ผันน้ำโขงต้องทำตามกระบวนการ
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ห้องประชุมสุจิตรา อาคารอาสาสมัครเพื่อสังคม เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ประกอบด้วยนายมนตรี จันทวงศ์ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กรุงเทพฯ, นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา อุดรธานี และน.ส.เปรมฤดี ดาวเรือง จากโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต (SEARIN) แถลงข่าวชี้แจงกรณีเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง และเครือข่ายภาคประชาสังคม เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทักท้วง และเรียกร้องความโปร่งใสในกระบวนการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง พร้อมกับเสนอลักษณะสภาพชีวิตจริงของพื้นที่เป้าหมาย
นายมนตรีกล่าวว่า นายกฯ ไม่ควรละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมา นายกฯ ใช้รายการ "สนทนาประสาสมัคร" ประกาศว่าเตรียมดำเนินโครงการผันน้ำจากน้ำงึมของลาวมายังไทย ซึ่งถือว่าลัดขั้นตอน ทั้งที่การศึกษาต่างๆ ยังไม่แล้วเสร็จ ไม่ได้สอบถามความคิดเห็นประชาชนเลย นอกจากนี้รัฐบาลพยามยามเล่นคำเพื่อจะทำให้โครงการใหญ่ๆ กลายเป็นโครงการเล็กๆ เหมือนไม่มีผลกระทบมาก เช่น จากคำว่าเขื่อนบอกว่าเป็นแค่ฝาย ถือว่าบิดเบือนให้เข้าใจผิด ทั้งๆ ที่โครงการเหล่านี้ล้วนขนาดใหญ่ มีผลกระทบมาก โดยเฉพาะโครงการแนวผันน้ำ น้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว-ชี มีพื้นที่รวมแล้วถึง 3 ล้านกว่าไร่ ชัดเจนอยู่แล้วว่า ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกลับกล่าวว่าไม่ต้องทำรายงานอีไอเอ
"หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพลังงาน ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องอย่างละเอียด เปิดเวทีประชาพิจารณ์โครงการให้ชัดเจนภายในประเทศ ก่อนที่รัฐบาลจะไปเซ็นเอ็มโอยูกับลาว แต่ขณะนี้ในประเทศเราเองยังไม่มีความพร้อมเลย" นายมนตรีกล่าวและว่า ที่จริงแล้วยังมีทางเลือกอื่นๆ ก่อนหน้านี้รัฐบาลทักษิณเคยใช้โครงการขุดสระน้ำขนาดเล็กในพื้นที่เกษตรของประชาชนเอง กระจายไปยังพื้นที่ทำการเกษตรต่างๆ แต่ดำเนินการได้ไม่ต่อเนื่องเพราะมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องการประมูล ทำให้โครงการล้มไป
นายมนตรีกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประเด็นของความเชื่อเรื่องปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค รวมถึงความเชื่อเรื่องพญานาคสร้างแม่น้ำโขงของชาวอีสาน รวมถึงชาวลาวและชาวกัมพูชาด้วย รัฐบาลโดยเฉพาะรมต.ไม่ควรนำมาล้อเล่นเป็นเรื่องตลก ควรระมัดระวัง
ด้านนายเลิศศักดิ์กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ต่างสับสนเนื่องจากยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเลือกแนวผันน้ำไหนก่อน เช่น แนวผันน้ำงึม-ห้วยหลวง ชาวหนองคายมีความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบด้านความรู้สึกเกี่ยวกับการเกิดบั้งไฟพญานาค ซึ่งถือว่าสำคัญและอ่อนไหวมาก โดยเฉพาะกับชาวไทยและลาว 2 ฝั่งแม่น้ำโขง
"ในส่วนของระบบนิเวศนั้นเชื่อว่าจะต้องมีผลกระทบแน่นอน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องศึกษาและเปิดเวทีคุยกันอีกยาว" นายเลิศศักดิ์กล่าวและว่า สำหรับประชาชน จ.เลย ที่จะมีแนวผันน้ำอีกแนวหนึ่งก็ห่วงเรื่องผลกระทบของแม่น้ำเลย รวมถึงแม่น้ำเล็กอื่นๆ สัปดาห์หน้าจะเปิดเวทีเรื่องนี้ รวมถึงที่ จ.หนองคาย ก็เตรียมเปิดเวทีเพื่อถกปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น