ปัดฝุ่นเขื่อนสาละวิน เปิดพรมแดนไทย - พม่า (และจีน)

fas fa-pencil-alt
สยามรัฐ
fas fa-calendar
18 ธันวาคม 2549

นับตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา  ข่าวการปัดฝุ่นเขื่อนสาละวินหลังจากเก็บเข้ากรุไปนานหลายปี  ปรากฏขึ้นพร้อม ๆ กันถึงสองโครงการ  การกลับมาคราวนี้  แหล่งข่าววงในรัฐบาลบอกว่า “ไม่ธรรมดา” เพราะได้รับแรงผลักดันจากหลายฝ่ายหลายประเทศ  เห็นได้จากนายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือกฟผ. กล้าออกมายืนยันกับสื่อมวลชนว่า โครงการนี้มีความเป็นไปได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ 

 โครงการเขื่อนสาละวินทั้งสองโครงการที่กำลังถูกผลักดันให้สร้าง  คือ โครงการเขื่อนท่าซาง  ตัวเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน  บริเวณท่าเรือท่าซาง  ตอนใต้ของรัฐฉาน  ประเทศพม่า ห่างจากชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 130 กิโลเมตร  มีบริษัท MDX บริษัทสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเอกชนของไทยเป็นเจ้าของโครงการร่วมกับรัฐบาลพม่า  เริ่มดำเนินโครงการในปี 2541 กำลังการผลิตรวมประมาณ 3,300 เมกะวัตต์  ใช้เงินลงทุนอย่างต่ำ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือหนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาท

โครงการที่สองมีชื่อว่า โครงการเขื่อนสาละวินตอนบนและล่าง  กั้นแม่น้ำสาละวิน  บริเวณอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน  มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการร่วมกับรัฐบาลพม่า   โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำเมย - สาละวินระหว่างชายแดนไทย - พม่า  เมื่อปี 2532  และมีบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนและกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น (Electric Power Development Company  หรือ EPDC) เป็นผู้ทำการศึกษา   ผลการศึกษา เสนอให้สร้างกั้นแม่น้ำเมยและสาละวินระหว่างชายแดนไทย – พม่าทั้งหมด 8 เขื่อน  แบ่งออกเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำเมย 6 เขื่อน และแม่น้ำสาละวิน 2 เขื่อน คือ เขื่อนสาละวินตอนบนกำลังการผลิต 4,540 เมกะวัตต์  และเขื่อนสาละวินตอนล่าง กำลังการผลิต 792 เมะกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งหมดประมาณ 5,000 เมกกะวัตต์  ใช้เงินลงทุนอย่างต่ำ  5,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ สองแสนล้านบาท

พลังงานไฟฟ้าที่ได้แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนหนึ่งส่งเข้าไปยังประเทศพม่า และอีกส่วนหนึ่งส่งเข้ามายังประเทศไทย   ผู้ว่า กฟผ. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวถึงข้อดีของเขื่อนสาละวิน  เขื่อนแห่งนี้มีต้นทุนค่าไฟต่ำมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย  เพียงแค่ 90 สตางต์ต่อหน่วยเท่านั้น  ช่วยประหยัดต้นทุนค่าไฟได้ถึงปีละ 30,000 ล้านบาท และพื้นที่สร้างเขื่อนมีปัญหากระทบชุมชนน้อยเพราะบริเวณน้ำท่วมในฝั่งไทยเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ซึ่งไม่มีมีคนอาศัยอยู่  ส่วนฝั่งพม่าเป็นเขตชนกลุ่มน้อย ซึ่งโอกาสที่ประชาชนจะออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนมีน้อยกว่าประเทศไทย เนื่องจากประเทศพม่ายังไม่มีเสรีภาพและเอ็นจีโอคอยหนุนหลัง 

เหตุผลดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามตามมาหลายข้อใหญ่ ๆ  ข้อแรก  ต้นทุนค่าไฟดังกล่าวคำนวนจากอะไร  เพราะหากคำนวนต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะผลกระทบด้านผู้ลี้ภัย  ค่าไฟจากเขื่อนสาละวินอาจแพงกว่าทุกเขื่อนที่เคยสร้างในประเทศไทยก็เป็นได้

ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนท่าซาง ในรัฐฉาน ประเทศพม่า  จะทำให้เกิดน้ำท่วมผืนป่าเชียงตอง ผืนป่าดั้งเดิมและอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในรัฐฉาน  และทำลายระบบนิเวศน์ของลำน้ำสาละวิน  ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนตลอดสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่จะต้องได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม  รวมทั้งผลกระทบด้านประมง ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของชาวบ้าน

ส่วนโครงการเขื่อนสาละวินตอนบนและล่าง ซึ่งกั้นแม่น้ำสาละวินบริเวณชายแดนไทย-พม่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ของประเทศไทย  และบ้านเรือนของกลุ่มชนชาติกระเหรี่ยงแดง หรือคะเรนนี ในรัฐคะยาห์   และชนชาติกะเหรี่ยง ในรัฐกะเหรี่ยง  ประเทศพม่า

นับตั้งแต่แผนการสร้างเขื่อนสาละวินทั้งสองแห่งเริ่มต้น  ชาวบ้านในพื้นที่สร้างเขื่อนเคลื่อนค่อย ๆ ถูกรัฐบาลพม่าบังคับให้โยกย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าวมาตลอดโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ  รวมทั้งสถานการณ์การตัดไม้เริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ  เช่นกัน 

รายงานจากกลุ่ม Salween Watch  องค์กรซึ่งติดตามสถานการณ์การสร้างเขื่อนสาละวินอย่างต่อเนื่องล่าสุดเมื่อ 15 ธันวาคมเปิดเผยว่า

“ปัจจุบันบริเวณใกล้กับที่ตั้งเขื่อนท่าซางมีทหารพม่าประจำการอยู่อย่างน้อย 17 กองพันทหารราบ  จำนวน 6 กองพันเคลื่อนย้ายเพิ่งเข้ามาใหม่ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา   ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีกองกำลังทหารพม่าเข้ามาประจำการแต่อย่างใด   ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์บัญชาการของทหารพม่าในพื้นที่   การสร้างถนนและการตัดไม้ในพื้นที่เหล่านี้  ทำให้ทหารพม่าเข้ามาเสริมกำลังทหารมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว  ขณะนี้พื้นที่ป่าลดลงเรื่อย ๆ  นอกจากนี้ทหารพม่ายังบังคับให้ชาวบ้านโยกย้ายออกจากพื้นที่สร้างเขื่อนไปอยู่ในเขตควบคุมของทหาร  และถอนชื่อชาวบ้านออกจากทะเบียนประชากรในพื้นที่  ซึ่งหากรัฐบาลพม่าดำเนินการสร้างเขื่อน คนกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้ค่าชดเชยใด ๆ เลย”

เป็นที่ทราบกันดีว่า  ประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนโดยรัฐบาลเผด็จการทหารมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก   การละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเริ่มตั้งแต่การบังคับใช้แรงงานฟรี  การปล้น ฆ่า  และข่มขืน   จากรายงาน “ใบอนุญาตข่มขืน” ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มกิจกรรมผู้หญิงไทยใหญ่ (Shan Woman's Action Network หรือ SWAN)  และมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ (Shan Human Rights Foundation) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่า สถานที่ซึ่งผู้หญิงมากกว่าครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์ข่มขืนโดยทหารพม่า 173 เหตุการณ์ เกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของเขื่อนท่าซาง (ล่าสุดรายงานฉบับได้รับการยืนยันจากทีมสืบสวนของสหรัฐฯ ว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ และสมาชิกสภาคองเกรส 44 คนได้ร่วมลงนามประท้วงรัฐบาลพม่าและเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินการลงโทษรัฐบาลพม่าแล้ว)  หากการสร้างเขื่อนสาละวินยังคงดำเนินต่อไป  ทหารพม่าจะต้องเข้ามายังพื้นที่แห่งนี้เพิ่มมากขึ้นเพื่อควบคุมการสร้างเขื่อน  โอกาสที่ชาวบ้านจะถูกบังคับใช้แรงงานฟรี และผู้หญิงทั้งไทยใหญ่  กะเหรี่ยงแดง  กะเหรี่ยง  และชนชาติอื่น ๆ ที่อาศัยในพื้นที่สร้างเขื่อนทั้งสองแห่งจะถูกทหารพม่าข่มขืนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน   

ผลพวงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวจะทำให้จำนวนผู้ลี้ภัยและแรงงานหลบหนีเข้ามาเมืองจากประเทศพม่าเพิ่มมากขึ้น และปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสาธารณสุข  ปัญหาอาชญากรรม  และปัญหาเด็กไร้สัญชาติ จะต้องเป็นภาระกับคนไทยไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

คำถามข้อต่อมาก็คือ  การตกลงสร้างเขื่อนสาละวินกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าซึ่งยึดอำนาจมาจากประชาชน และ ประชาชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำหรือไม่

นายไกรศักดิ์ ชุนหวัณ  ประธานกรรมมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา แสดงความคิดเห็นหลังจากรับฟังจากตัวแทนเครือข่ายองค์กรพันธมิตรคัดค้านเขื่อนสาละวิน 69 องค์กรจากประเทศไทยและประเทศพม่าซึ่งเดินทางไปยื่นแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 ว่า

 “หากประเทศไทย ไม่ว่า กฟผ. หรือ บริษัท MDX ตกลงสร้างเขื่อนกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า   ภาพพจน์ของประเทศไทยจะถูกนานาประเทศมองในแง่ลบ  เพราะถือว่าช่วยสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า  ขนาดประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะเป็นผู้ให้เงินลงทุนในการสร้างเขื่อนสาละวินยังยืนยันว่า ประเทศญี่ปุ่นไม่มีนโยบายรสนับสนุนการสร้างเขื่อนแห่งนี้ รวมไปถึงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพม่า จนกว่าพม่าจะพัฒนาไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย  การที่ประเทศไทยจะร่วมลงทุนในโครงการนี้จะต้องคิดให้ดีก่อน  และนอกจากจะถูกมองในแง่ลบแล้ว  ปัญหาสำคัญที่คนไทยจะต้องแบกรับคือ ปัญหาผู้ลี้ภัย และปัญหาความมั่นคง ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยก็แบกรับภาระตรงนี้ไม่ไหวอยู่แล้ว"

จากการตรวจสอบตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองเกินกว่าร้อยละ  40 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งหากดำเนินการสร้างเขื่อนสาละวินเพิ่มอีกสองแห่ง พลังงานไฟฟ้าจะเกินความต้องการของประชาชนอีกหลายเท่า  ผู้แบกรับภาระดังกล่าว คือ ประชาชน โดยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้นในรูปของค่าเอฟที (FT)  และหากการก่อสร้างพบอุปสรรคที่ทำให้เขื่อนสร้างไม่สำเร็จ เช่น  เกิดการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลพม่ากับทหารชนกลุ่มน้อย   หรือ เขื่อนร้าวเนื่องจากที่ตั้งเขื่อนอยู่บนรอยเลื่อนของแผ่นดินไหว  ต้นทุนค่าไฟก็จะต้องสูงขึ้น 

เมื่อความต้องการไฟฟ้าของประชาชนไทยไม่ใช่เหตุผลหลักในการสร้างเขื่อนทั้งสองแห่ง  คำถามที่ตามมาก็คือ ไฟฟ้าดังกล่าวจะส่งให้ใคร    เพราะเหตุใดจึงเร่งรีบนำมาปัดฝุ่นพร้อม ๆ กันถึงสองโครงการในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะหากทบทวนความเป็นมาของโครงการจะพบว่า  โครงการเขื่อนสาละวินมีมานานแล้ว  แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนลุกขึ้นมาผลักดันอย่างจริงจัง

หากไล่สายตามองโครงการพัฒนาตามแนวชายแดนไทย – พม่าจะพบว่า  เขื่อนสาละวินไม่ได้ถูกปัดฝุ่นอย่างโดดเดี่ยว  แต่มีเพื่อน ๆ หรือ โครงการขนาดยักษ์อีก 3 โครงการถูกนำมาปัดฝุ่นพร้อม ๆ กัน ภายใต้แผนพัฒนาเวสเทิร์น ซีบอร์ด (western seaboard) ประกอบด้วย โครงการเหมืองถ่านหินตรงข้ามจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการท่าเรือในรัฐทวาย และโครงการสร้างถนนแม่สอด - ร่างกุ้ง   ทั้ง 3 โครงการเป็นของบริษัท MDX เจ้าของเดียวกับโครงการเขื่อนท่าซาง     และหากมองเลยขึ้นไปทางชายแดนไทย  - พม่า – จีน  แถว ๆ มลฑลยูนนานก็จะพบว่า เขื่อนสาละวินมีเพื่อนเพิ่มขึ้น คือ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน  ในเมืองเชียงรุ้ง  เขตสิบสองปันนา  ซึ่งจีนเตรียมขยายเส้นทางขนส่งสินค้าจากเมืองนี้ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ไทย พม่า และลาว ตามโครงการพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ โดยการเปิดเส้นทางการขนส่งทางเรือ ซึ่งนำสู่โครงการการระเบิดแก่งลำน้ำโขง  และทางรถยนต์โดยตัดถนนจากชายแดนจีนสู่พม่า เพื่อหาเส้นทางออกสู่ทะเลอันดามัน ในเขตรัฐมอญ ตอนใต้ของประเทศพม่า   กระแสข่าววงในจากรัฐบาลแอบเฉลยคำตอบแบบไม่เป็นทางการว่า  ไฟฟ้าที่ได้จะนำมารองรับโครงการพัฒนาตลอดแนวชายแดนของทั้งสามประเทศนั่นเอง

   สำหรับเหตุผลที่โครงการทั้งหลายตามแนวชายแดนตะวันตกของไทยถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นในรัฐบาลชุดนี้   คำตอบที่เห็นชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นเพราะว่ารัฐบาลชุดนี้มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลพม่ามากกว่ารัฐบาลชุดอื่น ๆ   เห็นได้จากการส่งนักการเมืองไปเยือนพม่าหลายครั้ง  การสั่งโยกย้ายพลเอกสุรยุทธ์ ผู้มีนโยบายปฏิปักษ์กับรัฐบาลพม่าจนพ้นทาง  รวมทั้งการลงทุนในประเทศพม่าโดยธุรกิจของเครือญาตินายกรัฐมนตรีและนักการเมืองหลายคนในรัฐบาล  อาทิ  การลงทุนธุรกิจอินเทอร์เน็ตร่วมกับบริษัทลูกชาย พลเอกขิ่น ยุ้นต์ ผู้นำอันดับสามของรัฐบาลทหารพม่าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  เป็นต้น

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ  รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงข้อดีของการลงทุนบริเวณชายแดนไทย - พม่าว่า การร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจจะทำให้พื้นที่ชายแดนเปิดกว้างมากขึ้น  ซึ่งจะช่วยกำจัดคนและปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ ตลอดแนวชายแดน  ทั้งปัญหากองกำลังชนกลุ่มน้อย และปัญหายาเสพติด  รวมทั้งเพิ่มความมั่นคงทางชายแดนไทย - พม่ามากยิ่งขึ้น   

                ความคืบหน้าของโครงการล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัท MDX จากประเทศไทยได้เดินทางไปยังกรุงร่างกุ้ง ประเทศพม่า และร่วมลงนามเห็นชอบในการสร้างเขื่อนท่าซางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการเขี่อนสาละวินบริเวณชายแดนไทย – พม่า  ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เดินทางไปเจรจากับรัฐบาลพม่ามาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  และมีกำหนดจะเดินทางไปเจรจาเรื่องที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอีกครั้งในต้นปี  โดยทางกฟผ. ต้องการให้ตั้งในเขตประเทศไทยเพื่อดำเนินการขอทุนได้ง่าย โดยกฟผ. จะเป็นคนดำเนินการขอทุนจากต่างประเทศเอง  และคาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จในปี 2552

                จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า รัฐบาลที่เห็นด้วยกับการปัดฝุ่นเขื่อนสาละวินครั้งนี้มีทั้งไทย – พม่า และจีน  และผู้ที่ดูจะสบายมากที่สุดในที่นี้ก็คือ  รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า  เพราะอยู่เฉย ๆ ก็มีคนมาช่วยปราบปรามกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน  แถมได้ไฟฟ้าใช้ฟรีครึ่งหนึ่ง  อีกครึ่งหนึ่งได้กำไรจากการขายให้ไทย  ส่วนเงินลงทุนกว่าสามแสนล้าน (รวมสองเขื่อน)  ประเทศไทยจะเป็นผู้จัดสรรหาให้แต่เพียงผู้เดียว  

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง