เครือข่ายชาวบ้านบุกสถานทูตจีน ค้านบึ้มแก่งน้ำโขง
ประพัฒน์ขอ1สัปดาห์ศึกษาอีไอเอใหม่
เครือข่ายชาวบ้าน-52 องค์กรพม่า บุกสถานทูตจีน ยื่นประท้วงระเบิดแก่งแม่น้ำโขง จี้ 4 ประเทศ เกี่ยวข้องศึกษาผลกระทบให้รอบด้านก่อน ขณะที่ "ประพัฒน์" เตรียมเรียกข้อมูล การศึกษาอีไอเอทั้งหมด มาพิจารณา หวั่นอีไอเอไทยไม่ครบถ้วน ขอเวลา 1 สัปดาห์ ตัดสินใจว่า ควรจะจัดทำอีไอเอใหม่หรือไม่
เครือข่ายชุมชนแม่น้ำโขงประเทศไทยตอนบน ประเทศไทย, กลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย, สมัชชาคนจน, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และองค์กรพม่า 52 องค์กร ประมาณ 50 คน เดินทางมายื่นหนังสือประท้วงต่อเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำกรุงเทพฯ ให้ยุติการระเบิดแก่งลำน้ำโขง เมื่อเช้าวานนี้ (12)
พร้อมกันนี้ หนังสือดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ลาว และไทย ทำการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และเปิดเผยข้อมูลโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขงทั้งหมดต่อประชาชน ก่อนดำเนินการพัฒนาใดๆ ในลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตจีน ได้ส่งเจ้าหน้าที่มารับหนังสือทางช่องกระจกติดต่อด้านหน้า โดยไม่ยอมออกมาพบกับกลุ่มชาวบ้าน นายจีระศักดิ์ อินทรยศ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มแม้น้ำโขงตอนบน กล่าวว่า ขอให้หยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขง และให้เคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่า การระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือค้าขาย ตั้งแต่ชายแดนจีนลงมาจนถึง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลจีน ลาว พม่า และไทย ภายใต้การผลักดันและสนับสนุนของจีน ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่กลับดำเนินโครงการอย่างเร่งรีบ ไม่โปร่งใส และขาดความชอบธรรม
ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อีกทั้งรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการแสดงถึงผลกระทบในระยะยาว เพราะการระเบิดแก่งเป็นการทำลายทรัพยากร ที่เป็นทางเลือกในการพัฒนาที่ยั่งยืน นายจีระศักดิ์ กล่าว
ส่วนในช่วงบ่ายวันเดียวกัน กลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย ได้เดินไปพบนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อร้องเรียนในเรื่องเดียวกัน โดยนายประพัฒน์ เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นห่วงร่องน้ำที่อาจจะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศของไทย ขณะนี้ได้สอบถามไปยังประเทศลาวถึงข้อมูลผลกระทบที่ลาวเป็นห่วงแล้ว และในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้สั่งให้รวบรวมข้อมูลการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งหมด มาพิจารณาดูว่า ควรจะต้องศึกษาอีไอเอใหม่หรือไม่ เพราะเห็นว่ามีหลายประเด็นที่เป็นจุดอ่อน โดยอีไอเอใช้เวลาศึกษาเพียง 1 เดือน 20 วัน อาจจะไม่ครอบคลุมผลกระทบทั้งหมด โครงการระเบิดแก่งน้ำโขง เรื่องที่จะต้องตั้งคำถาม คือ จำเป็นจะต้องทำอีไอเอใหม่หรือไม่ เพราะตามกฎหมายของไทยไม่จำเป็นจะต้องทำอีไอเอ มีเพียงมติ ครม.วันที่ 1 สิงหาคม 2543 ในเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ ระบุว่า ให้ทำอีไอเอ ส่วนกรณีที่สอง คือ การศึกษาอีไอเอที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งผมจะใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลอีไอเอทั้งหมดหนึ่งสัปดาห์เพื่อตัดสินใจ นายประพัฒน์ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า รัฐบาล 4 ประเทศ จีน พม่า ลาว และไทย ได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำลานซาง-แม่โขง ที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543 แต่เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีแก่ง ผา ดอน กว่า 100 แห่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือขนาดใหญ่กว่า 150 รัฐบาลทั้ง 4 ประเทศ จึงตั้งคณะกรรมการสำรวจการปรับปรุงความเหมาะสมของโครงการปรับปรุงร่องน้ำ เพื่อการเดินเรือ และในเวลาต่อมา ได้อนุมัติให้มีการระเบิดเกาะแก่งดังกล่าว โดยเริ่มระเบิดครั้งแรกไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาในเขตพม่า-ลาว และครั้งต่อไปกำลังจะเริ่มในวันที่ 15 ธันวาคมที่จะถึงนี้