eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

บทเรียนจากทั่วโลกว่าด้วยการรื้อเขื่อน

เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-ประเทศไทย

สิงหาคม 2544

ปัจจุบัน  นักรณรงค์สิ่งแวดล้อมทั้งในระดับรากหญ้าและระดับสากลในหลายประเทศกำลังเรียกร้องให้มีการ “รื้อเขื่อน” หรือไม่ก็ “ยกเลิกการใช้เขื่อน” เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำและคืนสิทธิให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน  โดยเฉพาะเขื่อนที่ก่อ ให้เกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และเขื่อนที่ล้มเหลวทางด้านเศรษฐกิจ

ต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ที่แสดงให้เห็นถึง กระแสการรื้อเขื่อนและการยกเลิกการใช้เขื่อนทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและ ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรป        ลาตินอเมริกา รวมทั้งประเทศไทยของเรา

การรื้อเขื่อนในประเทศพัฒนาแล้ว

            ประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศโลกที่หนึ่งนับว่าเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดการสร้างเขื่อนในศตวรรษที่ 19 ประเทศเหล่านี้ได้เร่งสร้างเขื่อนขึ้นมาเป็นจำนวนมากอันเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม  ก่อนที่จะหันไปสร้างเขื่อนในประเทศโลกที่สาม จนทำให้หลายประเทศในกลุ่มนี้กลายเป็นฐานของบรรดาบรรษัทอุตสาหกรรมเขื่อนที่ประกอบธุรกิจการสร้างเขื่อนทั่วโลก แต่ปัจจุบันประเทศเหล่านี้หลายประเทศกำลังรื้อเขื่อนทิ้งทั้งในสหรัฐฯ แคนาดา และประเทศในยุโรป

บทเรียนจากสหรัฐอเมริกา: ยุคสมัยของการรื้อเขื่อนได้เริ่มขึ้นแล้ว

นับแต่สหรัฐฯ ได้สร้างเขื่อนฮูเวอร์แล้วเสร็จในปี 1933 จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่สหรัฐฯ ได้สร้างเขื่อนขึ้นมาจำนวนมาก จนช่วงนี้ได้ชื่อว่าเป็น “ยุคทองของการสร้างเขื่อน” และเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง สหรัฐฯ ก็ได้มีอิทธิพลในการสร้างเขื่อนทั่วโลกมากที่สุดรวมทั้งในประเทศไทย แต่ปัจจุบัน สหรัฐฯ กลับเป็นดินแดนที่มีการรื้อเขื่อนและยกเลิกการใช้เขื่อนมากที่สุดในโลก ดังปรากฏว่าในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา มีเขื่อนนับร้อยเขื่อนใน 43 รัฐที่ถูกรื้อทิ้ง และแนวโน้มของการยกเลิกการใช้เขื่อนก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีเขื่อนถึง 175 แห่งที่ถูกรื้อทิ้ง ซึ่งรวมถึงเขื่อนขนาดเล็ก 26 เขื่อนที่ถูกรื้อทิ้งในปี พ.ศ.2542 เพียงปีเดียว

เขื่อนในสหรัฐฯ นั้น มีทั้งที่สร้างโดยรัฐบาลและโดยเอกชน เหตุผลที่ทำให้มีการรื้อเขื่อนในสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้นก็เพราะ  ประการแรก มีเขื่อนของรัฐบาลถึง 1,800 แห่ง ที่ทางการเห็นว่าไม่ปลอดภัย ในปี พ.ศ.2563 ร้อยละ 85 ของเขื่อนที่รัฐบาลสร้างขึ้นจะหมดอายุเนื่องจากมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป  ทำให้ผู้ที่สนับสนุนให้มีการรื้อเขื่อนต่างเรียกร้องให้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในการบำรุงรักษาเขื่อนให้ปลอดภัย 

ประการที่สอง การรื้อเขื่อนเป็นผลมาจากเงื่อนไขของการต่ออายุใบอนุญาตในการบริหารเขื่อนผลิตไฟฟ้าของเอกชน ที่ขอบริหารเขื่อนอีก 30-50 ปี จากคณะกรรมการควบคุมพลังงานแห่งมลรัฐ (the Federal Energy Regulatory Commission- FERC) ปัจจุบันใบอนุญาตที่คณะกรรมการฯ ดังกล่าวได้ออกให้แก่เอกชนมากกว่า 500 ใบจะหมดอายุภายในทศวรรษหน้า

การขอต่ออายุใบอนุญาตนี้ได้บังคับให้เจ้าของเขื่อน ผู้มีอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาล  ผู้ที่สนับสนุนการอนุรักษ์แม่น้ำ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ได้ร่วมกันประเมินความคุ้มทุนของเขื่อนใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปกป้องสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์ การรับรองสิทธิของชนพื้นถิ่นในการประมง  และให้ “อำนาจในการตัดสินใจที่เท่าเทียมกัน” ในการใช้แม่น้ำทั้งในเรื่องของการประมง การพักผ่อนหย่อนใจ และคุณภาพสิ่งแวดล้อม

กระแสการรณรงค์และการสนับสนุนให้มีการฟื้นฟูแม่น้ำได้เกิดขึ้นทั่วสหรัฐ        โดยที่การรณรงค์ที่สำคัญที่สุดก็คือ การเรียกร้องให้มีการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำพาวเวลล์ของเขื่อนเกลน แคนยอน เพื่อฟื้นฟูหุบเขาเกลน แคนยอน ที่งดงามให้กลับคืนมา

           -การรื้อเขื่อนในลุ่มน้ำโคลอมเบีย

            พื้นที่ที่มีการเสนอให้มีการรื้อเขื่อนขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ มากที่สุดก็คือพื้นที่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ  การสร้างเขื่อนในเขตนี้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1900        ได้สร้างหายนะให้กับปลาซัลมอนแปซิฟิค (Pacific Salmon) อย่างมหาศาล ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักกิจกรรม ซึ่งรวมถึงกลุ่มเฟรนด์ออฟดิเอิร์ทซึ่งตั้งในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ จึงเรียกร้องให้มีการรื้อเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งในรัฐวอชิงตัน ได้แก่เขื่อนในลุ่มแม่น้ำเอลวา (Elwha) แม่น้ำไวท์ซัลมอน (White Salmon) และแม่น้ำโลวเวอร์ สเนค (Lower Snake River)  ชุมชนชาวอเมริกันพื้นถิ่น (Native American communities) ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเหล่านี้ได้เสนอให้มีการแก้นิยามกฎหมายรวมทั้งในสนธิสัญญาต่างๆ ที่มีพันธะกับรัฐบาลเพื่อให้มีการรื้อเขื่อนโดยให้มีการยอมรับสิทธิชนพื้นถิ่นในการประมง

การรื้อเขื่อนในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ มีนัยยะของเหตุผลดังนี้

·       ชนพื้นถิ่นได้เข้าไปมีส่วนในการต่อใบอนุญาตเขื่อนและผลักดันให้มีการยอมรับสิทธิในการประมง

·        การปกป้องสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์และการฟื้นฟูลุ่มน้ำได้รับการยอมรับให้เป็นนโยบาย สาธารณะ ที่มีความสำคัญ

·       องค์กรของรัฐได้สนับสนุนทุนในการศึกษาการยกเลิกการใช้เขื่อนและการรื้อเขื่อน

·       ขนาด ความยุ่งยากสลับซับซ้อน และต้นทุนในการรื้อเขื่อนที่มีการเสนอนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีการคาดการณ์กันมาก่อน

          การรื้อเขื่อนในแม่น้ำเอลวา

เขื่อนเอลวาที่สูง 32 เมตร และเขื่อนไกลนส์ แคนยอน (Glines Canyon) ที่สูง 82 เมตร  นับเป็นเขื่อนที่สูงที่สุดที่มีรายชื่อในบัญชีค่าใช้จ่ายของรัฐสำหรับการรื้อเขื่อน  เขื่อนทั้งสองเป็นเขื่อนของเอกชนที่สร้างในต้นทศวรรษ 1900 เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับโรงงานทำไม้  ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติโอลิมปิคเพนนินซูล่า      การสร้างเขื่อนทั้งสองได้ทำลายเส้นทางอพยพที่ใหญ่ที่สุดของปลาซัลมอนแปซิฟิค             และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชนพื้นถิ่น ทำให้ปลาซัลมอนซ็อคอาย (Sockeye salmon) สูญพันธุ์    และปลาท้องถิ่นอื่นๆ อีกนับ 10 ชนิดลดลงอย่างรวดเร็ว            ที่สำคัญก็คือ การละเมิดสิทธิในการประมงของชนพื้นถิ่นชาวโลวเวอร์ เอลวา คลาลลัม (Lower Elwha Klallam) ซึ่งมลรัฐได้รับรองฐานะให้เป็นชนชาติอินเดียนแดง    ในปี 2535 รัฐบาลได้ตระหนักถึงข้อเรียกร้องของชนพื้นถิ่นที่ขอให้ฟื้นฟูแม่น้ำเอลวาอย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงการรื้อเขื่อนด้วย หลังจากที่ชนชาติโลวเวอร์ เอลวา คลาลลัม      และองค์กรสิ่งแวดล้อมได้รณรงค์มานานถึง 25 ปี      ในปี 2542 รัฐสภาจึงได้อนุมัติเงินให้ซื้อเขื่อนแห่งนี้จากเอกชนมาเป็นของรัฐ  เมื่อรัฐบาลได้สิทธิในการจัดการเขื่อน รัฐบาลก็จะเริ่มดำเนินการรื้อเขื่อนซึ่งคาดว่าจะใช้ทุนราว 100 ล้านดอลลาร์  การฟื้นฟูแม่น้ำเอลวาคือความหวังสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาสิทธิการประมงของชาวโลวเวอร์ เอลวา คลาลลัม และการหวนกลับมาปลาซัลมอน

            การรื้อเขื่อนในแม่น้ำไวท์ ซัลมอน

ประวัติศาสตร์ในปี 2542 คือการบรรลุข้อตกลงระหว่างชนพื้นถิ่นเผ่ายากิมา (Yakima) องค์กรของรัฐบาล กลุ่มสิ่งแวดล้อม และเจ้าของเขื่อนในการรับรองให้รื้อเขื่อนคอนดิต (Condit dam) ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าของเอกชนที่สูง 38 เมตร โดยที่เจ้าของเขื่อนออกค่าใช้จ่าย การรื้อเขื่อนที่มีอายุ 87 ปีแห่งนี้จะทำให้แม่น้ำไวท์ ซัลมอนที่ยาว 78 กิโลเมตรไหลอย่างอิสระอีกครั้ง    การรื้อเขื่อนจะช่วยฟื้นฟูปลาซัลมอนที่ใกล้จะสูญพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตต้นน้ำให้ได้กลับไปยัง    ปากแม่น้ำที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโคลอมเบีย การรักษาเขื่อนนี้ไว้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขของ      ใบอนุญาตที่ออกให้ใหม่โดยคณะกรรมการพลังงานของมลรัฐ รวมทั้งการจัดให้มีบันไดปลาโจนที่ทันสมัย จะทำให้ต้นทุนที่แปซิฟิคคอร์ปผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของเขื่อนแห่งนี้ต้องจ่ายเงินมากกว่า 30 ล้านดอลลาร์ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการรื้อเขื่อนถึง 2 เท่า  แปซิฟิคคอร์ปได้สัญญาว่าจะให้เงินในการรื้อเขื่อนแห่งนี้ผ่านกองทุนยกเลิกการใช้เขื่อนที่จะตั้งขึ้นโดยกองทุนพลังงาน    ความสำเร็จในการร่วมมือกันระหว่างชนพื้นถิ่นและเจ้าของเขื่อนที่ยอมรับผิดชอบด้านการ เงินในการยกเลิกการใช้เขื่อนนับว่าเป็นประสบการณ์ที่สำคัญสำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญกับแม่น้ำทั่วโลก

  การรื้อเขื่อนในแม่น้ำโลวเวอร์ สเนค

การรณรงค์ที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติก็คือ การผลักดันให้มีการยกเลิกการใช้เขื่อน 4 แห่งบนลุ่มน้ำโลวเวอร์ สเนคในเขตตะวันออกของรัฐวอชิงตันเพื่อให้ปลาซัลมอน 50 % ของปลา 15 ล้านตัวที่เคยมีในอดีตในแต่ละปีได้หวนกลับคืนสู่แม่น้ำโคลอมเบีย  ทุกวันนี้แม่น้ำแห่งนี้ประสบกับหายนะทำให้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาต้องใช้งบประมาณถึง 3 พันล้านดอลลาร์สำหรับโครงการลดผลกระทบในการวางไข่ของปลาในแม่น้ำ         เขื่อนแต่ละแห่งที่มีความสูง 30 เมตรถูกสร้างขึ้นหลังทศวรรษ 1960 ได้ขัดขวางการเดินทางอพยพของปลา        และยังกล่าวกันว่าจะเป็นตัวการที่จะทำให้ปลาซัลมอนต้องสูญพันธุ์ในที่สุด ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เขื่อนแห่งนี้ซึ่งรวมถึงชนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโคลอมเบียซึ่งปลาซัลมอน ของพวกเขาได้รับการรับรองจากสนธิสัญญาที่ทำกับรัฐบาลได้เรียกร้องให้องค์กรของรัฐได้ให้การเคารพ ต่อสิทธิในการทำประมงดั้งเดิม อีกทั้งให้เคารพกฎหมายปกป้องสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ได้มีแรงสนับสนุนจำนวนมากในการรื้อเขื่อนเอนกประสงค์เหล่านี้เพื่อให้แม่น้ำที่ยาว 225 กิโลเมตรได้ไหลอย่างอิสระอีกครั้ง        การรื้อเขื่อนแห่งนี้จะทำให้รัฐบาลไม่ต้องถูกฟ้องร้องและรับภาระในการจ่ายความเสียหายในการตั้งกองทุน แก่ชนพื้นถิ่นซึ่งอาจจะทำให้รัฐต้องจ่ายเงินถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าค่ารื้อเขื่อนหลายเท่า

ประเด็นที่มีการโต้เถียงว่าควรจะรื้อเขื่อนในลุ่มน้ำโลวเวอร์ สเนคหรือไม่ ที่สำคัญที่สุดก็คือประเด็นได้อย่างเสียอย่าง (trade-off)   ระหว่างผลได้ทางเศรษฐกิจของเขื่อน เช่น การสงเคราะห์ค่าน้ำในระบบชลประทาน ไฟฟ้า และการเดินเรือ กับคุณค่าทางสังคมของแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์

                 การรื้อเขื่อนในรัฐวิสคอนซิล

ในรัฐวิสคอนซิล  นักกิจกรรมที่ทำงานกับชุมชนกำลังทำงานกับรัฐบาลและรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อให้รื้อเขื่อนซึ่งเป็นส่วน สำคัญของแผนการฟื้นฟูแม่น้ำของรัฐวิสคอนซิล     ปัจจุบัน พันธมิตรแห่งแม่น้ำในรัฐวิสคอนซิลกำลังทำงานกับชุมชนในการรื้อเขื่อน 3 แห่งที่ไม่ปลอดภัย    และเขื่อนอีกหลายแห่งซึ่งไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่สร้างบนแม่น้ำบาราบู (Baraboo River) ทางตอนใต้ของรัฐนี้  ภายในปี พ.ศ.2545 การรื้อเขื่อนทั้งหมดจำนวน 4 เขื่อนบนแม่น้ำบาราบูจะเสร็จสมบูรณ์ และแม่น้ำที่ยาว 193 กิโลเมตรก็จะไหลอย่างอิสระอีกครั้ง  การรื้อเขื่อนบนแม่น้ำบาราบูจะทำให้การพักผ่อนตกปลาหวนคืนมาอีกครั้งซึ่งจะเอื้อประโยชน์กับผู้ที่อาศัยในท้องถิ่น          และต้นทุนในการรื้อเขื่อนก็จะต่ำกว่าค่าซ่อมแซมเขื่อน

ฝรั่งเศส: รื้อเขื่อนผลิตไฟฟ้า คืนชีวิตให้ปลาซัลมอน

            ฝรั่งเศสนับเป็นชาติแรกๆ ของโลกที่สามารถสร้างเขื่อนให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้  เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม  การคิดค้นให้เขื่อนสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้นี้  ทำให้เขื่อนผลิตไฟฟ้ามีความสำคัญต่อวงการอุตสาหกรรมในยุโรปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมในยุโรปที่ขาดแคลนถ่านหินจนกระทั่งเขื่อนผลิตไฟฟ้าได้ชื่อว่า “ถ่านหินสีขาว” (White coal) แต่ในปัจจุบัน ฝรั่งเศสกลับกลายมาเป็นชาติแรกในยุโรปที่ทำการรื้อเขื่อนผลิตไฟฟ้า  

            การื้อเขื่อนผลิตไฟฟ้าในฝรั่งเศสเกิดขึ้นจากเครือข่ายเพื่อการคืนชีวิตให้กับแม่น้ำลอยเร (SOS Loire Vivante Network) ได้ทำการรณรงค์ให้มีการรื้อเขื่อนที่หมดอายุเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำและคืนชีวิตให้ปลาซัลมอนประจำถิ่น  ในปี พ.ศ.2541 เขื่อน 2 แห่งบนแม่น้ำสาขาของแม่น้ำลอยเรตอนบนได้ถูกรื้อทิ้งเพื่อเป็นการปกป้องปลาซัลมอนรอยเล โดยแรกสุด เขื่อนเซนต์ อีเทียน ดูวีกัน (Saint-Etienne-du-Vigan Dam)  ที่กั้นแม่น้ำลอยเรตอนบนถูกรื้อทิ้ง     การรื้อเขื่อนแห่งนี้นับว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของฝรั่งเศสได้ทำลาย เขื่อนเพื่อฟื้นฟูที่อยู่อาศัยของปลาซัลมอน ต่อมาแม่น้ำเวียน (Vienne River) ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาที่ใหญ่เป็นอันสองของแม่น้ำลอยเรก็ได้ไหลอย่าง อิสระอีกครั้งหลังจากที่เขื่อนไมสันส์ รูจ (Maisons-Rough Dam) ถูกรื้อทิ้ง

            เขื่อนอีกแห่งที่มีการรื้อทิ้งคือ     เขื่อนในเคอมนัสควิลเลค (Kermansquillec) ที่สร้างกั้นแม่น้ำลิเควอร์ (Liquer River) ถูกรื้อในปี พ.ศ.2539 หลังจากที่ตะกอนได้ทับถมในอ่างเก็บน้ำอย่างรวดเร็วคิดเป็น 50% ของปริมาตรอ่างเก็บน้ำ

การรื้อเขื่อนในฝรั่งเศสและแผนการจัดการแม่น้ำลอยเร     ได้สะท้อนถึงกระแสความคิดในยุโรปที่ต้องการทบทวนการสร้างเขื่อน  จากแต่เดิมยอมให้มีการสร้างเขื่อนในทศวรรษ 1950 จนทำให้เกิดเขื่อนนับพันๆ แห่ง

 สาธารณรัฐเชค: การเติบโตของกระแสรื้อเขื่อนในยุโรป

            ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534  กลุ่มองค์พัฒนาเอกชนในท้องถิ่นและประชาชนผู้ที่ตระหนักถึงปัญหาเขื่อนได้รณรงค์ให้รื้อเขื่อน 3 แห่งที่ได้ทำให้ท่วมพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ป่าไม้สองฝั่งแม่น้ำโมราวา (Morava) และแม่น้ำไดเจ (Dyje River) การที่พื้นที่ดังกล่าวได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุมน้ำที่สำคัญของโลกตามบัญชีรายชื่อของแรมซาร์ รัฐบาลเชคจึงถูกกดดันให้ดูแลระบบนิเวศของพื้นที่แห่งนี้  ขณะที่กลุ่มสิ่งแวดล้อมประสบความสำเร็จในการทำให้มีการฟื้นฟูพื้นที่ด้วย การระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อน 2 แห่งเมื่อปี พ.ศ.2538 ในทางกลับกันกระทรวงเกษตรของรัฐบาลเชคอาจจะไม่สนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าว

            กลุ่มสิ่งแวดล้อมในเช็ค เช่น สถาบันสิ่งแวดล้อมเวโรนิกา ยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้เขื่อนโนฟ มลีนี (Nove Mlyny Dam) และเขื่อนอื่นๆ ในพื้นที่ดังกล่าว

แคนาดา: การเติบโตของกระแสคิดการยกเลิกการใช้เขื่อน

            กระแสคิดเกี่ยวกับการยกเลิกการใช้เขื่อนในแคนาดาเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำได้เติบโตอย่างรวดเร็ว  เนื่องมาเขื่อนจำนวนมากได้หมดอายุลง ไม่เหมาะสมทางเศรษฐกิจ และทำลายสิ่งแวดล้อม ดังในจังหวัดบริทิชโคลอมเบียปรากฏว่าเขื่อน 400 แห่งจาก 2,000 แห่งได้หมดอายุลง หรือไม่ก็ใช้ประโยชน์ได้เล็กน้อยมาก หรือไม่ก็เป็นตัวการสำคัญในการทำลายการประมงชายฝั่ง             ที่ผ่านมาได้มีการรื้อเขื่อนเล็กๆ ประมาณ 24 แห่งในจังหวัดนี้ไปแล้ว  ขณะที่กระแสสนับสนุนแผนการยกเลิกการใช้เขื่อนอื่นๆ เพิ่มขึ้นก็ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

            บนแม่น้ำธีโอโดเชีย (Theodosia River) แผนการฟื้นฟูปลาซัลมอนในช่องแคบจอร์เจียเพื่อประโยชน์ทางการประมง และเพื่อการกีฬาให้กลับมาเหมือนเดิมเป็นเหตุผลสำคัญในการยกเลิกการใช้เขื่อนผันน้ำธีโอโดเชียที่มีอายุ 35 ปี 

“ไม่มีเขื่อนแห่งไหนที่จะอยู่ชั่วนิรันดร์ เพราะเขื่อนล้วนแต่มีอายุขัย สุดท้ายแล้ว เมื่อมันหมดอายุ มันก็เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง” มาร์ค แองจีโล      ประธานพันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำธีโอโดเชียกล่าว

พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำธีโอโดเชียมีสมาชิกกว่า 140,000 คน ได้ทำการรณรงค์ให้รัฐบาลอนุมัติให้มีการยกเลิกการ ใช้เขื่อนแห่งนี้

 

การยกเลิกการใช้เขื่อนในประเทศกำลังพัฒนา

โคลอมเบีย: การรับรองสิทธิของคนพื้นถิ่นในการยกเลิกการใช้เขื่อน

            เขื่อนอูร์รา (Urr'a Dam) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 340 เมกะวัตต์  ได้ทำลายการประมงในพื้นที่ลำน้ำท้ายเขื่อนเสียหายยับเยินและก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวประมงถึง 60,000 คน เขื่อนแห่งนี้ยังทำให้ต้องอพยพชาวบ้านถึง 12,000 คน ที่ตั้งถิ่นฐานสองฝั่งแม่น้ำซินู (Sinu River)

            ในเดือนเมษายน พ.ศ.2543 บริษัทสร้างเขื่อน  เจ้าหน้าที่รัฐบาล และตัวแทนชนเผ่าเอ็มบีรา-กาติโอ (Embera-Katio) ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันกลายอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแห่งนี้ ได้บรรลุข้อตกลงในมาตรการการชดเชยเป็นการเฉพาะ  ซึ่งข้อตกลงหนึ่งระบุว่า ชนเผ่าเอ็มบารามีสิทธิในการขอให้ยกเลิกการใช้เขื่อน  ข้อตกลงนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นกรณีแรกในประเทศกำลังพัฒนา ที่สิทธิของชนพื้นถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในการยกเลิกการใช้เขื่อนในอนาคตได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

            วน โเซ่ โลเปซ ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบด้านท้ายน้ำของเขื่อนแห่งนี้ได้กล่าวกับตัวแทนบริษัทสแกนสกา (Skanska) จากสวีเดนซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างเขื่อนกล่าวว่า “พวกเรามาที่นี่เพื่อตั้งคำถามจากส่วนลึกของหัวใจต่อบริษัทของท่านเพราะท่านคือผู้สร้างเขื่อนอูร์รา  พวกเรามาที่นี่ เพื่อบอกกับท่านว่า การสร้างเขื่อนอูร์ราได้เข่นฆ่าวัฒนธรรมของพวกเราให้ตายลงอย่างช้าๆ   สิ่งที่พวกเรากำลังร้องของต่อท่านก็คือ ท่านต้องเรียนรู้ประสบการณ์จากการสร้างเขื่อนอูร์ราเพื่อปฏิรูปโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของท่าน  แล้วท่านจะได้ไม่ทำผิดพลาดในที่อื่นๆ ของโลกอีก  ยิ่งไปกว่านั้น ท่านจะต้องถือว่าเขื่อนอูร์ราคือประวัติศาสตร์ของท่าน เพราะพวกเรากำลังนับถอยหลังเพื่อยกเลิกการใช้เขื่อนแห่งนี้  เพื่อที่จะให้ความรู้ทางเทคนิคแก่ท่าน”

 ไทย: ประวัติศาสตร์หน้าแรกของการยกเลิกการใช้เขื่อนในประเทศโลกที่สาม

ในประเทศไทย มีข้อเสนอจากประชาชนให้มีการยกเลิกการใช้เขื่อน 2 แห่งบนลุ่มน้ำมูนซึ่งเป็นสาขาแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง คือเขื่อนปากมูลและเขื่อนราษีไศล เหตุผลในการยกเลิกการใช้เขื่อนนั้นมิใช่มาจากกระแสคิดจากภายนอกที่ให้มีการยกเลิกการใช้เขื่อน แต่เกิดจากเหตุผลภายใน นั่นก็คือ เขื่อนทั้ง 2 แห่งนี้ สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อชุมชนท้องถิ่นและระบบนิเวศน์จนยากที่จะแก้ไขได้

เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่สร้างกั้นแม่น้ำมูนแม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง โดยการสนับสนุนเงินกู้ของธนาคารโลก เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จในปี 2537 เขื่อนแห่งนี้ได้ก่อให้เกิดความหายนะอย่างใหญ่หลวงต่อชุมชนมากกว่า 60 แห่งบริเวณปากมูลและชุมชนหลายพันแห่งสองฝั่งแม่น้ำมูนและแม่น้ำสาขาที่วิถีชีวิตและเศรษฐกิจของชาวบ้านต้องพึ่งพาการประมง  การสร้างเขื่อนปากมูลบริเวณรอยต่อระหว่างแม่น้ำมูนและแม่น้ำโขง ได้ปิดตายระบบนิเวศน์แม่น้ำในภาคอีสานตอนล่างอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากเขื่อนได้ปิดกั้นการเดินทางอพยพของปลาจากแม่น้ำโขง เขื่อนแห่งนี้ยังทำลายระบบนิเวศแม่น้ำที่สลับซับซ้อนประกอบด้วยแก่งมากกว่า 50 แห่งที่เป็นถิ่นอาศัยและวางไข่ของปลา บันไดปลาโจนราคาหลายสิบล้านบาทนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากไม่ช่วยให้ปลาเดินทางจกาแม่น้ำโขงผ่านเขื่อนได้  ขณะที่โครงการปล่อยพันธุ์ปลาและกุ้งก้ามกรามลงแม่น้ำของกรมประมงที่สนับสนุนโดย กฟผ.ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น  ทำให้การประมงพื้นบ้านในลำน้ำมูนต้องประสบกับหายนะเนื่องจากปลาจำนวนมากจากที่เคยมีถึง 265 ชนิดต้องลดลงอย่างรวดเร็วทั้งชนิดและปริมาณ  ขณะที่เขื่อนนี้ผลิตไฟฟ้าได้เพียง 20 เมกะวัตต์จากที่ออกแบบไว้ 136 เมกะวัตต์  อีกทั้งไม่มีระบบชลประทานแม้แต่ไร่เดียวจากที่วางแผนไว้ 180,000 ไร่

การต่อสู้ของชาวปากมูลและองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างต่อเนื่องทำให้ในปี 2543 รัฐบาลยอมรับที่จะเปิดประตูเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 4 เดือนเพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงเดินทางมาวางไข่ และในปี 2544 รัฐบาลก็เห็นด้วยให้เปิดประตูอีกครั้งเพื่อเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศน์แม่น้ำและศึกษาผลการทดลองเปิดประตู

สำหรับเขื่อนราษีไศล เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ในเขื่อนชุดที่สร้างภายใต้โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล เขื่อนราษีไศลถูกสร้างกั้นแม่น้ำมูนตอนกลางในช่วงเดียวกับเขื่อนปากมูลโดยไม่มีการจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย ทำให้เกิดหายนะต่อชุมชนท้องถิ่นและระบบนิเวศน์อย่างมหาศาล     เพราะบริเวณน้ำท่วมคือพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามและที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสานที่ชาวบ้านในท้องถิ่นใช้ในการเกษตร การประมง ที่เลี้ยงสัตว์ แหล่งอาหาร และพืชสมุนไพร  และแหล่งเกลือ  เขื่อนแห่งนี้ยังทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำบนพื้นที่ที่มีชั้นเกลือใต้ดิน การกักเก็บน้ำจึงทำให้เกลือละลายจากใต้ดิน ทำให้น้ำจากเขื่อนไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้  หลังจากชาวบ้านในท้องถิ่นรณรงค์มานาน  ในปี 2543 นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จึงได้สั่งให้เปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนแห่งนี้จนกว่าจะมีการแก้ไขผลกระทบแล้วเสร็จ รวมทั้งมีการประเมินผลกระทบใหม่

นอกจากเขื่อนทั้งสองในลุ่มน้ำมูนแล้ว  รัฐบาลยังได้สั่งยกเลิกการกักเก็บน้ำของเขื่อนบางปะกงที่มีมูลค่า 6,000 ล้านบาท ที่สร้างกั้นแม่น้ำบางปะกงในภาคตะวันออก ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมชลประทานและการสนับสนุนเงินทุนของ ADB เขื่อนแห่งนี้เมื่อสร้างเสร็จ ปรากฏว่าไม่ได้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด แต่กลับสร้างผลกระทบทางนิเวศน์อย่างร้ายแรง เนื่องจากน้ำเสียเหนือเขื่อน การปล่อยน้ำออกจากเขื่อนยังทำให้ตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำพังทะลายอย่างรุนแรง

กรณีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เขื่อนราษีไศล และเขื่อนบางปะกง นับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เนื่องจากเป็นกรณีแรกที่มีการยกเลิกการใช้เขื่อนในประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าเป็นการยกเลิกชั่วคราวก็ตาม

 รื้อเขื่อนหรือยกเลิกการใช้เขื่อน: สังคมจะได้อะไร

เขื่อนเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายระบบนิเวศน์แม่น้ำและการประมง เนื่องจากเขื่อนได้ขัดขวางการไหลของแม่น้ำ และวงจรธาตุอาหารของปลา  ขัดขวางการเดินทางของปลา และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบอุณหภูมิและออกซิเจนที่ละลายในน้ำที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ       นอกจากนั้นยังทำลายถิ่นอาศัยเฉพาะของสัตว์ประจำถิ่นและแม่น้ำถูกแทนที่ด้วยพันธุ์ปลาต่างถิ่น

การทำให้แม่น้ำกลับคืนสู่สภาพเดิมหลังการรื้อหรือยกเลิกการใช้เขื่อนแล้ว ได้ปรากฏว่าการประมงและสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ได้กลับคืนมาอย่างรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด  การรื้อหรือยกเลิกการใช้เขื่อนเพียงอย่างเดียวจะทำให้ระบบนิเวศน์แม่น้ำได้ฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์  อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องมีการเพิ่มมาตรการอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น การปกป้องชนิดปลาประจำถิ่น    การลดมลภาวะทางน้ำ  การฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยและวางไข่ของสัตว์น้ำ เช่น แก่ง เป็นต้น  อีกทั้งยังต้องมีนโยบายในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ทั้งระบบลุ่มน้ำ

  ผลที่ได้จากการรื้อหรือยกเลิกการใช้เขื่อนดังเช่น หนึ่งปีภายหลังการรื้อเขื่อนเอ็ดเวิร์ด (เขื่อนแห่งนี้รื้อเมื่อปี 2542) ปลาอพยพจำนวนมากได้หวนกลับคืนสู่แม่น้ำเมน เคนเนแบค    ซึ่งก่อนหน้ามีเขื่อนขวางกั้น ปลาอัลลีไวฟ์ (Alewife) ซึ่งเป็นปลาอพยพเพื่อวางไข่ทางต้นน้ำชนิดหนึ่งซึ่งหายไปจากลำน้ำมานานกว่า 160 ปี ได้หวนกลับมานับล้านๆ ตัว  เพื่อเป็นการปกป้องปลาที่อพยพระหว่างน้ำจืดกับทะเล ซึ่งรวมถึงปลาซัลมอนแอตแลนติค         จึงมีการเสนอให้รื้อเขื่อนอีก 9 แห่งตลอดชายฝั่งเมน 

ในกรณีของเขื่อนบนแม่น้ำบาราบูในรัฐวิสคอนซิล หลังการฟื้นฟูแม่น้ำเพียง 18 เดือนให้ไหลอย่างอิสระอีกครั้งหลังจากที่แม่น้ำถูกกีดขวางมาตั้งแต่ทศวรรษ 1850 ได้ปรากฏว่ามีพันธุ์ปลากลับคืนมาถึง 2 เท่า จาก 11 ชนิดเป็น 24 ชนิด

ในฝรั่งเศส  หลังการรื้อเขื่อน 2 แห่งบนแม่น้ำสาขาของแม่น้ำลอยเรเมื่อปี 2542 ได้ปรากฏว่าปลาแฮริงประจำถิ่น ปลาแลมพรี และปลาซัลมอนจำนวนมากได้หวนกลับมาอีกครั้ง

ขณะที่การเปิดประตูเขื่อนปากมูลในปี 2543 เพียง 2 เดือน ชาวบ้านปากมูลพบว่ามีพันธุ์ปลากลับคืนมาถึง 93 ชนิด ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวถึงประโยชน์ของการกลับมาของปลาว่า “อย่างน้อยที่สุดก็มีอาหารกิน และชาวบ้านมีความสุข” ในปี 2544 เพียง 3 เดือนหลังเปิดประตูเขื่อนได้มีพันธุ์ปลากลับคืนมา 115 ชนิด และชาวประมงได้เริ่มต้นอาชีพประมงอีกครั้งหลังจากที่ต้องหยุดไปนับสิบปีภายหลังจากเริ่มมีการก่อสร้างเขื่อน

 การยกเลิกการใช้เขื่อน: ความหมายและวิธีการ

การยกเลิกการใช้เขื่อน หรือการปลดระวางเขื่อน (Dam decommissioning)  หมายถึงการยกเลิกการใช้งานซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเขื่อนและรวมถึงการถอดอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าออก  การเปิดประตูเขื่อนถาวร  การรื้อเขื่อนดินบางส่วนทิ้ง หรือการรื้อเขื่อนออกทั้งหมด 

วิธีการในการยกเลิกการใช้เขื่อนขึ้นอยู่กับลักษณะของเขื่อน (เช่น ขนาด แบบ และที่ตั้งของเขื่อน) คุณสมบัติของแม่น้ำ และเป้าหมาย (เช่น การฟื้นฟูการประมง การคืนที่ดิน    และการพักผ่อนหย่อนใจ) ดังนั้นการยกเลิกการใช้เขื่อนจึงขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละเขื่อน    อีกทั้งยังจำเป็นต้องวางแผนอย่างระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของคนท้ายเขื่อนด้วย

วิธีการในการยกเลิกการใช้เขื่อนเท่าที่มีมามีดังนี้

1.การื้อเขื่อนทั้งหมดโดยการระบายน้ำออกจากเขื่อนด้วยการสร้างทางผันน้ำ  จากนั้นจึงใช้เครื่องกลหนัก เช่น รถขุดแบคโฮ ฆ้อนไฮดรอลิค เพื่อรื้อเขื่อนออก  ดังการรื้อเขื่อนเอ็ดเวร์ดที่สูง 7 เมตร และยาว 280 เมตร ที่สร้างกั้นแม่น้ำเคนเนเบคในรัฐเมนที่ใช้เวลาในการรื้อเพียงไม่กี่วัน

2.ในกรณีที่เป็นเขื่อนดินและมีโครงสร้างอื่น สามารถรื้อเขื่อนโดยการรื้อส่วนที่มีโครงสร้างเป็นดินออก ซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่กั้นลำน้ำมากที่สุด ดังเช่น การรื้อเขื่อนบนลุ่มน้ำสเนค เป็นต้น

3.ในกรณีที่เป็นเขื่อนคอนกรีต สามารถรื้อทิ้งโดยการใช้ระเบิดควบคุม ดังเช่น การรื้อเขื่อน เคลียร์วอเตอร์ (Clearwater) ในปี 2507 เขื่อนไคล์ (Clyde) ในปี 2539 เขื่อนลอยเร ในปี 2541 และเขื่อนคีสซิมมี (Kissimmee) ในปี 2543 นอกจากนั้นอาจมีการใช้ระเบิดร่วมกับเครื่องกลหนักในการรื้อเขื่อนแบบนี้

4.สำหรับเขื่อนแบบฝายที่มีประตูระบายน้ำแบบยกขึ้น เช่น เขื่อนนาการาในญี่ปุ่น เขื่อนปากมูล ยกเลิกการใช้เขื่อนด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุดคือการยกบานประตูระบายน้ำอย่างถาวร การยกเลิกการใช้เขื่อนแบบนี้สามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้คืนสู่สภาพธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว  โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่จำเป็นต้องรื้อเขื่อน

              ต้นทุนในการรื้อเขื่อน

นักสร้างเขื่อนน้อยมากที่จะมีแผนหรือยอมรับผิดชอบต้นทุนในการยกเลิกการใช้เขื่อน  อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณีได้ชี้ให้เห็นว่าต้นทุนในการรื้อเขื่อนต่ำกว่าค่าใช้จ่ายระยะยาวที่ต้องใช้สำหรับการรักษาให้เขื่อนปลอดภัย การรักษาสิ่งแวดล้อม   การซ่อมแซม และการซ่อมบำรุงเขื่อน ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการรื้อเขื่อนขนาดเล็ก 70 แห่งในรัฐวิสคอนซิล คิดเป็น 2 ใน 5 ของค่าซ่อมแซมเขื่อนที่มีการประเมินไว้ สำหรับต้นทุนในการรื้อเขื่อนโอ๊คสตรีต (Oak Street Dam) บนแม่น้ำบาราบู ได้มีค่าใช้จ่ายเพียง 30,000 เหรียญเท่านั้น แต่หากมีการซ่อมแซมเขื่อนนี้คาดว่าจะใช้เงินถึง 300,000 เหรียญ อีกตัวอย่างก็คือ การรื้อเขื่อนเอ็ดเวิร์ดได้ใช้เงินเพียง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบันไดปลาโจนจำนวน 9 ล้านเหรียญตามเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนของการต่ออายุใบอนุญาต

สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ ค่าใช้จ่ายในการรื้อเขื่อนอาจจะถูกกว่าการซ่อมบำรุงและปรับปรุงเขื่อนเช่นกัน ดังเช่น การรื้อเขื่อนคอนดิต (Condit Dam) ที่สูง 40 เมตรในรัฐวอชิงตัน คาดว่าจะใช้เงินเพียง 15 ล้านเหรียญ ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ประเมินว่าต้องใช้ในการซ่อมแซมเขื่อนสูงถึงสองเท่าของค่าใช้จ่ายในการรื้อเขื่อน หรือกรณีเขื่อนเอลวาค่าใช้จ่ายที่รัฐจะต้องซื้อมาจากเอกชนและรวมกับค่ารื้อเขื่อนจะสูงถึง 200 ล้านเหรียญ แต่ค่าใช้จ่ายนี้ก็จะต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน

การยกเลิกการใช้เขื่อนแบบฝายนั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแม้แต่น้อย ดังเช่น ปากมูลที่เพียงแต่ยกบานประตูระบายน้ำ ขณะที่หากจะใช้เขื่อนแห่งนี้ต่อไป รัฐอาจจะต้องเสียเงินนับหมื่นล้านในการฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  ทั้งนี้ไม่นับค่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายอื่นๆ เช่น ค่าสร้างบันไดปลาโจนใหม่ หรือ ค่าใช้จ่ายสำหรับการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาหรือกุ้งก้ามกราม

สำหรับกรณีเขื่อนราษีไศล การยกบานประตูเขื่อนถาวรไม่เพียงแต่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียวเท่านั้น  แต่ยังทำให้ยุติความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐที่ยืดเยื้อมานับสิบปี  รวมทั้งไม่ต้องเสี่ยงต่อปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็มที่ยากที่จะแก้ไข

 

         ปัญหาทางเทคนิคที่ท้าทาย

           การระบายตะกอนออกจากเขื่อน

            เขื่อนเป็นตัวการที่ดักตะกอนแม่น้ำจำนวนมากไว้เหนือเขื่อน  ทำให้ในแต่ละปีต้องสูญเสียปริมาตรอ่างเก็บน้ำของเขื่อนทั่วโลกประมาณ 5-10% และทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในการรื้อเขื่อน เช่น มักทำให้ต้นทุนในการรื้อเขื่อนสูง และเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนสำหรับเขื่อนขนาดใหญ่

เทคนิคในการระบายตะกอนออกจากเขื่อนมีลักษณะเฉพาะขึ้นอยู่กับปริมาณตะกอน  ลักษณะของอ่างเก็บน้ำ อายุเขื่อน และการไหลทะลักของตะกอนออกจากเขื่อนถ้าหากมีการรื้อ การระบายตะกอนจะต้องทำอย่างระมัดระวังเพราะการปล่อยตะกอนออกจากเขื่อน จำนวนมากอาจจะทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาท้ายเขื่อน  ตัวอย่างเช่น การรื้อเขื่อนเอลวาในรัฐวอชิงตัน      ผู้เชี่ยวชาญเสนอให้ค่อยๆ ระบายตะกอนออกจากเขื่อนทีละน้อย เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อถิ่นที่วางไข่และตัวอ่อนของปลาซัลมอน   

            ผลกระทบที่เป็นไปได้ของการระบายตะกอนทิ้งก็คือ ปัญหาด้านการประมงและน้ำประปา ดังเช่นภายหลังการรื้อเขื่อนที่สูง 9 เมตรบนแม่น้ำฮัตสันในรัฐนิวยอร์คเมื่อปี 2516 สารพิษนับตันที่ถูกกักเก็บไว้เหนือเขื่อนก็ได้ไหลลงลำน้ำท้ายเขื่อน  สารพิษในตะกอนนี้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านสุขอนามัย และน้ำที่ไม่มีคุณภาพ  และจำเป็นต้องทำความสะอาด ดังนั้นแล้ว  การวิเคราะห์เรื่องตะกอนและให้ทำการประเมินก่อนการรื้อเขื่อนเพื่อ ให้เห็นผลกระทบที่จะตามมาในการระบายตะกอนจึงต้องรวมเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรื้อเขื่อนด้วย

 

            การหาทางเลือกอื่นทดแทนหน้าที่ของเขื่อน

ประเด็นหลักในการทำแผนการรื้อเขื่อนคือการแยกแยะให้เห็นทางเลือกด้านพลังงาน การชลประทาน และการประปา หรือหน้าที่อื่นๆ ของเขื่อนนั้นๆ เสียก่อน การรื้อเขื่อนมักจะทำให้เกิดการได้อย่างเสียอย่างในการใช้แม่น้ำเสมอ  อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในการรื้อเขื่อนในสหรัฐฯ  ก็คือ การหาทางเลือกนั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าสามารถป้อนไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาคน้อยมากเมื่อเทียบกับไฟฟ้าในระบบทั้งหมด  แหล่งพลังงานทดแทนอื่นยังมีอีกมาก รวมถึงมาตรการในการอนุรักษ์พลังงาน  ซึ่งทำให้ปัญหานี้หมดไปอย่างสิ้นเชิง  หรือในกรณีการรื้อเขื่อน 12 แห่งบนแม่น้ำบุตต์ (Butte Creek) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อความต้องการน้ำลดลงมากเนื่องจากมีมาตรการอื่นเข้าช่วย เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบชลประทาน เป็นต้น            การจัดทำแผนการจัดการเพื่อทดแทนภารกิจของเขื่อนจะทำให้ผลกระทบจากการรื้อเขื่อนมีน้อยมาก  อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าการเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สังคมก็ควรที่จะยอมรับว่านี่คือต้นทุนของการฟื้นฟูแม่น้ำอย่างหนึ่ง

            ในกรณีเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา การยกเลิกการใช้เขื่อนจะไม่กระทบต่อระบบชลประทานแต่อย่างใด เนื่องจากในพื้นที่ทั้งสองแห่ง ชาวบ้านมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการระบบชลประทานอยู่แล้ว  เช่น ชาวบ้านรู้ว่าถ้าเป็นพื้นที่บุ่งทามก็สามารถทำระบบชลประทานแบบเหมืองฝายได้ ขณะที่พื้นที่โคกไม่ควรเอาระบบชลประทานเข้าไปเพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาดินเค็มตาม ที่สำคัญก็คือ ถ้าหากจะนำน้ำพื้นที่ชลประทานที่สร้างขึ้นใหม่ก็สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำได้โดยตรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีเขื่อนหรือไม่ก็ตาม

            สำหรับกรณีเขื่อนปากมูล เขื่อนแห่งนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 20 เมกะวัตต์ จากที่ออกแบบไว้ 136 เมกะวัตต์ และผลิตไฟฟ้าได้สะเปะสะปะไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ คือ ต้องผลิตเพื่อเสริมระบบในช่วงที่มีความต้องการกระแสไฟฟ้าสูงสุด  การยกเลิกการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูลจึงไม่ต้องหาทางเลือกแต่อย่างใด เพราะเขื่อนแห่งนี้แทบจะไม่มีประโยชน์ต่อระบบไฟฟ้าของภาคอีสาน

กองทุนในการยกเลิกการใช้เขื่อน

            ปัญหาที่สำคัญอีกประการก็คือ เจ้าของเขื่อนไม่ได้เตรียมเงินไว้สำหรับการยกเลิกการใช้เขื่อน       ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากการขาดการจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามตรวจสอบเขื่อนที่สม่ำเสมอ  ปัจจุบัน คณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams) ซึ่งธนาคารโลกได้สนับสนุนให้ก่อตั้ง ได้เรียกร้องให้มีการประเมินสมรรถนะของเขื่อนอย่างเคร่งครัดทุกๆ 3-5 ปี และเสนอให้ตั้งกองทุนในการยกเลิกการใช้เขื่อนควบคู่กันไป   กองทุนในการยกเลิกการใช้เขื่อนต้องจัดตั้งก่อนหรือระหว่างที่มี การดำเนินโครงการซึ่งการดำเนินการนี้ก็เช่นเดียวกันกับบางประเทศที่มีกองทุนในการยกเลิกโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์นั่นเอง    กองทุนนี้จะช่วยให้มีเงินในการยกเลิกการใช้เขื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนขนาดใหญ่ 

            ที่สำคัญก็คือ ใครก็ตามที่สร้างเขื่อน สนับสนุนเงินทุน และบริหารเขื่อน องค์กรนั้นก็ต้องรับผิดชอบในการยกเลิกการใช้เขื่อนนั้นๆ



[1 เอกสารนี้แปลและเรียบเรียงโดยอ้างอิงข้อมูลหลักจาก International Rivers Network (2001), the World's Rivers: the Global Views of Dam Removal ข้อมูลจาก World Commission on Dams (2000), Pak Mun Final Report และการเพิ่มเติมประสบการณ์ของผู้เขียนที่ติดตากชมสถานะการณ์การณรงค์ให้มีการยกเลิกการใช้เขื่อนในประเทศไทย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา