จวกรัฐบาล ‘สมัคร’ ดันโครงการเขื่อนใหญ่ คือบ่อนทำลายสิทธิมนุษยชนข้ามขอบแดน

fas fa-pencil-alt
สำนักข่าวประชาธรรม
fas fa-calendar
17 มิถุนายน 2551

เชียงใหม่ / จวกแผนดันเขื่อนใหญ่ รบ.หมัก เปิดช่องระบบทุนดิ้นเอาตัวรอดด้านพลังงาน แต่บ่อนทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซ้ำละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามชายแดน ชี้ธุรกิจเอกชนผลาญไฟฟ้ามหาศาล ควรจัดทรัพยากรสร้างทางเลือกพลังงานยั่งยืน โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม 


 วันนี้ (17 มิ.ย. 51) ภาคประชาชน นักวิชาการ ร่วมเสวนาความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ในกระบวนการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ในภาคเหนือ กรณี โครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล, โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น, โครงการเขื่อนสาละวิน ณ ห้องประชุม บ้านธารแก้ว มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ 


 ทั้งนี้ จากกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือหลายโครงการ โดยที่ขั้นตอนการผลักดันโครงการ ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน การเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นที่กังวลอย่างยิ่งว่าโครงการต่างๆ ดังกล่าวจะนำมาซึ่งการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล สวนกระแสปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก เช่น ภาวะโลกร้อน และผลประโยชน์ไม่ได้เกิดแก่ประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังจะเป็นการทำลายสิทธิชุมชน และละส่งเสริมให้เกิดการเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ดำเนินโครงการทั้งในประเทศไทย และในประเทศพม่าอย่างรุนแรง 


 นายเสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในขณะที่มีการพูดถึงวิกฤติของโลกด้านทรัพยากรและความอยู่รอดของชาวบ้าน โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ต่างๆ นั้น กลับเป็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของระบบทุนนิยมทางพลังงาน เพราะที่ผ่านมามีวิธีการใช้สอยพลังงานอย่างฟุ่มเฟือย จนกระทั่งสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติเกิดวิกฤติ อย่างไรก็ตาม การสร้างเขื่อนผันน้ำมาเป็นพลังงานเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ดังนั้น จึงควรมีการรณรงค์ให้ข้อมูลประชาชนอย่างต่อจริงจังและต่อเนื่อง 


 นายไพสิฐ พาณิชกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการสร้างเขื่อนใหญ่ดังที่รัฐบาลชุดนี้พยายามผลักดันนั้น เมื่อคลี่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดูแล้ว จะเห็นว่ามีทั้งรัฐบาลไทย รัฐบาลพม่า รัฐบาลจีน บริษัทและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนสร้างเขื่อนด้วย ทั้งนี้ จะต้องมีการตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภาคส่วนเหล่านี้ด้วย ว่าได้เข้ามาทำโครงการที่ตั้งอยู่บนหลักของธรรมาภิบาลหรือไม่ 


 “ในการรณรงค์เคลื่อนไหว จะต้องตั้งคำถามกับบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการด้วยว่า การเข้ามาลงทุนสร้างเขื่อนของบริษัทในโครงการต่างๆ กับสิ่งที่ตัวบริษัทโฆษณาตัวเองว่าเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น เป็นการกระทำที่หลอกลวงหรือไม่ เพราะผมคิดว่ามีหลายบริษัทที่อ้างว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่ดี แต่ในทางปฏิบัตินั้นกลับไม่เป็นจริง” นายไพสิฐ กล่าว 


 นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN) กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ที่จะได้รับผลกระทบจากการผันน้ำของโครงการเขื่อน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง หรือเป็นชาวกะเหรี่ยงที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ ทั้งนี้ ภาษาหลักที่ชาวบ้านใช้คือภาษากะเหรี่ยง เพราะฉะนั้นความเข้าใจในภาษาไทยจะน้อยมาก กล่าวคือ ถ้าพูดถึงโครงการโดยทั่วๆ ไป การที่ชาวบ้านคนไทยจะสามารถเข้าถึงข้อมูลก็ยังยากอยู่แล้ว แต่กรณีพื้นที่แถบชายแดนพม่าที่จะมีการสร้างเขื่อนนั้น ชาวบ้านยิ่งไม่เข้าใจภาษาไทยเข้าไปอีก ทำให้เกิดปัญหาการเข้าไม่ถึงข้อมูลทบทวีเป็น 2 เท่า 


 “ที่จริงนั้น หลักการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ตามที่คณะกรรมการเขื่อนโลกเสนอไว้ คือ โครงการใดที่จะส่งผลกระทบต่อชาติพันธุ์และชาวเผ่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการแปลข้อมูลไปเป็นภาษาและรูปแบบที่ชาวบ้านสามารถเข้าใจได้ เช่น ข้อมูลที่เป็นรูปภาพ ไม่ใช่อยู่ๆ มาโยนหนังสืออีไอเอปึกเบ้อเริ่มให้ชาวบ้าน แล้วมาบอกว่าได้ให้ข้อมูลแล้ว ทำอย่างนั้นมันไม่มีใครสามารถเข้าใจ ซึ่งการให้ข้อมูลแก่ชาวบ้าน เป็นภารกิจที่เจ้าของโครงการต้องทำก่อนที่จะได้รับการยอมรับจากชุมชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ” นางสาวเพียรพร กล่าว 


 อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลต่อกรณีที่รัฐบาลจะมาอ้างว่าประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการผันน้ำบริเวณเขตชายแดนไทย-พม่า ไม่มีสัญชาติไทย ชาวบ้านจึงไม่ควรมีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์นั้น ตนเห็นว่าตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว มนุษย์ทุกคน แม้ว่าจะไม่มีบัตรประชาชน หรือไม่มีสัญชาติ และไม่ว่าจะเป็นพลเมืองของรัฐใด ก็ล้วนมีสิทธิอย่างน้อยที่สุดในการที่จะรักษาชีวิตของตนเอง เพราะฉะนั้น โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่ลามาหลวง หรือโครงการเขื่อนแม่น้ำยมตอนล่าง ซึ่งจะไปสร้างอยู่หลังบ้านค่ายผู้ลี้ภัย ทำให้ต้องย้ายค่ายผู้ลี้ภัยออก หรือมีผลกระทบอะไรก็ตาม บุคคลในค่ายผู้ลี้ภัยก็มีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากลเป็นที่ตั้ง 


 นางสาวเพียรพร กล่าวเสริมว่า จุดหนึ่งที่สำคัญและยังไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมากก็คือ ประชาชนไทยที่ใช้ไฟฟ้าทุกคนถูกจับเป็นตัวประกัน โดยถูกบอกว่าถ้าหากไม่มีการสร้างเขื่อนในพม่าและสร้างเขื่อนในลาว พวกเราจะไม่มีไฟฟ้าใช้ 


 “ที่จริงแล้วพวกเราทุกคนต่างเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเพราะเราใช้ไฟฟ้าทุกวัน และจ่ายค่าไฟทุกเดือน ดังนั้นเรามีสิทธิที่จะตรวจสอบได้ว่า แหล่งพลังงานของเรามาจากไหน มาจากเลือดเนื้อของเพื่อนบ้านเราหรือไม่ หรือมาจากทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายไปหรือไม่ ในขณะที่ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ 75% เข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรม ส่วนอีก 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ คือสัดส่วนไฟฟ้าที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ ทำไม่ไม่ให้ภาคธุรกิจเอกชนหาพลังงานทดแทน และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ เพราะที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าแต่ละแห่งต่างใช้ไฟฟ้าอย่างมหาศาล ส่วนตัวเชื่อว่ายังมีกระบวนการและทางเลือกอีกมาก ในการจัดการทรัพยากรไฟฟ้าที่มีอยู่ให้พอใช้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม” นางสาวเพียรพร กล่าวย้ำ 


 ตัวแทนเยาวชนบ้านท่าเรือ ต. สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า บ้านท่าเรือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำสาละวิน แต่ตอนนี้ตนกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย เหลืออีก 2 ปี ก็จะรับปริญญาบัตร แต่ไม่รู้ว่าถึงตอนนั้นกลับไปที่บ้านแล้วจะยังมีบ้านอยู่อีกหรือไม่ 


 “ชาวบ้านท่าเรือเรือเป็นชนเผ่าปกาเกอญอที่อพยพมาจากรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า มาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยที่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 40-50 ปี มาแล้ว มีลูกหลานที่เกิดในประเทศไทย แต่ทั้งหมู่บ้านยังไม่มีใครได้รับสัญชาติ มีแค่บัตรสีเขียว บัตรสีฟ้า เรื่องโครงการสร้างเขื่อน ที่ผ่านมามีหน่วยงานรัฐเข้าเข้ามาให้ข้อมูลชาวบ้านว่าเป็นโครงการของในหลวง ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ชาวบ้านที่เคารพนับถือในหลวงก็ไม่เข้าใจ คิดว่าอาจจะดีเพราะเป็นของในหลวง ก็รู้จะทำยังไง ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่อยากให้โครงการต่างๆ เกิดขึ้นโดยที่คนบางกลุ่มสุขสบายบนความทุกข์ของชาวบ้าน” ตัวแทนเยาวชนบ้านท่าเรือ กล่าวทิ้งท้าย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง