ชี้หน่วยงานรัฐปัดฝุ่นสารพัดโครงการรับคำสั่ง คสช.ยกเลิกคำสั่ง 9/2559 ประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือจี้ยกเลิกด่วน ชาวแม่แจ่ม-คลองชมพู ระบุมัดมือชก-ตัดโอกาสชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน.) อันประกอบด้วย 1 คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ยมบน-ยมล่าง จังหวัดแพร่ 2 เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำแม่แจ่มตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ 3 เครือข่ายคัดค้านเขื่อนแม่ขาน จังหวัดเชียงใหม่ 4 เครือข่ายคัดค้านเขื่อนห้วยตั้ง จังหวัดลำพูน 5 เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู จังหวัดพิษณุโลก 6 เครือข่ายคัดค้านโครงการเขื่อนโป่งอาง จังหวัดเชียงใหม่ 7 เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบโครงการผันน้ำป๋าม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันหารือและนอ่านแถลงการณ์เรื่อง “ยกเลิกคำสั่ง 9/2559” โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาภาครัฐมักมีการฉวยโอกาสอ้างสถานการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งในการผลักดันโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ซึ่งไม่ได้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธีและยั่งยืน เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมและไม่ตรงกับความเป็นจริงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ ผลก็คือก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม อีกทั้งระบบนิเวศลุ่มน้ำนั้นๆถูกทำลาย ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งรุนแรงและขยายตัวมากขึ้น สร้างความขัดแย้ง เกิดการคอร์รัปชั่น และสูญเสียงบประมาณอันเป็นภาษีของประชาชนโดยเปล่าประโยชน์
ในแถลงการณ์ระบุว่า ในกรณีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) 9/2559 คปน. เห็นว่าเป็นการรวบลัดขั้นตอนการดำเนินโครงการและกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ 1 มีการผลักดันและเร่งรัดปัดฝุ่นเอาโครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำเก่าที่เคยมีปัญหาและไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมาดำเนินงาน 2 สร้างความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งระหว่างประชาชนกันเองซึ่งสวนทางกับการปรองดอง 3เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
4 สร้างความไม่ไว้วางใจต่อหน่วยงานรัฐเพราะแม้แต่หน่วยงานรัฐเองก็ตอบไม่ได้ว่าโครงการจัดการน้ำทั้ง 8 โครงการนั้นคืออะไรบ้าง 5 การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ(EIA)ขาดคุณภาพมากขึ้น 6 ขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและชุมชน 7 เกิดความเสี่ยงต่อการคุกคามชุมชนและผู้นำชุมชนมากขึ้น
ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวข้างต้นและเกิดการจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม และคืนความสุขให้ประชาชนอย่างแท้จริง คปน. จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้1. ให้ยกเลิกคำสั่ง 9/2559 เพื่อให้มีการดำเนินงานโครงการต่างๆไปเป็นตามกระบวนการปกติ 2. เร่งฟื้นฟูและรักษาแหล่งน้ำตามธรรมชาติอย่างบูรณาการ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน 3. ยุติการขุดลอกแม่น้ำ และการจัดการน้ำที่ก่อให้เกิดผลกระทบอื่นๆ
นายทะนงศักดิ์ ม่อนดอก ประธานเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำแม่แจ่มฯ ให้สัมภาษณ์ว่า การออกคำสั่งของ คสช.เป็นเหมือนกันมัดมือชกประชาชนและตัดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการแสดงความคิดเห็นอันมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งสุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเศรษฐกิจชุมชนที่เกิดจากภาคเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และอื่นๆ ซึ่งแต่เดิมนั้นการต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนจากโครงการใหญ่ก็ลำบากเพียงพอแล้ว เพราะเวทีรับฟังความคิดเห็นบางเวทีในทุกรัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนไม่มากนัก ก่อเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยหลายอย่าง เช่นกรณีการสร้างเขื่อนแม่แจ่มหลายครั้งที่มีเวทีในระบบปกติปลอดคำสั่ง คสช.แต่ชาวบ้านยังรับมือแทบไม่ทัน บางเวทีไปร่วมรับฟังได้ไม่เต็มที่ เกิดปัญหารัฐบาลสั่งห้ามเข้าในพื้นที่ เมื่อชาวบ้านเข้าไม่ถึงข้อมูล การตัดสินใจเชื่อในสิ่งที่รัฐบาลพูดจึงทำได้ยาก แต่เมื่อมีคำสั่งแบบคลุมเครือขึ้นมาอย่างนี้ ส่วนตัวมองว่าเสี่ยงต่อการลดทอนกระบวนการตัดสินใจในภาคประชาชนอย่างมาก จึงไม่เชื่อว่าการออกคำสั่งนี้จะคืนความสุขแก่ประชาชนได้ โดยเฉพาะประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนต่างๆ
ขณะที่พระเทพพิทักษ์ สิริคุตโต พระจากจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า กรณีเขื่อนคลองชมพู ที่มีการเปิดเวทีรับฟังแบบเร่งรัดซึ่งจัดโดยทหารเมื่อวันที่ 10 มีนาคมนั้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่กังวลและประเมินสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าว่า เขื่อนคลองชมพู อันเป็นโครงการเก่าจะถูกพัฒนาขึ้นอีกครั้ง และการเปิดเวทีรับฟังความเห็นดังกล่าวเป็นจังหวะใกล้กันกับการประกาศคำสั่งที่ 9/ 2559 ดังนั้นเป็นไปได้ว่า เขื่อนคลองชมพู คือ หนึ่งในโครงการที่อาจเกิดขึ้นจากอำนาจรัฐบาลนี้โดยตรงและเร่งด่วน รวมทั้งลัดขั้นตอน อีไอเอ และอีเอชไอเอ ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาที่จำเป็นในสังคมประชาธิปไตย
“อาตมาเชื่อว่า การผ่านคำสั่งนี้ไม่ง่ายนัก ประชาชนคงไม่ยอมเจ็บฝ่ายเดียว ทางที่ดี ทหารน่าจะยอมเปิดใจแล้วยกเลิกคำสั่งไปก่อนให้ประชาชนได้พูด ได้แสดงความเห็นแบบตรงไปตรงมาก่อนจะดีมาก คนไทยเขาจับตาดูคุณอยู่ ถ้าจะทำอะไรที่มันมีผลต่อคนจำนวนมากและอยากให้ประชาชนฟังท่านในฐานะนักปกครอง ก็ต้องฟังเสียงประชาชนบ้าง การทำอะไรก็ตามที่เป็นการบังคับธรรมชาติของคนไม่ยอมอยู่แล้ว ยังไงเรื่องนี้เองเราคงจะค้านลูกเดียวไม่ได้ ในส่วนของประชาชนต้องรู้ทันคำสั่งนี้ด้วย อาตมาคิดว่าที่ผ่านมาประชาชนหลายคนยังมึนงงกับคำสั่งนี้อยู่ ถ้ากลัวความขัดแย้งบานปลายคิดว่าต้องยกเลิกแล้วคุยกันดีๆสักครั้งจะเหมาะกว่า คุยกันที่ว่าไม่ใช่คุยกันเพื่อสร้างเขื่อนนะ ให้คุยกันว่าจะรักษาทรัพยากรยังไงไม่ให้มีปัญหา คุยกันว่าจะบริหารยังไงให้พอ ส่วนเรื่องการออกคำสั่งตามอำนาจพิเศษนั้น ถ้าเป็นการออกคำสั่งในทางที่เหมาะสมไม่เป็นไร แต่นี่เป็นการออกคำสั่งต่อกระบวนการตัดสินใจเรื่องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม มันคือ ดิน น้ำป่าของประชาชน” พระเทพพิทักษ์ กล่าว