ชาวบ้านสะเอียบ ว๊อคเอ้า กรรมาธิการหนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น
คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาพื้นที่การเกษตรและชุมชนผู้ประสบภัย ลงพื้นที่รับฟังความเห็นชาวบ้าน กรณีภัยธรรมชาติ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2552 เวลาประมาณ 12.00 ที่วัดบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ โดยมีคณะผู้เข้าร่วมจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาพื้นที่การเกษตรและชุมชนผู้ประสบภัย กรมทรัพยากรน้ำ จ.แพร่ กรมพัฒนาที่ดิน จ.แพร่ กรมป่าไม้ จ.แพร่ รองผู้ว่า จ.แพร่ นายอำเภอสอง สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานอาวกาศสารสนเทศ และชาวบ้าน กลุ่มราษฎรรักป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เข้าร่วม จาก 4 หมู่บ้าน ประมาณ 800 คน
โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้นั่ง ฮอร์ ซึ่งบินมาจาก จ.เชียงราย ได้บินสำรวจรอบๆ หมู่บ้านก่อนจะลง กรรมาธิการฯ โดยนายชริต แก้วจินดา ได้ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำชี้แจงถึงแผนดำเนินงานที่ผ่านมา ว่าทำไรไปบ้าง คณะกรรมการลุ่มน้ำ ได้รับเงินจาก ADB ประมาณปีละ 1 ล้านบาท เพื่อทำการศึกษาเรื่องการจัดการลุ่มน้ำยม โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำ ได้เสนอว่ามีความสนใจในเรื่องของโครงการขนาดเล็กและกลาง ซึ่งกระจายอยู่ทั่วลุ่มน้ำยม ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมได้ และได้กล่าวถึงการจัดตั้งสถานีวัดน้ำในแต่ละจังหวัดตั้งแต่ต้นน้ำที่พะเยา และปลายน้ำที่ พิจิตร
สำนักงานงานวิจัยอวกาศสารสนเทศ ได้นำเสนอ เรื่องโครงการแก่งเสือเต้น โดยได้ชี้ให้เห็นว่าปริมาณป่าไม้ในเขตจังหวัดแพร่มีพื้นที่ลดลง โดยย้ำว่าในบริเวณพื้นที่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ขณะที่กำนันเส็ง ขวัญยืน ถามย้อยกับไปยัง สำนักงานอวกาศว่าข้อมูลที่นำมาเสนอยังเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกันโดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วม เพราะทางสำนักงานอวกาศได้เอาข้อมูลมาจากกรมชลฯ และเสนอให้ไปศึกษาใหม่ “ไปรับงานเขามาแล้วมาพูดอย่างนี้ชาวบ้านรับไม่ได้แน่นอน” กำนันเส็งกล่าว จนในที่สุด กรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อเสนอว่าให้กลับไปศึกษาว่า ทำข้อมูลให้ตรงกันเสียก่อน
สว.พะเยา ได้พูดว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ถ้าชาวบ้านจะพูดก็ควรจะมีหลักฐานมารองรับโดยใช้วิทยาศาสตร์ และให้ทำใจให้เป็นกลางและยอมรับถ้ามีโครงการแก่งเสือเต้นเกิดขึ้นจริง ขณะที่ สว.พะเยา พูดอยู่ ชาวบ้านทั้งหมดได้ลุกออกจากที่ประชุม ทำให้การประชุมต้องยุติลง
กำนันเส็ง ขวัญยืน กำนัน ต.สะเอียบ กล่าวว่า “ตั้งแต่ปี 32 ว่าช่วงนั้นมีการสัมปทานป่าไม้ และปี 34 เกิดกลุ่มราษฎรรักป่าเกิดขึ้น โดยได้ทำหน้าที่ปกป้อง พิทักษ์ รักษาป่า มาจนเป็นที่ประจักษ์ จนถึงปัจจุบัน เมื่อเทียบกับกรมป่าไม้รักษาป่ามา 100 กว่าปี รับรองว่าชาวบ้านรักษาได้ดีกว่าแน่นอน”
นายชุม สะเอียบคง อดีตกำนัน ต.สะเอียบ กล่าวว่า “เราให้โอกาส รัฐตั้งแต่ปี 32 โดยคำถามเดียวว่าเราจะย้ายไปอยู่ที่ไหน จนถึงปัจจุบัน คำถามที่ถามยังไม่มีคำตอบ และวันนี้จะต้องมาเก็บข้อมูลใหม่อีกมาสำรวจอีก มันสายไปแล้ว และได้เสนอแนวทางการจัดการป่าไม้ว่า ต้องทำโฉนดชุมชนและให้ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิ์ และจะกันเขตระหว่างป่ากับชุมชน จะเป็นวิธีการหนึ่งในการจัดการป่าทั้งหมด ให้เลิกพูดโครงการแก่งเสือเต้น และเสนอทางออกเรื่องการจัดการขนาดเล็กขนาดกลาง และขอมันจบได้แล้วกับโครงการขนาดใหญ่อย่างแก่งเสือเต้น”