eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ซีพีเซ็น MOU ลาวสำรวจเขื่อนไฟฟ้า 800 MW ยาว 30 ปี

ผู้จัดการรายวัน  4 เมษายน 2551

 เครือเจริญโภคภัณฑ์ อั้นไม่อยู่ส่งบริษัทในเครือลุยโครงการเขื่อนไฟฟ้ากั้นลำน้ำโขงในภาคใต้ของลาว  โดยเซ็นบันทึกฯ ในสัปดาห์นี้เริ่มการสำรวจ เป็นเขื่อนใหญ่มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์

                พิธีเซ็นบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจ (MOU)  จัดขึ้นที่นครเวียงจันทน์ตอนเย็นวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา ระหว่างนายชัชวาล เจียรวนนท์ ประธานบริษัทเจริญเอ็นเนอร์ยี แอนด์วอเตอร์เอเชียจำกัด  กับนายทองมี พมวิไซ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแผนการและการลงทุนของลาว โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

                ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.)  ในบันทึกช่วยจำดังกล่าว  รัฐบาลลาวอนุญาตให้บริษัทในเครือซีพีจากไทยเข้าสำรวจและทำการศึกษาโครงการเขื่อนกั้นลำน้ำโขงที่จุดบ้านลาดเสือ เมืองซะนะสมบูน แขวงจำปาสัก ภายในระยะเวลา 30 เดือน

                หากพบว่ามีความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจ วิชาการ สิ่งแวดล้อมและสังคม ผู้ลงทุนจากไทยก็จะได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวโดยมีอายุสัมปทานแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) เป็นเวลา 30 ปี รวมทั้งระยะเวลาก่อสร้างด้วย ขปล.กล่าว

                เขื่อนบ้านลาดเสือคาดว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ และถ้าหากรายงานของ ขปล.ถูกต้องก็นับเป็นโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างขึ้นกั้นลำน้ำโขงแห่งที่ 3 ในแขวงเดียวกันถัดจากเขื่อนดอนสะฮองในเขตเมืองโขงและเขื่อนบ้านกุ่มที่กั้นลำน้ำในช่วง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานีกับเขตเมืองซะนะสมบูน เช่นเดียวกัน

                เขื่อนบ้านลาดเสือยังจะเป็นแห่งที่ 8 ที่กั้นลำน้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านดินแดนลาวและเป็นพรมแดนธรรมชาติกับไทยอยู่ในเขต แห่งอื่นๆ เท่าที่มีการกำหนดแล้วได้แก่ เขื่อนปากแบ่ง ในแขวงอุดมไซ เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนไซยะบูลี เขื่อนปากลาย กับเขื่อนซะนะคาม-ปากชม

                ยังไม่ทราบจุดที่ตั้งจำเพาะเจาะจงของเขื่อนบ้านลาดเสือ แต่รายงานของ ขปล.ทำให้ดูเหมือนว่าจะเป็นเขื่อนกั้นลำน้ำโขงลาว-ไทยอีกแห่งหนึ่ง ถัดจากเขื่อนบ้านกุ่มที่สร้างขึ้นในเขตใกล้กับผาแต้ม อ.โขงเจียมขึ้นไป

                เจ้าหน้าที่องค์การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม TERRA ผู้หนึ่งกล่าวกับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่า ไม่แน่ใจเกี่ยวกับจุดที่ตั้งที่สำนักข่าวของทางการลาวระบุ และดูจะเป็นไปได้ยากหากจะมีการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงขึ้นอีกแห่งหนึ่งใกล้ๆ กับเขื่อนบ้านกุ่ม  ที่กำลังจะทำให้เกิดน้ำท่วมกินบริเวณกว้างและยาวตามลำน้ำขึ้นไปจนถึงเขต จ. อำนาจเจริญ

                เจ้าหน้าที่ของ TERRA  ผู้หนึ่งกล่าวว่า จุดที่มีศักยภาพสำหรับการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงไทย-ลาวอีกแห่งหนึ่งน่าจะเป็นที่ อ. ท่าอุเทน จ.นครพนม กับเมืองหินบูนในแขวงคำม่วน ส่วนเขื่อนบ้านลาดเสือเป็นไปได้ว่าอาจจะสร้างขึ้นกั้นลำน้ำเซบังเหียง ในเขตเมืองซะนะสมบูน

                เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าได้เข้าไปทำธุรกิจและอุตสาหกรรมการเกษตรในลาวมาเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี  ปัจจุบันมีโรงงานอาหารสัตว์แห่งหนึ่งในเขตนครหลวงเวียงจันทร์ด้วย  แต่เป็นครั้งแรกที่กลุ่มนี้เริ่มเข้าลงทุนผลิตไฟฟ้าในลาว

                ปัจจุบันบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่จากประเทศไทย รวมทั้งอิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ ช.การช่าง และเอ็มดีเอ็กซ์ ล้วนเข้าลงทุนผลิตไฟฟ้าในลาวมาแล้วก่อนหน้านี้

                องค์การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและธรรมชาติที่มี TERRA กับ องค์การเครือข่ายแม่น้ำนานาชาติ (International River Network) หรือ IRN เป็นหัวหอกกล่าวว่า การสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงจะทำลายระบบนิเวศของลำน้ำนานาชาติสายนี้อย่างสิ้นเชิง ฝูงปลาในลำน้ำจะลดจำนวนลง ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรนับร้อยล้านคนในภูมิภาคนี้

                อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศประเทศลาว นายย้ง จันทะลังสี  กล่าวกับ “ผู้จัดการรายวัน”  ในนครเวียงจันทร์ว่า สภาพเศรษฐกิจและการพัฒนาในปัจจุบันจะตั้งหน้าตั้งตารักษาแม่น้ำให้คงสภาพอยู่เพียงอย่างเดียวไม่ได้มีประโยชน์  แต่จะต้องคิดพิจารณาหาทางใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนด้วย

                โฆษกของทางการลาวกล่าวว่า  ปัจจุบันเขื่อนกั้นลำน้ำโขงทุกแห่งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพื่อหาข้อดีข้อเสียและความเป็นไปได้ด้านต่าง ๆ รัฐบาลลาวยังไม่อนุญาตให้ทำการก่อสร้างแม้แต่แห่งเดียว

                นายย้งกล่าวว่า ลาวต้องใช้เวลาถึง 14 ปี ในการศึกษาโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากธนาคารโลก  ปัจจุบันก็กำลังดำเนินการทุกอย่างเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนโดยใช้มาราฐานโลก

                การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่วยให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นการลงทุนที่กำลังเฟื่องฟูในลาว

                ระหว่างการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือแห่งอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงวันที่ 30-31 มี.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลลาวได้เซ็นบันทึก 2 ฉบับกับบริษัทร่วมลงทุนจากเวียดนามเพื่อสำรวจเขื่อนใหม่ 2 แห่ง คือ น้ำซำกับน้ำงึม 4A, 4B และเซ็นสัญญาเพื่อเริ่มก่อสร้างอีก 2 แห่งคือ เซกะหมาน 1 กับน้ำโม

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา