eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ทส.สารภาพแก้ปัญหาน้ำโขงเหือดแห้งยาก นักวิชาการชี้เหตุวิกฤตเกิดจากอุณหภูมิลดต่ำไม่ใช่การปิดเขื่อน

มติชนออนไลน์   22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553   

นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอด และเร็วกว่าปกติ ซึ่งหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ เกิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีนปิดเขื่อนที่อยู่บริเวณต้นน้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของแม่น้ำระหว่างชาติ ฉะนั้น ทส.ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ จำเป็นต้องหยิบยกเข้าไปให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือเอ็มอาร์ซี ที่มีหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

"เท่าที่ทราบคือ ขณะนี้สำนักเลขาธิการของกรรมาธิการเอ็มอาร์ซีได้ประสานขอความร่วมมือจากจีนในเรื่องของการทำข้อมูล เพราะฉะนั้นคงจะได้มีการนำประเด็นนี้เข้าไปหารือในการประชุมที่จะมีขึ้นในต้นเดือนเมษายนนี้ สำหรับความเดือดร้อนที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทส.จะเข้าไปแก้เป็นการเฉพาะหน้าก่อน" นายศักดิ์สิทธิ์กล่าว

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ยอมรับว่าเรื่องนี้จัดการค่อนข้างยาก เพราะจีนที่อยู่ต้นน้ำแม่น้ำโขงและมีเขื่อนหลายแห่ง ไม่ได้เป็นสมาชิกเอ็มอาร์ซี และไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ ตามที่เอ็มอาร์ซีประสานขอไป อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเอ็มอาร์ซีซัมมิท ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 3-5 เมษายนนี้ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เชิญนายกรัฐมนตรีของจีนเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือในเรื่องนี้ด้วย แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับใดๆ

ขณะที่ ผศ.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ศรภอ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า การลดระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่เกี่ยวกับการที่จีนกักเก็บน้ำไว้ในอ่างเหนือเขื่อนทั้ง 4 แห่ง ที่พาดกั้นแม่น้ำโขงอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่เกิดจากในปีที่ผ่านมา อุณหภูมิทั่วโลกต่ำกว่าปกติ หลายประเทศต้องประสบกับพายุหิมะ ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำโขงเกิดการแข็งตัวเป็นน้ำแข็งสะสมอยู่ใต้ดิน อีกทั้งในช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูแล้ง จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลง

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม คาดว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจะเพิ่มสูงขึ้น โดยปีนี้อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นกว่าปกติเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน น้ำแข็งที่สะสมใต้แม่น้ำโขงจะละลายออกมามาก อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นรอยต่อระหว่างฤดูร้อนกับฤดูฝน ฝนที่ตกและน้ำแข็งสะสมที่ละลาย จะส่งผลให้เกิดน้ำไหลบ่าลงมาตามลำน้ำได้ ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคตการลดระดับของแม่น้ำโขงจะเกิดบ่อยขึ้น เนื่องจากภาวะโลกร้อน และการลดลงของต้นไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำ

ทางด้านเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำและลำน้ำโขง 8 องค์กร อาทิ กลุ่มรักษ์เชียงของ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ กลุ่มฮักน้ำของ จ.อุบลฯ ออกแถลงการณ์ว่า ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงผิดปกติจนอยู่ในระดับวิกฤต ซึ่งมีระดับใกล้เคียงกับระดับน้ำโขงในช่วงเดียวกันของปี 2536 และจะมีระดับน้ำต่ำกว่านี้อีกในช่วงต่อไป  ระดับน้ำที่ต่ำผิดปกติในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการหาปลา การสัญจรทางน้ำ และน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย และนับตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรือโดยสารขนาดใหญ่ระหว่างห้วยทราย-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์ ใน สปป.ลาว ต้องหยุดเดินเรือ จึงถึงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น ต่อการพัฒนาบนแม่น้ำโขงโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนในจีน เนื่องจากได้สร้างผลกระทบด้านท้ายน้ำมาตั้งแต่ปี 2536 ทั้งในฤดูแล้งและในฤดูฝน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีท่าทีที่ชัดเจนต่อรัฐบาลจีน และตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขงตั้งแต่ จ.เชียงราย ถึง จ.อุบลราชธานี

ส่วนที่บริเวณท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย ภายหลังจากเรือบรรทุกสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการชาวจีนหยุดเดินเรือในแม่น้ำโขงมานานกว่า 1 สัปดาห์ ทำให้การค้าชายแดนด้านนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกและนำเข้าสินค้าประเภทพืชผักผลไม้ น้ำมันเชื้อเพลิงและยางพาราแผ่นรมควัน หยุดชะงักเป็นการชั่วคราว โดยเรือบางส่วนประมาณ 10 ลำ จอดแน่นิ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง

นายอภิสิทธิ์ คำภิโล หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ประจำจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ยังไม่ทราบเหตุผล การหยุดเดินเรือในแม่น้ำโขงที่ชัดเจน จากการประเมินมาจาก 2 กรณี คือเป็นช่วงวันหยุดของคนจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน และอีกด้านอาจเกิดจากสภาวะน้ำโขงแห้ง ที่ปีนี้ถือว่าแห้งเร็วผิดปกติ ลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว โดยเหลือเพียง 1 เมตร ซึ่งปกติเรือบรรทุกสินค้าจะกินน้ำลึกประมาณ 1.80 เมตร และไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการแห้งของแม่น้ำโขงเช่นกันว่าเกิดจากสภาวะภัยแล้งทั่วไป หรือจีนกักน้ำทางตอนเหนือเขื่อน เพื่อสร้างเขื่อนแห่งสุดท้ายที่บริเวณเมืองจิ่งหง มณฑลยูนนาน เมืองทางตอนใต้ของจีน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา