เขื่อนแก่งเสือเต้น

fas fa-pencil-alt
ข่าวสด
fas fa-calendar
9 มิถุนายน 2551

เมื่อ พ.ศ.2497 กรมชลประทานเริ่มโครงการชลประทาน "ลุ่มน้ำยม" โดยสร้างฝายทดน้ำกั้นลำน้ำยม ที่ อ.สอง จ.แพร่ เพื่อผันน้ำเข้าสู่ระบบส่งน้ำของโครงการ พื้นที่ 224,000 ไร่ 


 พร้อมกับระบุว่าเพราะไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ตอนบน ทำให้การบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำทำได้ไม่เต็มพื้นที่ ในด้านการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค เขตสุโขทัย แพร่ พิษณุโลก และพิจิตร 


 พ.ศ.2523 แนวความคิดก่อสร้างโครงการ "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ในพื้นที่ อ.สอง จ.แพร่ ของกรมชลประทานจึงเริ่มขึ้น ด้วยเหตุผลเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง และป้องกันน้ำท่วมช่วงฤดูฝน


 โครงการ "เขื่อนแก่งเสือเต้น" เบื้องต้น จะสร้างเป็นเขื่อนหินถมดาดคอนกรีต ตั้งอยู่ในเขต อ.สอง เหนือจุดบรรจบแม่น้ำยมและแม่น้ำงาวขึ้นไปทางเหนือประมาณ 7 ก.ม. หรือห่างจาก อ.เมืองแพร่ ไปทางเหนือประมาณ 50 ก.ม. งบประมาณ ณ ปี 2541 คือ 8,280.82 ล้านบาท 


 โครงการระบุถึงประโยชน์ของเขื่อนว่า จะมีผลดีต่อภาคการเกษตรช่วงฤดูแล้ง ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง 12 จังหวัด บรรเทาปัญหาน้ำท่วมใน จ.แพร่ และสุโขทัย ฯลฯ 


 อย่างไรก็ตามเอกสารโครงการระบุถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนด้วยว่า จะมีบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วม ต้องอพยพไปอยู่ถิ่นฐานใหม่ที่ประมาณ 716 ครัวเรือน ต้องโยกย้ายสัตว์ป่าบางชนิดออกจากบริเวณ และจะสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 48 ตร.ก.ม. 


 หลังนำเสนอโครงการ "เขื่อนแก่งเสือเต้น" มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นทำให้ระบบนิเวศวิทยาสูญเสียอย่างมหาศาล เนื่องจากป่าสักทองผืนใหญ่ผืนสุดท้ายของประเทศ และป่าไม้เบญจพรรณกว่า 30,000 ไร่ จะถูกน้ำท่วม 


 สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 30 ชนิด นกต่างๆ 123 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 18 ชนิด สัตว์ป่าคุ้มครองก็จะได้รับผลกระทบ 


 การคัดค้านดำเนินมาหลายรัฐบาล กระทั่งปี 2539 ครม.รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา มีมติอนุมัติหลักการให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" เมื่อ 19 พ.ย. ให้เริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2540 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ท่ามกลางการเคลื่อนไหวคัดค้านของหลายกลุ่มหลายองค์กร 


 มาถึงรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ระยะแรกยังเป็นไปในแนวทางให้สร้าง แต่ในที่สุด ตัดสินใจยกเลิกมติครม. 19 พ.ย.2539 เมื่อม.ค.2540 ทำให้โครงการแก่งเสือเต้นเงียบหายไป 


 "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ได้รับการพูดถึงอีกครั้งในปี 2548 สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรฯ ขณะนั้น 


แต่นายกฯ ขณะนั้นไม่ได้ตอบรับ โครงการแก่งเสือเต้นจึงกลับเข้ากรุไปอีกครั้ง 


 ล่าสุด นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศบนเวทีวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า สมควรสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยมขึ้นได้แล้ว เพราะปัจจุบันสิ่งที่ผู้คัดค้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอ็นจีโอเป็นห่วง โดยเฉพาะป่าไม้สักทอง หรือสัตว์ป่า เช่น นกยูงจำนวนมาก ไม่มีเหลืออยู่ในบริเวณนั้นอีกต่อไปแล้ว 


 พร้อมกับท่าทีตอบรับของนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นักการเมืองจากสุโขทัย 


 และกำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ ถึงการกลับมาอีกครั้งของ "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ที่มีกระแสคัดค้านรุนแรงมาเกือบ 30 ปี


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง