ชน"ท่าตาฝั่ง" การต่อสู้เพื่อ"สาละวิน"

fas fa-pencil-alt
มติชน
fas fa-calendar
28 ตุลาคม 2550

แสงแฟลตจากกล้องของสื่อมวลชนหลายแขนงครั้งแล้วครั้งเล่าที่สาดส่องกระทบใบหน้าของชาวบ้าน ไม่ได้ทำให้กว่า 50 ชีวิตที่เข้าร่วมประชุมในวงสนทนา เกิดอาการประหม่าหรือหวาดวิตกแต่อย่างใด เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาว "ท่าตาฝั่ง" ถูกถามไถ่ถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสาละวิน

หมู่บ้านท่าตาฝั่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มีประชากรประมาณ 600 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำไร่ หาปลา ซึ่งทุกอย่างล้วนอาศัยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและมีแม่น้ำสาละวินเป็นเส้นเลือดใหญ่

แต่ชีวิตที่ดำเนินอยู่บนความเรียบง่ายและพอเพียงของชาวท่าตาฝั่งที่มีมากว่า 80 ปี เริ่มเกิดความหวาดหวั่นขึ้น หลังจากที่รัฐไทยจับมือกับรัฐบาลทหารพม่ามีแผนสร้างเขื่อน 4 เขื่อน กั้นแม่น้ำสาละวินซึ่งประกอบไปด้วย เขื่อนท่าซาง เขื่อนเว่ยจี (เขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน) เขื่อนดากวิน (เขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่าง) และเขื่อนฮัตจี

แน่นอนว่าโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน ตลอดจนธรรมชาติสองฝั่งสาละวิน ซึ่งพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาเป็นเวลานาน


ในส่วนของเขื่อนดากวิน เป็นโครงการที่เสนอโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอยู่ห่างจากหมู่บ้านท่าตาฝั่งไม่มากนัก ซึ่งแน่นอนหากมีเขื่อนแห่งนี้ขึ้นจริง ท่าตาฝั่งจะเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ท่าตาฝั่ง มีลำห้วยเป็นแหล่งน้ำสำคัญของหมู่บ้าน ฉะนั้น หากมีการสร้างเขื่อนดากวิน น้ำจากแม่น้ำสาละวินก็จะเอ่อล้นเข้าท่วมที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเหมือนการตัดเส้นเลือดสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวท่าตาฝั่งไปโดยปริยาย

"ตอนที่ กฟผ.เข้ามาครั้งแรก เจ้าหน้าที่บอกกับพวกเราว่า จะมาสำรวจพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวินเฉยๆ ไม่ได้บอกว่าจะทำอะไร พวกเราก็เชื่อกันอย่างนั้น" ทองสุข ลาภชูทรัพย์ พ่อหลวงบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้านท่าตาฝั่ง ย้อนถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่เป็นหัวข้อสำคัญในการสนทนาครั้งนี้ แม้เขาไม่รู้ว่าผลกระทบที่ตามมามีความรุนแรงเพียงใด แต่เชื่อแน่ว่าไม่เป็นผลดีกับชาวท่าตาฝั่งแน่นอน ยิ่งเจ้าของโครงการทำลับๆ ล่อๆ ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลหรือบอกเล่าเรื่องราวให้ชาวบ้านที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับรู้ ก็ยิ่งน่าสงสัย

พ่อหลวงบ้านเล่าให้ฟังต่อว่า กฟผ.เคยส่งเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้กับชาวบ้าน ทั้งเรื่องของการทำปุ๋ยชีวภาพ การเลี้ยงปลา แต่ไม่เคยบอกให้รู้ถึงโครงการสร้างเขื่อนดากวิน จนเมื่อชาวบ้านรับรู้เรื่องทั้งหมดจากองค์กรเครือข่ายที่ต่อต้านการสร้างเขื่อน ทำให้มุมมองที่คนท่าตาฝั่งมีให้กับ กฟผ.เปลี่ยนไป

"มีครั้งหนึ่งทาง กฟผ.ส่งแพทย์เคลื่อนที่มาตรวจรักษาโรคให้ แต่พอชาวบ้านรู้เรื่องการสร้างเขื่อน เลยไม่มีใครไปหาหมอสักคน" พ่อหลวงทองสุขเล่าอย่างอารมณ์ดี แต่แสดงให้เห็นถึงมุมมองของชาวบ้านในเรื่องของการเข้ามาสร้างเขื่อนของ กฟผ.ได้อย่างชัดเจน

เป็นระยะเวลาหลายปีที่ชาวท่าตาฝั่งต่อสู้กับโครงการสร้างเขื่อนดากวิน โดยได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรเครือข่ายต่างๆ ทำให้ในปัจจุบัน กฟผ.ชะลอการสร้างเขื่อนดากวินไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวพร้อมที่จะผุดขึ้นมาได้ทุกเวลา แม้ปัจจุบันสังคมโลกต่างพากันคว่ำบาตรรัฐบาลเผด็จการพม่า เพราะไล่ฆ่าพระ ฆ่าฆราวาสเหมือนผักปลา แต่ กฟผ.ยังคงกระมิดกระเมี้ยนเดินหน้าสารพัดโครงการที่ตักตวงทรัพยากรธรรมชาติของพม่าต่อไป โดยอ้างถึงความจำเป็นด้านพลังงาน

"เมื่อก่อนชาวบ้านกลัวผี กลัวเสือ แต่ตอนนี้ไม่กลัวแล้ว กลายเป็นคนมากกว่าที่ชาวบ้านกลัว เพราะเขาจะมาเอาบ้าน เอาที่ทำกินของเราไปตอนไหนก็ไม่รู้ หากมีเขื่อน เราก็ไม่มีที่ทำกิน คงอยู่ไม่ได้ จะให้ย้ายไปอยู่ที่อื่นก็คงไม่ไป เพราะพวกเราเกิดที่นี่ หากจะตายก็ขอตายอยู่ที่นี่เหมือนกัน" ความตั้งใจแน่วแน่ของพ่อหลวงทองสุขและชาวท่าตาฝั่งทุกคนที่ถึงแม้จะมีเพียงแค่หยิบมือ แต่พร้อมที่ต่อสู้เพื่อผืนแผ่นดินเกิดอย่างถึงที่สุด

แม้โครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินจะนำพามาซึ่งพลังงานที่ กฟผ.อ้างว่ามีต้น "ทุนต่ำ" แต่สูตรการคำนวณต้นทุน ระหว่าง กฟผ.และชาวท่าตาฝั่ง รวมถึงชุมชนและธรรมชาติริมสาละวินย่อมแตกต่างกัน

ฝ่ายหนึ่งอาจใช้เงินและรายได้เป็นตัวตั้ง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีชีวิตของคนและธรรมชาติเป็นเดิมพัน แต่มักไม่ค่อยถูกนำไปบวกไว้ในต้นทุน และสังคมไทยก็ไม่ค่อยเฉลียวใจ ทั้งๆ ที่ธรรมชาตินั้นไม่มีพรมแดน

ทุกวันนี้ทุกขอบเขตรอบประเทศไทยมีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์รุนแรงอยู่แล้ว เพราะขาดมนุษยธรรมและละเลยความเป็นพี่น้องที่อยู่กันมายาวนาน

เพราะฉะนั้นเรายังคิดจะเติมเชื้อความรุนแรงลงไป

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง