หมู่บ้านริมห้วย กลางป่าสาละวิน

fas fa-pencil-alt
อาทิตย์ ธาราคำ-เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
fas fa-calendar
2546

เรือหางยาวพาเราออกจากท่าน้ำฝ่าสายหมอกยามเช้ามุ่งขึ้นเหนือ ผ่านสองฟากฝั่งน้ำที่สวยงาม บางแห่งเป็นหินผางตั้งตระหง่านราวกับประติมากรรมที่สายน้ำสร้างไว้ มีน้ำตกสีเขียวปกคลุมด้วยมอส ชาวบ้านบอกว่าหน้าแล้งนกจะมากินน้ำที่นี่ บางแห่งเป็นป่าริมน้ำ มีโขดหินและต้นไคร้น้ำเขียวชอุ่ม เมื่อฤดูฝนมาถึงปีหน้า ไคร้น้ำและพืชพรรณต่างๆ จะจมอยู่ใต้น้ำ เป็นอาหารให้กับปลาในน้ำสาละวิน พุ่มไม้และโขดหินเหล่านี้จะเป็นแหล่งวางไข่ชั้นดีของปลา ผืนป่าผลัดใบยังเขียวชอุ่มในฤดูกาลฉ่ำฝน

ประมาณ 4 ชั่วโมงจากท่าเรือแม่สามแลบ เราก็ถึงวังน้ำใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกเป็นภาษาพม่าว่า “เว่ยจี” ซึ่งน้ำสาละวินก่อนถึงบริเวณเว่ยจีเป็นโตรกผาแคบยาวหลายกิโลเมตร ชาวบ้านเล่าว่ายามหน้าน้ำหลาก น้ำที่ถูกบีบอัดมาจะไหลวนตรงเว่ยจี ถ้าน้ำขึ้นสูงและไหลแรง น้ำที่ไหลมาจากโตรกจะวนและระเบิดพุ่งขึ้นเหมือนน้ำพุ ชาวเรือต้องค่อยๆ ขับเรือเลาะชายฝั่งด้านพม่าด้วยความระมัดระวัง ฟังแบบนี้ถ้าคิดจะมาสาละวินหน้าฝนคงต้องพบกับความตื่นเต้นพอสมควร

เราลงเรือตรงปากห้วยแม่แต๊ะหลวง ซึ่งไหลลงมาบรรจบกับสาละวินที่เว่ยจี มีชาวบ้านมารอรับเราหลายคนราวกับเราเป็นญาติที่มาเยี่ยม หลังจากพักทานข้าวแล้วเราก็ออกเดินทางตามลำห้วย ชาวบ้านบอกว่าเดินประมาณ 3 ชั่วโมง แปลว่าพวกเราเดินอย่างต่ำ 4 ชั่วโมงแน่นอน ทางที่เราเดินเป็นทางเท้าทั้งเลาะลำห้วย ข้ามห้วย ตัดโค้งน้ำ และขึ้นดอยบ้าง ชาวบ้านที่เดินเร็วก็ล่วงหน้าหายไปเลย เพราะพวกเรามัวแต่ตะลึงชมความงามถ่ายรูปลำห้วยที่ไม่เคยพบมาก่อน

น้ำในลำห้วยใสสะอาด โขดหินสวยงามหลากสีทอดตัวอยู่ริมฝั่งน้ำ มีทั้งสีม่วง สีเขียว และสีคราม ฝูงปลาตัวน้อยว่ายน้ำกันสนุกสนาน ปลาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นปลาจากสาละวินที่ขึ้นมาวางไข่ในห้วย ก่อนที่จะกลับไปเจริญเติบโตในแม่น้ำใหญ่ต่อไป

เสียงน้ำในลำห้วยไหลกระทบหินดังกระจุ๋งกระจิ๋ง ทำให้เราไม่หมดกำลังใจที่จะเดินต่อไป ชาวบ้านบอกว่าค่อยๆ เดินก็ได้เพราะไม่หลงแน่นอน เดินตามน้ำไปเรื่อยๆ ก็ถึงหมู่บ้านเอง ระหว่างทางมีลำธารเล็กๆ และตาน้ำซับเย็นชื่นใจให้เราแวะใช้ใบไม้ตักดื่มให้หายเหนื่อยได้ตลอด

ระหว่างทางเราแวะทักทายชาวบ้านที่ออกมาจับปลา ลูกชายหนุ่มน้อยใช้แหหาปลาใกล้ๆ วังน้ำ พวกเราขอถ่ายรูป ทั้งครอบครัวยืนตัวตรงเรียงหน้ากระดานให้เราถ่ายรูป แม้จะพยายามบอกว่าไม่ต้องยืนตรงก็ได้ จับปลาแบบที่ทำเมื่อกี้ก็พอ ครอบครัวนี้ยืนยันที่จะให้เราถ่ายรูปท่าเคารพธงชาติ

มัวแต่โอ้เอ้ชมลำธาร เดินสิบนาทีพักสิบนาที จนเกือบค่ำเราก็มาถึงหมู่บ้านแรกบนลำห้วยนี้ คือหมู่บ้านจอซีเดอ เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่มาตั้งรกรากในหุบห้วยแห่งนี้มานาน ภายหลังถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน

พ่อหลวงเล่าว่าริมฝั่งห้วยแม่แต๊ะหลวงมีชุมชนตั้งอยู่ตามน้ำขึ้นไปถึง 8 หมู่บ้าน แต่พวกเราลงมติกันว่าไปไกลกว่านี้ไม่ไหวแล้ว จึงขอหยุดเพียงที่บ้านจอซีเดอ ดินเนอร์ใต้แสงตะเกียงกับพ่อหลวงคืนนี้จึงรู้ว่าชาวบ้านที่นี่ทำเกษตร ปลูกข้าวนาบนที่ราบเล็กๆ ริมลำห้วย ปลูกข้าวไร่หมุนเวียนบนดอย และจับปลาในลำห้วย

เช้าวันรุ่งขึ้นเราตามชาวบ้านไปไร่ แวะทักทายแม่บ้านที่กำลังหาปลาโดยวิธีการ มาออปัวะ คือใช้ใบไม้และหินกั้นส่วนเล็กๆ ของลำห้วยที่น้ำกำลังจะแห้งเพื่อจับปลา มื้อก้า (คุณป้า) คนหนึ่งบอกว่ากั้นจับปลาแล้วก็ต้องเอาหินออกให้น้ำไหลตามเดิม ไม่เช่นนั้นปีหน้าจะไม่มีปลากิน

เดินตามลำห้วยไปสักพักพะตี้พิชัยผู้นำทางของเราก็ชี้มือไปบนดอยชัน บอกว่าขึ้นไปทางนี้ เราแหงนหน้ามองดอยสุดแสนจะชันจนไม่คิดว่าจะปีนได้ ต้องเกาะรากไม้ตะกายกันเหงื่อแตกด้วยความตื่นเต้น มองลงไปข้างล่างจะเปลี่ยนใจลงก็ยิ่งลำบาก พวกเราก็เลยฮึดปีนต่อ ไม่พอยังเอื้อมมือไปเด็ดยอดชะอมอ่อนที่เพิ่งแตกยอดและตำลึงแถวๆ นั้นไปกินเป็นมื้อเที่ยงอีกเพื่อไม่ให้เสียเที่ยว

ใกล้ถึงยอดดอยเราได้ยินเสียงเหมือนดนตรีดังแว่วมา “ก๊อง ก๊อง ก๊อง...” คือเสียงไม้ไผ่ลำยาวที่ชาวบ้านใช้เจาะหลุมบนดินเพื่อหยอดเมล็ดข้าว ชาวบ้านกำลังช่วยกันหยอดข้าวกันเป็นกลุ่ม ผู้ชายใช้ไม้ไผ่เจาะหลุมเดินนำ ส่วนผู้หญิงและเด็กๆ ก็เดินหยอดเมล็ดข้าวตามไป มีเสียงไม้ไผ่กระทุ้งดินคลอไปด้วย

ชาวบ้านชวนเราทานข้าวด้วยกัน เป็นการให้กำลังใจแก่เจ้าของไร่ อาหารกลางวันบนไร่วันนี้ข้าวห่อใบตองตึงกับต้มปลาย่าง เราปฏิเสธเพราะเกรงใจ แต่พอได้ลิ้มรสปลาก็ประทับใจกับรสชาติแสนอร่อยและรอยยิ้มละไมจากชาวบ้าน เราก็เปิปข้าวกันด้วยความหิว

คุยกับชาวบ้านที่กระท่อมกลางไร่ ก็ได้รู้ว่าชาวบ้านที่นี่ปลูกข้าวกว่า 30 ชนิด แต่ละบ้านที่แยกครอบครัวออกมาใหม่จะเสี่ยงทายว่าเหมาะกับข้าวพันธุ์ใด ก็ปลูกข้าวชนิดนั้นไปตลอด แต่ละบ้านจะมีข้าวที่ถูกโฉลกกับตนเองประมาณ 3-4 ชนิด ปลูกไปในไร่เดียวกัน ดังนั้นในชุมชนจึงปลูกข้าวหลากหลายชนิดพันธุ์ ทำให้ไม่ค่อยมีแมลงศัตรูพืชมารบกวน เป็นการจัดการทรัพยากรที่ชาญฉลาด

ในไร่ชาวบ้านยังมีพืชอื่นๆ ปลูกแซมไปด้วย เช่น งา ฟักทอง มะเขือ และพริก พืชบางชนิดที่ปลูกรวมกับข้าวได้ ชาวบ้านก็เอาเมล็ดพันธุ์ผสมกับข้าวและปลูกผสมกันไปเลย

เห็นไร่ชันแบบนี้เราเดินตัวเปล่ายังแทบแย่ เลยถามชาวบ้านว่าเกี่ยวข้าวแล้วขนกลับกันยังไง ชาวบ้านบอกว่าใช้ช้าง! ที่หมู่บ้านนี้มีช้าง 5 ตัว เลี้ยงไว้ขนข้าวและผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ จากไร่กลับบ้าน บ้านที่ไม่มีช้างก็ขอแรงช้างจากเพื่อนบ้านได้

นอกจากพืชที่ปลูกแล้ว พืชธรรมชาติที่ขึ้นริมฝั่งห้วยและในป่าแทบทุกชนิดล้วนเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้าน ทั้งเป็นอาหารคน อาหารสัตว์ ยาสมุนไพร และประโยชน์อื่นๆ เช่นย้อมสีผ้า ทำเชือก พืชอาหารจากป่าที่นี่มีอย่างน้อย 105 ชนิด ส่วนยาสมุนไพรในป่าที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์รวบรวมได้ถึงกว่า 200 ชนิด มีตั้งแต่แก้ไข้ตัวร้อน ฟกช้ำ ไปจนถึงแก้โรคกระเพาะ

ชาวบ้านบอกว่าสำหรับชุมชนริมห้วยแห่งนี้ เงินเป็นสิ่งที่แทบไม่มีความจำเป็น เพราะทุกอย่างปลูกและหาได้เอง จะซื้อบ้างก็เช่น เกลือ ชาวบ้านบอกว่าไม่มีบ้านไหนมีหนี้สินเลย นับเป็นชุมชนพึ่งตนเองอย่างแท้จริง

กลับมาที่หมู่บ้านตอนเย็น เราไปเล่นกับเด็กๆ เพราะพอจะพูดภาษาไทยได้บ้าง เด็กน้อยหลานพะตี้ข้างบ้านวัย 2 ขวบกำลังเล่นตำข้าวอยู่ใกล้ๆ แม่ที่ตำข้าวอยู่จริงๆ เจ้าตัวน้อยมีครกกระเดื่องตัวจิ๋วที่พ่อทำไว้ให้เล่น เด็กนิดเดียวก็ฝึกช่วยแม่ทำงานแล้ว

คืนก่อนกลับฝนตกหนัก น้ำในลำห้วยไหลเชี่ยวขึ้น พะตี้พิชัยจึงเอาช้างมาขนของไปส่งปากห้วย พวกเราจึงเดินกันตัวเปล่า ฝนที่ตกลงมาทำทำให้ป่าเขียวชอุ่มดูสดชื่น อากาศเย็นสบาย ขากลับทางเดินริมห้วยจมหายไปเกือบหมด เราเดินข้ามน้ำกันด้วยความสนุกสนานและตื่นเต้น มีเสียงหัวเราะดังเป็นระยะเมื่อมีใครสักคนเหยียบก้อนหินลื่นล้มลงน้ำ จนเด็กน้อยชาวกะเหรี่ยงที่เดินมาด้วยกับพวกเราถามด้วยความสงสัยว่า “ทำไมพวกพี่ล้มกันเก่งจัง” กว่าจะถึงปากห้วยที่สาละวิน เราก็ลื่นล้มตัวเปียกกันครบทุกคน

ก่อนลงเรือล่องน้ำสาละวินกลับ เราล่ำลาชาวบ้านทุกคน ไม่ลืมกำชับพะตี้พิชัยว่า “มาคราวหน้า พะตี้อย่าลืมเอาช้างมารับด้วยนะคะ”

นั่งเรือกลับ มองฝูงนกที่บินเรี่ยผิวน้ำแล้วพลางคิดว่า หนึ่งอาทิตย์ที่สาละวินแห่งนี้เหนื่อยเอาการทีเดียว แต่สิ่งที่เราได้พบเห็นและเรียนรู้ คือความงดงามของวิถีชีวิตผู้คนที่ผูกพันธรรมชาติอย่างเคารพ ใช้ทรัพยากรอย่างพอเพียง เอื้อมมือแตะน้ำเย็นเฉียบที่กระเซ็นขึ้นมา แอบสัญญากับสาละวินว่า ขอให้เจ้าไหลหล่อเลี้ยงนานาชีวิตที่นี่ตลอดไป แล้วเราจะกลับมาใหม่

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง