แถลงการณ์ คำประกาศ สนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม ของพี่น้องสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือหวั่นเวนคืนสร้างเขื่อน

fas fa-pencil-alt
เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ
fas fa-calendar
29 มีนาคม 2545

คำประกาศ สนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม ของพี่น้องสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ พวกเรา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้าเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นกรณีปัญหาหนึ่งของสมัชชาคนจน ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้อง ของพี่น้องสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา จนนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางมารับหลักการ การแก้ไขปัญหาทั้ง 6 หลักการ ของพี่น้องในวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา เราหวังว่าการแก้ไขปัญหาของพี่น้องจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน


 แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ พี่น้องต้องเดินทางไปยังกรุงเทพฯ ปีนเข้าไปในทำเนียบ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหา จนได้หลักประกันในการแก้ไขปัญหามาอีกระดับหนึ่ง การชุมนุมของพี่น้อง จนถึงวันนี้ ก็นับได้ 20 วันแล้ว ที่พี่น้องต้องรอนแรมจากบ้านมานอนกลางดินกินกลางทราย


 ความอดทน การต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม ของพี่น้อง จะต้องได้รับชัยชนะ ในโอกาสนี้ เราตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้รวบรวม ข้าวสาร อาหารแห้ง จากชาวบ้านในพื้นที่ มาสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องของพี่น้อง ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มากนัก แต่ก็เต็มเปี่ยมด้วยหัวใจ ด้วยกำลังใจที่ชาวบ้าน มอบให้เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพี่น้อง


 เราขอเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้อง และสมัชชาคนจน ซึ่งชุมนุมติดตามทวงสัญญารัฐบาลที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยเร่งด่วน รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น บ่อเกิดแห่งปัญหา โดยเร่งด่วนเช่นกัน


 เรา ในฐานะผู้มีชะตากรรมเดียวกัน กับพี่น้อง ขอเป็นกำลังใจในการต่อสู้ และหวังว่าพีน้องจะต้องได้รับชัยชนะ ในเร็ววัน 


 ประชาชนทั้งผองพี่น้องกัน คณะกรรมการชาวบ้าน เพื่อคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น 29 มีนาคม 2545 ณ หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่   



   ใบแถลงข่าวฉบับที่ 20 ชาวไทยบนพื้นที่สูง มิใช่คนอื่น เจรจาปัญหาสัญชาติต้องยึดหลัก 6 ประการ และเมตตาธรรม รัฐมนตรี ร.อ.สุชาติ-ดร.อดิสัย ต้องกำหนดวันเจรจาก่อน 2 เมษายนนี้โดยด่วน หยุดการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

          การชุมนุมทวงสัญญารัฐบาล นับตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2545 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 20 วันแล้ว ผลการเจรจาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมีความคืบหน้าเป็นที่พอใจระดับหนึ่ง แต่ยังคงเหลือกรณีปัญหาเหล้าพื้นบ้าน ซึ่ง ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจนแน่นอน และดร.อดิสัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ซึ่งต้องเดินทางมาเจรจาแก้ไขปัญหาราคาพืชผลอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการเจรจาที่ผ่านมาล้มเหลวไม่ได้ข้อยุติ 

สำหรับวันนี้ เรามีการเจรจาแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลบนพื้นที่สูงและปัญหาเรื่องแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาบนพื้นที่สูง โดยมีนายประวัฒน์ อุตโมต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เดินทางมาเจรจาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เราหวังว่าการเจรจาแก้ไขปัญหาคงเป็นไปด้วยแนวโน้มที่ดี เพื่อให้ชาวไทยบนพื้นที่สูงมีส่วนร่วมในการพัฒนาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน รวมทั้งยอมรับความเป็นคนไทยซึ่งเกิดบนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ ที่มิใช่คนอื่น และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงต้องเคารพสิทธิพลเมืองไทยเหมือนประชาชนส่วนต่างๆในสังคมไทยซึ่งดำรงอยู่ได้ด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ สังคมวัฒนธรรมและภูมินิเวศน์มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ 

นอกจากนี้แล้ว วันนี้นับเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่เรามีพี่น้องเพื่อนมิตรผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันกับพวกเรา พี่น้องผู้คัดค้านก่อการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้เดินทางมาเพื่อให้กำลังใจพวกเราได้ขนเสบียงข้าวอาหารมาสนับสนุนการชุมนุมของพวกเราถึง ณ ที่นี่ เราขอขอบคุณ มา ณ. โอกาสนี้ 

ปัญหาของพี่น้องผู้ซึ่งได้คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น เป็นปัญหาที่โครงการของรัฐได้กระทำการละเมิดสิทธิของชุมชน สร้างผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาประเทศของรัฐที่ได้สร้างความหายนะให้กับทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาติ และสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยรัฐไม่ยอมฟังเสียงประชาชน ไม่เคารพสิทธิชุมชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติไว้ในมาตราที่ 46 และมาตราที่ 56 ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืนของสังคมไทยในอนาคตแต่อย่างใด 

โครงการการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จะเป็นการทำลายไม้สักทองผืนสุดท้ายของประเทศไทย เป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งดำรงอยู่ในพื้นที่ป่า ดังนั้นความต้องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จึงเป็นการฉวยโอกาสหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาติโดยกลุ่มนายทุนนักการเมืองอิทธิพล และเป็นหาประโยชน์จากโครงการโดยกระบวนการคอรัปชั่นของบางหน่วยงานเท่านั้นเอง โดยอ้างเพื่อแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ ทั้งๆที่ทางเลือกต่อแนวทางแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำนั้น มีความหลากหลายมากมายที่สอดคล้องกับเงื่อนไขวัฒนธรรมประเพณี และสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ อาทิเช่น ระบบเหมืองฝาย การชลประทานขนาดเล็ก เป็นต้น 

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เราชี้แจงและขอเรียกร้องดังนี้ 

1.ให้ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต้องกำหนดการเดินทางมาเจรจาแก้ไขปัญหาเหล้าพื้นบ้านให้ได้ข้อยุติก่อนวันที่ 2 เมษายน 2545 โดยเร่งด่วน 

2. ดร.อดิสัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ต้องกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนเพื่อเดินทางมาเจรจาแก้ไขปัญหาราคาพืชผลอีกครั้งหนึ่งโดยเร่งด่วนก่อนวันที่ 2 เมษายน 2545 นี้ 

3.การเจรจาแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลบนพื้นที่สูงและปัญหาเรื่องแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาบนพื้นที่สูง กับนายประวัฒน์ อุตโมต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น เราขอเรียกร้องให้การยึดหลักการสำคัญใน 6 ประการและยึดหลักเมตตาธรรมที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ เพื่อให้การเจรจาได้ข้อยุติ และก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างมีความเป็นธรรมในสังคมขึ้น 

4.รัฐบาลต้องหยุดโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยรัฐบาลต้องคำนึงถึงประเทศชาติ หยุดย่ำยีทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาติ และต้องเคารพสิทธิชุมชนของคนท้องถิ่นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งหยุดฉวยโอกาสอ้างเหตุผลภัยแล้งเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นด้วย 

เรายืนยันว่า การชุมนุมตามแนวทางสันติวิธีของพวกเราจะยืดเยื้อต่อไป จนกว่าการเจรจาแก้ไขปัญหาของพวกเราได้รับข้อยุติและมีรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยการเจรจาแก้ไขปัญหาของพวกเราทั้ง 8 ประเด็นให้ได้รับข้อยุติ และนำผลการเจรจาเข้าสู่การประชุมพิจารณาของคณะรัฐมนตรีพร้อมกันทั้ง 8 ประเด็น เพื่อเห็นชอบและอนุมัติ

ด้วยความเชื่อมั่นพลังประชาชน คนจนทั้งผอง ต้องสามัคคีกัน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ 29 มีนาคม 2545 ณ ศาลากลาง จ.เชียงใหม่

แถลงการณ์ สมัชชาคนจน ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น

แต่เดิมมาชุมชนหมู่บ้าน มีวิถีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย และสงบสุข เป็นสังคมที่วิวัฒนาการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนด้วยภูมิปัญญาที่สร้างสมกันมานับพันหมื่นปี เป็นวัฒนธรรมและจารีตประเพณีอันดีงาม สิ่งเหล่านี้ คือ บรรทัดฐานที่ยอมรับกันโดยไม่ต้องจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร มันเป็นตัวบทกฎหมายที่คุ้มครองป้องกันชุมชนชาวไทยให้สามารถดำรงอารยธรรมมาได้

       แต่ในปัจจุบันนี้ชนชั้นกลางปกครองได้ยกกเลิกจารีตประเพณีของเราเองมิให้นำมาใช้กฎหมายอีกต่อไป โดยลอกเอาจารีตประเพณีของฝรั่งชาติตะวันตกมีอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นอาทิ มาเป็นกฎหมายใช้บังคับชุมชนหมู่บ้านไทยแทน ความระส่ำระสาย อันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายก็บังเกิดขึ้นในชุมชน เพราะความไม่สอดคล้องกับจารีตประเพณี วัฒนธรรม ธรรมชาติและภูมิปัญญาอย่างไทย ดังนั้นแทนที่กฎหมายจะเป็นเครื่องอำนวยความยุติธรรม กลับเป็นเครื่องทำลายความยุติธรรมเสียเอง กฎหมายกลายเป็นเครื่องเครื่องมือกดขี่ชุมชน กดขี่ชาวบ้าน ผู้ที่ยังดำรงวิถีชีวิตแบบไทยทำให้ชุมชนล่มสลาย ไม่อาจพึ่งพาตนเองได้อีกต่อไป โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่กับธรรมชาติอยู่กับป่าอยู่กับแม่น้ำ ลำคลองอยู่กับทะเลไม่อาจทำมาหากินตามจารีตประเพณีได้อีก แม้ว่าจะมีความดีงามอยู่ตามธรรมชาติและวิถีไทยจะถูกกฎหมายที่เราลอกมาจากฝรั่งหวงห้าม กีดกัน ขัดขวางทำวงไม่ให้เราทำกินตามวิถีเดิมได้อีกต่อไป เพราะผิดกฎหมายของชนชั้นปกครอง (แต่ถูกต้องตามจารีตประเพณีของชุมชน) นั่นคือ การริบทรัพย์จากชาวบ้านอย่างเลือดเย็นที่สุด ประกอบกับชนชั้นปกครองำทยเขียนกฎหมายให้ตัวเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจดุลยการ อยู่ในคน ๆ เดียว หรือองค์กรเดียวยิ่งทำให้ชาวบ้านโดยเฉพาะคนจนถูกกดขี่หนักขึ้นไปอีก

                  ในวาระที่วันนี้เป็นวันสำคัญของคนจน เป็นวันที่จะแสดงออกของธาตุแท้แห่งกฎหมายและชนชั้นปกครองไทยว่าสามารถที่จะอำนวยความยุติธรรมอยู่ได้หรือไม่ เพราะวันนี้เป็นวันพิพากษาคดีของพี่น้องชาวปากมูน และพี่น้องที่อยู่ในป่า พวกเราจึงได้มานั่งสงบ ทำสมาธิเพื่อยังความสะอาด สงบ และสว่างขึ้นในสังคมไทย

“ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชั้นนั้น” 
นายทาสเขียนกฎหมาย คนเป็นควายไม่ใช่คน 
เจ้าเขียนก็สัปดน เขียนจนตนเป็นเทวดา เวลานายทุนเขียน
คนก็เปลี่ยนไปเป็นควาย โลกเหวยอนิจจา 
นี่แหละหวายุติธรรม….. ด้วยจิตคารวะ 

สมัชชาคนจน 29 มีนาคม 2545  


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง