ยืนยัน ยกเลิกเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่แก้ไขปัญหาตามปากหมัก
พวกเราสมัชชาคนจนทั้ง 7 เครือข่าย ปัญหาป่าไม้ ปัญหาที่ดิน ปัญหาเขื่อนและการจัดการน้ำ ปัญหาสลัม ปัญหาผู้ป่วยจากแรงงาน ปัญหาเกษตรทางเลือก ปัญหาประมงพื้นบ้าน ได้ร่วมประชุมกันที่จังหวัดตรัง และได้รับรู้ข่าวที่นายกรัฐมนตรี ได้ปลุกผีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น และยังผลักดันโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงสู่ภาคอีสาน ทั้งที่การศึกษาของนักวิชาการได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า จะเกิดผลกระทบทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ท่าทีในการไม่รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนเช่นนี้ จะก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รัฐบาลกลับละเลยไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาข้าวยากหมากแพงได้
สมัชชาคนจน เห็นว่า รัฐบาลควรจะระดมสรรพกำลังที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาข้าวยากหมากแพง ช่วยเหลือคนยากคนจนที่ต้องแบกรับผลพวงของการพัฒนาประเทศที่รัฐบาลมุ่งสู่ความเจริญที่มองไม่เห็นหัวคนจน ดีกว่าที่จะมาสร้างความขัดแย้งให้เกิดทวีขึ้นอย่างไร้เหตุผล หรือหากเห็นว่าไม่มีปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาก็ควรให้รัฐบาลอื่นที่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติและประชาชน
กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น รัฐบาลที่ผ่านๆ มาได้ชะลอโครงการไว้มาตลอด เพราะไม่สามารถตอบคำถามให้กับสังคมได้ โดยผลของการศึกษาวิจัยก็ชี้ให้เห็นว่าไม่คุ้มทุน กระทบต่อป่าไม้และชุมชนเป็นอย่างมาก ข้อมูลทางวิชาการชี้ชัดว่า บริเวณที่น้ำท่วมตั้งแต่จังหวัดสุโขทัยจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ เป็นที่ราบลุ่ม หรือพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำยม เป็นพื้นที่น้ำท่วมขังอยู่แล้วทุกปี แต่รัฐบาลต้องสนับสนุนโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในที่ต่าง ๆ เช่น ขยายแม่น้ำยมจากจังหวัดสุโขทัย ถึงอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และถึงแม้จะมีเขื่อนแก่งเสือเต้นก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ จากเหตุผลดังกล่าว จึงมีการเสนอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมาหลายต่อหลายครั้ง แต่รัฐบาลกลับไม่นำพา ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ฟังเสียงนักวิชาการ มาถึงรัฐบาลนี้ก็ยังผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างไร้เหตุผลอีกเช่นเดิม ขณะที่เดือนที่ผ่านมา สมัชชาคนจนได้ยื่นข้อเรียกร้องทั้งหมดต่อรัฐบาลที่หน้าทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลกลับไม่ใส่ใจ ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการแก้ไขปัญหา กลับยังสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นอีก เช่นนี้แล้วจะอยู่บริหารประเทศไปทำไม
การดำเนินการของรัฐบาล จะต้องปฏิบัติในข้อกฎหมายโดยเคร่งครัด เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย สิทธิชุมชน สิทธิการมีส่วนร่วม ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ได้รับผลกระทบก่อนการดำเนินโครงการ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติรักษาและส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2535 อย่างเคร่งครัด ในเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมายังมีปัญหาในเรื่องของการศึกษาอีก 4 เรื่องที่ไม่มีข้อยุติ เช่น เรื่องระบบนิเวศป่าไม้-สัตว์ป่า เรื่องพื้นที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบ เรื่องด้านสาธารณะสุข และเรื่องแผ่นดินไหว และเมื่อมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ประกาศใช้ เมื่อปี พ.ศ. 2550 ก็จะต้องนำมาประกอบด้วย
สมัชชาคนจนเห็นว่า ปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลที่ผ่านๆมา ไม่ได้ดำเนินการในสิ่งเหล่านี้ตามกรอบข้อกฎหมายให้เคร่งครัด แต่เป็นความเห็นแต่เพียงตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่น่าจะเหมาะสมในฐานะที่ผู้พูดเป็นผู้นำรัฐบาล และขอยืนยันว่า แนวคิดการสร้างเขื่อนกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริง เพราะเขื่อนที่สร้างขึ้นล้วนแต่เป็นตัวปล่อยสารมีเทน จากการหมักหมมของเสียในช่วงที่มีการกักเก็บน้ำ จึงเห็นว่าการสร้างเขื่อนเป็นการทำให้เกิดการปล่อยสารมีเทน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอันเป็นเหตุให้เกิดปัญหาโลกร้อนเช่นกัน อีกทั้งยังต้องทำลายป่าสักทองในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมอีกกว่าห้าหมื่นไร่ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาโลกร้อนเพิ่มขึ้นอีก
สมัชชาคนจนเห็นว่า ไม่ว่ารัฐบาลใดๆ ก็ต้องมีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาให้กับคนยากคนจน อย่ามัวแต่พูดไปสร้างปัญหาไป บทเรียนของสมัชชาคนจน ต่อกรณีเขื่อนที่ก่อสร้างไปแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่น เขื่อนปากมูน เขื่อนสิรินธร เขื่อนราษีไศล เขื่อนที่อยู่ในช่วงที่กำลังก่อสร้าง เช่น เขื่อนหัวนา เขื่อนเหล่านี้จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รัฐบาลกำลังจะสร้างปัญหากับเขื่อนที่ยังไม่ได้สร้าง ที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมก่อน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี มีมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้ให้เกิดมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สมัชชาคนจน ขอคัดค้านการที่นายกรัฐมนตรีจะเดินหน้าเขื่อนแก่งเสือเต้น และอ้างแต่ผลได้ของเขื่อนเพียงอย่างเดียว และเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ถ้าจะดำเนินการใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ได้รับผลกระทบหลักเป็นสำคัญ และท้ายที่สุด สมัชชาคนจนยังยืนยันที่จะให้ยกเลิกเขื่อนแก่งเสือเต้น และใช้แนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการและทางเลือกในการจัดการน้ำในรูปแบบอื่นๆ ทีมีการศึกษาทางเลือกในการจัดการน้ำไว้แล้วต่อไป
ด้วยจิตรคารวะ
สมัชชาคนจน
7 มิถุนายน 2551 ณ จังหวัดตรัง