เกาะติดชายแดนพม่า ทุนไทยดอดสร้างเขื่อนสาละวิน-ตะนาวศรี

fas fa-pencil-alt
อาทิตย์ ธาราคำ โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต-เนชั่น
fas fa-calendar
21 พฤศจิกายน 2551

ขณะที่เหตุการณ์บ้านเมืองของไทยกำลังยุ่งเหยิง ทางฟากความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเขมรก็ดูจะยังไม่จบในกรณีเขาพระวิหาร หันมาดูฝั่งตะวันตกที่พม่า กลุ่มทุนพลังงานไทยกำลังอาศัยช่วงชุลมุน เคลื่อนไหวลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในพม่าอย่างเงียบๆ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗ กระทรวงพลังงานในนามรัฐบาลไทย ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของพม่า เพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมด ๕ แห่ง ใน ๒ ลุ่มน้ำของพม่าซึ่งได้แก่ ๔ เขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน คือ เขื่อนท่าซางในรัฐฉาน (๗,๐๐๐ เมกะวัตต์) เขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน (๕,๖๐๐ เมกะวัตต์) เขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่าง (๙๐๐ เมกะวัตต์) เขื่อนฮัตจี (๖๐๐ เมกะวัตต์) และอีก ๑ เขื่อนบนแม่น้ำตะนาวศรี ทางภาคใต้ของพม่า (๖๐๐ เมกะวัตต์)

โครงการหนึ่งที่อาจเคยผ่านหูผ่านตาคนไทยมาบ้าง คือ โครงการเขื่อนฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ห่างจากชายแดนไทยที่บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ตามลำน้ำสาละวินลงไปเพียง ๔๐ กิโลเมตร โครงการเขื่อนฮัตจีเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปลายปี ๒๕๔๘ เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในนาม บมจ.กฟผ.จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลง (MoA) กับกรมไฟฟ้าพลังน้ำของพม่าเพื่อก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว และในปีถัดมาบริษัทสิโนไฮโดร บริษัทสร้างเขื่อนจากจีนก็ลงนามร่วมทุน มูลค่าการลงทุน ณ ปี ๒๕๕๑ ประมาณ ๔,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๑.๓ แสนล้านบาท

หลังจากลงนาม กฟผ. ได้ว่าจ้างหน่วยงานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้จนทุกวันนี้จะพ้นกำหนดแล้วเสร็จการศึกษา แต่ก็มิได้มีการเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณะและชุมชนที่จะได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยเฉพาะประเด็นน้ำที่จะเอ่อท่วมเข้าฝั่งไทยที่บ้านสบเมย บ้านแม่สามแลบ และบ้านท่าตาฝั่ง จังหวดแม่ฮ่องสอน

ในด้านฝั่งกะเหรี่ยงซึ่งเป็นพื้นที่สร้างเขื่อนและได้รับผลกระทบโดยตรง กองกำลังกะเหรี่ยง KNU ได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับเขื่อนฮัตจีอย่างชัดเจน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่และประชาชนในพื้นที่ของกองกำลัง โดยเฉพาะน้ำท่วมและการเข้ายึดพื้นที่ของกองทัพพม่า

ประเด็นอ่อนไหวที่ส่อเค้าจะเป็นเชื้อปะทุความขัดแย้งระหว่างประเทศจากโครงการเขื่อนฮัตจี มีอย่างน้อย ๒ ประเด็น ได้แก่

ประเด็นแรก คือ การเปลี่ยนแปลงเส้นพรมแดนระหว่างไทยและพม่า เพราะน้ำจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจะท่วมเข้าสู่พื้นที่ฝั่งไทยรวมถึงลำน้ำสาขาต่างๆ เช่น แม่น้ำเมย เอกสารฉบับหนึ่งของหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยก็ระบุว่าเขื่อนฮัตจีอาจทำให้เกิดข้อพิพาทกรณีเขตแดนและการสูญเสียดินแดน  

ประเด็นต่อมา คือ เขื่อนฮัตจีสนับสนุนการกวาดล้างประชาชนของกองทัพพม่า และจะทำลายภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก เอกสารลับฉบับเดิมระบุชัดเจนว่า กองทัพพม่าจะใช้ข้ออ้างความจำเป็นในการเข้าไปรักษาความปลอดภัยของเขื่อน ใช้ปฏิบัติการทางทหารขับไล่กองกำลัง KNU ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนพม่าต้องอพยพเข้ามาในเขตไทยเป็นจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลทางการทหารระบุว่ากองทัพพม่าเข้าไปกวาดล้างหมู่บ้านในเขตจังหวัดพะปุน รัฐกะเหรี่ยง ใกล้พื้นที่สร้างเขื่อนแล้ว ๖๕ หมู่บ้าน จากหมู่บ้านทั้งหมด ๘๕ แห่ง

โครงการต่อมา คือ เขื่อนทางซาง บนแม่น้ำสาละวินทางภาคกลางของรัฐฉาน บริษัท MDX ของไทยร่วมทุนกับรัฐบาลพม่าและบริษัทกันจูปา จากจีน มีแผนส่งไฟฟ้าขายให้ประเทศไทยเช่นเดียวกัน ที่สำคัญโครงการนี้อยู่ในระบบโครงข่ายพลังงานภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Mekong Sub-region) ที่วางแผนโดยธนาคาร ADB

โครงการเขื่อนท่าซางได้มีการเปิดพิธีก่อสร้างอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อต้นปีก่อน และมีการขนอุปกรณ์ก่อสร้างเข้าไปยังหัวงานเขื่อน ผ่านจุดผ่อนปรนชายแดน BP1 ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

แหล่งข่าวจากรัฐฉานรายงานว่านับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างเป็นเรื่องเป็นราว แหล่งข่าวยังเปิดเผยว่ามีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ระหว่างบริษัทไทยกับบริษัทหงปัน ของว้า กลุ่มว้าได้ยึดอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องจักร และรถสร้างถนนไปเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้   

องค์กรสิ่งแวดล้อมรัฐฉาน รายงานว่าเขื่อนท่าซางจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนอย่างน้อย ๖๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้ ๓๕,๐๐๐ คนได้อพยพหนีการกวาดล้างของทหารพม่าเข้ามาในประเทศไทยแล้ว

ขณะที่เหตุการณ์บ้านเมืองภายในของไทยกำลังอลเวง โครงการเขื่อนตะนาวศรีที่ไม่มีใครสนใจกลับมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ รายงานข่าวสั้นๆ ว่ารัฐบาลพม่าลงนามกับบริษัทอิตาเลียนไทย และบริษัทวินด์ฟอลล์เอนเนอร์ยี จากสิงคโปร์ เพื่อสร้างเขื่อนตะนาวศรีขนาด ๖๐๐ เมกะวัตต์ เว็บไซต์ของบางกอกโพสต์ก็ได้รายงานว่าในวันเดียวกัน กฟผ. ในนามของรัฐบาลไทย ได้ลงนามกับรัฐบาลพม่าเพื่อซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแห่งหนึ่งจำนวน ๖๐๐ เมกะวัตต์ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าไฟฟ้าดังกล่าวจะมาจากเขื่อนตะนาวศรีนั่นเอง อย่างไรก็ตามกฟผ. ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการตกลงรับซื้อไฟฟ้าตามที่เป็นข่าว

ข้อมูลจากแผนโครงสร้างพลังงานของประเทศไทย ของกฟผ. ได้เคยระบุถึงแผนการรับซื้อไฟฟ้าฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเขื่อนตะนาวศรี จำนวน ๗๒๐ เมกะวัตต์ จึงคาดการณ์ได้ว่าเขื่อนแห่งนี้จะผลิตไฟฟ้าส่งขายแก่ประเทศไทยทางด้าน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางสายส่งไฟฟ้าเพียงประมาณ ๘๐ กิโลเมตร 

เขื่อนตะนาวศรี ตั้งอยู่บนแม่น้ำตะนาวศรี ในภาคตะนาวศรี (Tanessarim Division)ประเทศพม่า ตรงข้ามกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แม่น้ำสายนี้ชาวพม่าเรียกว่า ตะนิ้นตะยี หรือ ทาเนสเซอริม ชาวบ้านในลุ่มน้ำมีทั้งชาวกะเหรี่ยง ทวาย มอญ และคนไทยพลัดถิ่น

สำนักข่าวแกวกะเหล่อ ของกะเหรี่ยงรายงานว่าพื้นที่หัวงานเขื่อนอยู่ในพื้นที่ของกองพล ๔ กองกำลังกะเหรี่ยง KNU เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาชุดปฏิบัติการพิเศษกองพัน ๗ KNU ได้เข้าจับกุมและยึดอุปกรณ์สำรวจจากกองทัพพม่าที่กำลังสำรวจพื้นที่เขื่อน

พะโด่โตโตเคหม่อง รองเลขาธิการ KNU จังหวัดบลิดาแหว่ เปิดเผยว่ายังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานที่จะเข้ามาสร้างเขื่อนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม KNU มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนตะนาวศรีเนื่องจากจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างน้อย ๓๒ หมู่บ้าน

พื้นที่ลุ่มน้ำตะนาวศรีทอดยาวตามเทือกเขาตะนาวศรี ก่อนไหลลงทะเลอันดามันใกล้เมืองมะริด ตลอดทั้งลุ่มน้ำปกคลุมด้วยป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง รายงานข่าวระบุว่าในพื้นที่ภาคตะนาวศรีมีบริษัททำไม้ของทหารพม่าและทุนไทย ๑๑ แห่ง รับสัมปทานทำไม้ระหว่างปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ รวมปริมาณไม้ทั้งสิ้น ๑๖๘,๐๐๐ ตัน ส่วนใหญ่จะส่งลงเรือเดินสมุทรไปยังประเทศสิงคโปร์ ส่วนพื้นที่หัวงานเขื่อนมีบริษัทของทหารพม่า ๒ แห่ง คือบริษัทจีเมนไค และไทยาตะนาโมง ทำไม้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ จนปัจจุบัน ชาวบ้านคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ชาวบ้านกำลังกังวลว่าหากทำไม้เสร็จอาจมีการสร้างเขื่อนต่อทันที”

กลุ่มทุนไทยทั้งภาครัฐและเอกชนที่กำลังดำเนินโครงการเขื่อนต่างๆ ในพม่าอยู่ในขณะนี้อาจเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างประเทศในระยะยาว จำเป็นอย่างยิ่งที่การลงทุนข้ามประเทศโดยเฉพาะในพม่าต้องได้รับการตรวจสอบและพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน เพื่อมิให้ไทยตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลทหารพม่า และต้องแบกรับภาระผู้อพยพอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง