พ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจนบุกป่าสักทอง ยันค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นทุกรัฐบาล

fas fa-pencil-alt
ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี
fas fa-calendar
20 มิถุนายน 2554

การประชุมพ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจน


 ทุก 2-3 เดือนพ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจน มีการจัดเวทีประชุมสัญจรไปทั่วประเทศ ในวาระนี้ 17-20 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา พ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจนได้มาร่วมกันประชุมที่ศาลาวัดบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นในการต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมายาวนานกว่า 20 ปี และยังได้มีโอกาสเข้าไปบวชป่าสักทองร่วมกันกับพี่น้องสะเอียบท่ามกลางความเขียวขจีของผืนป่า


 บวชป่าสักทอง ร่วมปกป้องปอดของโลก


 ตัวแทนพ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจนจาก 7 เครือข่าย ทั้ง เครือข่ายปัญหาป่าไม้, เครือข่ายปัญหาที่ดิน, เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากโครงการเขื่อนขนาดใหญ่, เครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายสลัมสี่ภาค, เครือข่ายประมงพื้นบ้านภาคใต้, จากทั่วประเทศเกือบ 100 คน ได้ร่วมกันกับพี่น้องชาวสะเอียบ บวชป่าสักทองธรรมชาติกว่า 24,000 ไร่ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น 


 บทเรียนประสบการณ์การต่อสู้ของสมัชชาคนจน กรณีแก่งเสือเต้น 


 กำนันเส็ง ขวัญยืน พ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจน แกนนำกรณีปัญหาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ได้สรุปบทเรียนการต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น แลกเปลี่ยนกับพี่น้องพ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจน กว่า 20 ปีของการคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้านและชุมชนเป็นอย่างดี


 การเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนปากมูล ตลอดจนถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้ชี้ให้เห็นว่าชะตากรรมของผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนั้นล้วนแต่มีวิถีชีวิตที่ย่ำแย่ลง บางครอบครัวได้ศูนย์เสียที่ดินทำกิน ถูกอพยพทั้งชุมชนจนบ้านแตกสาแหรกขาด ชุมชนล่มสลาย วิถีประเพณีวัฒนธรรมสาบสูญไปอย่างไม่มีหวนกลับคืนมา เงินค่าชดเชยที่ได้บ้าง ได้ไม่ครบบ้าง ได้ไม่เป็นธรรมบ้าง ก็ใช้ไปจนหมดสิ้นแล้ว รายรับก็ไม่มีเพราะที่ทำกินก็ไม่มี อาหาร ผัก ปลา สมุนไพร ทรัพยากรที่เคยได้อาศัยจากป่าก็หมดไป ทุกอย่างต้องซื้อ จนทำให้ชีวิตยากลำบากมาจนถึงวันนี้


 แก่งเสือเต้นใช้การต่อสู้ทุกรูปแบบ บางครั้งรุนแรงบ้าง เช่น การทุบรถของธนาคารโลกที่เข้ามาในพื้นที่นั่นเพราะชาวบ้านได้เตือนแล้วแต่เขาไม่ฟัง แต่ก็ส่งผลให้ธนาคารโลกยกเลิกการให้เงินกู้กับรัฐบาลไทยในการสนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น “ผมคิดว่าธนาคารโลกคงเห็นแล้วว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบกับป่าสักทองธรรมชาติอย่างมหาศาล และยังทำลายวิถีชีวิตชุมชนอย่างมากมายอีกด้วย” กำนันเส็ง ขวัญยืนกล่าว 


 กำนันเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ ซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมายาวนานตั้งแต่เริ่มแรก สมัยปี 2528 เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง อยู่มาชาวบ้านก็มอบหมายให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และวันนี้ก็ยกให้เป็นกำนันตำบลสะเอียบ เพราะมีจิตใจที่เสียสละทำงานเพื่อชุมชนมาโดยตลอด “เราเห็นน้ำตาของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทั่วประเทศ เป็นบทเรียนให้เราต้องต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ให้ถึงที่สุด ที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือผืนป่าสักทองธรรมชาติกว่า 24,000 ไร่ และผืนป่าเบญจพรรณรวมแล้วกว่า 60,000 ไร่ ที่จะต้องถูกน้ำท่วมไปด้วยหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น” กำนันเส็ง ขวัญยืน กล่าว


เครือข่ายหนุนช่วยกันในนามสมัชชาคนจน 

พ่ออุดม ศรีคำภา ประธานกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมายาวนานกว่า 20 ปี วันนี้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ตำบลสะเอียบ อีกตำแหน่งหนึ่ง ไม่ได้รู้สึกท้อถอยแต่อย่างใด เพราะมันคือชีวิต และอนาคตของลูกหลาน อีกทั้งยังมีพี่น้องสมัชชาคนจนหนุนช่วยกันมาโดยตลอด “เราอบอุ่นและมีกำลังใจในการต่อสู้ เพราะเราไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เรามีญาติพี่น้องอยู่ทั่วประเทศในนามสมัชชาคนจน วันนี้เราก็ภูมิใจที่เป็นเจ้าภาพในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นพื้นที่ตัวอย่างให้พี่น้องจากทุกเครือข่ายได้มาบวชป่าร่วมกัน และเราต้องต่อสู้ต่อไปไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ เข้ามาก็ต้องแก้ไขปัญหาให้กับสมัชชาคนจน” พ่ออุดม ศรีคำภา กล่าว 

เยาวชนสมัชชาคนจนกับเยาวชนกลุ่มตะกอนยม

  การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน ในนามสมัชชาคนจน ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 15 ปี การรวมกลุ่มของลูกหลานชาวบ้านจึงเริ่มก่อตัวขึ้น โดยมีภารกิจในการหนุนช่วยกลุ่มพ่อแม่ที่เหนื่อยล้าจากการต่อสู้มายาวนาน การเรียนรู้ปัญหาของตนเอง ของชุมชน การเรียนรู้ปัญหาอื่นๆ ของเครือข่าย เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนากลุ่มเยาวชนของสมัชชาคนจน “เราเรียนรู้ปัญหาของพ่อแม่เราและเราเรียนรู้ปัญหาของญาติพี่น้องเราในเครือข่ายสมัชชาคนจน เพื่อซึมซับความรู้ความเข้าใจและช่วยกันคิดหาหนทางแก้ไข เรามีทีมนักข่าวพลเมืองที่ทำหน้าที่รายงานข่าวจากพื้นที่ วันนี้เรารายงานข่าวเรื่องการบวชป่าสักทองแก่งเสือเต้นของพี่น้องสมัชชาคนจน ซึ่งถือว่าเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่พวกเราได้หนุนช่วยเผยแพร่ปัญหาข้อเท็จจริงจากพื้นที่” ธีรวุฒิ ออมแก้ว ตัวแทนเยาวชนสมัชชาคนจน กล่าว

  ตะกอนยม เป็นกลุ่มเยาวชนลูกหลานชาวสะเอียบ เติบโตขึ้นมาท่ามกลางการเรียนรู้การต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น วันใดที่คนรุ่นพ่อแม่เหนื่อยล้า เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ต้องมาสานต่อ สืบสานภารกิจการต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดของบรรพบุรุษ ปัจจุบันกลุ่มเยาวชนตะกอนยมยังสานต่อเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ส่วนเยาวชนตะกอนยมรุ่นแรกๆ จบปริญญาตรี บ้างก็จบปริญญาโท กันไปบ้างแล้ว บางคนก็มีลูก บางคนก็ไปทำงานต่างจังหวัด แต่ในยามที่บ้านเกิดมีปัญหาก็จะกลับมาปกป้องบ้านเกิดอยู่เป็นประจำ “วันนี้เป็นโอกาสดีที่พวกเราลูกหลานชาวบ้านได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันกับพี่น้องเยาวชนลูกหลานสมัชชาคนจน มีอะไรที่พวกเราพอที่จะช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องของพวกเรา พวกเราก็จะร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเรา” วุฒิชัย ศรีคำภา แกนนำกลุ่มเยาวชนตะกอนยม กล่าว 

สมัชชาคนจน พลังขององค์กรชาวบ้าน 

สมัชชาคนจนก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2538 เป็นเครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่รวมตัวกันเพื่อต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการพัฒนาของรัฐ เช่น โครงการก่อสร้างเขื่อน การประกาศเขตป่าทับที่ชุมชน พรบ.ประมง กรรมสิทธิ์ที่ดินและสิทธิด้านถิ่นฐานที่อยู่อาศัย การปฏิรูปที่ดิน สวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงาน นโยบายด้านเกษตรกรรม 

ประสบการณ์ของชาวบ้านในเครือข่ายสมัชชาคนจน ได้สรุปบทเรียนการต่อสู้แล้วว่า ในการเรียกร้องความเป็นธรรม หากต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว พลังอำนาจในการต่อรองจะไม่สามารถผลักดันทะลุทะลวงปัญหาได้ มีแต่การรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรชาวบ้านหนุนช่วยกันจึงจะสร้างอำนาจต่อรองให้กับชาวบ้านได้

  ตลอดการรวมกลุ่มกันกว่า 15 ปี ปัญหาของชาวบ้าน หลายกรณีปัญหาได้รับการแก้ไขดูแลแล้ว เช่น กรณีผู้ป่วยโรคปอดฝุ่นฝ้ายของคนงานทอผ้าในสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ กรณีเขื่อนลำคันฉู เขื่อนห้วยละห้า หมู่บ้านป่าไม้แควระบม-สียัด ปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์ดอนหลักดำ รวมทั้งสามารถยกเลิกโครงการเขื่อนสายบุรี เขื่อนรับร่อ เขื่อนคลองกลาย

ยุทธศาสตร์รวมพลังคนจน สร้างอำนาจต่อรอง 

สวาท อุปฮาด พ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจน กรณีปัญหาป่าไม้ที่ดินภาคอีสานได้แลกเปลี่ยนกับพี่น้องถึงสถานการณ์การเมืองการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ บทเรียนของสมัชชาคนจนคือไม่อิงพรรคการเมือง ให้อิสระกับพี่น้องเครือข่ายต่างๆ ในการใช้สิทธิของพี่น้องเอง เมื่อเลือกนักการเมืองเข้าไปในสภาแล้ว ต้องทำหน้าที่ติดตามว่าผู้แทนที่เราเลือกเข้าไปแล้วได้ทำหน้าที่รับใช้พี่น้องประชาชนหรือไม่อย่างไร ที่สำคัญต้องเห็นหัวคนจน และเร่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน “เราเลือกผู้แทนของเราเข้าไปบริหารประเทศมาหลายรัฐบาลแล้ว แก้ไขปัญหาได้บ้างแก้ไขไม่ได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือพวกเราต้องรวมพลังกันให้เข้มแข็ง และติดตามการแก้ไขปัญหาของพวกเราอย่างต่อเนื่อง หากเรานิ่งเฉยเขาก็ไม่แก้ไขปัญหาให้ ดองเรื่องไว้ เราต้องรวมพลังพี่น้องคนจน ติดตาม กดดัน เจรจา ต่อรอง เพื่อให้รัฐบาลทุกรัฐบาลแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเราอย่างจริงจัง” สวาท อุปฮาด กล่าว

  ประกาศต่อสู้ทุกรัฐบาล จนกว่าจะได้รับความเป็นธรรม 

สมเกียรติ พ้นภัย พ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล ได้ชี้ให้เห็นว่าบทเรียนของเขื่อนปากมูล ได้สร้างผลกระทบให้กับพี่น้องชาวบ้านลุ่มน้ำมูลเดือดร้อนกว่า 6,000 ครอบครัว พันธุ์ปลาหายไปจากแม่น้ำมูน เพราะเขื่อนปากมูลได้ปิดกั้นการอพยพของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงที่เข้ามาหล่อเลี้ยงเป็นอาหารของคนอีสานมาหลายพันปี มาบัดนี้แม่น้ำมูนถูกปิดกั้น พี่น้องอีสานไม่มีปลาให้จับเดือดร้อนกันไปทั่วหน้า 

อีกเรื่องหนึ่งปัจจุบันนี้มีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะไปสร้างที่จังหวัดอุบลราชธานี เราก็ได้ร่วมกับพี่น้องชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นมานี้ “เรามีบทเรียนจากเขื่อนปากมูลแล้ว เราเห็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นระเบิด เราไม่ต้องไม่นิ่งดูดายลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านให้ถึงที่สุด เพราะโรงไฟฟ้านิเคลียร์นี้ผลิตไฟให้คนรวยใช้ ขณะที่คนจนต้องเสี่ยงภัยกับการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้ เราเห็นว่าไม่เป็นธรรม ดังนั้นพวกเราชาวบ้านสมัชชาคนจนต้องร่วมมือกันลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน เราก็ต้องเรียกร้อง” สมเกียรติ พ้นภัย กล่าว 

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือหนุนช่วยชาวบ้านรักษาทรัพยากรปกป้องวัฒนธรรมประเพณี 

พ่อหลวงขวัญ เตชภัฒน์ มะโนวงศ์ตัวแทนเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ร่วมแลกเลี่ยนกับพี่น้องสมัชชาคนจน ถึงการหนุนช่วยกันของพี่น้องลุ่มน้ำภาคเหนือ ทั้ง ปิง วัง ยม น่าน รวมทั้งลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งเริ่มประสานเครือข่ายหนุนช่วยกันทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์บทเรียนต่างๆ ของคนลุ่มน้ำ รวมถึงการผลักดันนโยบายการจัดการน้ำโดยชุมชน การรักษาและพัฒนาระบบเหมืองฝาย การรักษาป่าต้นน้ำ การพัฒนาพื้นที่ตัวอย่าง เช่น การอนุรักษ์วังปลา การบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำ การบวชวังสงวน การเลี้ยงผีขุนน้ำ เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ความรู้ของพี่น้องคนภาคเหนือที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน “ทางภาคเหนือเรามีป่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมประเพณี มีพี่น้องชนเผ่าที่หลากหลาย เราต้องช่วยกันรักษาสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ไว้อย่าให้กระแสการพัฒนามาทำลายล้างสิ่งที่ดีงามของเราไป เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ก็จะทำหน้าที่หนุนช่วยพี่น้องให้รวมพลังกันปกป้องรักษาระบบนิเวศน์ วัฒนธรรมประเพณีของเราไว้สืบไป” พ่อหลวงขวัญ กล่าว

  สรุปบทเรียนนำไปสู่คุณภาพใหม่ 

การประชุมพ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจนเสร็จสิ้นลง ประสบการณ์การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านคนยากคนจนถูกถ่ายทอดผ่านกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง จากเครือข่ายหนึ่งไปยังอีกเครือข่ายหนึ่ง นั่นคือองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางสังคมถูกส่งผ่านไปยังผู้เดือดร้อนจากแนวทางการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดมายาวนาน แต่ภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น ตราบพี่น้องยังเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม เครือข่ายองค์กรชาวบ้านในนามสมัชชาคนจน ยังต้องร่วมมือกันต่อสู้ต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม ดั่งคำขวัญของสมัชชาคนจนที่กล่าวไว้ว่า “ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง ...สู้ต่อไป สู้ต่อไป เพื่อชิงชัยมา” สมัชชาคนจน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง