ความเสี่ยงจากการลงทุนสร้างเขื่อนในพม่า

fas fa-pencil-alt
อาทิตย์ ธาราคำ
fas fa-calendar
๒ กันยายน

เมื่อวันที่ ๒ กันยายนที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ค่ายพักพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถูกโจมตีด้วยอาวุธหนักระหว่างการสำรวจเพื่อก่อสร้างเขื่อนฮัตจี ในพม่าเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน และเจ้าหน้าที่ทั้งหมดรวม ๔๒ คนต้องอพยพออกจากพื้นที่กลับประเทศไทยทันที 

เหตุการณ์เสียชีวิตจากการสร้างเขื่อนสร้างฮัตจีครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยเมื่อปีที่ผ่านมามีคนงานกฟผ. หนึ่งคนได้เหยียบกับระเบิดและเสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่กล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การสร้างเขื่อนของ กฟผ. และประเทศไทยที่ต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลเนื่องจากเลือกสร้างเขื่อนในพื้นที่สงคราม

หากทบทวนเหตุการณ์ย้อนกลับไปนับตั้งแต่เริ่มโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในพม่า ซึ่งในแผนงานมีทั้งหมด ๕ โครงการ เราจะพบว่า ทุกโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงและต้นทุนที่กฟผ. ไม่เคยประเมินมาก่อน เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศพม่าต่างจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง  

ประเด็นแรกคือต้นทุนมนุษย์  ในประวัติการสร้างเขื่อนของ กฟผ. ในประเทศไทยที่ผ่านมา ต้นทุนมนุษย์ถูกประเมินเพียงแค่ผู้ได้รับผลกระทบจากพื้นที่น้ำท่วม แต่เขื่อนในพม่ามีต้นทุนมนุษย์ด้านอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึงตั้งแต่เริ่มต้นสำรวจโครงการ อาทิ ชีวิตเจ้าหน้าที่กฟผ.ที่สูญเสียไปจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ ชีวิตของชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการกวาดล้าง โดยกองทัพพม่าเพื่อเคลียร์พื้นที่รอการสร้างเขื่อน ทั้งการเผาทำลายบ้านเรือน ทรมาน เข่นฆ่า และข่มขืน

และหากเขื่อนสร้างเสร็จ พื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้าและสายส่งจะได้รับความคุ้มครองอย่างเข้มงวด ด้วยการกำลังทหารและกับระเบิดรอบพื้นที่เพื่อป้องกันการโจมตีของกองกำลังหลายฝ่ายที่ต่อต้านกองทัพพม่า ตัวอย่างหนึ่งคือ โรงไฟฟ้าลอปิตาในรัฐคะเรนนีซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ ๔๐ ปีก่อน ได้สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านในพื้นที่มาจนปัจจุบัน เนื่องจากการวางกับระเบิดนับหมื่นลูกรอบโรงไฟฟ้าและสายส่ง และเมื่อชาวบ้านหลงไปเหยียบกับระเบิดจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากกองทัพพม่าจะไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือค่าชดเชยแล้ว เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายกลับต้องจ่ายค่าปรับเนื่องจากทำให้ทรัพย์สิน (กับระเบิด) ของทางการเสียหาย

นอกจากนี้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนยังก่อให้เกิดการพลัดที่นาคาที่อยู่โดยที่ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ถูกนับรวมว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ ชาวบ้านเหล่านี้ถูกละเมิดสิทธินานับประการโดยกองทัพพม่า ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องหลบซ่อนอยู่ในป่า หรือต้องอพยพเข้ามายังประเทศไทย ทำให้เกิดภาระด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ต่อประเทศไทย  

ประเด็นต่อมาคือความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย หากโรงไฟฟ้าอยู่ในประเทศไทย เราสามารถที่จะควบคุมความปลอดภัยได้เอง แต่โรงไฟฟ้าในประเทศพม่าตั้งอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของหลายฝ่าย ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าโรงไฟฟ้าจะสามารถผลิตไฟส่งให้ประเทศไทยได้ตามที่วางแผนไว้ เพราะเพียงแค่เริ่มต้นสำรวจเรายังไม่สามารถให้ความปลอดภัยแก่แคมป์ของพนักงาน แล้วจะมีอะไรรับประกันความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ส่งไฟป้อนแก่ระบบพลังงานไทยทั้งประเทศ  

สิ่งที่น่ากังวลใจก็คือ เหตุการณ์ครั้งนี้อาจนำไปสู่ข้ออ้างในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ ซึ่งหมายถึงการเพิ่มกำลังทหารของรัฐบาลพม่า รวมทั้งการปราบประชาชนและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่รุนแรงมากขึ้น  ดังเช่นการเพิ่มขึ้นของทหารพม่าในรัฐกะเหรี่ยงอย่างน้อย ๕๐ กองพัน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผู้พลัดถิ่นภายในทางชายแดนตะวันออกของพม่าที่มีกว่า ๕ แสนคน

เขื่อนสาละวินจะกลายเป็นอาวุธสงครามที่สร้างโศกนาฎกรรมครั้งรุนแรงให้กับประชาชนในพม่าจำนวนเรือนแสน ซึ่งกฟผ. และประเทศไทยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม  

อาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ความสูญเสียครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินงานของกฟผ.ที่ผ่านมาขาดความโปร่งใส ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล และเพิกเฉยต่อเสียงเตือนของกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่และนานาชาติที่เคยทักท้วงว่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศพม่าขาดเสถียรภาพ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน นำไปสู่การสู้รบระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพพม่าเป็นเวลากว่า ๕ ทศวรรษ และการสู้รบดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน นับตั้งแต่รัฐฉาน รัฐคะเรนนี ลงมาจนถึงรัฐกะเหรี่ยง

ด้วยเหตุนี้กฟผ.ควรยกเลิกโครงการพลังงานทั้งหมดในประเทศพม่าในทันที เพื่อรักษาชีวิตของทั้งเจ้าหน้าที่กฟผ.และชาวบ้านในพื้นที่ และเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในด้านพลังงานและผลกระทบทางสังคมข้ามพรมแดนที่ประเมินค่ามิได้ 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง