แก่งสือเต้น ยื่นหนังสือถึงนายกผ่า รมต.ประพัฒน
เลขที่ 2 บ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
วันที่ 15 ธันวาคม 2546
เรื่อง ขอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น , แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และขอให้ใช้หลักยุทธศาสตร์ 7 ประการของคณะกรรมาธิการเขื่อนโลก ในการพิจารณาเรื่องเขื่อน การจัดการน้ำ และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ผ่าน ฯพณฯ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
สิ่งที่แนบมาด้วย
1. เหตุผล 12 ประการที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
2. ทางเลือกที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
3. แนวทางการแก้ไขปัญหาเขื่อนและการจัดการน้ำ สมัชชาคนจน
4. สมุดปกขาว เล่มที่ 1
5. สมุดปกขาว เล่มที่ 2
สถานการณ์ภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา ได้เปิดช่องให้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนใหม่ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่กี่วัน ได้ถือโอกาสผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ ทั้งที่ ผลการศึกษา การวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกมา ก็มีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาทิ
1. จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์
2. จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน
3. จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก
4. จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ
5. จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
เราขอประณามการฉ้อฉล ฉกฉวย สถานการณ์น้ำท่วม มาผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อผลประโยชน์ของตน และพวกพ้อง ทั้งที่ข้อมูล เหตุผล ล้วนเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
เราขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยย่อ ดังนี้
1. การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ
2. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม (การประกาศป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ ปลูกป่า ฯลฯ) นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน
3. การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน ฯลฯ
4. การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ซึ่งมากกว่าแก่งเสือเต้นเสียอีก)
5. การจัดการทางด้านความต้องการ ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน
6. การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยมสามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดใน แผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น
7. การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค–บริโภค ในเมืองใหญ่ได้อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
เราขอเรียกร้อง ดังนี้
1. ให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น อย่างเด็ดขาด
2. ให้รัฐสนับสนุนคุณภาพชีวิตชุมชน และการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตามที่ชาวบ้านสมัชชาคนจนเสนอ
3. การดำเนินการ โครงการพัฒนาใด ๆ ในลุ่มน้ำยม จะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนา บนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรและความมั่นคงในวิถีชีวิตของประชาชน
4. ให้รัฐบาลสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการดูแลรักษาป่า เพื่อให้เป็นป่าชุมชนของชาวบ้าน และให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดูแลรักษาป่า
เพี่อความสงบสุขของชุมชนและประเทศชาติ เราขอยืนยันเรียกร้องให้ ฯพณฯ ยุติโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน รวมทั้ง ยึดหลักแนวทางของคณะกรรมาธิการเขื่อนโลก ที่ได้เสนอยุทธศาสตร์ 7 ประการ อันได้แก่
1. การได้รับการยอมรับจากสาธารณะ 2. การประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน 3. ข้อพิจารณาสำหรับเขื่อนที่มีอยู่แล้ว 4. สร้างความยั่งยืนให้แก่แม่น้ำ และวิถีชีวิต 5. การรับรองกรรมสิทธิ์ และ แบ่งปันผลประโยชน์ 6. มาตรการที่ทำให้เกิดการปฏิบัติตามข้อกำหนด 7. แม่น้ำเพื่อสันติภาพ การพัฒนา และความมั่นคง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณายกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด ขอแสดงความนับถือ (นายอุดม ศรีคำภา) (นายเส็ง ขวัญยืน) ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น หยุด ทำลายป่า หยุด ทำลายชุมชน หยุด อ้างเพื่อประชาชน หยุด ผลาญเงินประเทศชาติ หยุดหากินกับโครงการขนาดใหญ่ หยุด เขื่อนแก่งเสือเต้น *************************************************************
แนวทางการแก้ไขปัญหาเขื่อนและการจัดการน้ำ สมัชชาคนจน
1. ยุติการผลักดันโครงการหรือการดำเนินโครงการใด ๆ ทั้งหมดไว้ก่อนจนกว่าได้ดำเนินการในข้อ 2-14 เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะกรณีเขื่อนที่อยู่ในสมัชชาคนจน ได้แก่ เขื่อนรับร่อ เขื่อนท่าแซะ เขื่อนโป่งขุนเพชร เขื่อนลำโดมใหญ่ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนคลองกราย และเขื่อนแม่น้ำสงคราม
2. ต้องสั่งการให้ยุติการข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบ รวมทั้งสั่งการให้ดำเนินการพัฒนาชุมชนที่จะได้รับผลกระทบตามปกติ การระงับหรือชะลอการพัฒนาชุมชนที่จะได้รับผลกระทบเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีเขื่อนลำโดมใหญ่จะกระทำมิได้
3. ดำเนินการศึกษาทางเลือกในการจัดการน้ำที่เหมาะสม สอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่ของชุมชน ภูมิปัญญาชาวบ้าน ทรัพยากร และภูมินิเวศน์ท้องถิ่น เพื่อทดแทนการสร้างเขื่อน การดำเนินการนี้จะต้องมีการทบทวนแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ประกาศกระทรวง มติ ครม. และนโยบายที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานตามข้อเสนอข้างต้น และจัดทำกฎหมายและนโยบายที่ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
4. ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณและอำนวยความสะดวกในการทำงานของคณะกรรมการศึกษาการมีส่วนร่วมของ ประชาชนกรณีเขื่อนที่ยังไม่ได้สร้าง 4 เขื่อน ที่ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี 29 เมษายน 2540
5. โครงการเขื่อนทุกเขื่อน จะต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสังคม ที่ครอบคลุมความเสียหายในทุกด้าน ตลอดจนกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสังคม ต้องไม่ใช่หน่วยงานเจ้าของโครงการหรือว่าจ้างโดยหน่วยงานเจ้าของโครงการ เช่น มอบให้สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดำเนินการโดยต้องมีตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านลบ และองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมเป็นกรรมการกำกับด้วย และให้ผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันการศึกษาในส่วนภูมิภาคนั้น ๆ ที่ไม่มีส่วนได้เสียกับการศึกษาโครงการร่วมเป็นคณะทำงาน
6. แก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เพื่อปรับปรุงกระบวนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และผู้แทนสถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและไม่เคยมีส่วนได้เสียกับการศึกษาโครงการเขื่อน เพื่อพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 56 วรรค 2
7. ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาโครงการ ให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การอนุมัติโครงการต้องได้รับฉันทานุมัติจากผู้ได้รับผลกระทบ โครงการใดที่ผู้ได้รับผลกระทบไม่ยินยอม รัฐบาลจะอนุมัติไม่ได้ ในการพิจารณานั้นยังต้องพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการ โดยนำเอาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบมารวมเป็นต้นทุนของโครงการ หากพบว่าไม่คุ้มค่าให้ยกเลิกโครงการนั้น ๆ
8. กรณีโครงการเขื่อน และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ไม่ได้อยู่ในประกาศกระทรวง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่ต้องจัดทำรายงาน ต้องจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเบื้องต้นเพื่อประกอบการพิจารณาและกำหนดมาตรการการแก้ไขผลกระทบ
9. แก้ไขระเบียบ ประกาศ มติ ครม. หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอพยพโยกย้ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ โดยกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องมีแผนการที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริง และต้องจัดหาพื้นที่รองรับที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพอันจะไม่ทำให้คุณภาพชีวิตด้อยไปกว่าที่เป็นอยู่เดิม ทั้งนี้การจัดหาพื้นที่ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของผู้รับผลกระทบ
10. ต้องมีคณะกรรมการอิสระ เพื่อดำเนินการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด ต่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและสาธารณะอย่างต่อเนื่อง
11. แก้ไขและปรับปรุงระเบียบ ประกาศ หรือ มติ ครม. เพื่อให้มาตรการและการดำเนินการชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ โดยให้การชดเชยครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง คำนึงถึงการใช้ประโยชน์จริง รวมทั้งต้องมีมาตรการช่วยเหลือในด้านอื่นในโครงการสร้างเขื่อนทุกประเภท โดยยึดหลักการว่าผู้รับผลกระทบต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม
12. สำหรับกรณีที่มีการอนุมัติโครงการ โครงการนั้นจะต้องจัดให้มีคณะกรรมการกลาง ที่มีองค์ประกอบของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้านลบและองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการเพื่อติดตามและตรวจสอบการแก้ไขผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการใดที่ไม่สามารถแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ โครงการนั้นก็ต้องระงับไว้ก่อน และคณะกรรมการต้องจัดให้มีการประเมินโครงการในทุกด้านภายหลังเปิดดำเนินงานโครงการ 1 ปี หลังจากนั้นให้มีการประเมินผลโครงการทุก ๆ 5 ปี
13. ให้ตั้งกองทุนประกันความเสียหายในทุกเขื่อนที่มีการอนุมัติ เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตภายหลังการเปิดดำเนินโครงการ และให้รวมกองทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนโครงการด้วย การบริหารกองทุนต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการกลางที่มีองค์ประกอบของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้านลบ และองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ
14. รัฐต้องนำข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเขื่อนโลก ที่ได้เสนอ 7 ยุทธศาตร์ มาเป็นหลักในการดำเนินการในเรื่องน้ำ เรื่องเขื่อน และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
กลไกในการดำเนินการ
เพื่อให้แนวทางตามข้อ 1-14 บรรลุผล รัฐบาลต้องตั้ง คณะกรรมการเขื่อนแห่งชาติ ที่มีตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ เพื่อดำเนินการอย่างเป็นทางการต่อไป