eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นจากการทำลายแก่งหินและ ท้องแม่น้ำที่เป็นหินในแม่น้ำโขงส่วน ที่อยู่ในประเทศไทยต่อนกชนิดต่างๆ

ฉบับภาษาอังกฤษคลิกที่นี่

ฟิลิป ราวด์
กรรมการฝ่ายวิชาการและโครงการ
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
กรกฎาคม 2545

ความเป็นมา

          ระบบนิเวศของแม่น้ำขนาดใหญ่ค้ำจุนสรรพสัตว์สำคัญต่างๆที่หาได้ยากและไม่ปรากฏในพื้นที่ชุมน้ำอื่นๆ  แม่น้ำโขงนั้นมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งของปลาบึก (Mekong Giant Catfish Pangasianodon gigas) กับ ปลากระโห้ (Giant Carp Catlocarpio siamensis) และเป็นแหล่งสำคัญต่อการทำประมงปลาที่มีขนาดเล็กกว่าปลาทั้งสองดังกล่าวอีกเป็นจำนวนมาก

          เรายังรู้น้อยนักเกี่ยวกับความสำคัญของแม่น้ำโขงต่อนกและสัตว์ป่าอื่นๆ แต่ก็เริ่มที่จะเข้าใจกันมากขึ้น  แม่น้ำก่อให้เกิดปัญหาในการอนุรักษ์ที่มีลักษณะเฉพาะเนื่องเพราะมันเป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว ไม่ง่ายที่จะกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์  การจัดการระบบนิเวศแม่น้ำเป็นเรื่องสลับซับซ้อนเนื่องจากแม่น้ำมักจะสงบลงตรงฝั่งและขึ้นอยู่การใช้งานของมนุษย์อย่างกว้างขวาง  ยิ่งกว่านี้กิจกรรมของคนที่อยู่ตอนเหนือน้ำขึ้นไปสามารถมีผลต่อพื้นที่ขนาดใหญ่ตอนใต้ลงมาไกลจากพื้นที่ที่ถูกรบกวนในตอนแรก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปรอุทกศาสตร์และคุณภาพน้ำ อัตราการไหล ฯลฯ ที่จะเกิดขึ้นจากงานขนาดใหญ่ที่กระทำต่อแม่น้ำ เช่น เขื่อน และการขุดลอกสันทราย หรือการทำลายกองหินที่โผล่พ้นน้ำ

          ข้อเขียนชิ้นนี้จะกล่าวถึงผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นกับประชาคมนกของแม่น้ำโขงเนื่อง จากการระเบิดแก่งหินและขุดลอกแม่น้ำเพื่อเพิ่มระวางบรรทุกของเรือขนสินค้าระหว่างประเทศจีน ไทย ลาว และจุดต่างๆตอนใต้ของแม่น้ำลงไป

          ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะลงนามในข้อตกลงให้มีการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงในเดือนมกราคม 2545  การลงนามในข้อตกลงนี้กระทำไปโดยไม่มีการปรึกษาหารือกับชุมชนชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆบนฝั่งแม่น้ำ และเท่าที่ทราบไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เลย  เมื่อตัวแทนของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยได้ติดต่อสอบถาม(ด้วยวาจา??)ไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรชีวภาพ กองประสานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงความกังวลใจต่อกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น ก็ได้รับคำชี้แจงว่า สผ.มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการประเมินผลกระทบจากกิจกรรมเหล่านั้น เนื่องจาก สผ.มิได้เป็น “องค์กรศูนย์รวม” ของแม่น้ำโขง  ดังนั้นสภาพจึงเป็นเหมือนดังที่เกิดขึ้นเป็นปรกติมาคือมีแต่ความเงียบและการดูเหมือนว่าจะขาดความ กังวลใจจากหน่วยงานรัฐซึ่งโดยความรับผิดชอบแล้ว บางหน่วยอย่างน้อยที่สุดก็ครอบคลุมเรื่องสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป และบางหน่วยก็ครอบคลุมพื้นที่ชุมน้ำเป็นการเฉพาะ

          แม่น้ำโขงส่วนที่เป็นพรมแดนของประเทศไทยและได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระเบิดแก่งครั้งนี้เป็น ส่วนตั้งแต่เชียงแสนที่อยู่ตอนบนของลำน้ำลงไปจนถึงอำเภอเวียงแก่นซึ่งแม่น้ำโขงเลี้ยววกเข้าไปในประเทศลาว รวมเป็นระยะทางราว 100 กิโลเมตร  อย่างไรก็ตาม แม่น้ำโขงยาวถึง 450 กิโลเมตรในจังหวัดหลวงน้ำทาและบ่อแก้วของลาวจะถูกระเบิดหรือขุดลอกด้วย ซึ่งเป็นช่วงที่ยาวมาก ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยรวมจากงานในลาวอาจจะใหญ่กว่าผลกระทบจากงานในไทย  ในข้อเขียนนี้ต่อไปจะเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “แม่น้ำโขงลาวตอนบน” ตามที่ดั๊กเวิร์ธกับคณะ (Duckworth et al. 1999 กำลังพิมพ์) ซึ่งสำรวจนกตามส่วนนี้ของแม่น้ำเมื่อปี 2543 ที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตาม ความเห็นในการประเมินครั้งนี้ต่อผลกระทบในไทยจะครอบคลุมกว้างๆไปถึงลาวด้วย ซึ่งผลกระทบจะมีต่อชนิดของนกและถิ่นฐานที่อยู่อาศัยในขอบเขตเดียวกัน

ดั๊กเวิร์ธกับคณะพบว่านกจำนวนมากที่ถูกคุกคามในลาว รวมทั้งนกชนิดที่สูญหายไปแล้วคือไม่มีบันทึกการพบมาหลายสิบปี มีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศของแม่น้ำ

แม่น้ำโขงไม่ใช่แม่น้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ ในทางตรงข้าม การที่มนุษย์ใช้แม่น้ำสายนี้อย่างหนักมาเป็นเวลาหลายศตวรรษได้บั่นทอนความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำลง  นกบางชนิดเช่นนกกรีดน้ำ (Indian Skimmer Rynchops albicollis)ได้หายไปนานแล้ว โดยมีบันทึกการพบในแม่น้ำโขงช่วงไทย-ลาวครั้งสุดท้ายเมื่อราวปี พ.ศ.2473 (Duckworth et al., 1999). อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่รอบข้าง(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมบนฝั่งแม่น้ำ) มันก็ยังมีนกอยู่มากมายและยังค้ำจุนนกมากมายหลายชนิดซึ่งหาได้ยากหรือหาไม่ได้แล้วในที่อื่นๆ 

นกที่ถูกคุกคาม

          รายชื่อนกที่สำคัญและกำลังถูกคุกคามบางชนิดที่ยังหาพบได้ที่แม่น้ำโขงมีอยู่ข้างล่างนี้ ระดับการคุกคามในประเทศไทยใช้ตามข้อมูลของราวด์ (2000) ส่วนระดับการคุกคามในลาวใช้ข้อมูลของดั๊กเวิร์ธกับคณะ (1999) และรายชื่อนกที่ถูกคุกคาม (threatened) หรือเกือบถูกคุกคาม (near-threatened) ได้มาจากBirdLife International (2001). 

นกกะเต็นเฮอคิวลิส

Blyth's Kingfisher  Alcedo hercules (สถานะ: ในไทย Critical. ในลาว Potentially at Risk. ในระดับโลก Near-threatened)

ในประเทศไทย นกชนิดนี้รู้จักกันจากตัวอย่างเพียงตัวอย่างเดียวที่เก็บได้เมื่อปี 2515 ที่บ้านแพ้ว ต่ำลงจากเชียงแสน อาจจะเก็บมาจากสาขาเล็กๆสาขาหนึ่งของแม่น้ำโขง (Round, กำลังเตรียมเนื้อหา)  นกชนิดนไม่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนาที่เกิดขึ้นกับสายน้ำหลักคือแม่น้ำโขง แต่ภัยคุกคามน่าจะมาจากการทำลายป่าและการตกตะกอนในสายน้ำย่อยที่นกชนิดนี้อาศัยอยู่มากกว่า

นกกะเต็นขาวดำใหญ่

Crested Kingfisher  Megaceryle lugubris (สถานะ: ในไทย Vulnerable. ในลาว Not at Risk)

นกชนิดนี้หายากและส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำในป่าที่ไหลเร็วและมีตลิ่งชัน   King (1966) บันทึกการพบนกชนิดนี้ที่เชียงแสนและมีการพบเห็นกันอีกในเวลาต่อมา  มันอาจจะมีอยู่และไม่ถูกตรวจพบในส่วนของแม่น้ำโขงท้ายน้ำลงไปจากเชียงแสนถึงเชียงของ  นกชนิดนี้จะตกอยู่ในสภาพไม่มั่นคงจากการรบกวนขนาดใหญ่ที่เกิดจากการระเบิดแก่ง

นกกระแตผีใหญ่

Great Thick-knee Esacus recurvirostris  (สถานะ: ในไทย Critical; ในลาว At Risk (เสี่ยง)

นกกระแตผีใหญ่เป็นนกที่หายากและอาจเป็นนกประจำถิ่นที่ถูกมองข้าม  รายงานนกที่ดูเหมือนว่ากำลังผสมพันธุ์ในไทยหรือลาวในช่วงหลายทศวรรษหลังๆนี้มาจากแม่น้ำโขงเพียงเท่านั้น โดยมีบันทึกการพบบนสันทรายเหนือเชียงแสนขึ้นไประหว่างเชียงแสนกับเชียงของ (การค้นพบที่บริเวณหลังนี้ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2544 มีรายงานเรื่องนี้ในจดหมายข่าวของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย) ใกล้ปากชม เกือบตรงข้ามกับซางทองของลาว และที่เขมราช จังหวัดอำนาจเจริญ และตามแม่น้ำโขงตอนใต้ของลาว (Duckworth et al., 1999) นกนี้พบในบริเวณสันทรายและบริเวณฐานหินที่เปิดโล่งที่มีพุ่มไม้และต้นไม้เตี้ยๆ  ประชากรนกจำนวนน้อยที่ยังเหลืออยู่จะได้รับผลกระทบโดยตรงโดยการระเบิดฐานหิน หรือการขุดลอกสันทรายเพื่อทำให้ช่องทางน้ำของแม่น้ำลึกขึ้นซึ่งจะทำลายที่อยู่อาศัยของนกเหล่านั้น 

นกหัวโตปากยาว

Long-billed Plover  Charadrius placidus  (สถานะ:  ในไทย Near-threatened. ในลาว Little known)

นกชนิดนี้เป็นนกหายากที่บินมาเยือนในฤดูหนาว มีบันทึกการพบตามแม่น้ำโขงระหว่างเชียงแสนกับเชียงของในช่วงฤดูหนาวปี 2544-2545 (ดูรายงานในจดหมายข่าวของสมาคมอนุรักษ์นกฯ) และยังมีการพบเหนือขึ้นไปจากเชียงแสนด้วย  มันมักจะไปอยู่ที่สันทรายและสันกรวด และอาจจะได้รับผลกระทบจากการระเบิดแก่งและขุดลอกที่วางแผนไว้นั้น  อย่างไรก็ตามเนื่องจากประชากรนกที่หลบเข้ามาไทยในฤดูหนาวมีจำนวนน้อย ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างสำคัญในระดับโลกแต่อย่างใด.

นกกระแตหาด

River Lapwing Vanellus duvaucelii (สถานะ: ในไทย endangered.  ในลาว At Risk)

มีการพบนกชนิดนี้จำนวนน้อยตลอดช่วงแม่น้ำโขงที่เป็นพรมแดนไทย-ลาว  ดั๊กเวิร์ธกับคณะบันทึกไว้มีจำนวนถึง 130 ตัวในแม่น้ำโขงลาวตอนบน แต่นกกระแตหาดเป็นนกที่หาได้ยากอยู่แล้วและยิ่งมีจำนวนน้อยลงไปอีกตามส่วนของแม่น้ำโขงที่ผ่านไทย สาเหตุหลักๆก็เนื่องมาจากการรบกวนของมนุษย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อสันทรายและสันกรวดอันเป็นที่ทำรังของมัน และจากการที่ชาวประมงเก็บไข่และลูกนกเป็นอาหาร  จากการที่เราพบนกชนิดนี้ทั้งตอนบนและตอนใต้ของเชียงแสน และช่วงระหว่างเชียงแสนกับเชียงของ (เห็นจำนวน 11 ตัวในเดือนธันวาคม 2544 ดูรายงานในจดหมายข่าวของสมาคมอนุรักษ์นกฯ) มันจะได้รับผลกระทบในทางลบเมื่อมีการรบกวนเพิ่มขึ้นจากการระเบิดหินและแก่งต่างๆ

นกกระแตหัวเทา

Grey-headed Lapwing  Vanellus cinereus (สถานะ: ในไทย Near-threatened. ในลาว Potentially at Risk)

นกชนิดนี้ 20-30 ตัวอพยพเข้ามาใช้ฤดูหนาวบนสันทรายใต้เชียงแสนลงมาและอาจจะถูกขับไล่ไปเนื่องจากการระเบิดแก่ง  อย่างไรก็ตามเนื่องจากนกชนิดนี้ยังเข้ามาใช้ฤดูหนาวในพื้นที่อันกว้างขวางในทุ่งนาและทุ่งหญ้าที่ชื้นแฉะด้วย การระเบิดแก่งก็ไม่น่าที่จะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อประชากรนกชนิดนี้ที่เข้ามาใช้ฤดูหนาวในไทยโดยรวม

ดั๊กเวิร์ธกับคณะเห็นว่าแม่น้ำโขงลาวตอนบนเป็นพื้นที่อาศัยในฤดูหนาวที่สำคัญของนกชนิดนี้ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากการระเบิดแก่ง

นกนางนวลแกลบท้องดำ

Black-bellied Tern  Sterna acuticauda  (สถานะ: ในไทย Critical.  ในลาว At Risk.   ในโลก Near-threatened).

มีบันทึกการพบนกชนิดนี้ในเขตแม่น้ำโขงที่เป็นพรมแดนไทย-ลาวเมื่อเร็วๆนี้เพียงครั้งเดียวที่เชียงแสนเมื่อปี 2539 (จดหมายข่าวสมาคมอนุรักษ์นกฯ; Thewlis et al., 1998)  ก่อนหน้านี้มันเคยทำรังบนตลิ่งทรายของแม่น้ำ แต่ขณะนี้อาจจะใกล้หมดสิ้นไปจากแม่น้ำโขงแล้ว  ดังนั้นการอนุรักษ์นกชนิดนี้จึงมีความสำคัญ  การรบกวนที่เพิ่มมากขึ้นไปกว่านี้ เช่น การเปลี่ยนอุทกศาสตร์ของแม่น้ำ และบางทีอาจจะรวมการเปลี่ยนห่วงโซ่อาหารที่เกิดขึ้นจากการระเบิดแก่งอาจจะทำให้นกชนิดนี้สูญพันธุ์

นกนางนวลแกลบแม่น้ำ

River Tern  Sterna aurantia (สถานะ: ในไทย Critical.  ในลาว At Risk)

นกชนิดนี้หาได้ยากมากอยู่แล้วเนื่องจากการรบกวนของมนุษย์ต่อสันทรายที่มันทำรังวางไข่ มีบันทึกการพบเมื่อเร็วๆนี้ตามแม่น้ำโขงบริเวณเชียงแสน เวียงจันทน์ และบริเวณใกล้กับเขมราช (จดหมายข่าวสมาคมอนุรักษ์นกฯ; Duckwoth et al, 1999).  ดั๊กเวิร์ธกับคณะไม่มีบันทึกการพบนกชนิดนี้ในส่วนใดเลยของแม่น้ำโขงลาวตอนบนที่บ่อแก้วและหลวงน้ำทา สะท้อนให้เห็นถึงการหาได้ยากยิ่งของนกชนิดนี้ในบริเวณที่มันเคยมีอยู่อย่างค่อนข้างมากมาย  บันทึกล่าสุดที่มีการพบในแม่น้ำโขงอยู่ที่ตอนใต้ของลาว ในบริเวณน้ำตกโขน (Duckworth et al., 1999).

          การรบกวนที่เพิ่มมากขึ้นไปกว่านี้ เช่น การเปลี่ยนอุทกศาสตร์ของแม่น้ำ และบางทีอาจจะรวมการเปลี่ยนห่วงโซ่อาหารที่เกิดขึ้นจากการระเบิดแก่ง อาจจะทำให้นกชนิดนี้ไม่อาจฟื้นตัวได้และนำไปสู่การสูญพันธุ์เร็วขึ้น

นกกาน้ำใหญ่

Great Cormorant Phalacrocorax carbo  (สถานะ: ในไทย Critical.  ในลาว At Risk)

มีนกชนิดนี้ปรากฏให้เห็นเพียงตัวเดียวบนสันทรายเหนือเชียงแสนขึ้นไปเมื่อต้นปี 2543 (จดหมายข่าวสมาคมอนุรักษ์นกฯ, Duckworth et al. กำลังพิมพ์)  นกชนิดนี้อยู่ในสภาพถูกคุกคามตลอดทั่วภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าที่อื่นๆ  มันเคยมีอยู่เป็นจำนวนมากในท้องถิ่น แต่ประชากรนกในพื้นที่อื่นๆหมดไปบางทีอาจจะเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน  เช่นเดียวกับนกน้ำขนาดใหญ่อื่นๆทั้งนกที่อยู่ประจำถิ่นและนกอพยพทั้งหลาย มันเสี่ยงที่จะสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเนื่องจากการขุดลอกและย้ายสันทรายออกไป และบางทีอาจจะจากการลดลงของอาหาร (ส่วนใหญ่คือปลา)

นกกระสาดำ

Black Stork Ciconia nigra (สถานะ: ในไทย endangered. ในลาว At Risk)

นกชนิดนี้อพยพเข้ามาเยือนสันทรายช่วงบนและช่วงกลางของแม่น้ำโขงในฤดูหนาว แวะพักหรือผ่านมาหรือบางทีอาจจะหาอาหารกินบนสันทราย มันมาเป็นครั้งคราวและบางทีอาจจะลดลง มีการพบนกชนิดนี้ตัวหนึ่งเหนือเชียงแสนขึ้นไปในเดือนธันวาคม 2526 (Duckworth et al., 1999) และเห็นนกอีกสามตัวใกล้กับแม่น้ำโขงที่หนองบงคายในเดือนตุลาคม 2544 (จดหมายข่าวสมาคมอนุรักษ์นกฯ)  เนื่องจากมันเป็นนกขนาดใหญ่ จึงมีพื้นที่อื่นเพียงสองสามแห่งเท่านั้น นอกเหนือจากแม่น้ำที่มันจะหนีจากการรบกวนโดยตรงของมนุษย์ได้

นกยอดหญ้าหลังดำ

Jerdon's Bushchat Saxicola jerdoni (สถานะ: ในไทย Endangered. ในลาว Not at Risk)

ประชากรกลุ่มใหญ่ของนกชนิดนี้เท่าที่รู้กันอยู่ที่ตอนกลางของแม่น้ำโขงรอบๆและเหนืออำเภอปากชมของไทย (ตรงข้ามกับอำเภอซางทองในลาว)  ดั๊กเวิร์ธ (1997) ประเมินว่ามีจำนวนมากกว่า 100  คู่  นกชนิดนี้ปรากฏให้เห็นกับไม้พุ่มที่ชื่อไคร้น้ำ Homonoia riparia (Duckworth et al. กำลังพิมพ์) บนสันทรายและสันกรวดในแม่น้ำและฐานหินที่เปิดโล่งใน “ช่องทางน้ำที่บิดเป็นเกลียว”  ไม่มีการพบนกยอดหญ้าหลังดำในแม่น้ำโขงใต้จากบริเวณนี้ไปอีก

          นกยอดหญ้าหลังดำยังพบได้บ้าง แต่มีจำนวนน้อยในบริเวณรอบๆ อำเภอเชียงแสน  อย่างไรก็ตามพื้นที่สันทรายและสันกรวดเตี้ยๆและฐานหินที่เปิดโล่งจากเชียงแสนตามน้ำลงมาจนถึงเชียงของ ซึ่งยังไม่เคยมีการสำรวจนกชนิดนี้อย่างจริงจัง  น่าจะยังมีประชากรนกยอดหญ้าหลังดำจำนวนมากอย่างค่อนข้างจะแน่นอน เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยนี้ดูเหมือนว่าใกล้เคียงกับถิ่นที่อยู่อาศัยที่ปากชม ดังนั้นประชากรนกจำนวนมากที่ปรากฏอยู่จึงมีความสำคัญในเชิงอนุรักษ์อย่างน้อยก็ในระดับชาติและ อาจจะถึงระดับภูมิภาคด้วยและจะได้รับความเสียหายโดยตรงจากการระเบิดหรือทำลายฐานหินของแม่น้ำ  ยิ่งไปกว่านั้น ประชากรนกชนิดนี้ที่ปากชมยังอาจจะเสี่ยงอยู่แล้วจากการขุดทรายเอาไปใช้ในการก่อสร้าง

นกนางแอ่นทรายสีน้ำตาล

Plain Martin  Riparia paludicola (สถานะ: ในไทย: Endangered.  ในลาว At Risk)

นกแอ่นทรายสีน้ำตาลเป็นนกที่หายากตามแม่น้ำโขงที่มันอาศัยทำรังในตลิ่งดินแนวดิ่ง  มีกลุ่มรังนกในลักษณะนี้แห่งหนึ่งที่สบรวก ซึ่งน้ำรวกไหลลงแม่น้ำโขงเหนือเชียงแสนขึ้นไป สูญหายไปแล้วเนื่องจากตลิ่งถูกปรับให้ลาดลงและเทคอนกรีตทับ เมื่อเร็วๆนี้ยังมีรายงานการพบนกชนิดนี้เพียงสองสามตัวที่ฝั่งไทยของแม่น้ำโขง เช่น ที่ปากชม  อย่างไรก็ตาม ดั๊กเวิร์ธกับคณะบันทึกการพบเห็นนกสองสามร้อยตัวในเขตแม่น้ำโขงลาวตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่อาจได้รับผลกระทบจากการระเบิดและการขุดลอกแม่น้ำ

นกนางแอ่นหางลวด

Wire-tailed Swallow  Hirundo smithii (สถานะ:  ในไทย near-threatened.  ในลาว Potentially at Risk)

นกนางแอ่นชนิดนี้ส่วนใหญ่ผูกพันกับแก่งในแม่น้ำ เชื่อกันว่าปริมาณของมันที่ปากมูลลดลงเนื่องจากการทำลายและจมน้ำไปของแก่งต่างๆอันเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนปากมูล ถึงแม้ว่าจะพบเห็นนกชนิดนี้อย่างกว้างขวางตามส่วนต่างๆที่เป็นหินของแม่น้ำโขง จำนวนที่แท้จริงก็มีน้อย ลดลงจากที่เคยมีรายงานการพบเห็นเป็น “พันๆ ตัว” เมื่อห้าสิบปีก่อน (Duckworth et al, 1999)  ถึงแม้ว่านกชนิดนี้จะพบกระจายกว้างขวางในพื้นที่เกษตรกรรม มีการทำรัง เช่น ใต้ท่อระบายน้ำของถนน (ใต้สะพาน) แม่น้ำก็ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยหลักของมันและการระเบิดฐานหินจะมีผลผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนนก 

นกชนิดอื่นๆ

นอกเหนือจากนกที่ถูกคุกคามดังกล่าวข้างต้นนี้แล้ว ยังมีนกอื่นอีกเป็นจำนวนมาก หลักๆก็เป็นนกในพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งปรากฏให้เห็นตามแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมาก ในขณะที่หาได้ยากในที่อื่นๆ

เป็ดเทา

Spot-billed Duck  Anas poecilorhyncha

นกชนิดนี้กระจายอยู่ทั่วไปเป็นจำนวนน้อยในหลายส่วนของแม่น้ำโขงซึ่งคิดกันว่ามันอาจจะผสมพันธุ์ด้วย นกที่ดูเหมือนว่าจะอยู่กันเป็นคู่ส่วนใหญ่อยู่ที่ช่องทางน้ำที่บิดเป็นเกลียวแทรกไประหว่างฐานหิน สันกรวด เกาะและบริเวณกว้างที่มีต้นไม้พุ่มไม้เล็กๆ ซึ่งเป็นบริเวณที่การรบกวนจากมนุษย์มีน้อยที่สุด

          นกที่เข้ามาในฤดูหนาวอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ โดยปรกติมักพบบนสันทรายที่เชียงแสน(ฝูงใหญ่ที่สุดมีจำนวน 64 ตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ดูจดหมายข่าวสมาคมอนุรักษ์นกฯ) และเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างแม่น้ำโขงกับหนองบงคายที่อยู่ใกล้เคียง

นกหัวโตเล็กขาเหลือง

Little Ringed Plover  Charadrius dubius

นกชนิดนี้จำนวนน้อยทำรังครอบคลุมพื้นที่กว้างบนสันทรายของแม่น้ำโขง รวมทั้งบริเวณรอบเชียงแสน และจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการรบกวนด้วยการขุดลอกหรือย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของมันออกไป

นกแอ่นทุ่งเล็ก

Small Pratincole  Glareola lactea

นกชนิดนี้ทำรังบนสันทรายในแม่น้ำเท่านั้น และเป็นนกทำรังในแม่น้ำที่ยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะพบนกชนิดนี้ได้แพร่หลายทั่วไปตามแม่น้ำโขงที่เป็นพรมแดนไทย-ลาว กลุ่มเดียวที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่รู้กันอยู่รอบเชียงแสน ซึ่งมีการพบเห็นอย่างน้อย 840 ตัวเหนือจากตัวเมืองขึ้นไปในช่วงต้นปี 2543 (Duckworth et al. กำลังพิมพ์) และอีก1,600 ตัวระหว่างเชียงแสนกับเชียงของในเดือนกุมภาพันธ์ 2545 (จดหมายข่าวสมาคมอนุรัก์นกฯ) จำนวนนกชนิดนี้ในที่อื่นดูเหมือนว่าจะมีจำนวนน้อยกว่ามาก  นกชนิดนี้จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขุดลอกสันทรายหรือระเบิดฐานหิน และจำนวนของมันอาจจะลดลงมาก 

นกน้ำชนิดอื่นๆ

แม่น้ำโขงส่วนที่ผ่านประเทศไทยค้ำจุนนกน้ำจำนวนมากทั้งจำนวนตัวและชนิด นอกเหนือจากนกที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วก็ยังมีเหล่านกยางและนกกระสา (โดยเฉพาะ นกกระสานวล  Grey Heron Ardea cinerea); นกเป็ดน้ำ (เป็ดหางแหลม Northern Pintail Anas acuta; บางครั้งก็มี เป็ดพม่า Ruddy Shelduck Tadorna ferruginea) และนกชายเลนอื่นๆ  โดยเฉพาะมีบันทึกการพบ นกทะเลขาแดงลายจุด Spotted Redshanks Tringa erythropus มากถึง 350 ตัวอพยพเข้ามาใช้ฤดูหนาวอยู่ที่เชียงแสน นกหัวโตขาดำ  Kentish Plovers Charadrius alexandrinus, นกสติ๊นท์อกเทา  Temminck's Stint Calidris temminckii และบางครั้งก็มีนกชายเลนท้องดำ  Dunlin Calidris alpina, ซึ่งเป็นนกที่หายากทั่วประเทศไทย.  บันทึกการพบห่านสามชนิดในประเทศไทยคือ ห่านหัวลาย  Bar-headed Goose Anser indicus, ห่านเทาปากสีชมพู  Greylag Goose A. anser และ ห่านคอขาว Swan Goose A. cygnoides ที่ถูกคุกคามในขอบเขตทั่วโลกก็มาจากบริเวณนี้เอง 

พื้นที่สำคัญของนก (Important Bird Areas – IBAs)

มีพื้นที่อย่างน้อยที่สุด 5 แห่งตามแนวแม่น้ำโขงส่วนที่เป็นพรมแดนไทย-ลาวที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นพื้นที่สำคัญของนก (Important Bird Areas - IBAs) โดยสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BirdLife Thailand) และ BirdLife International เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์นกสากล  คิดกันว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีเป็นพิเศษของถิ่นที่อยู่อาศัยตามแม่น้ำที่ราบแถบ Indo-Gangetic (Indo-Gangetic plains riverine habitat) และได้ค้ำจุนกลุ่มนกที่รวมฝูงกันหลายชนิดทั้งชนิดที่มีความสำคัญทั้งระดับชาติและระดับโลก  ดังนั้นจึงมีค่าควรแก่การอนุรักษ์ (ดูตารางที่ 1)  พื้นที่นี้สองแห่ง – ตอนบนจากเชียงแสนไปสามเหลี่ยมทองคำ และตอนล่างจากเชียงแสนไปเชียงของ จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระเบิดและการขุดลอกแก่งในแม่น้ำโขง ส่วนอีกสามแห่งนั้นอาจได้รับผลทางอ้อมจากการอยู่ท้ายน้ำลงมา

ถิ่นที่อยู่อาศัยหลักของนก

ถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของนกตามแม่น้ำมีดังต่อไปนี้

1) สันทรายเปิด สันทรายเปิดค้ำจุนการทำรังของนกนางนวลแกลบท้องดำ Sterna acuticauda,. นกนางนวลแกลบแม่น้ำ S. aurantia, นกนางนวลแกลบเล็ก S. albifrons, นกกระแตหัวเทา Vanellus duvaucelii, นกหัวโตเล็กขาเหลือง Charadrius dubius, นกแอ่นทุ่งเล็ก Glareola lactea  และนกมากชนิดที่เข้ามาอาศัยในฤดูหนาวจำนวนมาก ได้แก่นกเป็ดน้ำ (ducks) นกชายเลน (waders) เหล่านกยางและกระสา( herons) นกกาน้ำ (cormorants) นกเด้าลม (wagtails) นกเด้าดิน (pipits) ฯลฯ รวมทั้งนกที่อยู่ในสภาพเสี่ยงในระดับชาติ เช่น นกกระสานวล Grey Heron และนกกระแตหัวเทา Grey-headed Lapwing  สันทรายขนาดใหญ่ทางเหนือเชียงแสนที่สบรวกอาจจะเป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดพื้นที่เดียว ของแม่น้ำโขงตอนบนในแง่จำนวนนกน้ำอพยพในช่วงฤดูหนาว

2) แถบหญ้าสูงบนสันทราย ค้ำจุนนกขนาดเล็กจำนวนมาก รวมทั้งนกพง (warblers) นกจาบปีกอ่อน (buntings) เป็นฝูง และนกกระติ๊ดแดง Red Avadavat Amandava amandava ที่ทำรังได้  มีรังนกนกยอดหญ้าหลังดำ Jerdon's Bushchat จำนวนน้อยในถิ่นที่อยู่ลักษณะนี้ และนกเขน chat ซึ่งหาได้ยากมากและอพยพเข้ามาในฤดูหนาว  มีบันทึกด้วยว่าพบนกคอทับทิมอกดำ White-tailed Rubythroat Luscinia pectoralis ในถิ่นที่อยู่อันเป็นดงหญ้าและอ้อในพื้นที่ชื้นแฉะรอบเชียงแสน  พื้นที่สำคัญของถิ่นที่อยู่อาศัยในลักษณะนี้มีอยู่ตลอดฝั่งไทยของแม่น้ำโขงจากสามเหลี่ยมทองคำลงมาจนถึงเชียงของเป็นอย่างน้อย

3) ฐานหินที่โผล่พ้นน้ำและช่องทางน้ำที่ไหลเป็นเกลียว สลับกับแถบทรายหรือกรวดเล็กๆซึ่งมักจะปรากฏพร้อมกับหมู่ต้นไคร้น้ำ Homonoia riparia  พื้นที่ลักษณะนี้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยในแม่น้ำที่อาจจะหลากหลายมากที่สุดสำหรับนก และมีความสำคัญสำหรับนกหลายชนิด ได้แก่ เป็ดเทา Anas poecilorhyncha (บางทีอาจผสมพันธุ์ด้วย); นกกระแตผีใหญ่ Esacus recurvirostris (อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ระดับประเทศ แต่ก็ยังผสมพันธุ์อยู่)  นกนางนวลแกลบแม่น้ำ Sterna  aurantia, นกนางแอ่นหางลวด Hirundo smithii  และนกยอดหญ้าหลังดำ Saxicola jerdoni  (ประชากรกลุ่มใหญ่ที่คนไม่ค่อยสนใจนักในถิ่นที่อยู่อาศัยแห่งนี้) และนกพงทั้งที่เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพ  นกกินแมลงตาเหลือง Yellow-eyed Babbler Chrysomma sinense และนกกินแมลงกระหม่อมแดง Chestnut-capped Babbler Timalia pileata.

ถิ่นที่อยู่อาศัยลักษณะนี้มีอยู่มากตั้งแต่เชียงแสนลงไปจนถึงเชียงของ ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นแม่น้ำโขงส่วนที่เป็นพรมแดนไทย-ลาวที่จะได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการระเบิดแก่งหิน

4) ตลิ่งดินแนวดิ่ง ตลิ่งดินแนวดิ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยสำหรับนิคมนกนางแอ่นทรายสีน้ำตาล Plain Martin และบางทีอาจจะรวมถึงนกจาบคาหัวเขียว Blue-tailed Bee-eater Merops philippinus.  ตลิ่งชันแนวดิ่งที่สูงหนึ่งเมตรขึ้นไปมีอยู่ทั้งตามตลิ่งของลำน้ำสายหลักและบนเกาะนอกชายฝั่ง  

ผลกระทบที่เกิดขึ้นท้ายน้ำลงมา

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระเบิดหินในแม่น้ำโขงตอนบนยากที่จะทำนาย แต่อาจจะมีผลกระทบได้มากจากการที่อุทกศาสตร์ (อัตราการไหลของน้ำ การตกตะกอน การเปลี่ยนแปลงในแบบแผนการตกตะกอน) เปลี่ยนแปลง และอาจจะมีผลอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศหรือแม่น้ำหลายร้อยกิโลเมตรท้ายน้ำลงมาจากบริเวณที่มีการระเบิด ทำให้การกัดเซาะตลิ่งหนักขึ้น และกวาดล้างเอาสันทรายและเกาะที่มีความสำคัญต่อนกออกไป

หาดทรายและกรวดของแม่น้ำโขงและสายน้ำสาขาหลักบางสาขาในลาวตอนใต้และกัมพูชาตอนเหนือเป็น   แหล่งของนกประจำถิ่นที่เพิ่งค้นพบใหม่ชนิดหนึ่งคือ นกเด้าลมแม่น้ำโขง Mekong Wagtail Motacilla samveasnae (Duckworth et al., 2001).  ตัวอย่างสองตัวอย่างแรกของนกชนิดนี้เก็บได้ใกล้กับปากมูลในเขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  ค่อนข้างจะแน่นอนว่านกชนิดนี้ไม่ได้แพร่กระจายขึ้นไปถึงแม่น้ำโขงตอนบน  แต่อย่างไรก็ตามมันอาจจะอ่อนเปราะต่อการไหลของน้ำในแม่น้ำและการตกตะกอนที่เปลี่ยนไปเนื่องจากการระเบิดแก่งทางต้นน้ำ  

ค่าเสียหายและผลประโยชน์

          ดังที่เป็นมาเสมอสำหรับโครงการในลักษณะนี้ ไม่มีความพยายามอย่างจริงจังใดๆที่จะประเมินค่าเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบ ทางสังคมและเศรษฐกิจที่น่าจะเกิดขึ้นกับประชาชนในท้องถิ่น

          ผลกระทบที่ชัดๆคงยากที่จะระบุออกมา และส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของงานที่ทำต่อแม่น้ำ  อย่างไรก็ตามเนื่องจากทางการไม่ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ออกมา ก็เป็นธรรมดาที่องค์กรเอกชน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมจะสมมติว่าเกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุดขึ้นไว้ก่อน  ความยากลำบากในการระบุผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ออกมาอย่างชัดเจนแม่นยำไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้าง ในการเดินหน้าโครงการต่อไป และมาคอยดูผลว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

          ผลประโยชน์ประการเดียวของโครงการพัฒนาที่มีการเสนอขึ้นมานี้คือการปรับปรุงการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับไทย  ผู้ได้รับประโยชน์หลักจะเป็นจีนซึ่งต้องการขยายการครอบงำทางเศรษฐกิจเหนือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ไทยไม่น่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการค้า เนื่องจากไทยสามารถแข่งขันกับจีนได้น้อยกว่าทั้งในแง่ปริมาณและราคาพืชผลการเกษตร (ค่าแรงไทยสูงกว่ามาก)  นอกจากนั้นผลประโยชน์ใดที่จะเป็นไปได้จากการค้าทางแม่น้ำน่าจะถูกบดบังไปในเวลาอีกเพียงสองสามปีข้างหน้า เมื่อทางหลวงที่เชื่อมต่อจากภาคเหนือของไทยไปยังเมืองคุนหมิงซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างทำเสร็จลง

          ดังนั้นจึงมีคำถามที่จะต้องตั้งกับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ต่อประเทศที่ต้องแบกรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ คือไทยกับลาว

ค่าเสียหายน่าจะมาก

 การระเบิดแก่งน่าจะมีผลทำให้ชุมชนนกแม่น้ำที่หลากหลายและระบบนิเวศที่หา ไม่ได้ในที่อื่นของประเทศไทยหายไปหรือเสื่อมโทรมลงอย่างมาก  นกชนิดที่ขณะนี้ตกอยู่ในอันตรายอยู่แล้ว เช่น นกกระแตผีใหญ่ Esacus recurvirostris และนกนางนวลแกลบแม่น้ำ Sterna aurantia อาจจะสูญพันธุ์ไปเลย ในขณะที่จำนวนนกอีกหลายชนิด เช่น นกแอ่นทุ่งเล็ก Glareola lactea และนกยอดหญ้าหลังดำ Saxicola jerdoni จะลดลงอย่างมาก นอกจากนั้น คุณค่าของ Ramsar site ที่หนองบงคายก็น่าจะลดลงด้วย  ในปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์ของหนองบงคายส่วนหนึ่งมาจากการมีพื้นที่พัก และพื้นที่หาอาหารที่ดีบนแม่น้ำโขง ซึ่งนกเป็ดน้ำและเหล่านกยางและนกกระสาจากหนองน้ำแห่งนี้สามารถเดินทางไปมาได้   การทำลายสันทรายในแม่น้ำโขงส่วนที่อยู่เหนือเชียงแสนขึ้นไป อาจทำให้การเดินทางเช่นนั้นไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

          ผลกระทบที่มีต่อแม่น้ำโขงอาจจะมากเนื่องจากมีการย้ายพื้นที่หากินและวางไข่ของปลาหลายชนิดออกไป  การเปลี่ยนแปลง เช่น อัตราการไหลของน้ำ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปที่ลดปริมาณและความอุดมสมบูรณ์ของปลาที่มีอยู่ในปัจจุบันลงไปได้มากมาย

          การเปลี่ยนแปลงอุทกศาสตร์อาจจะทำให้ปัญหาการกัดเซาะพังทลายของตลิ่งหนักหน่วงรุนแรงขึ้น ทำให้จำเป็นต้องสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันตลิ่งที่มีราคาแพงจากเงินภาษีของประชาชน  การทำเขื่อนเช่นนี้จะทำลายถิ่นทำรังบนตลิ่งของนกที่เจาะรูทำรัง เช่น นกนางแอ่นทรายสีน้ำตาล Plain Martin และนกจาบคาหัวเขียว Blue-tailed Bee-eater.

โดยสรุป ในขณะที่ผลกำไร(ถ้ามี)ของนักธุรกิจพอกพูนมากขึ้น คนนับพันนับหมื่นที่มีรายได้ต่ำซึ่งต้องพึ่งพาแม่น้ำของพวกเขาในการ จับสัตว์น้ำและการใช้งานเล็กๆน้อยๆจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในด้านสิ่งแวดล้อมและแบบแผนการใชีชีวิต  ยิ่งกว่านั้นความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของชุมชนที่อาศัยบนฝั่งแม่น้ำโขงจะลดลงเป็นอย่างมาก

 

เอกสารอ้างอิง:

BirdLife International  2001.  Threatened birds of Asia: The BirdLife International Red Data Book.  Birdlife International, Cambridge, U.K.

Duckworth, J.W. 1997.  Observations on a population of Jerdon's Bushchats Saxicola jerdoni in the Mekong Channel.  Bull. Brit. Orn. Cl. 117: 210–220

Duckworth, J.W., Salter, R.E.,  and Khounboline, K. 1999.  Wildlife in Lao PDR: 1999 Status Report. IUCN- The World Conservation Union, Wildlife Conservation Society and Centre for Protected Areas and Watershed Management, Vientiane

Duckworth, J.W., Alstrom, P., Davidson, P., Evans, T.D., Poole, C.M., Tan Setha and Timmins, R.J. 2001.  A new species of wagtail from the lower Mekong basin.  Bull. Brit. Orn. Cl. 121(3): 152–182.

Duckworth, J. W., Davidson, P., Evans, T. D., Round, P. D. and Timmins, R. J. (in press)  Bird records from Laos, principally the upper Lao Mekong and Xiangkhouang Province, in 1998–2000.

Round, P.D.  2000 Field Check-List of Thai Birds.  Bird Conservation Society of Thailand, Bangkok.

Thewlis, R.M., Timmins, R.J., Evans, T.D. and Duckworth, J.W. 1998.  The conservation status of birds in Laos.  Bird Conservation International 8: (Supplement) 1–159.

 

ตาราง 1. พื้นที่อยู่สำคัญของนก (Important Bird Areas - IBAs) ตามแนวแม่น้ำโขงในประเทศไทย

ชื่อของพื้นที่ ลักษณะของ ถิ่นที่อยู่อาศัย นกที่หายากใน ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค ความสำคัญ
1. เชียงแสน (สามเหลี่ยมทองคำ) สันทรายกว้าง ในแม่น้ำ Phalacrocorax carbo Ciconia nigra Vanellus duvaucelii, Esacus recurvirostris, Sterna aurantia, S. acuticauda, Saxicola jerdoni ถิ่นที่อยู่หลักสำหรับนกน้ำที่เข้ามา ในฤดูหนาวและสำหรับนก Vanellus duvaucelii and Glareola lactea ที่ทำรัง
2. เชียงแสน - เชียงของ สันทรายและ ฐานหินในแม่น้ำ Vanellus duvaucelii, Esacus recurvirostris, Sterna aurantia, S. acuticauda, Saxicola jerdoni

 

พื้นที่สำคัญสำหรับนกน้ำที่เข้ามาในฤดูหนาว มีบันทึกพบเห็นนกกว่า 100 ชนิด; พื้นที่ทำรังสำคัญของนก Glareola lactea (มีนกจับคู่ผสมพันธุ์กว่า 1,000 คู่)
3. ปากชม สันทรายและ ฐานหินในแม่น้ำ Esacus recurvirostris, Saxicol jerdoni มีกลุ่มประชากรนก Saxicola jerdoni ที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้
4. หาดสูง - เขมราช แก่งหิน / ฐานหิน Esacus recurvirostris, Sterna autantia ถิ่นที่พบนก Esacus recurvirostris ได้เสมอ
5. ปากมูล แก่งหินและ สันกรวด Haliastur indus, Hirundo smithii, Motacilla samveasnae ที่เดียวในประเทศไทยเท่าที่รู้กันที่พบนก Motacilla samveasnae ได้

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา