eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

หลักการ แนวทาง และตัวอย่างการฟื้นฟูเหยื่อจากการสร้างเขื่อน

แพตตริก แมคคูลี และ อวิวา ฮิมฮอล์ฟ เขียน

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ถอดความ

“จะต้องยอมรับความผิดพลาดในอดีต และความรับผิดชอบต่อผู้ได้รับผลกระทบ จะต้องปรากฏ  มันเป็นความเรื่องที่ไร้จริยธรรม  ไม่มีความยุติธรรมทางสังคม และไม่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่จะสร้างเขื่อนอีก โดยไม่ประเมินและแก้ไขปัญหาทาง สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยังคาราคาซังของเขื่อนที่สร้างไปแล้ว”

ข้อเสนอของขบวนการประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ จากการสร้างเขื่อนแห่งประเทศบราซิล  (MAB)  ต่อคณะกรรมการเขื่อนโลก

            ทุกวันนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทั่วโลกนับล้านคน นับแต่ชนพื้นถิ่นในอเมริกันมาจนถึงชาวบ้านในภาคอีสานของไทย  ล้วนแต่ต้องเผชิญกับหายนะอันเนื่องมาจากต้องสูญเสียที่ดิน อาชีพ ที่อยู่อาศัย ป่าไม้ และปลาเพื่อให้มีการสร้างเขื่อน  ปัจจุบันขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านผู้ได้รับผล กระทบจากเขื่อนที่กำลังเติบโต กำลังเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูและรื้อฟื้นเรื่องของการจ่ายค่าเสียหายสำหรับสิ่งก่อสร้าง เศรษฐกิจ และความเสียหายทางวัฒนธรรมที่ต้องเผชิญอันเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อน

            คณะกรรมการเขื่อนโลกได้ประเมินว่ามีประชาชนราว 40-80 ล้านคน ที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานจากการสร้างเขื่อน แต่ตัวเลขที่เป็นจริงจะมากกว่า 100 ล้านคน อีกทั้งยังมีประชาชนนับล้านคนที่อาศัยตามลำน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อน

            แม้ว่าเขื่อนจะสร้างเสร็จไปแล้ว แต่เหยื่อจากการสร้างเขื่อนในอดีตก็ยังไม่หยุดการต่อสู้เพื่อให้มีการชดใช้ความเสียหาย  ทุกวันนี้ ความพยายามของกลุ่มชาวบ้านท้องถิ่นที่ต่อสู้เรื่องการชดใช้ความเสียหายได้กลายมาเป็นประเด็นระดับชาติและระดับนานาชาติ

            บทความนี้จะชี้ให้ความจำเป็น หลักการพื้นฐานในการชดใช้ความเสียหายและการฟื้นฟู ตัวอย่างที่มีการชดใช้ความเสียหาย  รวมทั้งกรณีเขื่อนที่มีการต่อสู้ในเรื่องนี้

การฟื้นฟูในฐานะกฎหมายสากล

             ความจำเป็นในการฟื้นฟูผู้เสียหายได้ปรากฏอย่างชัดเจนในกฎหมายสากล “การฟื้นฟู” หรือ “การปฏิกรณ์”  นิยามได้ว่าเป็นกิจกรรมหรือกระบวนการในการซ่อมแซม การปรับปรุงแก้ไข หรือการจ่ายค่าเสียหายสำหรับความผิดพลาดในอดีต[1] การใช้คำดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเยอรมันถูกบังคับให้จ่าย “ค่าปฏิกรณ์สงคราม” แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อมาในหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมันและออสเตรียก็ต้องจ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามแก่อิสราเอลและเหยื่อการสังหารหมู่ของนาซีที่มีชีวิตรอด และญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าปฏิกรณ์แก่ผู้หญิงที่ถูกบังคับให้เป็นเครื่องบำเรอกามระหว่างที่ญี่ปุ่นยึดเกาหลี

            อีกกรณีที่เกิดขึ้นก็คือ การจ่ายค่าสูญเสียหรือค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของรัฐต่อปัจเจกหรือกลุ่มชนภายในรัฐ   ตัวอย่างเช่น ในปี  2521 สหรัฐฯ  ได้ออกกฎหมายเสรีภาพของปวงชน (US Civil Liberties Act) เพื่อชดใช้แก่ชาวญี่ปุ่น-อเมริกันที่ถูกส่งเข้าค่ายกักกันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กฎหมายนี้ได้จัดให้มีคณะกรรมาธิการเพื่อประสานงานในการจ่ายเงินตามที่มีการเรียกร้อง 1.2 พันล้านเหรียญ ที่สำคัญก็คือ เป้าประสงค์ของกฎหมายระบุว่า “ขอโทษ ในนามของประชาชนชาวสหรัฐฯ” และ “น้อมรับมูลฐานแห่งความอยุติธรรม” ของการกักกันชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน

ในแอฟริกาใต้ คณะกรรมาธิการเพื่อความถูกต้องและไกล่เกลี่ยได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการต่างๆ ในการฟื้นฟูทั้งสำหรับปัจเจกและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่ใส่ใจจากรัฐ  โดยคณะกรรมาธิการดังกล่าวเสนอให้มีเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูทั้งในรูปของกองทุนที่จ่ายค่าเสียหายรวดเดียวและการจ่ายในระยะยาวในช่วง 6 ปี และ “การฟื้นฟูสัญลักษณ์ต่างๆ” ซึ่งรวมถึงอนุสาวรีย์และการตั้งชื่อสถานที่สาธารณะใหม่ ข้อเสนอในการฟื้นฟูชุมชนนั้นรวมถึงการเข้าถึงการบริการด้านสาธารสุข และโครงการสร้างงานต่างๆ

เป็นที่ชัดเจนว่า เอกสารระดับสากลที่เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูเหยื่อจาก การสร้างเขื่อนก็คือ คำประกาศมานิเบลิ  “Manibeli Declaration” ในปี 2537 ซึ่งรับรองโดย 326 องค์กรสิทธิมนุษยชนและกลุ่มสิ่งแวดล้อมรวมทั้งพันธมิตรจาก 44 ประเทศ  คำประกาศนี้ เขียนขึ้นระหว่างการประชุมคู่ขนานกับการฉลองครบรอบ 50 ปีของธนาคารโลก เรียกร้องให้ธนาคารระงับการสนับสนุนเงินทุนแก่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จนกว่าธนาคารโลกจะยอมรับเงื่อนไขที่มีการเสนอที่ว่า

“กองทุนในการฟื้นฟูประชาชนที่ถูกบีบบังคับให้อพยพจากบ้านและแผ่นดินจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ธนาคารโลกสนับสนุน เงินทุนโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสมและการฟื้นฟูสภาพ กองทุนจะต้องบริหารอย่างโปร่งใสโดยสถาบันที่ตรวจสอบได้และเป็นอิสระจากธนาคารโลก  กองทุนจะต้องให้ทุนไปยังชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่ธนาคารโลกสนับสนุนเงินทุนเพื่อเตรียมไว้สำหรับการฟื้นฟูที่มีการร้องเรียน”

            เอกสารที่มีการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากขบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนทั่วโลกอีกกรณีก็คือ คำประการศคูริทิบาเมื่อปี 2540 ที่ไม่เพียงแต่เรียกร้องต่อธนาคารโลกเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องไปยังรัฐบาลทุกรัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศทั้งหมด และนักลงทุนทั้งหลายให้ดำเนินการระงับการสร้างเขื่อน คำประกาศคูริทิบา  ได้รับการรับรองจากที่ประชุมประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทั่วโลกครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองคูริทิบา ประเทศบราซิลในเดือนมีนาคม 2540 คำประกาศนี้ระบุถึงเงื่อนไขที่จะต้องมีการระงับเขื่อนว่า "การฟื้นฟูรวมถึงการจัดหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่เหมาะสมโดยการเจรจากับประชาชนนับล้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน" และยังระบุอีกด้วยว่า “จะต้องมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสียหายจากเขื่อน รวมไปถึงกรณีที่แม้ว่าจำเป็นที่จะต้องมีการรื้อเขื่อน"

            รูปแบบของการฟื้นฟูที่มีการยอมรับกันมีด้วยกัน 3 รูปแบบคือ การทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม การจ่ายสินไหมทดแทนหรือการจ่ายค่าชดเชย และการทำให้เกิดความพอใจ[2]  

            การทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเป็นการทำให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายได้มีสภาพความเป็นอยู่ดังเดิม  ในกรณีเขื่อนการทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอาจรวมถึงการปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงโครงการ   การเปลี่ยนการใช้งานเขื่อน  การฟื้นฟูระบบนิเวศที่สูญเสียไปและหรือการยกเลิกการใช้เขื่อน

            สำหรับการจ่ายสินไหมทดแทนหรืออีกความหมายหนึ่งคือการจ่ายค่าชดเชย ประกอบด้วยการจ่ายเงินสำหรับการสูญเสียต่างๆ รวมถึงการสูญเสียประโยชน์และทรัพย์สินมีค่า  ในกรณีเขื่อน การจ่ายค่าชดเชยอาจจะรวมถึงกองทุนสำหรับโครงการต่างๆ รวมทั้งแผนการอพยพและแผนโครงการพัฒนา

            อย่างไรก็ตาม การจ่ายในกรณีเขื่อนโดยปกติจะขึ้นอยู่กับมูลค่าที่อิงราคาตลาดมากกว่ามูลค่าความเสียหายจริง  ดังนั้นจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอ

            ในส่วนของการทำให้เกิดความพอใจ กล่าวได้ว่าแทบจะเป็นการรวมเอารูปแบบการฟื้นฟูทุกรูปแบบเข้าด้วยกันและหมายรวมถึงความเสียหายที่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจด้วย  ตัวอย่างของการทำให้เกิดความพอใจก็คือการกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการหรือการลงโทษผู้ที่กระทำผิด[3] ในกรณีของเขื่อนที่ค่าชดเชยไม่ได้ไปถึงผู้ได้รับผลกระทบหรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์  การทำให้เกิดความพอใจก็อาจจะดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่กระทำผิด  การทำให้เกิดความพอใจอาจรวมถึงการยอมรับความผิดพลาดต่อสาธารณะและขอโทษอย่างเป็นทางการต่อผู้ที่ประสบชะตากรรม  และการทำให้เกิดความพึงพอใจอาจรวมถึงการให้ชดใช้ความเสียหายซึ่งเป็นผลกระทบในระยะยาวและทวีคูณ

ข้อเสนอของคณะกรรมการเขื่อนโลก

            ล่าสุดที่มีการกล่าวถึงการฟื้นฟูคือคณะกรรมการเขื่อนโลกที่สนับสนุนความจำเป็นในการเยียวยาปัญหา ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเขื่อนที่สร้างไปแล้วและยังคาราคาซังอยู่  รายงานที่ชื่อว่า เขื่อนกับการพัฒนา: กรอบในการตัดสินใจใหม่ คณะกรรมการเขื่อนโลกได้พบว่า “สิ่งสำคัญที่ปรากฏชัดเจนก็คือ ไม่มีการจ่ายค่าชดเชยต่อการสูญเสีย ไม่มีการปฏิบัติตามสัญญาในเรื่องของสิทธิในการฟื้นฟู และไม่ปฏิบัติตามพันธะตามกฎหมายทั้งในระดับชาติและสากล”

            คณะกรรมการเขื่อนโลกได้เสนอว่า “ปัญหาทางสังคมที่เกิดจากเขื่อนที่ยังคาราคาซังต้องมีการแยกแยะและกำหนดร่วมกับชุมชน ที่ได้รับผลกระทบเพื่อพัฒนากระบวนการและกลไกในการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ” คณะกรรมการเขื่อนโลกได้ระบุว่า จะต้องมีการฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบก่อนที่จะมีการสนับสนุนเงินทุนในการสร้างเขื่อน ใหม่โดยเฉพาะโครงการที่จะตั้งบนแม่น้ำหรือในลุ่มน้ำนั้นๆ”

            รายงานนี้ได้สร้างกระบวนการในการประเมินการเรียกร้องสิทธิและการฟื้นฟู โดยคณะกรรมการเขื่อนโลกเสนอแนะให้รัฐบาลกำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระที่มีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย เจ้าของเขื่อน ผู้ได้รับผลกระทบ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเพื่อดำเนินการดังนี้

-ร่วมกันพัฒนาเกณฑ์สำหรับการประเมินการเรียกร้องสิทธิ

                -การจำแนกบุคคล ครอบครัว และชุมชนซึ่งมีสิทธิในการเรียกร้องและ

                -ทำให้เกิดการเจรจากับผู้ได้รับผลกระทบเพื่อให้บรรลุข้อตกลงและจัดให้มีกฎหมายที่สามารถบังคับใช้เพื่อให้มีการฟื้นฟู

            ผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับการสนับสนุน ทางกฎหมาย ผู้ชำนาญการ  และเงินทุนในการมีส่วนร่วมในการประเมิน การเจรจาและการดำเนินการเพื่อการฟื้นฟู  จะต้องมีการประเมินความเสียหายโดยยึดระบบลุ่มน้ำเป็นฐาน และจะต้องรวมเอาผู้ที่ถูกอพยพและผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน การประเมินจะต้องรวมเอาความสูญเสียที่ไม่ใช่เงินตรา  และการฟื้นฟูจะต้องพัฒนาขึ้นมาบนพื้นฐานของความจำเป็นและความต้องการของชุมชน  การบริหารจัดการหรือการยกเลิกการใช้เขื่อนจะต้องดำเนินการเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรคืนมา เช่น ที่ดิน น้ำ ปลา และการเข้าถึงสถานที่ที่มีความสำคัญทางจิตใจหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

คณะกรรมการเขื่อนโลกระบุว่าความรับผิดชอบในการเริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูอยู่ที่รัฐบาล  แต่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนอาจจะต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบด้วย เช่น สถาบันการเงินระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และบริษัทเอกชน

จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อรวบรวม  จัดการ และดำเนินการให้มีการฟื้นฟู  คณะกรรมการนี้จะต้องมีตัวแทนที่มีฐานะทางกฎหมายที่ถูกเลือกจากรัฐบาลและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  ความรับผิดชอบของส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูจะต้องมีหลักประกันโดยการบังคับได้ทางกฎหมาย

            รายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลกเสนอข้อคิดบางประการเกี่ยวกับเงินทุนในการฟื้นฟูก็คือ คณะกรรมการเขื่อนโลกระบุว่าเงินทุนในการฟื้นฟูสามารถที่จะได้รับการสนับสนุนทั้งจากงบประมาณในระดับต่างๆ ของรัฐบาล  การแบ่งส่วนจากเงินช่วยเหลือหรือเงินกู้ที่มีให้กับโครงการเขื่อนหรือการแบ่งส่วนจากรายได้จากการพลังงานหรือน้ำจากโครงการ  กองทุนดังกล่าวควรจะเป็นกองทุนที่เอื้อสำหรับประโยชน์ของชุมชนในระยะยาว อีกแหล่งคือสัดส่วนจากการบริจาคขององค์กรและภาคอุตสาหกรรม ที่ได้ประโยชน์จากการวางแผนและดำเนินการสร้างเขื่อนรวมทั้งผู้ที่ทำการอพยพชุมชน กองทุนนี้ยังอาจจะได้ทุนมาจากภาษีการฟื้นฟู (reparations tax) ที่จัดเก็บจากสัญญาต่างๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนที่จะก่อสร้างในอนาคต  ซึ่งรวมถึงการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การก่อสร้าง การซ่อมบำรุง และการปรับปรุงหรือต่อเติมเขื่อนที่มีอยู่แล้ว

ประสบการณ์การต่อสู้เพื่อการฟื้นฟูของชนพื้นถิ่นอเมริกัน

            ในสหรัฐฯ ได้มีการฟื้นฟูชุมชนของชนพื้นถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแกรนด์ คูลี (Grand Coulee Dam) ซึ่งสร้างขึ้นบนแม่น้ำโคลอมเบียในรัฐวอชิงตันแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2484  การสร้างเขื่อนแห่งนี้ได้มีการอพยพประชาชนที่ไม่ได้เป็นชนพื้นถิ่น 3,000-4,000 คน ชนพื้นถิ่นอินเดียนคอลวิลล์ (Colville Indians) 1,500 คน อินเดียนสโปเคน(Spokane Indians) 100-250 คน ผู้ที่ถูกอพยพได้รับค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สินเพียงเล็กน้อย  และไม่มีการสนับสนุนทางการเงินในการช่วยเหลือตั้งถิ่นฐานใหม่  สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสุสานของชาวอเมริกันพื้นถิ่น (Native Americans) ต้องจมอยู่ใต้น้ำ  รัฐบาลได้สัญญาว่าจะให้ส่วนแบ่งจากรายได้ค่าไฟฟ้า แต่สิ่งนี้ก็ไม่เคยถูกปฏิบัติตามสัญญา สำหรับชาวอเมริกันพื้นถิ่นแล้ว  สิ่งที่สูญเสียมากที่สุดก็คือการลดลงของปลาซัลมอนและปลาเทร้าท์ประจำถิ่น  การสูญเสียนี้ได้นำไปสู่การสูญเสียวิถีชีวิตของชนพื้นถิ่นอย่างสิ้นเชิง

            ปี พ.ศ.2494 สหพันธ์ชาวคอลวิลล์ (the Colville Confederated Tribes)  ได้ฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อคณะกรรมาธิการเพื่อสิทธิการเรียกร้องของชาวอินเดียน (the Indian Claims Commission) ในสองเรื่องด้วยกันคือ การสูญเสียการประมงและการรับส่วนแบ่งจากค่าไฟฟ้า ในปี 1978 (พ.ศ.2521) คณะกรรมาธิการพบว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีพันธะที่จะต้องรับประกันสิทธิการทำประมงของชนพื้นถิ่นและดังนั้นชนพื้นถิ่นจึงได้รับสิทธิใน การรับค่าชดเชยจากการสูญเสียการประมง 3.2 ล้านเหรียญ

            ในเรื่องของหุ้นส่วนจากค่าไฟฟ้า คอลวิลล์และรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ข้อยุติในปี พ.ศ.2537  โดยชาวคอลวิลล์ได้เงิน 53 ล้านเหรียญ สำหรับปีก่อนหน้านี้ และหลังจากนั้นก็ได้รับเงินในแต่ละปีๆ ละ 15.5 ล้านเหรียญ สำหรับชาวสโปเกนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทางเหนือเขื่อนขึ้นไป ไม่ได้อยู่ในส่วนของการตกลงนี้และยังคงรอคอยการชดเชยที่ยุติธรรม

            อีกกรณีก็คือชาวอเมริกันพื้นถิ่น 7 เผ่าได้สูญเสียผืนดินจำนวนมากเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนปิค-สโลน เฟดเดอรอล (Pick-Sloan federal dam) บนแม่น้ำมิสซูรี่ในทศวรรษที่ 1950 ไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมลรัฐก็ได้คืนที่ดินสองฝั่งอ่างเก็บน้ำไปเป็นของรัฐและคืนให้ชนพื้นถิ่น 2 เผ่า และก็ได้มีการตั้งกองทุนเพื่อที่จะมอบเงิน 57 ล้านเหรียญแก่ทั้งสองชนเผ่า ดอกเบี้ยจากกองทุนเหล่านี้จะใช้ในการปรับปรุงและจัดการพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า  ในเดือนมีนาคม 2543 รัฐสภาก็ได้ตั้งกองทุนเพื่อแม่น้ำมิสซูรี่จำนวน 200 ล้านเหรียญ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูที่ดินที่สูญเสียไปจากเขื่อนแห่งนี้ กองทุนนี้จะถูกใช้เพื่อควบคุมตะกอนและการพังทลายของดิน (การกษัยการ) การปรับปรุงพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และการปกป้องพื้นที่ทางวัฒนธรรมตลอดสองฝั่งแม่น้ำ

หนี้ของธนาคารโลกที่เกิดจากการสร้างเขื่อน

            ธนาคารโลกเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดเพียงแห่งเดียวที่สนับสนุบเงินทุนในการสร้างเขื่อนทั่วโลกภายใต้เป้าหมาย เพื่อลดทอนความยากจน ธนาคารได้สนับสนุนและให้ทุนที่ทำให้เกิดการอพยพประชาชนมากกว่า 10 ล้านคนที่ต้องสูญเสียที่ดินและบ้านเรือน การสร้างความเสียหายแก่สภาพแวดล้อม และผลักดันให้ประเทศที่กู้ยืมต้องมีหนี้สิน แม้ว่าธนาคารโลกไม่เคยถูกบังคับให้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนนับล้านคน แต่วันนี้ขบวนการต่อสู้ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่เติบโตอย่างรวดเร็วก็กำลังเรียกร้อง ให้ธนาคารโลกฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น  เช่น การเรียกร้องของผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนชิซอยในกัวเตมาลาและเขื่อนปากมูล เป็นต้น

            ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนชิซอยในกัวเตมาลาได้ต่อสู้ด้วยการรณรงค์ให้ธนาคารโลกฟื้นฟูชุมชนของพวกเขา ธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาอเมริกันได้ตัดสินใจสนับสนุนเงินทุนในการสร้างเขื่อนแห่งนี้เพื่อเป็นการผลิตไฟฟ้าในปี พ.ศ.2521 แต่ถูกต่อต้านจากชนพื้นถิ่นชาวมายา อาชิ (Maya Achi') แห่งริโอ เนโกร (Ri'o Negro) ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งที่จะถูกอพยพ  แต่การต่อต้านนี้ก็ทำให้ชาวบ้านในชุมชนถูกสังหารในเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ติดต่อกัน  5 ครั้งในปี พ.ศ.2525 และ 2526

            สำหรับชาวริโอ เนโกรที่รอดชีวิต  พวกเขาไม่เคยได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสมสำหรับที่ดินที่สูญเสียไป รวมทั้งความรุนแรงที่ผิดกฎหมาย ที่กระทำต่อพวกเขา ไม่มีแม้แต่ชุมชนเดียวที่ได้รับการตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เหมาะสม  สำหรับชาวริโอ เนโกร แล้ว ยี่สิบปีที่ผ่านมาพวกเขาต้องอยู่กับความยากแค้นแสนสาหัส และชอกช้ำจิตใจ

            แม้ว่าได้มีการส่งคณะกรรมาธิการต่างๆ จำนวนมากไปตรวจการปฏิบัติงานของโครงการ   แต่ธนาคารโลกก็ยังคงเพิกเฉยต่อการสังหารหมู่  จนกระทั่งในปี พ.ศ.2539 เมื่อกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้กดดันธนาคารโลกให้ดำเนินการตรวจสอบภาย ในว่าเกิดอะไรขึ้นที่ริโอ เนโกร จึงไก้มีการตรวจสอบและพบว่าได้เกิดการสังหารหมู่จริง แต่ก็ไม่มีการไถ่บาปจากธนาคารโลก

            การตรวจสอบของธนาคารโลกที่ชิซอยในปี พ.ศ.2539 สรุปว่าผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ไม่เคยได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสมและเรียกร้องให้รัฐบาลกัวเตมาลา จัดหาที่ดินให้เพิ่มขึ้น ขณะนี้ธนาคารโลกได้พิจารณากรณีชิซอยว่าได้ดำเนินการแล้วเพราะ “ชุมชนทั้งหมดที่ถูกอพยพได้มีความเป็นอยู่ในระดับที่พวกเขาเคยมีเมื่อปี 2519 (เมื่อคราวที่เริ่มมีการอพยพ)”

            กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้ว่าผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ต้องประสบกับการสูญเสียอย่างแสนสาหัส หวาดกลัว และสูญเสียคนอันเป็นที่รัก  แต่ผู้ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดชะตากรรมแก่พวกเขากลับเชื่อว่าความรับผิดชอบนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วเพราะพวกเขาได้ “ให้ความช่วยเหลือ” ผู้ที่มีชีวิตรอดให้กลับคืนสู่มาตรฐานของชีวิตที่พวกเขามีเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา

            ทุกวันนี้ ชุมชนแห่งริโอ เนโกร ยังคงเรียกร้องให้ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาอเมริกัน และหน่วยงานรัฐบาลกัวเตมาลาฟื้นฟูพวกเขา ข้อเรียกร้องนี้รวมถึงการที่จะต้องหาที่ดินมาที่มีปริมาณและคุณภาพเหมือนกับที่พวกเขาเคยมี การสร้างอนุสาวรีย์เป็นอนุสรณ์แก่ประชาชน 400 คนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่  และนำผู้ที่รับผิดชอบขึ้นศาล

เอกสารอ้างอิง

American Heritage Dictionary, version 3. 0. 1 1993. 

Barbara Rose Johnston, Reparations and the Right to Remedy, Briefing Paper prepared for

the World Commission on Dams, July 2000.


[1] American Heritage Dictionary, version 3.  0.  1 1993.  

 [2] Barbara Rose Johnston, Reparations and the Right to Remedy, Briefing  Paper prepared for the World Commission on Dams, July 2000.

[3] ตัวอย่างของการขอโทษต่อสาธารณะ (public apology) ในฐานะของการฟื้นฟู เช่น  การออกมาแถลงและการเขียนคำขอโทษของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่ถูกกักขังในค่ายกักกันของสหรัฐฯในระหว่าง   สงครามโลกครั้งที่สอง หรือ การที่ประธานาธิบดีคลินตันกล่าวคำขอโทษต่อชนพื้นถิ่นในฮาวายที่ถูกยึดที่ดินและ ทรัพยากรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายการปกครองตนเองซึ่งกระทำการโดยรัฐบาลในอดีต  

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา