ผู้ว่าแพร่สวนกระแสปฎิรูป สั่งครูล่ารายชื่อนักเรียนหนุนแก่งเสือเต้น

fas fa-pencil-alt
fas fa-calendar
1 มิถุนายน 2547

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวดแพร่ได้มีการเรียกประชุมด่วนฝ่ายการศึกษาจังหวัดแพร่ เพื่อขอให้มีการล่ารายชื่อนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาทั่วทั้งจังหวัดเพื่อสนันสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมกันนี้ยังให้มีการส่งจดหมายด่วนที่สุดไปยังโรงเรียนทั้งหมดพร้อมแนบตัวอย่างแบบฟอร์มใบลงชื่อที่ได้มีการลงรายชื่อนักเรียนไว้เรียบร้อยแล้วและ ให้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อส่งมอบให้ผู้ว่าราชการภายในวันที่ 16 กรกฎาคม นี้


ในเอกสารที่แนบมาด้วยกับจดหมายด่วนที่สุดดังกล่าวซึ่งเป็นข้อสรุปจากการประชุมได้ระบุให้สถานศึกษาต่างๆให้ความร่วมมือกับทางจังหวัด 4 ข้อคือ 1) ให้รณรงค์ให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแก่ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ในสถานศึกษา 2) ให้ครู นักเรียน และบุคลากรดังกล่าว ร่วมมือกันลงชื่อสนับการสร้างเขื่อน 3) นำรายชื่อทั้งหมดส่งผู้ว่าราชการในเช้าวันที่ 16 กรกฎาคม 4) นำครู นักเรียน และบุคลากร มาร่วมชุมนุมสนับสนุนการสร้างเขื่อนในวันที่ 16 กรกฎาคม ที่หน้าศาลากลาง

นายสายันต์ ข้ามหนึ่ง เจ้าหน้าที่โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต และแกนนำกลุ่มตะกอนยมได้กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวของผู้ว่าราชการเป็นการกระทำที่สวนกระแสการปฎิรูปประเทศไทยที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการเมืองการปกครองและการจัดการกับทรัพยากรของตนเองเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกดขี่จากผู้มีอำนาจ การกระทำของผู้ว่าราชการดังกล่าวเป็นการฉกฉวยใช้อำนาจรัฐในการผลักดันโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจโดยเฉพาะนักการเมืองและพวกพ้อง อย่างไร้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมของนักปกครอง โดยไม่คำนึงถึงเสียงของประชาชนและความเสียหายต่อดิน น้ำ ป่า ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการยังชีพของพี่น้องประชาชน ทั้งยังสร้างความแตกแยกให้กับประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ในแถลงการณ์ของกลุ่มเยาวชนตะกอนยม ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ กล่าวว่าการกระทำดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ถือเป็นการกระทำเยี่ยงเผด็จการและไร้เหตุผล ทั้งที่ผลการศึกษาวิจัยจำนวนมากชี้ชัดว่าได้ไม่คุ้มเสีย การศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีได้ชี้ชัดว่าบริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก การศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ชี้ว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) สรุปว่าเขื่อนนี้ไม่คุ้มทุนค่าก่อสร้างรัฐไม่ควรสนับสนุน การศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สรุปว่าผืนป่ามีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์และชุมชนอย่างมหาศาล การศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสรุปว่าพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นป่าสักทองธรรมชาติผืนเดียวที่เหลืออยู่

ในวันที่ 15 กรกฎาคม นี้ ชาวบ้านสะเอียบจะไปชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดแพร่เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้ว่าฯ จากนั้นในวันที่ 16 กรกฎาคมจะมีการเจรจากับรัฐบาลในนามสมัชชาคนจนที่ทำเนียบรัฐบาล


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง