ข้อควรพิจารณา
ด้านนิเวศวิทยาของนกกรณีโครงการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขง

fas fa-pencil-alt
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
fas fa-calendar
2545

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
                                                                                69/12 รามอินทรา 24 จระเข้บัว ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230
โทร. 025193385/029435965 แฟ็กซ์ 025193385 E-mail:
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

แม่น้ำโขงตอนบนช่วงระหว่างประเทศไทย-ลาวจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศและนานาชาติ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และ Birdlife International ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์นกสากล ได้ประกาศว่ามีพื้นที่อย่างน้อยที่สุด 5 แห่งตามแม่น้ำโขงในส่วนพรมแดนไทย-ลาว ที่ได้รับพิจารณาว่าเป็นพื้นที่สำคัญของนก (Important Bird Areas-IBAs) กรณีความขัดแย้งเรื่องการะเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขงที่ผ่านมาได้มีการหยิบยกประเด็นของผลกระทบทาง ด้านพันธุ์ปลาหลายชนิดเช่นปลาบึก ปลากระโห้ ซึ่งเกื้อกูลต่อการดำรงอยู่ของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงผลกระทบทางด้านสังคมมาพิจารณาอย่างกว้างขวาง ขณะที่ผลกระทบทางนิเวศวิทยาด้านอื่นๆ ยังขาดข้อมูลประกอบการพิจารณาที่ชัดเจน สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าความสำคัญด้านนิเวศวิทยาของนกในพื้นที่ และผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศของนกจากโครงการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขงดังนี้   

แม่น้ำโขงตอนบนและพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรอบเป็นที่อยู่อาศัยของนกที่หายากและมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์หลายชนิด อาทินกกะเต็นเฮอคิวลิส (Blyth's Kingfisher) นกหายากที่มีรายงานการเก็บตัวอย่างเพียงครั้งเดียวบริเวณบ้านแพ้ว ใต้เขตเชียงแสน นกกะเต็นขาวดำใหญ่ (Crested Kingfisher) นกกินปลาที่หายากและพบอาศัยเฉพาะตามแม่น้ำในป่าที่ไหลเชี่ยวและมีตลิ่งชัน นกกระแตผีใหญ่ (Great Thick-knee) นกหายากมากที่อาศัยอยู่ในบริเวณสันทรายและกองหิน พบครั้งล่าสุดบริเวณระหว่างเชียงแสนกับเชียงของ นกหัวโตปากยาว (Long-billed Plover) นกอพยพหายากมากที่พบตามชายฝั่งที่เป็นสันทรายสันกรวดของแม่น้ำโขงช่วงเชียงแสนและเชียงของ นกกระแตหาด (River Lapwing) นกหายากอีกชนิดที่กำลังถูกคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ เนื่องจากทำรังบนสันทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่ช่วงตอนบนเชียงแสนลงไปถึงเชียงของ นกนางนวลแกลบท้องดำ (Black-billed Tern) มีการพบนกชนิดนี้เพียงครั้งเดียวในรอบหลายปีบริเวณเชียงแสน เมื่อปี พ.ศ. 2539 ในอดีตเคยทำรังอยู่ตามตลิ่งทรายของแม่น้ำ นกนางนวลแกลบแม่น้ำ (River Tern) นกนางนวลหายากที่พบในบริเวณแม่น้ำโขงช่วงเชียงแสน เวียงจันทร์ และบริเวณใกล้เขมราช นกกาน้ำใหญ่ (Great Commorant) นกกาน้ำขนาดใหญ่ที่สุดที่หายากและถูกคุกคามทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายงานการพบบนสันทรายเหนือเชียงแสนเมื่อต้นปี 2543 นกกระสาดำ (Black Stork) นกกระสาใกล้สูญพันธุ์ หากินบริเวณสันทราย เร็วๆ นี้มีการพบนกกระสาดำสามตัวในหนองบงคายพื้นที่ชุ่มน้ำใกล้กับแม่น้ำโขงช่วงเชียงแสน นกยอดหญ้าหลังดำ (Jerdon's Bushchat) เป็นนกหายากใกล้สูญพันธุ์ และประชากรในบริเวณแม่น้ำโขงถือเป็นกลุ่มประชากรที่สำคัญที่สุดในเชิงอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ มีการพบนกชนิดนี้อาศัยพึ่งพิงกับไม้พุ่มชื่อ ไคร้น้ำ (Homonoia riparia) บนสันทรายและสันกรวดสองฝั่งแม่น้ำโขงช่วงเชียงแสนลงมาถึงเชียงของ    

ในส่วนของผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นจากการระเบิดแก่งหินต่อระบบนิเวศของนกนั้นพอจะแบ่งได้เป็นสี่บริเวณหลักคือ 1. บริเวณแก่งหินและร่องน้ำซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการระเบิดโดยตรง พื้นที่บริเวณนี้นั้นถือได้ว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกน้ำที่หลากหลายมาก แก่งหินและร่องน้ำระหว่างแก่งนั้นเป็นแหล่งอาศัยประจำและชั่วคราวของ เป็ดเทา (Spot-billed Duck) นกกระแตผีใหญ่ (Great Thick-knee) นกนางนวลแกลบแม่น้ำ (River Tern) นกนางแอ่นหางลวด (Wire-tailed Swallow) และนกยอดหญ้าหลังดำ (Jerdon's Bushchat)  2.บริเวณสันทรายเปิดซึ่งจะได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเดินของน้ำภายหลังการระเบิด ลักษณะพื้นที่เช่นนี้เป็นที่ทำรังวางไข่ของนกนางนวลแกลบท้องดำ (Black-billed Tern) นกนางนวลแกลบแม่น้ำ (River Tern) นกนางนวลแกลบเล็ก (Little Tern) นกกระแตหัวเทา (Grey-headed Lapwing) นกหัวโตเล็กขาเหลือง (Little Ringed Plover)  และนกแอ่นทุ่งเล็ก (Small Pratincole) ชายหาดขนาดใหญ่บริเวณสบรวก ตอนเหนือของเชียงแสนน่าจะเป็นพื้นที่อาศัยที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับนกน้ำย้ายถิ่นช่วงฤดูหนาว รวมไปถึงนกระสานวล (Grey Heron) ที่จัดว่าถูกคุกคามอย่างยิ่งในประเทศไทย  3. บริเวณพงหญ้าและสันทรายที่ถัดเข้าไปบริเวณนี้จะได้รับผลกระทบเนื่องจากกิจกรรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น บริเวณนี้เป็นบ้านของนกขนาดเล็กที่น่าสนใจหลายชนิดเช่น นกกระติ๊ดแดง (Red Avadavat)  นกกระจิ๊ด นกพง (Warblers) และนกจาบปีกอ่อน (Buntings)หลายชนิด  นกยอดหญ้าหลังดำก็ทำรังในถิ่นอาศัยเช่นนี้ รวมไปถึงนกย้ายถิ่นหายากมากอย่างนกคอทับทิมอกดำ (White-tailed Rubythroat) ก็มีรายงานการพบที่นี่ และ 4. แนวตลิ่งสูงสองฝั่งอันเป็นที่ทำรังวางไข่ของ ฝูงนกนางแอ่นทรายสีน้ำตาล (Plain Martin) และนกจาบคาหัวเขียว (Blue-tailed Bee-eater)

นอกจากนี้การระเบิดแก่งหินยังน่าจะมีผลกระทบต่อนกบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างภายหลังการระเบิดหินอีกด้วย แม้ยากที่จะคาดเดา แต่น่าจะมีผลกระทบค่อนข้างมากจากการเปลี่ยนแปลงของอุทกวิทยา (hydrology) ภายหลังการระเบิดหิน ได้แก่อัตราการไหลของน้ำ การตกตะกอน และอัตราการกัดเซาะที่เปลี่ยนไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงนับร้อยๆ กิโลเมตรจากจุดที่มีการระเบิดแก่งหิน เช่นการพังทลายของตลิ่ง และสันดอนซึ่งเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของนกที่มีความสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะสันดอนและเกาะแก่งบริเวณลาวตอนใต้และตอนเหนือของเขมร อันเป็นแหล่งอาศัยของนกเฉพาะถิ่นที่เพิ่งมีการค้นพบใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ได้แก่ นกเด้าลมแม่น้ำโขง /Motacilla samveasnae (Mekong Wagtail)  นักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างนกสองตัวแรกได้บริเวณปากมูล อำเภอโขงเจียม อุบลราชธานี ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนว่านกเด้าลมแม่น้ำโขงไม่พบกระจายขึ้นไปถึงแม่น้ำโขงตอนบน อย่างไรก็ตามผลกระทบจากการระเบิดแก่งหินทางตอนบนอาจจะมีผลกระทบค่อนข้างมากต่อความอยู่รอดของนกชนิดนี้     

การที่แม่น้ำโขงตอนบนและพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งอาศัยของนกหายากหลายชนิด เป็นดัชนีชี้ว่าระบบนิเวศของแม่น้ำโขงบริเวณดังกล่าวยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ย่อมเกื้อกูลต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ผลกระทบใดใดที่เกิดขึ้นต่อนกจึงย่อมมีผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อระบบนิเวศโดยรวม

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคือกระทรวงคมนาคม จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด และศึกษาถึงมาตรการแก้ไขเพื่อรองรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะดำเนินการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขงอีกครั้งในอนาคต เพื่อแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมและยังประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในระยะยาว

หมายเหตุ: ฟิลิป ดี ราวด์ กรรมการฝ่ายวิชาการของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยได้จัดทำราย งานวิชาการเรื่อง "ผลกระทบ ที่น่าจะเกิดขึ้นต่อนกจากการทำลายแก่งหินและกองหินใต้น้ำในแม่น้ำโขงส่วนที่อยู่ในประเทศไทย" ผู้สนใจข้อมูลดังกล่าวสามารถติดต่อได้ที่คุณศิรประภา

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง