eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ตลาดนัดแม่น้ำระดับโลก มหกรรมปลุกผีเขื่อน

เพียรพร ดีเทศน์     เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ถูกตีพิมพ์ใน A Day Weekly

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า พลังงานไฟฟ้า เป็นสิ่งที่มนุษย์ปัจจุบันขาดไม่ได้ ประชาชนผู้ยากไร้อีกกว่า ๒ พันล้านคนทั่วโลกยังไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ แต่พลังงานส่วนใหญ่ของโลกมาจากการผลิตที่สกปรก และนับวันก็จะถูกใช้จนหมดไป ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ สำหรับพลังงานน้ำที่ได้จากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ก็เป็นข้อถกเถียงกันมานับสิบปีว่ามิใช่พลังงานสะอาด และสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมาย ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้ผู้คนเหล่านี้ได้มีไฟฟ้าใช้ โดยรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย

เขื่อนขนาดใหญ่ตกอันดับไปนานแล้ว แต่ล่าสุดกลุ่มผู้สนับสนุนเขื่อน และกลุ่มอุตสาหกรรมเขื่อนกลับพยายามปลุกเสกผีตัวนี้ให้ลุกขึ้นมาแต่งตัวใหม่ โดยยืมชื่อของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” มาใช้เพื่อความอยู่รอดของตนเอง

รายงานต่อไปนี้นำเสนอข้อสังเกตจากการประชุมนานาชาติเรื่องพลังงานน้ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (United Nations Symposium on Hydropower and Sustainable Development) ซึ่งมีแผนกเศรษฐกิจและกิจการสังคมแห่งสหประชาชาติ (UNDESA) และรัฐบาลจีน เป็นเจ้าภาพ ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ ๒๗-๒๙ ตุลาคมที่ผ่านมา โดยผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน

การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า ๕๐๐ คน จาก ๔ กลุ่มใหญ่ คือ (๑) บริษัทสร้างเขื่อนและหน่วยงานภาครัฐของจีน (๒) ธนาคารเพื่อการพัฒนา นำทีมโดยธนาคารโลก (๓) กลุ่มรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐจากประเทศกำลังพัฒนา และ (๔) กลุ่มอุตสาหกรรมเขื่อน บริษัทสร้างเขื่อนต่างๆ และมีกลุ่มเล็กๆ ที่แถมมาด้วยเป็นกลุ่มสุดท้ายคือนักกิจกรรมทางสังคมจากองค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อน ๑๒ คน

การประชุมนานาชาติครั้งนี้จัดขึ้นสำหรับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างผู้แทนจากภาครัฐ นักวิชาการ ภาคธุรกิจ สถาบันวิชาชีพต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดหลักการและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า และเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและเงินทุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ และจากประเทศร่ำรวย แก่ประเทศยากจน

สหประชาชาติ ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักของงาน ได้แถลงวัตถุประสงค์ของการประชุมอย่างชัดเจนว่า การประชุมครั้งนี้จะประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วน แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่ามีองค์กรพัฒนาเอกชนและ ชาวบ้านเข้าร่วมได้เพียงหยิบมือ เนื่องจากค่าลงทะเบียนสูงสิบลิ่ว (แพงมากสำหรับเอ็นจีโอและชาวบ้าน) และผู้เข้าร่วมต้องออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างรวมถึงค่าเครื่องบินและค่าที่พักด้วยตนเอง

เป็นที่ชัดเจนว่ามีการกีดกันมิให้ผู้ที่ “ไม่สนับสนุนเขื่อน” ได้มีโอกาสนำเสนอข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป โดยระหว่างการประชุม ๓ วันเต็ม ซึ่งมีวิทยากรนำเสนอรายงานทั้งหมดกว่า ๑๐๐ คน มีผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนเพียง ๒ คนเท่านั้นที่ได้รับโอกาสให้ขึ้นพูด ทั้งๆ ที่ทุกคนได้ส่งรายงานข้อมูลผลกระทบจากเขื่อนและขอเป็นวิทยากรด้วย

โกปาล ซิวาโกติ ชินตาน จากสหพันธ์ผู้ใช้น้ำและพลังงานเนปาลกล่าวว่า “การกีดกันองค์กรพัฒนาเอกชนออกไปจากการประชุมอย่างเป็นระบบเป็นการละเมิดมาตรฐานของสหประชาชาติใน การดำเนินการประชุมแบบนี้”

“เรารู้สึกแย่มากที่สหประชาชาติเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานประชุมนี้ซึงเห็นได้ชัดเจนว่าสนับสนุนการสร้างเขื่อนเต็มที่ และเรากังวลว่าหน่วยงานของสหประชาชาติอย่างยูเนสโกและ UNDESA กำลังถูกใช้โดยกลุ่มสร้างเขื่อนเพื่อให้ส่งเสริมเขื่อนขนาดใหญ่ต่อไป” อล็อก อาการ์วาล จากขบวนการคัดค้านเขื่อนลุ่มน้ำนาร์มาดา อินเดีย กล่าวด้วยความกังวล

สำหรับผู้เขียนแล้ว การดำเนินประชุมนี้ดูไม่ต่างอะไรกับ “ตลาดนัดขายแม่น้ำ” แบบลดแหลกแจกแถม ที่มีพ่อค้าแม่น้ำ คือรัฐบาลประเทศยากจน มาเสนอขายแม่น้ำ มีผู้ซื้อ คือกลุ่มผู้สร้างเขื่อน ที่ต่างพากันหมายตาจับจองแม่น้ำต่างๆ ที่ยังคงไหลอย่างอิสระ และมีนายทุนเงินกู้ คือธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ ออกโรงประกาศว่าพร้อมแล้วที่จะปล่อยเงินกู้เพื่อการสร้างเขื่อน

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก—ยาขมของผู้สนับสนุนเขื่อน

ช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ นับเป็นยุคทองของการสร้างเขื่อน มีเขื่อนขนาดใหญ่เกิดขึ้นใหม่เฉลี่ย ๒ แห่งในทุกๆ วัน แต่หลังจากนั้นความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหลายสิบล้านคนทั่วโลก ก็ได้เผยให้เห็นถึงต้นทุนที่แท้จริงของเขื่อนที่ไม่เคยถูกนับรวมมาก่อน

เมื่อปี ๒๕๔๓ คณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยธนาคารโลก และสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) เพื่อศึกษาเขื่อนทั่วโลกในทุกแง่มุม ก็ได้ออกรายงานการศึกษามาแล้วว่า เขื่อนได้สร้างความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อมและสังคมมากมาย ประกอบกับการศึกษาที่พบความไร้ประสิทธิภาพของเขื่อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนสูงไม่คุ้มทุน งบบานปลาย ก่อสร้างล่าช้า และผลิตไฟฟ้าได้ต่ำกว่าที่วางแผนไว้

เหล่านี้ทำให้กระแสนิยมเขื่อนลดลงอย่างมากเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า เขื่อนขนาดใหญ่มิใช่คำตอบอีกต่อไป จนเรียกได้ว่า ยุคสมัยของเขื่อนขนาดใหญ่จบไปแล้ว

ในแถลงการณ์ขององค์กรพัฒนาเอกชนที่แจกจ่ายในวันแรกของการประชุมครั้งนี้ ได้เรียกร้องให้การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทุกโครงการ “จะดำเนินได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามข้อเสนอและของคณะกรรมการเขื่อนโลก” เช่น การประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน การเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้านแก่ผู้ได้รับผลกระทบและได้รับการยอมรับจากผู้ได้รับผลกระทบ และยังได้เรียกร้องให้โครงการเขื่อนบนแม่น้ำนานาชาติ เช่นแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน ต้องมีการศึกษาผลกระทบครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำและปรึกษาหารือกับชุมชนผู้พึ่งพาสายน้ำตลอดลำน้ำ

แต่ข้อเสนอแนะเหล่านี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ผู้สนับสนุนเขื่อนต่างชิงชังรังเกียจ เพราะขั้นตอนให้ได้เขื่อนดีๆ มันยากเย็นนัก กลุ่มสร้างเขื่อนจึงพากันหลับหูหลับตาไม่พูดถึงข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก และเดินหน้าสร้างเขื่อนต่อไป

สร้างเขื่อนเพื่อคนยากจนและสิ่งแวดล้อม—ข้ออ้างตลอดกาล

นับตั้งแต่วินาทีแรกของการเปิดงานประชุมไปอีกหลายสิบชั่วโมงตลอดการประชุม สิ่งที่ได้ยินแทบจะตลอดเวลาคือ “เขื่อนเป็นพลังงานหมุนเวียน” “เขื่อนเป็นพลังงานสะอาด” “เขื่อนสามารถผลิตไฟฟ้าราคาถูกแก่ผู้คนยากไร้มากมายทั่วโลก” “ควรร่วมกันส่งเสริมเขื่อนเพื่อมวลมนุษยชาติ!”

ผู้แทนจากรัฐบาลแถบทวีปแอฟริกา ได้นำเสนอแก่ที่ประชุมว่าทวีปแอฟริกายังคงเป็นทวีปที่มืดมิด แม่น้ำหลายร้อยสายยังคงไหลลงทะเลไปอย่างไร้ประโยชน์ พลังงานน้ำเพียง ๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ในกาฬทวีปแห่งนี้ ภาครัฐจึงปรารถนาจะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มากมายในหลายลุ่มน้ำเหล่านี้

สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้แทนจากรัฐบาลอินเดียกล่าวว่า ในอินเดียเองก็ยังมีผู้คนยากจนที่ยังขาดแคลนไฟฟ้า โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังคงล้าหลังมาก และอินเดียมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอีกถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์

เมื่อปี ๒๕๔๖ รัฐบาลอินเดียจึงเสนอโครงการเขื่อนขนาดใหญ่กว่า ๑๖๐ โครงการเพื่อผลิตไฟฟ้าอีกกว่า ๕๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ และรัฐบาลร่วมกับบริษัทเอกชน ทำทุกวิถีทางเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และเกลี้ยกล่อมด้วยโฆษณาชวนเชื่อประโคมให้ประชาชนไม่คัดค้านเขื่อน

(ท่ามกลางผู้คนที่กระตือรือร้นกับการสร้างเขื่อน ผู้เขียนนึงถึงภาพชาวบ้านปากมูนเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูเขื่อนเพื่อให้ปลาจากสายน้ำโขงเข้าสู่แม่มูนเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตชุมชน หลังจากชุมชนคนหาปลาแตกสลายเมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นสายน้ำทำให้ปลาหายไป แต่ดูเหมือนคนในที่ประชุมครั้งนี้แทบไม่ตระหนักถึงเรื่องแบบนี้ ผู้เขียนถึงกับถามตัวเองว่า “เรามาผิดงานหรือเปล่านี่”)

แต่สิ่งที่ไม่ได้ยินใครในงานนี้พูดถึงเลย คือที่ผ่านมาเขื่อนขนาดใหญ่มักสร้างเพื่อสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม บทเรียนจากแอฟริกาใต้คือ บริษัทพลังงานที่ใหญ่เป็นอันดับ ๕ ของโลกได้ลงทุนสร้างโครงข่ายพลังงานในแอฟริกาใต้ และเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศใกล้เคียงในราคาถูก และส่งไฟฟ้าแก่ลูกค้าหลักคือ อุตสาหกรรมสกปรกและใช้พลังงานเข้มข้น อาทิ การถลุงแร่อลูมิเนียม ที่ยกกันมาตั้งโรงงานในเขตนี้เพราะไฟฟ้าราคาถูกจัด ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่กลับไม่มีไฟฟ้าใช้

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้อำนวยการเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลว่า หลายกรณีทั่วโลกพบว่า โครงการเขื่อนขนาดใหญ่มิใช่เพื่อสวัสดิการสังคมเพื่อคนยากจน แต่มีวาระซ่อนเร้นคือ การรวมหัวกันแสวงหาประโยชน์จากโครงการที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว

ที่ขึ้นชื่อที่สุดคือ การรวมหัวกันแสวงหาประโยชน์ระหว่างนักการเมืองและธุรกิจก่อสร้างในโครงการสร้างเขื่อนในสหรัฐฯ ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า Pork Barrel Politics ซึ่งคำนี้มีที่มาจากการเรียกอาการคลุ้มคลั่งของทาสในพื้นที่เพาะปลูกทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ที่หิวกระหายเมื่อนายทาสส่งสัญญาณว่าจะได้รับอาหารพิเศษโดยการคลี่หมูเค็มออกจากถัง

การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ยังเป็นวิธีการสะสมทุน ที่เรียกกันว่าวิธีการ New Deal ก็คือการนำเงินภาษีประชาชนไปใช้ในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งแต่เดิมสหรัฐฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทุนนิยมโลกใช้มาก่อน โดยประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ ได้นำเอาวิธีการนี้มาใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำของสหรัฐฯ แนวคิดนี้เองที่นำไปสู่การก่อตั้งองค์การพัฒนาลุ่มแม่น้ำเทนเนสซี (Tennessee Valley Authority: TVA) และส่งผลให้มีการสร้างเขื่อนจำนวนมากทั่วอเมริกาจนกระทั่งถือเป็นยุคทองของการสร้างเขื่อนของสหรัฐฯ

วิธีการนี้ทำให้เงินภาษีประชาชนถูกนำมาใช้โดยนักการเมืองผ่านโครงการสร้างเขื่อนและชลประทานขนาด ใหญ่ซึ่งบริษัทก่อสร้างในท้องถิ่นที่เป็นพวกพ้องได้รับสัมปทาน และทำให้บริษัทเหล่านี้สะสมทุนอย่างรวดเร็วจนกระทั่งขยายกิจการกลายเป็นบริษัทข้ามชาติและเข้าไปดำเนินโครงการ พัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับประเด็นสิ่งแวดล้อม หลายๆ เสียงจากการประชุมที่ปักกิ่งครั้งนี้กล่าวประสานเสียงกันว่า พลังงานน้ำจากเขื่อนเป็นพลังงานใสสะอาด ไม่ก่อมลภาวะ และใช้ได้ไม่มีวันหมด

แต่การศึกษามากมายโดยนักวิชาการยืนยันว่า เขื่อนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากซากพืชซากสัตว์ใต้อ่างเก็บน้ำที่เน่าเปื่อย โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำในเขตร้อนที่สามารถปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าๆ กันหรือมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซหรือถ่านหินที่มีกำลังผลิตเท่ากันเลยทีเดียว

นอกจากนี้แล้ว ตะกอนที่ทับถมทวีในอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ก็ทำให้ขนาดความจุของอ่างเก็บน้ำลงลงเรื่อยๆ จนหมดอายุการใช้งานเร็วกว่าที่ตั้งไว้ ไฟฟ้าที่สัญญาว่าจะผลิตได้เป็นเวลานานก็ลดลงเหลืองเพียงไม่กี่สิบปี

ทางเลือกหน่วยผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับชุมชน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก เหล่านี้เป็นวิธีการผลิตไฟฟ้าเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจาก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ยังขาดแคลนไฟฟ้าทั่วโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ซึ่งระบบไฟฟ้าโครงข่ายขนาดใหญ่จากเขื่อนยักษ์ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อคนจนเหล่านี้

“We're back!” เรากลับมาแล้ว! เสียงกู่ก้องจากธนาคารโลก

ทศวรรษที่ผ่านมา การสร้างเขื่อนซบเซา เนื่องจากสังคมตระหนักถึงมหันตภัยเขื่อน แต่วันนี้ธนาคารโลก ผู้สนับสนุนเขื่อนอย่างเป็นทางการได้บอกกับทุกคนในที่ประชุมด้วยสีหน้าภาคภูมิใจว่า “we're back—เรากลับมาสร้างเขื่อนอีกครั้งแล้ว!!”

จอห์น บริสโก ผู้แทนจากธนาคารโลก กล่าวว่า “๒๐๐ เปอร์เซ็นต์ของพลังงานน้ำบนโลกนี้ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะแม่น้ำต่างๆ ที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ดังนั้นธนาคารโลกพร้อมจะสนับสนุนทุนในการสร้างเขื่อนทุกขนาด ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กเราให้การสนับสนุนเสมอ”

ดูเหมือนว่าธนาคารโลกจะลืมไปแล้วว่าคณะกรรมการเขื่อนโลก ที่ตนเองเป็นผู้ร่วมก่อตั้งได้ระบุไว้ในรายงานว่าอย่างไร

พี่ใหญ่จีนจ๋า เมตตาน้องเถิด

ผู้แทนจากคณะกรรมการเขื่อนขนาดใหญ่ของจีน ให้ข้อมูลว่าประเทศจีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จีนจึงมีความต้องการไฟฟ้าสูงมาก พลังงานน้ำเป็นแหล่งพลังงานที่รัฐบาลจีนกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งแม่น้ำทั่วประเทศจีนมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ถึง ๔๘๘ GW และปัจจุบันกั้นน้ำสร้างเขื่อนได้ไฟใช้กันอยู่เพียง ๒๒ เปอร์เซ็นต์ของศักยภาพที่มีทั้งหมด

สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดสำหรับชุมชนท้ายน้ำของจีนอย่างประเทศไทย คือภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนยังมีแม่น้ำที่ “ไหลไปเปล่าๆ อย่างไร้ค่า” อีกหลายสาย สองในนั้นคือ แม่น้ำหลานชางเจียง และนู่เจียง หรือแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินตอนบนในเขตจีน ที่บริษัทพลังงานจีนกำลังสร้าง ๘ เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบน และอีกบริษัทก็กำลังวางแผนจะสร้าง ๑๓ เขื่อนชุดบนแม่น้ำสาละวินในเขตจีน

ปัจจุบันผลกระทบท้ายน้ำก็เห็นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ที่หลังจากเริ่มมีการใช้งานเขื่อนโดยกักเก็บน้ำและปล่อยน้ำเป็นช่วงเวลา ได้ทำให้ระดับน้ำโขงขึ้นลงผิดธรรมชาติ ทั้งที่โดยธรรมชาติแล้วระดับน้ำขึ้น-ลง ของแม่น้ำจะเป็นไปตามวัฏจักรฤดูกาล แต่ในฤดูแล้ง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาชาวบ้านคนหาปลาทั้งในเขตอำเภอเชียงของ-เวียงแก่น จ.เชียงราย และจ.นครพนม ระบุตรงกันว่าน้ำขึ้นๆ ลงๆ ผิดปรกติโดยเฉพาะในฤดูแล้ง ทำให้หาปลาได้ยากขึ้น ปริมาณปลาที่จับได้ลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับ ๔ ปีก่อน

การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำนานาชาติ โดยเฉพาะการผันน้ำและสร้างเขื่อน จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศต่างๆ ที่แม่น้ำไหลผ่าน รวมถึงชุมชนตลอดสายน้ำ แต่สถานการณ์ที่ประเทศต้นน้ำมีอำนาจเหนือกว่าเช่นกรณีลุ่มน้ำโขงหรือสาละวิน คงเป็นเรื่องยากยิ่งที่ประเทศเล็กๆ ท้ายน้ำจะกล้าลุกขึ้นมาหาเรื่องกับพี่ใหญ่

แม่น้ำหลานชาง หรือแม่น้ำนู่เจียง ในเขตจีนอาจเป็นของรัฐบาลจีน แต่แม่น้ำโขงและสาละวินตลอดสายน้ำคือแม่น้ำของชุมชนน้อยใหญ่ทั้งลุ่มน้ำที่มีชีวิตพึ่งพาแม่น้ำ แล้วชุมชนเหล่านี้จะมีสิทธิร่วมในการตัดสินใจในโครงการพัฒนาบนแม่น้ำของตนเองได้อย่างไร?

บ้านใหม่ไฉไล แต่ไร้ชีวิต

ตลอดงานประชุม ดูเหมือนว่าการวางแผนอพยพประชาชน เป็นหัวข้อเดียวที่ยังคงมีมิติของความเป็นมนุษย์อยู่บ้าง

เดวิด ดอลลาร์ ผู้แทนจากธนาคารโลกได้กล่าวยกย่องรัฐบาลจีนว่าที่ผ่านมาสามารถดูแลประชาชนผู้อพยพจากเขื่อนได้ดี มีหลายโครงการจัดอยู่ในขั้นโบว์แดง

เขาฉายภาพเมืองที่มีตึกใหญ่ซึ่งเป็นแปลงอพยพ สร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้อพยพจากเขื่อนหลายแห่งในจีน โดยเฉพาะเขื่อนทรีกอร์เจสบนแม่น้ำแยงซี ซึ่งอพยพประชาชนกว่า ๑.๙ ล้านคน พร้อมบรรยายประกอบ “เขื่อนในจีนได้ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้านเป็นอย่างมาก ปัจจุบันชาวเขาที่เคยอยู่บนดอยก็ย้ายมาอยู่ในอพาร์เมนต์อย่างดีในเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ ทันสมัยกว่าเดิมหลายเท่า”

ข้อมูลนี้ช่างสวนทางกับข้อมูลจากชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนที่มาเข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้ด้วย ชาวบ้าน ๕ คนถูกอพยพจากเขื่อนมาวาน เชี่ยวหวาน และต้าเฉาชาน เขื่อน ๓ แห่งแรกบนสายน้ำโขงในเขตจีน มาเข้าร่วมงานนี้โดยมิได้รับโอกาสในการให้ข้อมูลแก่ที่ประชุมอย่างเพียงพอ จึงได้จัดวงพูดคุยกับนักข่าวสิ่งแวดล้อมวงเล็กๆ หลังการประชุม

นักสิ่งแวดล้อมชาวจีนที่ทำงานกับชาวบ้านเล่าว่า อพาร์ทเมนต์และเมืองในภาพเหล่านั้นหลายแห่งถูกทิ้งร้างว่างเปล่า เพราะย้ายชาวบ้านมาอยู่แต่ไม่มีที่ทำกิน หรือมีให้แต่ก็น้อยนิด ดินไม่ดี ชาวบ้านปลูกพืชไม่ได้ ในเมืองใหม่ก็ไม่มีงานทำ ไม่มีคนอยู่ ชาวบ้านต้องย้ายไปเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูกในเมืองอื่น

แปลงอพยพกลายเป็นเมืองที่สวยงามแต่กลับไร้ซึ่งลมหายใจ...

ซิ ยิงเช็ง ผู้นำชุมชนที่ถูกย้ายจากเขื่อนมานวานกล่าวว่า “คนสร้างเขื่อนรวยเอารวยเอา แต่ชาวบ้านอย่างเรากลับจนลงจนแทบไม่มีจะกิน” ทั้งที่เขื่อนแห่งนี้เริ่มโครงการพร้อมคำขวัญปลุกใจว่า “วันที่เขื่อนเริ่มปั่นไฟ คือวันที่ชาวบ้านจะมีเงินมีทอง”

แต่ความจริงที่ขมขื่นคือ ชาวบ้านจำนวนมากต้องละทิ้งบ้านและที่ดินผืนน้อยในแปลงอพยพมาเก็บขยะขายประทังชีวิต

สายน้ำยังคงไหล หัวใจยังมีแรง...

แม้ว่าในวันสุดท้ายของการประชุมจะจบลงด้วยคำประกาศปักกิ่ง โดยผู้สนับสนุนเขื่อน ซึ่งประกาศกับโลกนี้ว่า โครงการเขื่อนใหม่ๆ จะยังคงเดินหน้า แต่ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนก็จะยังสู้สุดชีวิตเช่นกัน

เกอ กวางเซี่ยว หนึ่งในชาวนาผู้ซึ่งผืนนาจะจมหายไปใต้อ่างเก็บน้ำหากมีการสร้างเขื่อน Tiger Leaping Gorges บนแม่น้ำจิงสาเจียง หรือแม่น้ำแยงซี ในยูนนาน กำลังร่วมต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนในการเข้าถึงข้อมูลโครงการ และสิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งอยู่ในข้อบังคับของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขื่อนแห่งนี้จะต้องอพยพชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กว่า ๑๐,๐๐๐ คน ซึ่งอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำแห่งนี้มาหลายชั่วอายุคน

ในปาฐกถาปิด หวัง จุน รองผู้อำนวยการสำนักพลังงานของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปของจีน (National Development and Reform Commission) ได้กล่าวระบุถึงสิทธิอันชอบธรรมขององค์กรพัฒนาเอกชนในการเข้าร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการพัฒนา

เมื่อความหวังทอแสงฉายให้เห็นแนวทางในอนาคต เกอ กวางเชี่ยว ชาวบ้านคนเดิมกล่าวว่า “ผมเชื่อว่าเขื่อน Tiger Leaping Gorges จะยังสร้างไม่ได้ เพราะชาวบ้านท้องถิ่นและกลุ่มสิ่งแวดล้อมไม่สนับสนุนโครงการนี้ แต่เราคงต้องสู้กันอีกยาว นี่มันแค่เริ่มต้น”

สิ่งที่แน่นอนนับจากนี้คือ ชุมชนผู้เดือดร้อนจากเขื่อนและองค์กรพัฒนาเอกชนจะยังคงสู้ต่อไปจนกว่าจะได้รับสิทธิอันชอบธรรมในการเจรจาต่อรอง เพื่อรักษาแม่น้ำให้ไหลอย่างอิสระเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนมากมายตลอดสายน้ำ

-----------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง

คณะนักวิจัยจาวบ้านเชียงของ-เวียงแก่น (๒๕๔๗), “งานวิจัยจาวบ้าน แม่น้ำโขง แม่น้ำแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรม” เชียงใหม่.

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ (๒๕๔๓), “นิเวศวิทยาการเมืองของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย:กรณีศึกษาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น,” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาวิชาการจัดการมนุษย์และสิ่งแวดล้อม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

McCully, P.2001. Silenced Rivers: The Ecology and Politics of Large Dams. Zed Books Ltd., London

McCully, P., et al. 2004. “Powering a Sustainable Future: The Role of Large Hydropower in Sustainable Development,” Submission to the United Nations Symposium on Hydropower and Sustainable Development.

Wong , S., 2004. “NGOs Shut Out of UN Hydropower Conference,” World Rivers Review, Vol 19, No.6

World Commission on Dams.2000. Dams and Development: A New Framework for Decision-Making. Earthscan Publications Ltd., London

http://unhsd.icold-cigb.org.cn/english.html

ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม

www.searin.org

www.irn.org

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา