eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

http://www.thaigov.go.th                                                                                     

ข่าวที่ 01/07                                                                                             
วันที่ 15  กรกฎาคม 2551        

วันนี้ เมื่อเวลา 09.00  น.  ณ  ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล นายสมัคร  สุนทรเวช  นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี

จากนั้น  พล.ต.ท.วิเชียรโชติ  สุกโชติรัตน์   โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  นายณัฐวุฒิ  ใสยเกื้อ  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  นางสาวศุภรัตน์  นาคบุญนำ  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  นางสาววีรินทร์ทิรา  นาทองบ่อจรัส   รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   ได้แถลงข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี  ณ  ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล 
ตึกนารีสโมสร  ทำเนียบรัฐบาล  สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

20.  เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน ครั้งที่ 2/2551

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน ครั้งที่ 2/2551  ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กรรมการและ      เลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการโครงการผันน้ำน้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว  ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น  76,760 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2552-2556)  โดยให้เสนอรายละเอียดโครงการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการตามขั้นตอนต่อไป 

2. สำหรับแนวผันน้ำอื่น ๆ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการผันน้ำเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนของประเทศที่คณะกรรมการฯ ได้ตั้งขึ้น โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสหัส  บัณฑิตกุล) เป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานอนุกรรมการฯ พิจารณาดำเนินการจัดลำดับความสำคัญของโครงการเพื่อเริ่มทำการศึกษาตามความเหมาะสมต่อไป

                   สาระสำคัญของเรื่อง
แนวผันน้ำน้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว โดยการผันน้ำจากท้ายเขื่อนน้ำงึม ในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตย   ประชาชนลาว  เข้าคลองผันน้ำความยาว 17 กิโลเมตร แล้วผ่านอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำโขงมายังอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง
จ.อุดรธานี  และต่อไปยังหนองหานกุมภวาปี ได้ปริมาณน้ำ 2,580 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 3.2 ล้านไร่ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2552-2556) วงเงินลงทุน 76,760  ล้านบาท แบ่งเป็นระยะที่ 1 การใช้น้ำในประเทศ ห้วยหลวง-หนองหานกุมภวาปี  ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (2552-2555)  ได้ปริมาณน้ำ  600 ล้าน ลบ.ม./ปี พื้นที่ชลประทาน 1 ล้านไร่  และระยะที่ 2 การใช้น้ำจากนอกประเทศ  น้ำงึม-ท่อลอดแม่น้ำโขง-ห้วยหลวง ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (2553-2556) ได้ปริมาณน้ำ 1,980 ล้าน ลบ.ม./ปี  พื้นที่ชลประทาน  2.2 ล้านไร่ โดยกรมทรัพยากรน้ำจะดำเนินการในส่วนก่อสร้างระบบผันน้ำและการปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติ   และกรมชลประทานจะดำเนินการในส่วนการปรับปรุงและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเขื่อน
ลำปาวและก่อสร้างระบบชลประทาน ซึ่งแนวผันน้ำนี้มีความคุ้มค่าในการลงทุน  และมีความพร้อมในการดำเนินการ
จากการที่ได้มีเขื่อนห้วยหลวงและการพัฒนาพื้นที่ชลประทานในโครงการโขง-ชี-มูล อยู่แล้ว
สำหรับแนวผันน้ำอื่น ๆ  เช่น  ฝายปากชม (เขื่อนผามอง)-อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์  เลย-ชี-มูล  อ่างเก็บน้ำน้ำยวมตอนล่าง-เขื่อนภูมิพล  กก-อิง-น่าน  อ่างเก็บน้ำแม่แตง-อ่างเก็บน้ำแม่งัด-อ่างเก็บน้ำแม่กวง  เขื่อนศรีนครินทร์-สะแกกรังและท่าจีน  เขื่อนท่าแซะ-บางสะพาน  เขื่อนรัชชประภา-จังหวัดภูเก็ต

ทั้งนี้  ความจำเป็นในการเพิ่มน้ำต้นทุนโดยการผันน้ำ  มีดังนี้

1. ในอีก 10 ปีข้างหน้า น้ำต้นทุนของประเทศจะสามารถสนองความต้องการได้ร้อยละ 66 ขณะที่การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นมีข้อจำกัด  การพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานของรัฐในช่วงปี 2551-2559 จะทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นจาก 52,741 ล้าน ลบ.ม./ปี ในปี 2551 เป็น 58,256 ล้าน ลบ.ม./ปี ในปี 2559 ขณะที่ประมาณการว่าความต้องการใช้น้ำของประเทศโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจาก  73,788 ล้าน ลบ.ม./ปี เป็น 88,521 ล้าน ลบ.ม./ปี ดังนั้น ในปี 2559 สภาพการขาดแคลนน้ำโดยรวมของประเทศจะมีประมาณ 30,265 ล้าน ลบ.ม./ปี หรือขาดแคลนร้อยละ 34 ของความต้องการใช้น้ำ

2. การจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่มเติมโดยการก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่มีข้อจำกัดในด้านอุทกภูมิศาสตร์และปัญหาสิ่งแวดล้อม  กล่าวคือ

2.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง  พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำมีจำกัด ปริมาณฝนมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ และยังมีปัญหาฝนทิ้งช่วงทุกปี
2.2 ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน  ภาคเหนือมีภูมิประเทศเป็นภูเขาและที่ลาดชันเป็นส่วนใหญ่  จึงมีพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นได้อีก  ขณะเดียวกัน ก็เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของภาคกลางตอนบนซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มและเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ  การพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อสนองความต้องการใช้น้ำในสองพื้นที่นี้จึงต้องพิจารณาร่วมกัน

3. ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก  ภูมิประเทศมีภูเขาสูงซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำที่ไหลลงสู่ทะเล  จึงมีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างแหล่งเก็บน้ำใหม่ก็มีข้อจำกัดในด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา