eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เขื่อนสาละวินและคลื่นผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงที่ชายแดนท่าสองยาง

อาทิตย์ ธาราคำ
เนชั่นสุดสัปดาห์ 10 กรกฎาคม 2552

นับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กองทัพพม่า ร่วมกับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) เปิดศึกโจมตีพื้นที่ของกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระ (KNU) ในพื้นที่กองพล 7 ในจังหวัดพะอัน หรือ ผาอ่าง (Pa-an) รัฐกะเรี่ยง ส่งผลให้ชาวบ้านต้องหนีภัยความตายมาพึ่งแผ่นดินไทยอย่างน้อย 3,500 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เช่น วัด และหมู่บ้าน ในเขต อ.ท่าสองยาง จ. ตาก

นับเป็นการโจมตีที่ส่งผลให้เกิดระรอกคลื่นผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยงเข้าสู่ประเทศไทยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี หลังจากการสู้รบครั้งใหญ่ในเขตดูพลายา (Dooplaya) ทางตอนใต้เมื่อปี 2540

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (Karen Human Rights Group) รายงานว่ามีกำลังทหารสนธิระหว่างกองทัพพม่า 5 กองพัน และ ทหารDKBA รวมกว่า 900 นายเข้าร่วมในการโจมตีครั้งนี้ โดยมิได้มีเป้าหมายทำลายเพียงแค่ฐานที่มั่นของกองกำลัง KNU เท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายรวมถึงประชาชนในหมู่บ้านต่างๆ และค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ โดยเฉพาะค่ายเหล่อปอเฮอ ซึ่งมีผู้พลัดถิ่นพักพิงอยู่กว่า 1,000 คน  

กลุ่มสิทธิมนุษยชนฯ ระบุว่า ชาวบ้านกะเหรี่ยงหนีข้ามมายังฝั่งไทยเนื่องจากการโจมตีหมู่บ้าน และหนีการกวาดต้อนชาวบ้านไปเป็นแรงงานทาสให้แก่ทหารพม่าและ DKBA ซึ่งกองทหารสนธิดังกล่าวต้องการแรงงานแบกยุทโธปกรณ์ในการเข้าพื้นที่เพื่อสู้รบ โดยฉพาะในช่วงฤดูฝนที่การเดินทางในพื้นที่เป็นไปอย่างลำบาก

กลุ่มบรรเทาทุกข์ Free Burma Rangers ระบุว่าทั้งสองกองกำลังได้จับและเกณฑ์แรงงานชาวบ้านไปแล้วจากพื้นที่พะอันและเมืองเมียวดี เช่น หมู่บ้านทีโตก่อ ทุกๆ วันชาวบ้าน 5 คน ต้องสลับกันไปทำงานให้ทหารพม่า และขนเสบียงไปยังพื้นที่แนวหน้าของสนามรบ ล่าสุดผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน 5 คน ถูกทหารพม่าจากกองร้อย 81 จับตัวไป และยังไม่ทราบชะตากรรม

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าทหารพม่ากองพันทหารราบ 205 ที่เข้ามาในพื้นที่ได้ข่มขืนผู้หญิง 2 คน โดยเหยื่อเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ 8 เดือน และผู้หญิงที่มีลูกอ่อนเพียง 6 เดือน เนื่องจากขณะที่ทหารพม่าเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อเกณฑ์แรงงานนั้นชาวบ้านผู้ชายได้หลบหนีไปจากหมู่บ้านแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่ห่างจากค่ายเลอปอเฮอออกไปเพียง 15 กิโลเมตร

สำหรับผู้ที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-พม่า จะพบว่าประเด็นหนึ่งที่เชื่อมโยงและควรจับตามองคือ โครงการเขื่อนฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งพื้นที่สู้รบดังกล่าวอยู่ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนฮัตจี ไปเพียง 16 กิโลเมตรเท่านั้น และพื้นที่ซึ่งถูกทหารพม่าโจมตีและยึดไว้ได้นั้นส่วนหนึ่งอยู่ในเขตแนวสายส่งไฟฟ้าและแนวถนนจากหัวงานเขื่อนเข้าสู่ชายแดนไทย ที่อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

โครงการเขื่อนฮัตจี จะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำสาละวินในเขตรัฐกะเหรี่ยง ห่างจากชายแดนไทยที่อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ลงไปตามลำน้ำ 47 กิโลเมตร เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาด 1,360 เมกกะวัตต์ ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับรัฐบาลทหารพม่า และบริษัทสิโนไฮโดร (Sinohydro) จากจีน เพื่อส่งไฟฟ้าขายแก่ประเทศไทย มูลค่าการก่อสร้างโครงการประมาณ 120,000 ล้านบาท

ตลอดหลายปีที่ผ่านมากลุ่มสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนต่างๆ  เช่น กลุ่ม Salween Watch ได้รณรงค์คัดค้านการก่อสร้างโครงการเขื่อนต่างๆ บนแม่น้ำสาละวินในพม่า เนื่องจากข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน เพราะพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนทั้ง 5 แห่งบนแม่น้ำสาละวินตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งยังมีการสู้รบระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยและกองทัพพม่า นับตั้งแต่รัฐฉาน เรื่อยลงมาจนถึงรัฐคะยา และรัฐกะเหรี่ยง

การสร้างเขื่อนจะทำให้กองทหารพม่าเข้ามาในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่การก่อสร้างและพื้นที่รอบๆ เขื่อน และนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ อาทิ การกวาดล้างอพยพชาวบ้านออกนอกพื้นที่ การสังหาร และการเกณฑ์แรงงานทาส

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา KNU แสดงจุดยืนที่ชัดเจนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนฮัตจี ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม ประธาน KNU ได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีไทย แสดงความกังวลต่อโครงการเขื่อนฮัตจี โดยจดหมายฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า “เรา (KNU) มีความกังวลต่อโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าฮัตจี บนแม่น้ำสาละวินซึ่งอยู่ในพื้นที่ของเรา ที่ผ่านมายังไม่มีการสำรวจและศึกษาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่รอบด้าน การสร้างเขื่อนในขณะนี้จะทำให้ทหารพม่าหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่อีกนับพันนาย และจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง”

กลุ่มสิ่งแวดล้อมกะเหรี่ยงซึ่งเก็บข้อมูลจากในพื้นที่ได้รายงานว่า พื้นที่รอบๆ เขื่อนฮัตจี ยังมีชาวบ้านอาศัยอยู่อีกอย่างน้อย 41 หมู่บ้าน  และชาวบ้านมีความกังวลว่าจะต้องเผชิญการกวาดล้างของกองทัพพม่ารุนแรงขึ้นหากมีการสร้างเขื่อน นั่นหมายถึงจำนวนผู้อพยพสู่ชายแดนไทยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับทางรัฐบาลไทย ในขณะนี้สำนักนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนฮัตจีโดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน ภายใต้คณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีนายนายสาทิตย์  วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีให้ระงับโครงการก่อสร้างเขื่อน โดยเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวมีผลกระทบต่อประชาชน และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

รายงานของกสม. ระบุว่า “ประเทศไทยจะถูกกล่าวหาจากนานาชาติว่า ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นประเทศไทยจะต้องรองรับคลื่นผู้อพยพ... และไม่สามารถกลับประเทศพม่าได้เนื่องจากการปราบปรามที่รุนแรงและผืนดินกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ”

ถึงเวลาแล้วที่ชาวไทยต้องจับตามองสถานการณ์ชายแดนไทย-พม่า และการตัดสินใจของรัฐบาลต่อการสร้างเขื่อนสาละวิน เพราะผลกระทบที่จะเกิดกับแผ่นดินไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยงก็คือ ผู้ลี้ภัยจากพม่าที่หนีความตายมาพึ่งบ้านเรา เพราะเราเข้าไปกั้นน้ำให้ท่วมบ้านเขานั่นเอง 
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา