ฮือล้อมรถ ครม. ลำพูน จี้ปัญหาเกษตรกร

fas fa-pencil-alt
ข่าวสด
fas fa-calendar
30 มิถุนายน 2547

ม็อบเกษตรกรเหนือฮือล้อมรถบัสครม.ลำพูน จี้ตอบคำถามข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ที่เรื้อรังมานาน ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น ปัญหาป่าไม้-ที่ดิน ปัญหาชนเผ่า-ชาติพันธุ์ ฯลฯ หลังชุมนุมรับการประชุมครม..สัญจรที่ศาลาประชาคมลำพูน หลังเลิกขอให้ที่ประชุมชี้แจง ที่กลับขึ้นรถบัสหนีไม่ยอมชี้แจง ชาวบ้านไม่พอใจล้อมรถห้ามออกจากลำพูน จนต้องชุลมุนกับตำรวจปราบจลาจล แต่สงบลงได้ เมื่อปลัดจังหวัดมาชี้แจง แกนนำชาวบ้านขีดเส้น 30 วันจะมาฟังคำตอบ 


 เมื่อเวลา 08.30 0น.วันที่ 29 มิ.ย. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 5 ที่ศาลาประชาคมจังหวัดลำพูน โดยก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณและคณะรัฐมนตรีเดินทางมากราบนมัสการพระธาตุหริภุญชัย ปรากฏว่ามีบรรดาเกษตรกรจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือกว่า 100 คน นำโดย นายสมศักดิ์ โยอินชัย นายรังสรรค์ แสนสองแคว นายมานุช ใหม่วงศ์ และนายวิรัตน์ พรมสอน มายื่นหนังสือต่อนายกฯ เพื่อขอให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ 


 หนังสือดังกล่าวอ้างถึงมติครม.วันที่ 7 เม.ย.2547 เรื่องการแก้ไขปัญหากลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ มีการกล่าวถึงกรณีต่างๆหลายกรณี อาทิ การลอบสังหารนายเจริญ วัดอักษร แกนนำชาวบ้านบ่อนอก จ.ประจวบฯ กรณีปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่า กรณีปัญหาถือครองที่ดิน กรณีปัญหาการจัดการน้ำ รัฐต้องทบทวนโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนสาละวิน หรือโครงการ กก อิง น่าน หรือเขื่อนแก่งเสือเต้น และโครงการสร้างเขื่อนที่ไม่คุ้มทุน เช่น เขื่อนแม่ขาน หรือโครงการผันน้ำต่างๆที่กระทบต่อชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำทั้งระดับนโยบายและระดับท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม กรณีปัญหาราคาพืชผล กรณีปัญหาหนี้สินภาคเกษตรกร กรณีปัญหาชนเผ่าและชาติพันธุ์ กรณีปัญหาเหล้าพื้นบ้าน กรณีปัญหาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 


 นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายผู้ปลูกและผลิตลำไยภาคเหนือ นำโดย นายอรรณพ ดวงติ๊บ ประธานองค์กรเครือข่ายผู้ปลูกและผลิตลำไยภาคเหนือ มายื่นหนังสือร้องเรียนให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการแปรรูปและการตลาดลำไยอบแห้ง ในเรื่องการประกันราคา การช่วยเหลือในเรื่องค่าก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการอบลำไย 


 ส่วนตัวแทนศูนย์ประสานงานชุมชนตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ประมาณ 100 คน ยื่นหนังสือถึงพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อขอให้ยกเลิกการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ เพราะเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้สักทองธรรมชาติ ถือเป็นป่าผืนสุดท้าย ที่ชาวสะเอียบควรดูแลรักษาและใช้วิถีชีวิต เนื่องจากเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน โดยอยู่อย่างพึ่งพารักษาป่ามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงไม่ต้องการอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ 


 ชาวบ้านสะเอียบระบุว่า ขณะนี้มี 4 หมู่บ้านได้แก่บ้านดอนชัย บ้านดอนชัยสักทอง บ้านดอนแก้ว และบ้านแม่เต้น จำนวน 924 ครอบครัว 2,832 คน ที่ได้รับผลกระทบ จึงขอให้นายกฯยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะแท้จริงแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้งได้อย่างที่กรมชลประทานกล่าวอ้าง 


 ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากที่น้ำท่วมจ.แพร่ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ฝนที่ตกลงมาไม่ได้อยู่ในเขตที่เขื่อนแก่งเสือเต้นจะรองรับน้ำได้ และน้ำป่าที่เข้าท่วมเขตอ.เมืองแพร่ ไหลลงแม่น้ำยม เข้าท่วมจ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก และจ.พิจิตร เป็นน้ำป่าที่ไหลหลากมาจากลำน้ำแม่หล่าย ลำน้ำแม่คำมี ลำน้ำแม่แคม โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ไกลจุดก่อสร้างเขื่อนประมาณ 80 กิโลเมตร 


ดังนั้นแม้จะมีเขื่อนอยู่ตอนบนของลุ่มแม่น้ำยม ก็ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ จึงเห็นว่ารัฐบาลควรแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยใช้แนวทางพัฒนาลุ่มน้ำยมตามนโยบายของรัฐบาล คือ 1.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามแม่น้ำสาขา ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ไม่มีผลกระทบต่อป่าไม้ชาวบ้าน ไม่ต้องโยกย้ายออกจากพื้นที่ 2.แก้ปัญหาสิ่งก่อสร้างที่ปิดทางน้ำ เช่น ถนน บ้านเรือน หนอง บึง ขุดลอกตะกอนที่ทำให้ลำน้ำตื้นเขิน หรือทำทางเบี่ยงน้ำ และ 3.เร่งฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ สนับสนุนการดูแลรักษาป่า ปลูกป่าเพิ่มเติมก็จะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านอย่างแท้จริง และยังเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 


 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ออกมาทักทายกับชาวบ้านที่มารอพบ และยื่นหนังสือร้องเรียนบางกลุ่ม แต่ไม่ได้พบกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ ที่มาดักรอพบอยู่บริเวณถนนด้านหน้าของวัดพระธาตุหริภุญชัย โดยทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ได้กันนายกฯขึ้นรถยนต์ส่วนตัวออกไปยังศาลาประชาคมเพื่อร่วมประชุมครม. 


 ในขณะที่ทางคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการประชุมกันอยู่นั้น ทางกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้เคลื่อนการชุมนุมจากหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ไปยังถนนอินทยงยศ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน ตรงประตูทางเข้า เพื่อรอผลการประชุมของคณะรัฐมนตรี ตามที่ได้ยื่นหนังสือไป 


 กระทั่งเวลา 12.00 น.การประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นลง กลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องขอให้นายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงผลการประชุมข้อเรียกร้องของกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือฯ แต่นายกรัฐมนตรียืนยันว่า จะให้นายยงยุทธ ติยะไพรัตน์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจง ชาวบ้านจึงรอด้วยใจจดใจจ่อ 


 ต่อมานายกรัฐมนตรีนั่งรถออกจากศาลากลางจังหวัดลำพูน และมีรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งเดินออกมาขึ้นรถบัสของบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่จอดรออยู่ที่ถ.อินทยงยศ ท่ามกลางประชาชนและกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมาก ที่มารอฟังผลการประชุม ซึ่งขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมทราบว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่ออกมาชี้แจงแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเกิดความไม่พอใจต่างกรูเข้าล้อมรถบัสของคณะรัฐมนตรีไว้ ไม่ให้เดินทางออกจากจังหวัดลำพูนจนกว่าจะได้คำตอบ ขณะที่เหตุการณ์กำลังจะบานปลาย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนกองกำกับการตำรวจภูธรภาค 5 ได้เข้าระงับเหตุ พร้อมกับผลักดันกลุ่มชาวบ้านให้ออกห่างจากรถบัสของคณะรัฐมนตรี เพื่อจะให้รถได้เคลื่อนออกจากที่จอดได้ ซึ่งมีการกระทบกันจนเกือบชุลมุน แต่เหตุการณ์ก็สงบลงได้ 


 เมื่อรัฐมนตรีที่ขึ้นไปนั่งบนรถบัสเห็นเหตุการณ์ด้านล่างเริ่มรุนแรง ต่างคนต่างเดินลงไปขึ้นรถตู้ที่ทางจังหวัดลำพูนเตรียมสำรองไว้ให้ พร้อมคนขับขับออกทางประตูด้านหลังศาลากลางไปทั้งหมด เมื่อทางรัฐมนตรีได้เดินทางกลับไปหมดแล้ว กลุ่มชาวบ้านยังไม่ยอมสลายการชุมนุม ซึ่งเรียกร้องให้ทางจังหวัดลำพูน ออกมาชี้แจงการประชุม ว่านายกรัฐมนตรีมีการนำข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าวาระการประชุมครั้งนี้หรือไม่ โดยมีนายสืบสกุล กิจนุกร ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมยืนถือไมค์ประกาศข้อเรียกร้องอยู่ตลอดเวลา โดยมีการยื่นข้อเสนอว่า หากไม่มีผู้ใดออกมาให้คำชี้แจง ก็จะปักหลักอยู่บนถนนจนกว่าจะได้คำตอบ 


 กระทั่งเวลา 15.30 น. นายวรชัย อุตมชัย ปลัดจังหวัดลำพูน เดินทางออกมาพบกลุ่มชาวบ้าน และกล่าวชี้แจงว่า การที่ทางคณะรัฐมนตรีมาประชุมนอกสถานที่ในจังหวัดลำพูนในครั้งนี้ ได้บรรจุวาระการประชุมการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรที่มาชุมนุมเรียกร้องลงไปเรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนเรื่องของการพิจารณาถึงรายละเอียดข้อตกลงนั้น ยังไม่ได้พิจารณา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนพอสมควร ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะนำเรื่องดังกล่าวลงไปกรุงเทพฯทั้งหมด ซึ่งทางจังหวัดลำพูนเองจะติดตามเรื่องที่ทางเกษตรกรเรียกร้องมาชี้แจงให้ในวันหลัง หากทางรัฐบาลมีผลออกมาอย่างไร ซึ่งตอนนี้ขอให้ทางผู้ชุมนุมใจเย็นๆ เพราะว่า การที่ยื่นเรื่องวันนี้จะให้เสร็จในวันเดียว คงไม่มีใครที่ไหนทำได้ และรับปากว่าจะติดตามผลมาแจงให้อย่างแน่นอน ซึ่งกลุ่มชาวบ้านต่างพอใจ พร้อมกับตกลงกันว่า ภายใน 30 วันจะมาตามทวงสัญญาที่ทางจังหวัดลำพูนให้ไว้ พร้อมกับสลายการชุมนุมไปในเวลาต่อมา

อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php?sectionid=0301&searchks=''&sk=''&s_tag=03p0108300647&day=2004/06/30&show=1

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง