eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แม่น้ำเพื่อชีวิต มิใช่เพื่อความตาย!
เสียงจากชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนทั่วโลก ณ ริมฝั่งแม่มูน ประเทศไทย

อาทิตย์ ธาราคำ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          แสงแดดสาดฉายลงบนผืนแผ่นดินซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนราศีไศล จ. ศรีสะเกษ กระท่อมไม้ไผ่และไม้แซงถูกสร้างขึ้นโดยชาวบ้านราศีไศลและปากมูนเพื่อเป็นที่พักแก่เพื่อนต่างถิ่นผู้มาเยือน ธงรูปปลา สัญลักษณ์แห่งชีวิตของสายน้ำโบกสะบัด ณ ที่ดอนริมสายน้ำมูน วันนี้ ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนและพันธมิตรกว่า ๓๐๐ คน จาก ๖๒ ประเทศทั่วโลกเดินทางมา ณ ราษีไศล ประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม แม่น้ำเพื่อชีวิต การประชุมนานาชาติครั้งที่ ๒ ของผู้เดือดร้อนจากเขื่อนและพันธมิตร

         นับจากการประชุมนานาชาติครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๔๐ ที่เมืองคูริทิบา ประเทศบราซิล ความจำเป็นและจริยธรรมของการสร้างเขื่อน ซึ่ง เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนากระแสหลัก ก็ถูกตั้งคำถามและกลายมาเป็นประเด็นที่ท้าทายอุตสาหกรรมเขื่อน และ ผู้สนับ สนุนเขื่อน ทศวรรษที่ผ่านมาขบวนการผู้เดือดร้อนจากเขื่อน เติบโตขึ้นด้วยความร่วมมือของกลุ่มชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่า ขบวน การ ประชาชนระดับรากหญ้า และองค์กรพัฒนาเอกชนจากทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน ร่วมกันรณรงค์ท้าทายอุตสาหกรรม เขื่อน รัฐบาล และสถาบันการเงินผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อน ให้หันกลับมาทบทวนเรื่องเขื่อนอย่างจริงจัง

          หลังจากการประชุมครั้งแรก คณะกรรมการเขื่อนโลกได้ถูกตั้งขึ้นเพื่อศึกษาการดำเนินงาน และผลกระทบจากเขื่อนทั่วโลกในทุกแง่มุมอย่างตรงไปตรงมา รายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลกฉบับสมบูรณ์เป็นบทวิพากษ์ที่สำคัญต่อการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ในบทสรุปของรายงานระบุว่า          

         “เขื่อนได้สร้างประโยชน์ที่สำคัญและจำเป็นมากมายต่อการพัฒนามนุษย์ และประโยชน์ที่ได้นั้นก็มีมากมาย"

          ในหลายกรณีพบว่า ผลประโยชน์เหล่านี้ต้องแลกมาด้วยด้วยการสูญเสียทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเกินกว่าจะรับได้ ด้วยผู้คนที่ต้องถูกอพยพโยกย้าย ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนที่อยู่ปลายน้ำน้ำ ด้วยภาษีของประชาชน และด้วยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

         ...มีการตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ และความคุ้มค่าของเขื่อนเพื่อสนองความต้องการในการพัฒนาน้ำและ พลังงาน เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ”

        จากการรวบรวมสถิติของคณะกรรมการเขื่อนโลก พบว่ามีประชาชนถึง ๔๐-๘๐ ล้านคนถูกอพยพจากการสร้างเขื่อน หากเทียบกับประชากรโลกปัจจุบันแล้ว ทุกๆ ๑๐๐ คนจะมี ๑ คนที่ถูกอพยพเพื่อหลีกทางให้แก่เขื่อน

          คณะกรรมการเขื่อนโลกได้มีข้อเสนอแนะเป็นกรอบระบวนการตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตย มีความโปร่งใส และมีความรับผิดชอบ เพื่อมิให้เกิดปัญหาเดิมๆ กับเขื่อนที่จะสร้างใหม่ รวมทั้งกลับไปเยียวยาแก้ไขปัญหาจากเขื่อนที่สร้างแล้ว

          ในวันแรกของการประชุม ผู้เดือดร้อนจากเขื่อนและนักเคลื่อนไหวได้รายงานแนวโน้มของการสร้างเขื่อนและขบวนการของผู้เดือดร้อนจากเขื่อนในแต่ละภูมิภาค รายงานระบุว่าประเทศร่ำรวย อย่างเช่นยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งในหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำแล้วแทบทุกสาย ในยุโรป ๙๕ เปอร์เซนต์ของแม่น้ำถูก “พัฒนา” กล่าวคือ กั้นด้วยเขื่อน และทำให้เป็นคลอง ปัจจุบันผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ทำให้ทุกฝ่ายหันมาฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติอีกครั้ง หลายเขื่อนในอเมริกาเหนือและยุโรปได้ถูกยกเลิกการใช้งาน

          “แม่น้ำของเราตายหมดแล้วด้วยการพัฒนา ตอนนี้เรากำลังคืนชีวิตให้กับแม่น้ำของเราอีกครั้งด้วยการปลดระวางเขื่อน ปล่อยให้แม่น้ำได้ไหลอย่างอิสระ และแม่น้ำของเราก็ฟื้นตัวกลับมาใสสะอาดได้ในเวลาไม่นาน” นายโรแบร์โต เอปเพิล จากเครือข่ายแม่น้ำยุโรป รายงานต่อที่ประชุม

          เป็นที่น่าสนใจว่าขณะที่ประเทศร่ำรวยได้ตระหนักแล้วถึงผลเสียของการสร้างเขื่อน และกำลังยกเลิกการใช้งานเขื่อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในเอเชียหรือแอฟริกา กลับมีโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ผุดขึ้นมากมายราวกับไม่เคยรับรู้บทเรียนที่เกิดขึ้น

          แม้หายนะต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจะถูกระบุไว้อย่างชัดแจ้งในรายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลก หน่วยงานสนับสนุนการสร้างเขื่อนหลักๆ อาทิ ธนาคารโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรหลักที่ก่อตั้งคณะกรรมการเขื่อนโลกเอง ก็ยังคงประกาศเดินหน้าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ด้วยข้ออ้างที่ว่าโลกกำลังอยู่ในวิฤติขาดแคลนน้ำ ทั้งที่จริงแล้ววิกฤติที่โลกกำลังเผชิญ คือ วิฤติการจัดการน้ำ

          น้ำในโลกมีเพียงพอต่อความจำเป็นของทุกคน แต่แหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตประชากรโลกกำลังถูกทำให้กลายเป็นแหล่งสร้างกำไรของบริษัทเอกชน ด้วยการผูกขาดจัดการน้ำรวมศูนย์ขนาดใหญ่ ซึ่งไม่สามารถสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชนผู้ขาดแคลนน้ำที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ทางเลือกในการจัดการน้ำขนาดเล็กซึ่งมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และมีต้นทุนถูกกว่าเป็นสิ่งที่ผู้สนับสนุนเขื่อนไม่เคยให้ความสนใจ เพราะไม่อาจสร้างกำไรได้เท่ากับโครงการขนาดใหญ่

          จากการนำเสนอของหลายๆ ภูมิภาคระหว่างการประชุม พบว่าปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างเขื่อนมากมาย และเป็นไปอย่างชอบธรรม คือ โครงข่ายพลังงานระดับภูมิภาค ที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคอาทิ แอฟริกาใต้ อเมริกากลาง และล่าสุดคือโครงข่ายพลังงานอาเซียนที่ภูมิภาคบ้านเรานี่เอง บทเรียนจากแอฟริกาใต้คือ บริษัทพลังงานที่ใหญ่เป็นอันดับ ๕ ของโลกได้ลงทุนสร้างโครงข่ายพลังงานในแอฟริกาใต้ และเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศใกล้เคียงในราคาถูก และส่งไฟฟ้าแก่ลูกค้าหลักคืออุตสาหกรรมสกปรกอย่างการถลุงแร่ ที่ยกกันมาตั้งโรงงานในเขตนี้เพราะไฟฟ้าราคาถูก ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่กลับไม่มีไฟฟ้าใช้

          สำหรับภูมิภาคอุษาคเนย์ โครงข่ายพลังงานอาเซียนที่กำลังถูกผลักดัน ไฟฟ้าพลังน้ำที่จะป้อนแก่โครงข่ายพลังงานมาจากอภิมหาโครงการเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนน้ำโขงตอนบนในประเทศจีน เขื่อนสาละวินในพม่า และเขื่อนน้ำเทิน ๒ ในลาว โครงการที่ประชาสัมพันธ์ว่าทุกประเทศในภูมิภาคจะก้าวไปพร้อมกันเพื่อความมั่นคง กลับไม่เคยเอ่ยถึงหรือมีข้อมูลว่าใครจะได้รับผลกระทบเท่าไหร่ ชาวบ้านในพื้นที่ผู้ต้องแบกรับต้นทุนถูกกีดกันออกไปจากโครงการอย่างสิ้นเชิง มิพักต้องพูดถึงหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่มีการศึกษาใดๆ

         ตลอดระยะเวลา ๕ วันของการประชุม ผู้เดือดร้อนจากเขื่อนได้ร่วมกัน ระดมความคิดและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการรณรงค์ โดยมีการประชุมย่อยครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มิติด้านสังคมและมนุษย์ของการสร้างเขื่อน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนพยายามเพิกเฉยตลอดมา การนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลกมาใช้ในระดับนโยบายของประเทศต่างๆ การจ่ายค่าปฏิกรณ์จากการสร้างเขื่อนแก่ชุมชนที่เดือดร้อนจากเขื่อน แผนพัฒนาพลังงานและน้ำที่ตระหนักถึงประชาชนอย่างแท้จริง เศรษฐศาสตร์และต้นทุนที่แท้ของเขื่อน และทางเลือกอื่นๆ เพื่อทดแทนเขื่อน

          หลายทศวรรษที่ผ่านมา เขื่อน ถูกทำให้เป็นคำตอบเดียวของทุกคำถาม โดยเฉพาะด้านพลังงาน อุตสาหกรรมเขื่อนยังคงยืนกรานว่าเขื่อนเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด ยั่งยืน และต้นทุนต่ำ นักเศรษฐศาสตร์จาก The Conner House เสนอต่อที่ประชุมว่า เขื่อนไม่ใช่แหล่งพลังงานราคาถูกแต่อย่างใด จากการศึกษาเขื่อน ๘๐ แห่งของธนาคารโลก ในปี ๒๕๔๐ พบว่า ๙๕ เปอร์เซนต์ใช้งบประมาณบานปลาย และกว่าครึ่งหนึ่งใช้งบประมาณสูงกว่าที่กำหนดไว้ถึง ๒๕ เปอร์เซนต์ทีเดียว เนื่องจากเขื่อนแต่ละแห่งมีสภาพทางภูมิศาสตร์เฉพาะตัว การออกแบบเขื่อนแต่ละแห่งไม่สามารถใช้แบบพิมพ์เดียวกันได้ เมื่อกู้เงินมาสร้างเขื่อน ต้องแก้ไขแบบเขื่อนตามสภาพภูมิศาสตร์ เช่น รอยแยกใต้ดิน งบประมาณก่อสร้างก็ยิ่งสูงขึ้น ยิ่งสร้างไปงบประมาณก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จนไม่คุ้มทุน ดอกเบี้ยที่กู้มาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการศึกษาพบว่า เขื่อนสร้างล่าช้ากว่ากำหนดเสมอ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ผลกำไรจากเขื่อนน้อยลง อาทิ น้ำรั่วจากอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำฝนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ หรือปริมาณการไหลของน้ำในแม่น้ำที่ส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษาอย่างเพียงพอก่อนสร้างเขื่อน ด้วยเหตุนี้เขื่อนจึงไม่ใช่แหล่งพลังงานราคาถูกตามที่ถูกทำให้เข้าใจกัน และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเป็นหนี้ของประเทศกำลังพัฒนา ที่จ่ายด้วยภาษีของประชาชน

          ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ได้ถูกหยิบยกมาพูดคุยกัน คือ เขื่อนและชนพื้นถิ่น เนื่องจากเขื่อนจำนวนมากทั่วโลกสร้างบนพื้นที่ซึ่งเป็นที่อาศัยพักพิงของชนพื้นถิ่นต่างๆ ผืนดินของชนเหล่านี้ได้สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่สิทธิเหนือผืนดิน แม่น้ำ และทรัพยากรที่ชนพื้นถิ่นได้อาศัยไม่ได้รับการรับรองด้วยกฎหมายของประเทศ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ยืนยันความเป็นเจ้าของของชุมชน เมื่อโครงการสร้างเขื่อนมาถึง ทรัพยากร วิถีชีวิต และจิตวิญญาณของประชาชนชายขอบเหล่านี้จึงถูกริบไปอย่างถูกกฏหมายด้วยอำนาจของรัฐ แม้ในบางประเทศจะมีกฎหมายรับรองสิทธิของชนพื้นถิ่น อย่างเช่นประเทศฟิลิปปินส์ แต่ในทางปฏิบัติ ชาวบ้านเหล่านี้ยังคงประสบกับความยากลำบากในการนำกฎหมายมาบังคับใช้เรียกร้อง สิทธิอันพึงมีเหนือทรัพยากรที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษได้

         ในวันสุดท้ายผู้เข้าร่วมได้สรุปประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนจากการประชุมร่วมกัน เป็นคำประกาศราศีไศล ซึ่งมีข้อเรียกร้องส่วนหนึ่งว่า

          “เราคัดค้านการสร้างเขื่อนใดๆ ก็ตามที่มิได้รับความเห็นชอบและฉันทานุมัติจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบหลังจากที่มีการเปิดเผย ข้อมูลข่าวสาร และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และรวมถึงโครงการที่มิได้เป็นไปตามความต้องการลำดับต้นๆ ของชุมชน

          …เราเรียกร้องให้มีการเคารพต่อภูมิปัญญา การจัดการทรัพยากรตามแบบแผนประเพณี และอาณาเขตของชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ และสิทธิร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเองอย่างเป็นอิสระ ตลอดจนความเห็นชอบในการวางแผนและร่วมตัดสินใจในโครงการน้ำและพลังงาน

          ...จะต้องมีการชดใช้ค่าปฏิกรณ์ให้กับผู้เดือดร้อนและทุกข์ทรมานจากเขื่อนนับล้านคน รวมถึงการให้ที่ดิน ที่อยู่อาศัย และสาธารณูปโภคอย่างเพียงพอ โดยแหล่งทุนและเจ้าของโครงการเขื่อนผู้ได้สร้างกำไรจากเขื่อนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในค่าปฏิกรณ์ดังกล่าว

          ...เราปฏิเสธการแปรรูปกิจการพลังงานและน้ำให้เป็นของบริษัทธุรกิจเอกชน เราเรียกร้องให้มีกลไกการควบคุมและตรวจสอบจากสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและเป็นประชาธิปไตย รวมถึงระเบียบข้อบังคับที่จะให้หลักประกันต่อความจำเป็นและความต้องการของประชาชนให้สามารถใช้ไฟฟ้าและน้ำได้อย่างเป็นธรรม

          ...รัฐบาลและบรรษัททุนภาคเอกชนจะต้องลงทุนอย่างเต็มที่ในการศึกษาวิจัย และดำเนินการด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม”

          ยามเย็นของวันสุดท้ายของการประชุม ณ ริมแม่น้ำมูน พี่น้องและผองเพื่อนได้ร่วมทำพิธีเคารพแม่น้ำที่ให้ชีวิตแก่ทุกชีวิต บนเรือกล้วยลำน้อยทั้ง ๖๒ ลำ แสงเทียนส่องฉายรายทางตามสายน้ำ ขอให้แม่น้ำได้ไหลอย่างอิสระหล่อเลี้ยงชีวิตต่อไป คำประกาศที่ริมฝั่งน้ำดังก้องว่า

“แบบแผนใหม่ในการจัดการพลังงานและน้ำที่ดีกว่าเดิมย่อมเป็นไปได้ แม่น้ำเพื่อชีวิต มิใช่เพื่อความตาย!”


หมายเหตุ:  อ่านคำประกาศราศีไศลฉบับสมบูรณ์ได้ที่ www.searin.org และ www.irn.org

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา