ชี้ชัด “เขื่อนแก่งเสือเต้น” แก้น้ำท่วมไม่ได้แน่

fas fa-pencil-alt
ผู้จัดการออนไลน์
fas fa-calendar
9 สิงหาคม 2547

แพร่ – ผู้ตรวจฯกระทรวงทรัพย์ฯ ยันการพัฒนาลุ่มน้ำยมยังมีทางเลือกอื่น นอกเหนือไปจาก “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ระบุฐานข้อมูลผลดี-ผลเสีย ที่มีอยู่ยังอยู่ในระดับ “หยาบมาก” แถมเขื่อนยังรับน้ำในได้แค่ 20%ของประมาณน้ำฝนทั้งลุ่มน้ำ แก้น้ำท่วมไม่ได้แน่ 


 นายศุภวิทย์ เปี่ยงพงษ์สานต์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ในโอกาสเป็นประธาน ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถบริเวณหาดวังกว้าน ริมฝั่งแม่น้ำยม เขตหมู่ที่ 9 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จำนวน 27 ไร่ เพื่อถวายแด่สมเด็จ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา ร่วมกับชาวบ้านสะเอียบ และข้าราชการในพื้นที่ อ.สอง จำนวนกว่า 1,000 คน เมื่อเร็วๆนี้ ว่า 


 เขาไม่เห็นด้วย ที่จะมุ่งการพัฒนาลุ่มแม่น้ำยม ไปที่การก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่ควรรับฟังผลการศึกษา และหันหน้าเข้าหากันร่วมกันทำงานอาจมีทางออกที่ดีกว่า ซึ่งปัจจุบันมีการถกเถียงกันไม่รู้จบในเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาในลุ่มน้ำยมได้ 


 เขาบอกว่า ทางออกจริงๆ แล้ว มีการศึกษาไว้หมด แต่ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน อาทิ การแก้ปัญหาน้ำท่วมเขื่อนแก่งเสือเต้น รับน้ำฝนได้เพียงร้อยละ 20 ของปริมาณน้ำฝนทั้งหมดเท่านั้น การสร้างเขื่อนที่ต้องสูญเสียป่าอย่างมหาศาล เพื่อแลกกับการเกษตรที่กำลังเป็นปัญหาอยู่แล้ว พื้นที่เกษตรกรมชลประทานอาจมีค่าน้อยกว่าป่า ที่ให้ผลผลิตกับชาวบ้านนับ100 ล้านต่อปี 


 นายศุภวิทย์ กล่าวอีกว่า นายกฯ เองก็ได้ประกาศในหลายพื้นที่ว่า การสร้างแก่งเสือเต้นจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะขณะนี้เรามีแนวทางอื่นๆ ซึ่งยังทำได้อยู่ยิ่งการพัฒนาลุ่มน้ำสาขาลุ่มน้ำขนาดเล็กลุ่มน้ำขนาดกลาง หรือจะไปดูทางเลือกใหม่ แทนที่การสร้างอ่างขนาดใหญ่ ต้องดูว่าผลดีผลเสียอันไหนจะมากกว่ากัน 


 ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีนักวิชาการส่วนหนึ่งคิดคำนวณตัวเลขออกมาแล้ว พบว่า ไม่คุ้มทุน แต่นักวิชาการหรือผู้บริหารในบางกระทรวงไม่อยากเชื่อ มีความต้องการที่อยากจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขาคิดว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นจะสร้างหรือไม่สร้างก็ตามต้องเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ระหว่างข้อดีที่ได้อ่างมากับข้อเสียที่ต้องเสียธรรมชาติไปก่อน 


 เขากล่าวอีกว่า ในระยะที่ผ่านมามีการหยิบยกมาอ้างคือการป้องกันน้ำท่วมหรือป้องกันภัยแล้ง ก็ขัดแย้งกันในตัว ถ้าป้องกันน้ำท่วมก็ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้มาก แต่ถ้าจะเก็บน้ำไว้มากๆ จะเอาไปใช้เพื่ออะไรเพื่อการเกษตรหรือมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของน้ำกินน้ำใช้ซึ่งมีทางเลือกอื่นมากมาย 


 ดังนั้นการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะต้องมีการทบทวน ผลได้ผลเสียอย่างจริงจังโดยระดมนักวิชาการมาร่วมกันทำงาน ถ้ามีข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับ มันถึงจะบอกได้ว่าควรสร้างหรือไม่สร้าง ปัญหาคือ ขณะนี้มันหาข้อสรุปไม่ได้นักวิชาการมีหลายสำนักหลายสาขา และเข้าใจไม่ตรงกันในผลกระทบหลายๆ อย่าง แต่คุณค่าของป่าสักฝืนนี้ มันมหาศาลในหลายๆ ด้าน เช่น ความหลากหลายทางพันธุกรรมป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่ผืนเดียว การเก็บป่าแห่งนี้ไว้มันไม่เสียหลาย ถ้าจะใช้นาข้าวซัก 100,000 ไร่คงหาได้ไม่ยากคงไม่ต้องสร้างเขื่อนตรงนี้ 


 ส่วนเรื่องน้ำท่วม น้ำเหนือเขื่อนไม่ถึงร้อยละ 20 ของน้ำฝนที่ตกลงมาทั้งหมด การสร้างแก่งเสือเต้น ไม่สามารถแก้ได้ แต่คนทั่วไปไม่รู้ คนต้องการจะสร้างก็บอกว่าป้องกันน้ำท่วม ๆ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ฝนตกใต้เขื่อนก็มากมายอันนี้ต้องทำตัวเลขขึ้นมา น้ำท่วมก็มีหลายอย่างที่จะป้องกันได้โดยไม่ต้องสร้างอ่าง อย่างที่ชุมพร น้ำท่วมก็บอกจะสร้างเขื่อนลับล่อ ท่าแซะ แต่เมื่อมีการทำบายพาสให้น้ำเลี่ยงเมืองไปเสีย ปัจจุบันน้ำไม่ท่วมแล้ว ถ้าแพร่มีวิธีคิดแบบนี้ก็คงจะเป็นทางออกที่ดี เพราะเงินที่ใช้อาจไม่มากมายอะไรนัก

อ้างอิง : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9470000034636&Keyword=%e0%a2%d7%e8%cd%b9

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง