไซยะบุรี

5 เมษายน 2554

วันนี้ 5 เมษายน 2554 ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงอำเภอศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดภาคอีสานและภาคเหนือ กว่า 400 คนรวมตัวกัน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับผลกระทบของการสร้างเขื่อนไซยะบุรีที่กันแม่น้ำโขงในประเทศลาว และร่วมหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าวของเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งประชาชนที่มาร่วมต่างประสานเสียงในการที่จะคัดค้านเขื่อนดังกล่าวให้ถึงที่สุด

กิจกรรมดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันของประชาชนจาก 8 จังหวัดที่อยู่ติดแม่น้ำโขง ในภาคอีสาน มี 7 จังหวัดได้แก่ จังหวัด เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และ ภาคเหนือ 1 จังหวัดคือเชียงราย ในจังหวัดหนองคายเองมีตัวแทนประชาชนมาร่วมจาก 49 ตำบล ของ 9 อำเภอ

สาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากต้องมาร่วมกันในครั้งนี้ก็เนื่องจากว่ามีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่จะมีการสร้างเขื่อนดังกล่าวขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อพวกเขา และที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลให้พวกเขาได้รับรู้เลยในขณะที่มันมีการดำเนินงานไปอย่างเร่งรีบ ซึ่งคาดว่าหลังสงกรานต์นี้จะมีการประชุมแสดงความเห็นชอบอนุมัติโครงการดังกล่าว

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนที่มาร่วมได้รับรู้ว่า เขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขงที่แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เหนือขึ้นไปจาก อ.เชียงคาน จ.เลย เพียงประมาณ 200 กิโลเมตร ตัวเขื่อนมีความยาว 810 เมตร มีกำลังการผลิต 1,280 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในเร็วๆนี้   

“แม้ว่าเขื่อนดังกล่าวจะสร้างในประเทศลาวแต่ผลกระทบจะเกิดกับไทยอย่างมาก ขนาดเขื่อนจีนที่อยู่ไกลกว่ายังสร้างผลกระทบกับเรามากมาย   นอกจากนี้ที่คนไทยจะต้องให้ความสำคัญกับเขื่อนนี้เพราะว่าคนที่ไปสร้างก็คือคนไทยซึ่งก็คือบริษัทช.การช่าง ทุนที่สนับสนุนก็คือ 4 ธนาคารของไทย และคนที่รับซื้อไฟฟ้าก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งจะรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนนี้ถึง 95 %” นายหาญณรงค์กล่าว

นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนาจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่าที่ผ่านมาคนจังหวัดเชียงรายประสบปัญหาอย่างชัดเจนจากผลกระทบจากของเขื่อนจีนที่กั้นแม่น้ำโขง แค่ 4 ของจีนก็สร้างความเสียหายกับแม่น้ำโขงอย่างมากมายแล้ว   ถ้าสร้างเขื่อนไซยะบุรีสำเร็จ จะเกิดผลกระทบไม่เพียงแต่กับพี่น้องชาวลาวเท่านั้น มันยังรวมถึงพี่น้องในกัมพูชา เวียดนาม และที่สำคัญคือประเทศไทยทั้งภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย และภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัด เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี รวมถึงคนริมฝั่งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง   ผลกระทบสำคัญที่จะเกิดขึ้นคือ  การปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาโดยเฉพาะปลาบึก   การทำลายระบบนิเวศทั้งระบบของแม่น้ำโขง   การสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมริมฝั่งโขง   ผลกระทบทางเศรษกิจ สังคม วัฒนธรรม   และแม่น้ำโขงแห้ง

นายวิรัตน์ สุขกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้แสดงข้อกังวลและตั้งคำถามกับการสร้างเขื่อนดังกล่าวว่า ถ้าสร้างเขื่อนนี้ อนาคตของพวกเราและลูกหลานจะเป็นอย่างไร ?  ในขณะที่ทุกวันนี้    น้ำโขงแห้งกว่าปกติ   น้ำขึ้นลงผิดธรรมชาติ   พันธุ์ปลาลดลง   ปัญหาผลกระทบของเขื่อนจีนยังไม่มีการแก้ไข สภาพภูมิอากาศแปรปรวน และภัยพิบัติยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องแผ่นดินไหวยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะกระทบเขื่อนหรือไม่ การสร้างเขื่อนจะสร้างผลกระทบต่อบั้งไฟพญานาคของพวกเราหรือไม่ และ ในประเทศไทยเราเขื่อนปากมูลสร้างมา 20 ปีแล้วปัญหาก็ยังไม่จบ

นอกจากการพูดคุยและหาทางออกร่วมกันแล้ว กิจกรรมในวันนี้ยังมีการล่ารายชื่อประชาชนที่มาร่วมงาน เพื่อยื่นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีของไทยและลาว รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งการจัดเวทีพูดคุยลักษณะนี้จะมีการจัดขึ้นในหลายๆ จังหวัดในภาคอีสานเริ่มตั้งแต่ที่จัดไปแล้วที่อ.เชียงคาน จ.เลย เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากเวทีที่อ.ศรีเชียงใหม่ครั้งนี้แล้วก็จะมีการจัดเวทีการพูดคุยลักษณะนี้ขึ้นอีกใน 3 จังหวัดได้แก่ที่ อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ อ.เมือง จ.นครพนม และเวทีสุดท้ายในวันที่ 8 เมษายน ที่ อ.เชียงของ จ.อุบลฯ

นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว กล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่คนลุ่มน้ำโขงทั้งภาคเหนือและอีสานต้องร่วมมือกันแสดงเจตนารมณ์เพื่อบอกให้รับบาลรู้ว่า เราลูกแม่น้ำโขงไม่ต้องการเขื่อน การจัดการน้ำโขงต้องมาจากคนลุ่มน้ำ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา