eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เขื่อนปากชม รัฐบาลอย่าพลาดซ้ำสอง

ไทยโพสต์ 10 สิงหาคม 2551 
มนตรี จันทวงศ์ โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในอินโดจีนและพม่า

ขณะที่ข่าวความร่วมมือของรัฐบาลไทยและลาว  ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มกั้นแม่น้ำโขง   ที่อำเภอโขงเจียม  จ.อุบลราชธานี นั้น  เริ่มถูกจับตาจากสังคม และประเด็นร้อนแรงที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดกันมากคือ   "การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง"  จะส่งผลอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนของประเทศไทยและลาว  ในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการปักปันเขตแดน ซึ่งรัฐบาลไทยและกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  (พพ.)-หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการยังปิดสนิท  ซ้ำร้ายไปกว่านั้น  พพ.ยังออกมาเร่งผลักดันให้รัฐบาลรีบตัดสินใจเดินหน้าโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงร่วมกับประเทศลาว  ด้วยเหตุผลง่ายๆ  ว่า  "ถ้าเราไม่ทำ  เวียดนามจะเข้ามาทำแทน ซึ่งทำให้เราอดใช้ไฟฟ้าราคาถูก"

แต่ประเด็นที่สังคมต้องตั้งคำถามและติดตามตรวจสอบคือ  ข้อมูลการศึกษาโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงของหน่วยงานรัฐมีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด  เปิดเผยต่อสาธารณะและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากน้อยแค่ไหน  และที่สำคัญโครงการมีความจำเป็นคุ้มค่าและผลิตไฟฟ้าได้ราคาถูกจริงหรือ และต้นทุนเหล่านี้ได้รวมผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เข้าไปด้วยแล้วหรือ?

นอกจากเขื่อนบ้านกุ่มที่รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างหนัก   "เขื่อนปากชม"  ที่อำเภอปากชม  จังหวัดเลย  ก็เป็นเขื่อนกั้นน้ำโขงอีกแห่งที่กำลังเข้าคิวรออยู่ ทั้งนี้ทาง พพ.เคยว่าจ้างบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์  จำกัด และบริษัท มหานคร คอนซัลแตนท์ ของไทย ให้ศึกษาศักยภาพการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบขั้นบันไดในแม่น้ำโขงในปี  2548 ซึ่งต่อมาในปี 2550 ก็ได้ว่าจ้างบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด  และบริษัท  แมคโคร  คอนซัลแตนท์ ให้ "ศึกษาจัดทำรายงานก่อนรายงานความเหมาะสมและรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น"  ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำฝายขั้นบันไดแม่น้ำโขง  2  แห่ง  บริเวณชายแดนไทย-ลาว  และได้ลงความเห็นว่าเขื่อนปากชม  (ใกล้กับเขื่อนผามองในแผนดั้งเดิม) และเขื่อนบ้านกุ่ม  มีความเหมาะสมด้านวิศวกรรม  สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยระบุว่าเป็นเขื่อนแบบ run-of-river ที่ส่งผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อย แต่มีความคุ้มค่าในการลงทุนสูง และเรียกชื่อโครงการว่า โครงการไฟฟ้าพลังน้ำฝายปากชม และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำฝายบ้านกุ่ม

ข้อมูลจากการศึกษาเบื้องต้นของ พพ.ระบุว่า  เขื่อนปากชมจะตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว  ระหว่างบ้านห้วยขอบและบ้านคกเว้า  ตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย และบ้านห้วยหาง เมืองสังทอง แขวงนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว เขื่อนจะเก็บกักน้ำที่ระดับ 192 เมตร รทก. ซึ่งจะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำมีความจุประมาณ  807.77  ล้านลูกบาศก์เมตร และเกิดพื้นที่อ่างเก็บน้ำซึ่งท่วมทั้งฝั่งไทยและลาวจำนวน  50,217  ไร่ โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนถึง  69,641 ล้านบาท ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด  01,079  เมกะวัตต์ แต่มีกำลังการผลิตพึ่งได้เพียง 210.14 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 20% ของกำลังผลิตติดตั้งเท่านั้น

ผลกระทบของเขื่อนปากชมที่สำคัญคือ ชุมชนริมน้ำโขงในเขตอำเภอปากชม และอำเภอเชียงคาน จะต้องสูญเสียพื้นที่ตลิ่งริมน้ำ  เกาะแก่ง  และดอนกลางแม่น้ำโขงที่ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชต่างๆ ในฤดูแล้ง  เช่น พริก มะเขือ ถั่วลิสง มันเทศ ข่า ตะไคร้ กล้วย ซึ่งสร้างรายได้หลักให้กับครอบครัว อีกทั้งยังต้องสูญเสียอาชีพประมงเป็นการถาวรเช่นกัน  นอกจากนี้  อ่างเก็บน้ำของเขื่อนจะท่วมบ้านคกเว้า  70 ครัวเรือน  รวมถึงโรงเรียนบ้านคกเว้า  และวัดโนนสว่างอารมย์  และท่วมบ้านห้วยหางอีก  37 ครัวเรือน รวมถึงท่วมพื้นที่ทำกินและชุมชนในฝั่งประเทศลาวด้วย

ในขณะที่ผลกระทบบริเวณใต้เขื่อนลงไปต่อเนื่องถึงจังหวัดหนองคาย  ชุมชนริมน้ำโขงจะต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของระดับน้ำโขงตลอดเวลา ซึ่งจะสร้างปัญหาต่อการประมงและการปลูกพืชริมตลิ่งเช่นกัน นอกจากนี้ ตลอดแนวแม่น้ำโขงจากที่ตั้งเขื่อนปากชมลงมาจนถึงจังหวัดหนองคาย ต่างมีจุดชมบั้งไฟพญานาคแทบทุกหมู่บ้าน  ยังไม่มีใครบอกได้ว่า หากสร้างเขื่อนปากชมแล้ว จะเกิดบั้งไฟพญานาคได้อีกต่อไปหรือไม่

สำหรับผลกระทบทางนิเวศวิทยาที่สำคัญที่สุดคือ เขื่อนจะปิดกั้นการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง และจะส่งผลโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลาในลุ่มแม่น้ำโขง  การสร้างบันไดปลาโจนในลักษณะเดียวกันกับเขื่อนปากมูล  ก็มิอาจแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้ รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเมื่อปี  2547 ยังได้เคยระบุถึงโครงการเขื่อนต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการชลประทาน ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และควบคุมน้ำท่วมไว้ว่า  "เป็นการคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อปลาและการประมงในแม่น้ำโขง"  

ดังนั้น  รัฐบาลจึงไม่ควรเร่งรีบรวบรัดผลักดันโครงการโดยละเลยการดำเนินการต่างๆ  ที่พึงทำตามกรอบกฎหมายที่ระบุไว้  ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี  2535 อีกทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 ยังได้ระบุให้ต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน   และต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ก่อนดำเนินการด้วย
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา