ชี้ผันน้ำมิตรภาพไทย-ลาว อีสานรับภาวะดินเค็ม แถมเสียค่าน้ำฟรี ๆ

fas fa-pencil-alt
สำนักข่าวประชาธรรม
fas fa-calendar

เหนือ-อีสาน/ชาวบ้าน-นักวิชาการ-เอ็นจีโอ 17 องค์กรส่งหนังสือถึง ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศญี่ปุ่น  และ  กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นค้านการให้ทุนศึกษาโครงการผันน้ำมิตรภาพไทย-ลาว   อ้างเพื่อการเกษตรแต่ทำลายการเกษตร  อีสานรับเละภาวะดินเค็มหลังผันน้ำ   ทุ่งกุลาร้องไห้แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิพังแน่เพราะเจอดินเค็ม   แถมไทยต้องเสียค่าน้ำถึงปีละ 3,825 ล้านบาท 

สืบเนื่องจากกรณีที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ (Japan Bank for International Corporration-JBIC)  กำลังจะสนับสนุนทุนในการศึกษาโครงการผันน้ำมิตรภาพไทย-ลาว ภายใต้ชื่อโครงการ LAOS-THAI FRIENDSHIP WATER DEVELOPMENT FOR SUSTAINABLE AGRICULTURE หรือ  “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำมิตรภาพลาว-ไทย เพื่อการเกษตรยั่งยืน”    โดยการสร้างเขื่อน 3  แห่งในลาว  และผันน้ำโดยการสร้างคลองและอุโมงค์ลอดแม่น้ำโขงเข้ามาใช้ในภาคอีสานของไทยในเขตลุ่มน้ำชีตอนล่าง   โดยจะให้บริษัทซันยู คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ทำการศึกษาโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงในเบื้องต้น   ซึ่งการเตรียมการดังกล่าวได้ทำให้วานนี้  (8 พฤษภาคม)  องค์กรชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรวิชาการ 17 องค์กรทั้งในอีสาน และภาคเหนืออาทิ ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและฟื้นฟูลุ่มน้ำอิง  ชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำสงคราม  สมัชชาคนจน  เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เครือข่ายชาติพันธุ์ศึกษา  ได้ร่วมทำหนังสือคัดค้านการให้ทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าวส่งถึงนายชิโนซาวา  ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ  (JBIC) สำนักงานกรุงเทพฯ  และ นายมิตซูรุ คิทาโน  ผู้อำนวยฝ่ายการช่วยเหลือเงินกู้  กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น 

โดยจดหมายดังกล่าวระบุเหตุผลที่คัดค้านการให้ทุนสนับสนุนว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทั้งต่อประเทศลาว  และประเทศไทย  โดยในประเทศลาว  การผันน้ำจะทำให้มีการอพยพชาวบ้านจำนวนมาก และขวางการอพยพของปลาจากแม่น้ำโขง  ขณะที่ประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะดินเค็ม  และไม่เหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์  เนื่องจากชาวนาอีสานไม่ได้ขาดแคลนน้ำ  ชาวบ้านมีการทำการเกษตรในพื้นที่โคกโดยอาศัยน้ำฝน  และทำนาในทาม (พื้นที่ชุ่มน้ำ) ในฤดูแล้ง  ฉะนั้นชาวบ้านไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการแต่อย่างไร

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่าโครงการดังกล่าวประกอบด้วยการสร้างเขื่อนที่ประเทศลาว 2 เขื่อนกั้นลำน้ำเซบางเหียง แล้วขุดคลองผันน้ำจนมาถึงแม่น้ำโขง จึงลอดอุโมงค์ข้ามลำน้ำโขง  โดยฝั่งไทยจะมีสถานีสูบน้ำและขุดคลองชลประทานโดยสายหลักจะมีความยาวรวม 200 กิโลเมตร  และสายย่อยอีก 8 สายครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำชี ตอนล่าง และทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นความยาวรวมประมาณ 550 กิโลเมตร  หรือครอบคลุม จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ศีรษะเกษ และร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่ประมาณ 1,875,000 ไร่ 

นายไชยณรงค์กล่าวต่อว่าโครงการผันน้ำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมน้ำท่วมในลำน้ำเซบังเหียง แล้วสร้างระบบชลประทานสำหรับการเกษตรบนพื้นที่สูงของลาวคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 500,000 ไร่ และมุ่งขายน้ำให้กับไทยในราคา0.026 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ลูบาศก์เมตร หรือ 1.17 บาทต่อลูกบาศก์เมตร โดยสามารถส่งน้ำให้ไทยได้ปีละประมาณ 3,270 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถ้าไทยเข้าร่วมโครงการจะต้องเสียเงินปีละ 3,825.9 ล้านบาท

"ขณะนี้โครงการโขง ชี มูน ซึ่งเป็นการผันน้ำโขงเช่นกันยังไม่สามารถดำเนินการด้านชลประทานได้ตามแผนที่กำหนดไว้   อีกทั้งยังล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเพราะประสบกับปัญหาน้ำไปชะล้างความเค็มจากใต้พื้นดินขึ้นมา ทำให้น้ำเค็ม และน้ำนั้นก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้ในการเกษตร     พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือทุ่งกุลาร้องไห้เพราะถือเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของโลกก็จะหายไป   น้ำเค็มจากการชลประทานจะเข้ามาทำลายนาข้าวเสียหายหมด”  นายไชยณรงค์ย้ำผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคอีสานหากมีการดำเนินโครงการดังกล่าว

ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำฯ  กล่าวว่าหากศึกษาในรายละเอียดของโครงการนี้  ก็ยังมีความไม่เข้าใจวิถีชีวิตและระบบการผลิตของชาวอีสานอีกด้วย  เพราะเกษตรยั่งยืนของโครงการนี้จะหมายถึงการทำนาปีละ 2 ครั้ง   ขณะที่พื้นที่อีสานมีการทำนาในที่โคก (ที่สูง) อยู่เป็นจำนวนมาก   ดังนั้นถ้ารัฐไทยเข้าร่วมโครงการก็จะเสียเปล่าทั้งการลงทุนสร้างระบบคลองที่ต้องกู้มา และจ่ายค่าน้ำให้ลาวโดยที่ทำการเกษตรไม่ได้ แล้วแถมยังต้องไปเวนคืนที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอีกเพื่อขุดคลอง

ด้านเจ้าหน้าที่จากโครงการแม่โขงวอช   (MAE KHONG WATCH)  (ขอสงวนนาม) ซึ่งติดตามปัญหาผลกระทบดังกล่าวให้ความเห็นพิ่มเติมต่อผลกระทบในประเทศลาวว่าจะเหมือนกับการสร้างเขื่อนในไทย เพราะคนลาวกับคนอีสานวิถีชีวิตเหมือนกัน เป็นการพึ่งพิงธรรมชาติอย่างมาก การสร้างเขื่อนจะทำให้มีการอพยพคนลาวออกนอกพื้นที่ เสียพื้นที่การเกษตร ไม่สามารถจับปลาได้เพราะปริมาณปลาลดลง  ด้านฝั่งไทยจะต้องเจอกับปัญหาดินเค็มแพร่กระจาย ดังนั้นเราจึงไม่เห็นด้วยกับการมีโครงการ โดยจะพยายามติดต่อเพื่อชี้แจงต่อทาง JBIC ของญี่ปุ่น  และทาง JBIC ควรจะต้องรับฟังความคิดเห็นของคนไทยและคนลาว.

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง