รัฐบาลต้องเคารพสิทธิชุมชนและสร้างธรรมาภิบาลในโครงการขนาดใหญ่

fas fa-pencil-alt
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ
fas fa-calendar
17 มิถุนายน 2551

จากรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่ในภาคเหนือหลายโครงการ ได้แก่ โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำท่าซาง โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น และโครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล (บางโครงการไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทยโดย ได้แก่ โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำท่าซาง ทั้งสองโครงการตั้งอยู่ในประเทศพม่า ใกล้ชายแดนไทยด้าน จ.แม่ฮ่องสอนและจ.เชียงใหม่ตามลำดับ) ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ทั้งหมดเหล่านี้ ได้ถูกผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่ผ่านๆมา และไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดขัดปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาการเมืองภายในประเทศ ปัญหาความไม่โปร่งใสและข้อบกพร่องในกระบวนการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปัญหาในกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนและธรรมาภิบาลของโครงการ รวมทั้งปัญหาการคัดค้านจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ 


 กป.อพช. เหนือ และเครือข่ายองค์กรสมาชิกในภาคเหนือ ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์การผลักดันโครงการขนาดใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง มีความเห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายนโยบายเร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเร่งด่วนนั้น การเร่งรีบและเร่งอนุมัติงบประมาณของรัฐบาลเช่นนี้ กล่าวได้ว่าเป็นการทำลายหลักการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี และจะเป็นการชี้นำให้หน่วยงานราชการละเลยการปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่จำเป็นต้องปฏิบัติสำหรับการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งไม่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการแสวงหาทางเลือกการพัฒนาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ดังตัวอย่างโดยสรุปดังนี้ 


 กรณีโครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบโครงการผันน้ำน้ำยวมตอนล่าง-เขื่อนภูมิพล ใช้เงินลงทุน 43,898 ล้านบาท เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา ในขณะที่โครงการผันน้ำฯนี้ ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนในพื้นที่ทราบอย่างถูกต้องและครบถ้วน ยังไม่มีกระบวนการประชาพิจารณ์ ยังไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ ยังไม่มีกระบวนการแสวงหาทางเลือกการจัดกาน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างจริงจัง และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่านการพิจารณา โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านแหล่งน้ำและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดังนั้นการอนุมัติงบประมาณโครงการล่วงหน้าเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่าเป็นการอนุมัติที่ขาดความโปร่งใส ไม่มีส่วนร่วมของประชาชน และขาดหลักการธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน 


 กรณีโครงการเขื่อนสาละวิน ได้แก่ โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำท่าซาง เป็นเขื่อนที่ตั้งในประเทศพม่า โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และบริษัทเอกชนไทยเข้าไปลงทุน และประเทศไทยจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ โครงการเขื่อนสาละวินทั้งสองแห่งนี้ ถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่า จะเป็นโครงการที่เข้าไปส่งเสริมให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่าให้รุนแรงเพิ่มมากขึ้น และจะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในประเทศพม่าอย่างรุนแรง นอกจากนี้ในกรณีเขื่อนไฟฟ้าฮัตจี ซึ่งกั้นแม่น้ำสาละวินห่างจากชายแดนไทยลงไปเพียง 47 กิโลเมตร กฟผ.ได้กล่าวอ้างมาโดยตลอดก่อนหน้านี้ว่า เป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าในพม่า ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายไทย การที่นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้ในรายการ “สนทนาประสาสมัคร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2551” รายงานผลการเดินทางไปประเทศพม่า และได้สนับสนุนให้ดำเนินการการสร้างเขื่อนทั้งสองแห่งนี้ร่วมกับพม่านั้น จะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กฟผ.เพิกเฉยหรือละเลยในการปฏิบัติตามกรอบกฎหมายของประเทศไทยมากขึ้น ทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงแล้ว เขื่อนไฟฟ้าฮัตจีได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงในเรื่อง เขตแดนระหว่างประเทศบนแม่น้ำสาละวินจะเปลี่ยนแปลงไป, การสูญเสียอาชีพประมง และปัญหาการอพยพของประชาชนจากประเทศพม่าเข้าสู่ประเทศไทย แต่ในข้อเท็จจริงนั้น กฟผ.ได้ยอมรับในทางปฏิบัติแล้วว่า โครงการเขื่อนฮัตจีจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและจะต้องปฏิบัติตามกรอบกฎหมายของประเทศไทยด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จาก การระบุไว้ในเอกสารแผ่นพับโครงการเขื่อนฮัตจี (ซึ่งถูกแจกจ่ายเผยแพร่ในอ.แม่สะเรียงและอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา) ว่าเป็นเอกสารเผยแพร่ตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 และการตัดสินใจโครงการเขื่อนฮัตจี ขึ้นกับรายงานการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม 


 กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น รัฐบาลที่ผ่านๆ มาได้ชะลอโครงการไว้มาตลอด เนื่องจากผลของการศึกษาวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าไม่คุ้มทุน ส่งกระทบต่อป่าไม้และชุมชนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ข้อมูลทางวิชาการได้ชี้ชัดว่า บริเวณที่น้ำท่วมตั้งแต่จังหวัดสุโขทัยจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ เป็นที่ราบลุ่ม หรือพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำยม เป็นพื้นที่น้ำท่วมขังอยู่แล้วทุกปี ถึงแม้จะมีเขื่อนแก่งเสือเต้นก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ นอกจากนี้การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา ยังมีปัญหาที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในอีก 4 เรื่อง ได้แก่ ระบบนิเวศป่าไม้-สัตว์ป่า พื้นที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบ สาธารณะสุข และเรื่องแผ่นดินไหว ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งผลักดันก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จึงเท่ากับเป็นการตัดตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนและตัดตอนกระบวนการทางกฎหมายลงทั้งหมด


 ในปัจจุบันยังมีโครงการขนาดใหญ่ในภาคเหนืออีกหลายโครงการ อาทิเช่น โครงการผันน้ำแม่แตง-เขื่อนแม่กวงอุดมธารา(จ.เชียงใหม่), โครงการผันน้ำ กก อิง น่าน, โครงการผันน้ำโขงจากพม่าสู่ลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำปิง, โครงการเหมืองลิกไนต์ (อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่) ซึ่งทุกโครงการต่างสร้างผลกระทบต่อชุมชน สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และเมื่อรวมกับขนาดใหญ่อีก 4 โครงการที่นายกรัฐมนตรีเร่งผลักดันอยู่ในขณะนี้ หากทุกโครงการสามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องเคารพต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ต้องเคารพต่อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้ว ก็จะเป็นการยากยิ่งที่เราจะคาดหวังให้สังคมไทยสามารถพัฒนาบนไปบนเส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม


 ในนามของ กป.อพช.เหนือและเครือข่ายองค์กรสมาชิกภาคเหนือ ใคร่ขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ตระหนักและเคารพต่อสิทธิชุมชน สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโครงการอย่างถูกต้องครบถ้วน และกระบวนการมีส่วนร่วมในตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ รวมทั้งหลักธรรมาภิบาลที่รัฐบาลต้องเคารพต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ที่ระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 57, 66, 67(ว่าด้วย สิทธิชุมชน สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ได้รับผลกระทบก่อนการดำเนินโครงการ) และ มาตรา 85 และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติรักษาและส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2535 อย่างเคร่งครัด และการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ด้วยเช่นกัน เพื่อให้การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ ดำเนินไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และประชาชนทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการอย่างแท้จริง


ด้วยความสมานฉันท์ 
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง