จดหมาย เรื่องขอให้ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้ง 6 โครงการฯ
ที่ สคจ.พิเศษ / 2545 23 ธันวาคม 2545
เรื่อง ขอให้ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้ง 6 โครงการฯ
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฯพณฯ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์)
สืบเนื่องจาก รัฐบาลได้มีความพยายามที่จะเร่งรัด ผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ หลายต่อหลายเขื่อน ทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ปัญหาเรื่องเขื่อนในประเทศไทย รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งเขื่อนที่สร้างไปแล้ว เขื่อนกำลังก่อสร้าง และเขื่อนที่อยู่ในแผนงานของรัฐบาล
ทั้งนี้ สมัชชาคนจน ทราบมาว่า รัฐบาลกำลังเร่งรัด ผลักดัน เขื่อนขาดใหญ่ อีก 6 เขื่อน คือ เขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่, เขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์, เขื่อนแม่ขาน จังหวัดเชียงใหม่, เขื่อนคลองโพธิ์ จังหวัดอุทัยธานี, เขื่อนกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง, เขื่อนแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก, และโครงการขนาดใหญ่ กก-อิง-น่าน ซึ่งโครงการดังกล่าวก็ติดปัญหาในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อาทิ 5 เขื่อน ในเครือข่ายสมัชชาคนจน ได้มีมติ ครม. มา 4 รัฐบาล แล้ว ว่า ให้คณะกรรมการที่เป็นกลาง ดำเนินการให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมทั้งให้จัดประชาพิจารณ์ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการให้ลุล่วงแต่อย่างใด
อีกทั้งปัญหา เขื่อนที่สร้างไปแล้ว อาทิ เขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา เขื่อนแม่ขาน ฯลฯ รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จได้ สมัชชาคนจน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ หันกลับมาทบทวนและแก้ไขปัญหาเขื่อนที่สร้างไปแล้วให้เรียบร้อยก่อน รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลประเมินผลเขื่อนที่สร้างไปแล้วว่าได้ผลประโยชน์ คุ้มค่า ตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวอ้างไว้ หรือไม่
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ (นายเส็ง ขวัญยืน)
แกนนำคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ สมัชชาคนจน
ที่ ลข. / 2545 23 ธันวาคม 2545
เรื่อง ขอให้มีการทบทวนโครงการเขื่อน 6 โครงการ (พัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา)
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์)
จากการที่มีความพยายามของหลายฝ่าย ที่จะสร้างเขื่อนต่าง ๆ ทางตอนเหนือของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่, เขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์, เขื่อนแม่ขาน จังหวัดเชียงใหม่, เขื่อนคลองโพธิ์ จังหวัดอุทัยธานี, เขื่อนกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง, เขื่อนแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก, และโครงการขนาดใหญ่ กก-อิง-น่าน เพื่อนำน้ำทั้งหมดมาใช้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการจัดทำในนามสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เมื่อปี 2543 และได้นำเสนอเป็นมติคณะรัฐมนตรีมาแล้ว แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะลัดขั้นตอนปกติ
โครงการดังกล่าว การจัดทำโดยไม่อยู่ในฐานะใด ๆ เป็นความต้องการของผู้ต้องการสร้างเขื่อน และโครงการเหล่านั้นก็ติดปัญหาในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งพยายามกล่าวอ้างว่าเป็นการจัดการน้ำแบบผสมผสาน แต่ถ้าได้พิจารณาตามตามกติกาที่น่าจะเป็นของ Global Water Partnership (GWP) ที่พยายามให้ประเทศต่าง ๆได้จัดการน้ำอย่างผสมผสาน โดยมองถึงความจำเป็น และร่วมกันกับท้องถิ่นอย่างแท้จริง พร้อมทั้งมีกระบวนการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งข้อตกการประชุมสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาระดับโลก ปี ค.ศ. 1992 และต่อได้มีแผนปฏิบัติการที่ 21(Agenda 21) ในเรื่องของการจัดการน้ำ ได้กล่าวถึงจัดการน้ำแบบยั่งยืน หลังจากนั้น 1 ปี ก็ได้ประชุมที่ไอแลนด์ ในปีถัดมา ที่เมืองดับลิน เป็นข้อตกลง The Dublin Statement ได้กล่าวถึงการจัดการน้ำในแง่มุมต่าง ๆ อย่าง ในแง่คุณค่าทางชีวิต สิ่งแวดล้อม การจัดการที่อยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม
ดังนั้นต่อข้อเสนอในการสร้างเขื่อน ตามแผนพัฒนาทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่ได้คำนึงถึงข้อตกลงเหล่านี้ และคำนึงถึงกฎหมายไทยที่จะต้องปฏิบัติ เช่น โครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว จะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผ่านผู้ชำนาญการ ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผ่านคณะรัฐมนตรี จึงจะเป็นขึ้นตอนที่สมบูรณ์ แต่โครงการบางโครงการ ยังไม่ผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ต่อพยายามดึงขึ้นไปคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ ปี 2537 ผู้ชำนาญการและสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ได้มีข้อสังเกตที่ต้องทำรายงานเพิ่มเติมอีก 36 ข้อ กรมชลประทานยังไม่ได้ทำรายงานเพิ่มเติมขึ้นมา ก็ถูกดึงขึ้นไปคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อปี 2538 สมัยนายยิ่งพันธ์ มะนะสิการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สมัยนั้น โครงการแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ยังไม่ผ่านผู้ชำนาญการ แต่ได้ส่งเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตัดสินเชิงนโยบาย มีมติให้รับฟังความคิดเห็นแต่ตั้งกรรมการขัดแย้งกับวิธีการรับฟัง ผลสรุปประชาพิจารณ์ออกมาขัดกับข้อมูลที่ได้นำเสนอในวันรับฟังความคิดเห็น กระบวนการก็ไม่โปร่งใส โครงการอื่น ๆ ก็น่าที่จะต้องทบทวนในเรื่องนโยบายระหว่างการสร้างเขื่อนกับการรักษาป่าธรรมชาติ เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในอุทยานแห่งชาติ แม่ขาน ก็อยู่ในอุทยานแห่งชาติออบหลวง แก่งเสือเต้น อยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม แม่วงก์ อยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ทั้งหมด แควน้อย อยู่ในพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งเจ็ดแคว คลองโพธิ์ ข้อมูลที่เสนอให้อนุมัติขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในเรื่องผลกระทบ โครงการกิ่วคอหมา เป็นโครงการที่ต้องการจัดการในลุ่มน้ำวัง ต้องพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในลุ่มน้ำเป็นหลัก ส่วนโครงการกก-อิง-น่าน เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ใช้เงินลงทุนสูง
ดังนั้น เพื่อให้แนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อม และการจัดการน้ำก็ต้องสอดคล้องกับแนวทางสากล และแนวทางการจัดน้ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศของเรา อย่างชาญฉลาด และยั่งยืนต่อไป พร้อมกับให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกระดับ จึงเห็นว่าสมควรทบทวนโครงการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงได้รับการพิจารณาจากท่าน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ (นายสุรพล ดวงแข) เลขาธิการ