คำประกาศ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ยืนหยัดต่อสู้ ปกป้องป่าสักทอง และชุมชนสืบไป

fas fa-pencil-alt
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า
fas fa-calendar
28 กันยายน 2555

  ณ ที่แห่งนี้ ดินแดนชุมชนสะเอียบ บรรพบุรุษเราก่อตั้ง สร้างบ้านแปรงเมืองมากว่า 200 ปี เราลูกหลานอยู่กันมาด้วยความผาสุกมาโดยตลอด ปี 2534 เราได้ร่วมกันก่อตั้ง กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ซึ่งได้ร่วมกันปกป้อง ดูแล รักษา ป่าสักทองผืนสุดท้ายของคนไทยทั้งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนั้นเราเคยได้ร่วมมือกับอธิบดีกรมป่าไม้ ที่ชื่อว่าปลอดประสพ สุรัสวดี ซึ่งเอาจริงเอาจังกับการรักษาป่าสักทองผืนนี้อย่างมุ่งมั่น แม้มีภัยคุกคามอย่างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมาย่างกราย เรากลุ่มราษฎรรักษ์ป่าก็ยืนหยัดต่อสู้มาอย่างเข้มแข็ง


มาบัดนี้ อดีตอธิบดีคนดังกล่าว เปลี่ยนไป โดยผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น มาทำลายป่าสักทองผืนสุดท้ายที่เคยร่วมกันรักษามา ไม่เพียงป่าสักทองกว่า 24,000 ไร่เท่านั้นที่จะถูกน้ำท่วมอย่างถาวร ป่าเบญจพรรณอีกกว่า 30,000 ไร่ ก็จะถูกตัดฟัน ล้างผลาญ ผืนดินจมอยู่ใต้เขื่อนแก่งเสือเต้นเช่นกัน และยังต้องอพยพพวกเราชาวสะเอียบ 4 หมู่บ้านอีกกว่า 1,000 ครอบครัว ท่วมที่ทำกินเราอีกกว่า 10,000 ไร่ รวมแล้วพื้นที่กว่า 65,000 ไร่ จะต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำ อีกทั้งสัตว์ป่า แร่ธาตุ ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเมินค่าไม่ได้ ต้องจมอยู่ใต้เขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งยังเป็นการผลาญงบประมาณแผ่นดินอีกกว่า 20,000 ล้านบาท

เรากลุ่มราษฎรรักษ์ป่าได้เสนอทางออก ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม มาหลายต่อหลายครั้ง เอกสารข้อเสนอทั้ง 8 ข้อก็ถึงมือนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการพิจารณาเลย ทั้งที่คนทั้งบ้านทั้งเมืองก็รู้ว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้จริงอย่างที่กล่าวอ้าง นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อมก็เสนอทางเลือกอีกมากมายทำไมไม่เลือก หรือแนวทางอื่นๆ มันไม่ได้กินป่า หรืองบประมาณมันน้อยเกินไปจึงไม่เลือก

แม่น้ำยมยาวกว่า 735 กิโลเมตร เขื่อนแก่งเสือเต้นจะตั้งอยู่ที่ 115 กิโลเมตรทางตอนบนของลุ่มน้ำยม รับน้ำจาก 11 ลำห้วยสาขาเท่านั้น แล้วหากฝนตกใต้เขื่อนซึ่งยาวถึง 620 กิโลเมตรที่เหลือทางตอนกลางและตอนล่าง ที่รับน้ำจาก 66 ลำน้ำสาขาใต้เขื่อน อย่างฝนที่ตกที่เด่นชัย วังชิ้น ศรีสัชนาลัย ซึ่งอยู่ใต้ลงไปจากจุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 100 – 200 กิโลเมตร แล้วเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมล่าง จะแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้อย่างไร

เขื่อนแก่งเสือเต้นสูง 72 เมตร เขื่อนยมล่างอยู่ต่ำลงมาจาเขื่อนแก่งเสือเต้นเพียง 10 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ยม รอยเลื่อนแพร่ หากเขื่อนแตกมา คงไม่ตายเฉพาะคนเมืองสอง แต่คงตายกันทั้งเมืองแพร่

เขื่อนยมบนอยู่ห่างจากหมู่บ้านเราเพียง 2 กิโลเมตร หากเขื่อนแตกมา คงไม่ตายเฉพาะคนสะเอียบ คนเมืองสองคงต้องตายกันทั้งเมืองเช่นกัน เขื่อนเหล่านี้วนเวียนอยู่แถวนี้ และยังคงทำลายป่าสักทองเหมือนเดิม ทำไมไม่ไปสร้างที่ที่ไม่มีป่า หาเรื่องกินป่าสักทองอยู่ได้

ข้อเสนอ 1 ใน 8 ข้อ ของเราชาวบ้านกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า คือ สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก กระจายไปทั่วทั้งลุ่มน้ำยม หากสร้างได้สัก 70 อ่าง เฉลี่ยอ่างละ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็จะกักเก็บน้ำได้ถึง 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ทำไมไม่ทำ หรือไม่ได้กินป่า หรือ งบมันน้อยไม่พอกิน

เรากลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ขอยืนยันว่า เราจะร่วมกันปกป้องรักษาป่าสักทองและชุมชนของเราสืบต่อไป และจะต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จนถึงที่สุด

รมต.ปอดปะศพ นรกสำหรับสิ่งแวดล้อม คนอกตัญญูเยี่ยงนี้ไม่สมควรที่จะอยู่ต่อไป เรากลุ่มราษฎรรักษ์ป่าจึงขอสาปแช่ง ขอให้ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด พริก เกลือ ที่มอดไหม้ขอให้แสบร้อน อยู่ไม่เป็นสุข จงไปสู่นรกเถิด สาธุ ๆ ๆ

ด้วยจิตรคารวะ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่



เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง