รายงานพิเศษ : ไปเรียนรู้ “คุณค่าสาละวิน” ก่อนเผชิญหายนะที่ชื่อว่า “เขื่อน” (จบ)

fas fa-pencil-alt
องอาจ เดชา - ประชาไท
fas fa-calendar
15 พฤษภาคม 2549

หลังจากเมื่อเดือน ธ.ค.2548 ที่ผ่านมาได้มีข่าวการทำบันทึกความตกลง (MOU) ระหว่างกรมไฟฟ้าพลังน้ำ กระทรวงไฟฟ้า ประเทศสหภาพพม่า กับบริษัท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (มหาชน) ประเทศไทย ตัวแทนรัฐบาลไทย เพื่อเตรียมจะดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ หรือโครงการเขื่อนสาละวินจำนวน 4 เขื่อน โดยมีแผนจะเริ่มที่เขื่อนฮัตจี ด้วยกำลังผลิตระหว่าง 800-2,000 เมกะวัตต์ เป็นเขื่อนแรก

จนกระทั่ง มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรสาละวินวอชต์ และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านการลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ โดยได้แสดงความวิตกกังวลต่อการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส และไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังมีการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนในฝั่งไทยและพม่า

เผยตัวแทนรัฐไทย-พม่า แอบลงนาม MOU สร้างเขื่อนสาละวิน อ้างเป็นความลับ

ในเอกสารบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ดังกล่าว ซึ่งได้จากแหล่งข่าวคนหนึ่ง ได้ระบุเอาไว้ว่า หลักการในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้และข้อมูลอื่น ๆ ที่กำหนดหรือพัฒนาขึ้นโดยคู่สัญญาและเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในโครงการ ให้เป็นความลับ โดยได้มีการระบุถึงแผนปฏิบัติงานที่วางไว้ดังนี้

  • ก.ย. 2548: ประมวลข้อมูลเบื้องต้น
  • พ.ย. 2548: การสำรวจพื้นที่ขั้นต้น, ก่อสร้างถนนเข้าพื้นที่
  • ธ.ค. 2548–เม.ย. 2549: สำรวจพื้นที่เพิ่มเติม
  • พ.ค. 2549: รายงานเบื้องต้น
  • พ.ย. 2549: ร่างรายงานฉบับสุดท้าย
  • ธ.ค. 2549: รายงานฉบับสุดท้าย
  • พ.ย. 2550: เริ่มก่อสร้าง
  • ต้นปี 2556 – 2557: ดำเนินการในเชิงพาณิชย์

จากบันทึกข้อตกลงทั้งสองฝ่าย ที่ย้ำว่าต้องรักษาเป็น “ความลับ” นั้น ได้สร้างความคลางแคลงใจต่อกลุ่มพันธมิตรสาละวินวอชต์ และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนเป็นอย่างมาก จนต้องร่วมกันออกแถลงการณ์ในตอนหนึ่ง ว่า โครงการที่เป็นการลงทุนด้วยเงินทุนจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐขนาดใหญ่ จะส่งผลให้คนจำนวนมากต้องอพยพหาที่อยู่ใหม่ ทั้งยังมีผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม การเมืองและเศรษฐกิจ

ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อน ไม่มีการพูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่มีการปรึกษาหารือกับผู้ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 58, 59 และ 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

ทางกลุ่มพันธมิตรสาละวินวอชต์ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและบริษัท กฟผ. ซึ่งยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐ ให้ยกเลิกการลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อร่วมทุนในการสร้างเขื่อน และไม่เข้าร่วมในโครงการใด ๆ ที่ไม่มีกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีการชี้แจงข้อมูลอย่างถ่องแท้ ทั้งนี้ตามข้อเสนอจากคณะกรรมการเขื่อนโลกและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไทย

นอกจากนั้น ยังได้เรียกร้องขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะโดยทันที ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนในฝั่งไทยและพม่า โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่ผ่านมา รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ข้อตกลงด้านการร่วมทุน และบันทึกความเข้าใจซึ่งมีการลงนามไปตั้งแต่หลายปีก่อน และบันทึกซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2548

ย้ำรัฐบาลและนักลงทุนสร้างเขื่อน คือผู้ร่วมละเมิดสิทธิและก่ออาชญากรรมผู้คนในพม่า

จากรายงานของกลุ่มวิจัยด้านการพัฒนาของคะเรนนี ได้พูดถึงการสร้างเขื่อน ภายใต้รัฐบาลทหารพม่า เอาไว้ว่า นอกจากเขื่อน 13 แห่ง ซึ่งจะสร้างขึ้นทางตอนเหนือของน้ำในในประเทศจีนแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลทหารพม่าและรัฐบาลไทยได้เจรจาและลงนามในข้อตกลงหลายฉบับ เพื่อการสร้างเขื่อนหลายเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน

ล่าสุด ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) กับรัฐบาลทหารพม่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2548 เพื่อสร้างเขื่อน 4 เขื่อนในแม่น้ำสาละวิน และอีก 1 เขื่อนในแม่น้ำตะนาวศรี

ขณะที่เขื่อนในแม่น้ำสาละวินนั้น ได้แก่ เขื่อนท่าซาง เขื่อนเว่ยจี เขื่อนฮัตจี และเขื่อนตากวิน โดยเขื่อนท่าซาง อยู่ในรัฐฉาน ส่วนอีก 3 เขื่อนอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ข้อตกลงล่าสุดได้เน้นความสำคัญที่โครงการเขื่อนฮัตจี ซึ่งเป็นเขื่อนที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยมากที่สุดทางบริเวณบ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

เขื่อนทั้งหมดจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 15,000-20,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมากกว่า 10 เท่าของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้โดยพม่าในปัจจุบัน โดยกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตได้จะถูกส่งไปที่ประเทศไทย ซึ่งมีแผนจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 40,000 เมกะวัตต์ในปี 2558

หลังจากการลงนาม MOU นายไกรสีห์ กรรณสูตร ผู้ว่าการ กฟผ.บอกว่า เขื่อนแห่งนี้จะ “ให้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” เนื่องจาก “ราชอาณาจักรไทยก็จะได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก ส่วนพม่าก็จะมีรายได้ตามที่ต้องการ” นอกจากนั้น เขายังกล่าวอีกว่า ไฟฟ้าเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสายส่งอาเซียน (Asian’s power grid)

ทั้งคำพูดของผู้ว่าการ กฟผ.ทั้งคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ออกมาย้ำว่า โครงการนี้ “จะให้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” โดยไม่คำนึงถึงว่า “รายได้ที่จำเป็นอย่างยิ่งก้อนนี้” จะตกไปอยู่ในมือของรัฐบาลทหารพม่าที่โหดร้าย

รัฐบาลจากหลายประเทศ (โดยเฉพาะไทยและจีน) สถาบันการเงิน โดยเฉพาะการส่งเสริมโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย) และบริษัทต่าง ๆ ทั้ง บมจ.กฟผ.จำกัด, บมจ.MDX จำกัด ของไทย และษริษัทไซโนไฮโดรคอร์ปอเรชั่นของจีน ต่างมุ่งจะมีส่วนแบ่งในโครงการนี้ ผู้มีบทบาทเหล่านี้และคนอื่น ๆ ที่จะเข้าร่วมในโครงการกำลังและจะต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลทหารพม่า นั่นเท่ากับว่า พวกเขามีส่วนหนุนเสริมการละเมิดสิทธิและอาชญากรรมที่รัฐบาลทหารพม่าทำ ในช่วงที่มีการดำเนินการงานตามโครงการ

โต้ กฟผ.คาดการเกินจริง ลงทุนเกินจริง

ทั้งนี้ นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ กล่าวว่า ที่ทาง กฟผ.ออกมาพูดว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.พ.ศ.2547-2558 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานในขณะนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง ไม่พิจารณาทางเลือกที่ถูกกว่า หรือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่น้อยกว่า อีกทั้งยังต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมากเกินความจำเป็น

“กฟผ.มีความคิดใหญ่ทั้งระบบ พยายามจะเพิ่มกำลังผลิตอยู่ตลอดเวลา โดยมีบริษัทลูก เป็นระบบผูกขาด และพยายามสร้างแรงจูงใจ สร้างอำนาจการต่อรอง เพื่อให้รัฐยอมให้ กฟผ.สามารถคิดคำนวณค่าไฟเอง เพราะว่ายิ่งลงทุนมาก ก็จะได้กำไรมากเท่านั้น ด้วยการการเก็บค่าไฟที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้น นี่เป็นภาระใหญ่ ไม่ใช่แค่คนแม่ฮ่องสอน แต่เป็นภาระของคนทั้งประเทศ และที่ผู้บริหาร กฟผ.พยายามต้องการจะเอา กฟผ.ไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสุดท้าย ความเสียสละของคนแม่ฮ่องสอน คงจะไปตกอยู่กับผู้ถือหุ้นเพียงไม่กี่ราย

ซึ่งกลุ่มสาละวินวอชส์ ออกแถลงการณ์โต้ว่า ที่รัฐบาลไทยอ้างว่าการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านทำให้ได้ไฟฟ้า “ราคาถูก” ถือว่า เป็นการมองข้ามต้นทุนที่แท้จริงทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า ลาว และประเทศอื่น ๆ ดังกรณีการสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 ขนาด 1,070 เมกะวัตต์ ในประเทศลาว ทั้ง ๆ ที่มีการทักท้วงว่าจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากมาย

นายวิฑูรย์ สรุปเอาไว้ว่า ที่ กฟผ.กล่าวอ้างถึงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ หรือเขื่อนสาละวิน แล้วจะทำให้ไทยได้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูกนั้น เป็นการคาดการเกินจริง มีการลงทุนเกินจริง ซึ่งจะทำให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้นและถือว่าเป็นการส่งเสริมทิศทางที่ผิดตลอดเวลา ดังนั้น จึงขอให้มีการทบทวนแผนดังกล่าว และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

จากความคลางแคลงใจข้างต้น จึงได้มีการจัดเวทีเรื่อง “คุณค่าสาละวิน” โดยทางผู้จัดได้มีการพาสำรวจพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนสาละวินในเขตพื้นที่ของ จ.แม่ฮ่องสอน

เนื่องจากว่า โครงการเขื่อนสาละวิน นั้นประกอบด้วย เขื่อนฮัตจี เขื่อนท่าซาง เขื่อนดากวิน(เขื่อนสาละวินล่างชายแดน) และเขื่อนเว่ยจี(สาละวินบนชายแดน) ซึ่งในส่วนเขื่อนสาละวินบนชายแดนนั้น ยังประกอบด้วยเขื่อนในลุ่มแม่น้ำปาย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน คือ เขื่อนปายชายแดน บริเวณบ้านน้ำเพียงดิน และเขื่อนปาย 6 บริเวณบ้านปางหมู

นั่นหมายความว่า การสร้างเขื่อนสาละวินในเขตพื้นที่ของพม่า นอกจากประชาชนในฝั่งพม่าจะได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วมแล้ว ในฝั่งไทยย่อมได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน

ในเวทีได้มีการนำเสนอข้อมูลการสร้างเขื่อนฮัตจี จากแต่เดิมจะมีขอบเขตอ่างเก็บน้ำที่มีระดับความสูงของเขื่อน 41 เมตร และได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การทำ MOU เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2547 ได้มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิต ติดตั้งเป็น 600 เมกกะวัตต์ และการทำ MOU เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2548 ได้มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็น 800-2,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้เขื่อนฮัตจีมีความสูงของเขื่อนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่การรายงานที่ชัดเจนในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเขื่อนประเภทเดียวกันที่กั้นแม่น้ำโขง คือ เขื่อนมานวาล ซึ่งเป็นเขื่อนขนาด 1,500 เมกกะวัตต์ นั้นมีความสูงของเขื่อนถึง 126 เมตร นั่นเท่ากับว่า หากมีการสร้างเขื่อนฮัตจี ก็จะยิ่งขยายพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างมากขึ้นทั้งในฝั่งไทยและฝั่งพม่า

นอกจากนั้น ได้มีการศึกษาผลกระทบของการสร้างเขื่อนเว่ยจี (สาละวินบน) ว่าผลของการสร้างเขื่อนเว่ยจี ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ทางด้าน อ.แม่สะเรียง จะส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำจากแม่น้ำสาละวินทะลักหนุนเข้าท่วมขึ้นมาทางตอนท้ายของแม่น้ำปาย ในเขต อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอนเป็นวงกว้าง ตั้งแต่บริเวณบ้านน้ำเพียงดิน ยาวขึ้นไปถึงบริเวณท่าโป่งแดง

คนแม่ฮ่องสอนลุกจี้ ทำ EIA ก่อนสร้างเขื่อนสาละวิน

ซึ่งจากการเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ ได้ทำให้ประชาชนใน จ.แม่ฮ่องสอน เริ่มตื่นตัวที่จะต้องได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสาละวิน

นายไชยา สะสมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วงปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จากการที่ได้รับฟังข้อมูลแล้ว เห็นว่า การสร้างเขื่อนสาละวินนั้นกระทบต่อคน พืช สัตว์ รวมไปถึงดิน น้ำ ป่าในเขตลุ่มน้ำสาละวินอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งชาวบ้านไม่มีใครรู้มาก่อน เพราะว่าที่ผ่านมา การดำเนินโครงการของรัฐมักมีการบิดเบือน และไม่เป็นธรรม ดังนั้น จึงขอให้มีการศึกษา EIA เสียก่อน ก่อนจะทำการสร้างเขื่อน

หวั่นคนฝั่งพม่าทะลักหนีภัยน้ำท่วมเข้าฝั่งไทยนับแสน

จากรายงานผลกระทบด้านสังคมและความมั่นคงในชีวิตของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายแดนไทย-พม่า ของ “มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ” ระบุว่า ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายแดนไทย-พม่า แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่อยู่อาศัยในเขตแดนไทย และกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตแดนพม่า ซึ่งมีสถานภาพแตกต่างกันไป

โดยกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตแดนไทย มีทั้งผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า ผู้พลัดถิ่นลี้ภัยจากการสู้รบ กลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน ผู้คงค้างจากการเดินทางเข้าเมืองโดยมีเอกสารการเดินทางถูกต้อง รวมทั้งผู้อพยพที่ลักลอบเข้ามาทำงาน ซึ่งประมาณว่ามีจำนวนผู้อพยพทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์อพยพตลอดแนวชายแดน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแม่ฮ่องสอน รวม 5 แห่ง มีผู้อพยพอาศัยอยู่ในค่ายประมาณเกือบ 5 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นผู้พลัดถิ่นลี้ภัยจากการสู้รบ และยังมีชนกลุ่มน้อยจากรัฐฉาน ได้เข้ามาอาศัยตามเขตแดนไทย-พม่า ในเขต จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย อีกหลายหมื่นคน แต่รัฐบาลไทยไม่มีนโยบายเปิดศูนย์อพยพเพิ่มเติมในปัจจุบัน ชนกลุ่มน้อยจากรัฐฉานเหล่านี้จำต้องอาศัยหลบซ่อนอยู่ตามแนวชายแดน

รายงานระบุอีกว่า หากมีการสร้างเขื่อนสาละวิน ซึ่งจะเกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เข้าท่วมพื้นราบและที่ดอนริมแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสาขา ทั้งในเขตไทยและพม่า และจะส่งผลทำให้ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาในเขตไทย ทั้งที่อยู่ในศูนย์อพยพและนอกศูนย์อพยพ ไม่สามารถอพยพกลับไปตั้งถิ่นฐานทำกินในประเทศพม่าได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ชนกลุ่มน้อยอีกจำนวนหนึ่งในประเทศพม่า ก็อาจจะต้องหนีภัยจากการสร้างเขื่อน เนื่องจากที่ตั้งถิ่นฐานทำกินต้องกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ และอาจจะอพยพเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นภาระที่หนักต่อทางราชการไทยในการดูแลผู้อพยพเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบัน ปัญหาด้านสุขภาพก็ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้อพยพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อหลายชนิด ซึ่งอาจจะมีการแพร่ระบาดได้อีก เช่น โรคมาลาเรีย โรควัณโรค โรคเท้าช้าง โรคไข้กาฬหลังแอ่น กาฬโรค เป็นต้น

นอกจากนั้น จากรายงานเกี่ยวกับเขื่อนท่าซาง ขององค์กร Earth Rights International 2000-2002 ก็ได้ระบุว่า การสร้างเขื่อนท่าซางนั้น จะต้องมีการอพยพย้ายถิ่นฐานมากถึง 300,000 คน และจะทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สร้างเขื่อนนั้นรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากโครงการเขื่อนท่าซาง จะกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาลพม่าในการปราบปรามและควบคุมชนกลุ่มน้อยในรัฐฉาน

เผยข้อมูลคนในพม่าถูกคุกคามจากเขื่อน กว่า 5 แสนคน

จากข้อมูลล่าสุดของ Thailand Burma Border Consortium ได้ออกเอกสารเรื่อง Internal displacement and protection in Eastern Burma ในเดือนตุลาคม 2548 ได้ชี้ให้เห็นภาพรวมของความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของปัญหาผู้อพยพพลัดถิ่นในพม่า เพิ่มขึ้นจาก 526,000 คนในปี 2547 เป็น 540,000 คนในปี 2548 เป็นตัวเลขที่ประมาณการได้เฉพาะในรัฐฉานตอนใต้, รัฐคะเรนนี, รัฐเปกูตะวันออก, รัฐกะเหรี่ยง, รัฐมอญ และรัฐตะนาวศรี ของประเทศพม่า

และปัจจัยคุกคามสำคัญประการหนึ่งที่มีต่อผู้คนกลุ่มนี้ คือ แผนการสร้างเขื่อนสาละวินทั้งหมด ซึ่งเรายังไม่อาจประเมินได้ว่า หากมีการสร้างเขื่อนสาละวินและเขื่อนตะนาวศรีแล้ว จะมีผู้อพยพจากประเทศพม่าถูกกดดันให้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมากเท่าใด ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง ที่รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับรัฐบาลพม่ากระทำต่อชนกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ ในนามของการพัฒนาประเทศ หลังจากที่เคยทำไว้ในโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า

กก.สิทธิฯ ชี้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ไร้พรมแดน จี้รัฐคำนึงถึงหลักสิทธิ-การมีส่วนร่วมในโครงการ

อย่างไรก็ตาม นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกมาย้ำว่า การที่รัฐจะดำเนินโครงการใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐนั้น จะต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ว่าในมาตรา 58, 59 และ 60 ในเรื่องของกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่ว่าในเรื่องของเสรีภาพทางวิชาการ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ ที่ระบุไว้ชัดว่า รัฐต้องเปิดเผยให้ข้อมูลในทุกด้าน และที่สำคัญ ก่อนจะดำเนินการใด ของหน่วยงานรัฐจะต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ให้ชัดเจนก่อน เพราะว่าปัญหาการสร้างเขื่อนนั้นเป็นปัญหาที่ครอบคลุมไปทุกลำน้ำ และเป็นสิทธิของชาวบ้านที่จะต้องออกมาเรียกร้อง หากว่าชุมชนต่าง ๆ ต้องล่มจมน้ำ และเกิดการอพยพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไทยระยะยาว

“นอกจากนั้น รัฐไทยยังมีพันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งในเรื่องปฏิญญาสากล อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และเชื้อชาติทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น หน่วยงานรัฐจะต้องปฏิบัติตามนั้น เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ไร้พรมแดน ดังนั้น เราคงจะต้องย้อนกลับไปดูโครงการที่ผ่านมา เช่น โครงการท่อก๊าซไทย-พม่า ที่ไทยไปร่วมลงทุนด้วย ซึ่งกลับดูเหมือนว่าเราไปสนับสนุนนโยบายทหารพม่าให้ปราบปรามชนกลุ่มน้อย เพื่อเปิดทางให้ทหารพม่าเข้ามาสู้รบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย จนทำให้ประชาชนฝั่งพม่าต้องทะลักเข้ามาฝั่งไทยเป็นจำนวนมากหรือไม่”

ชี้เขื่อน คือตัวกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหว

ในขณะที่ ดร.ปริญญา นุตาลัย ได้พูดถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเอาไว้ ตะกอนทับถมเหนือเขื่อน ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง เกิดน้ำท่วมต้องสูญเสียพื้นที่ที่เกิดจากน้ำท่วม ทำให้ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย ผู้คนถูกอพยพ รวมทั้ง เขื่อน ยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหว เพราะว่าการกักเก็บน้ำเกิน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จะมีส่วนทำให้เกิดแผ่นดินไหว

“ถ้าถามว่าการสร้างเขื่อนสาละวินมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวไหม ก็เสี่ยง เนื่องจากว่าบริเวณแถบนั้นมีแนวเลื่อนใหญ่ขยายเป็นแนวยาวเป็น 100 กิโลเมตร และแนวเลื่อนแผ่นดินไหวยังอยู่กระจายไปทั่วตั้งแต่ชายแดนไทยทางทิศตะวันตก ตั้งแต่ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรีขึ้นไปจนถึงทางตอนเหนือตองจิ ของพม่า นี่ยังไม่ได้พูดรอยเลื่อนในไทยนะ” ดร.ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านธรณีวิทยาท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ตำแหน่งที่สร้างเขื่อนสาละวินทั้ง 4 เขื่อน อาจวางอยู่บนหรือใกล้รอยเลื่อนที่ยังคงมีพลัง เช่น รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนแม่สะเรียง ดังนั้น การศึกษาต้องค้นให้ได้ว่า ครั้งสุดท้ายที่เคยเกิดแผ่นดินไหว มันเกิดขึ้นมานานแล้วกี่ปี ในขณะที่ในพื้นที่ที่มีร่องรอยของการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ ซึ่งยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่า รอยเลื่อนที่ไหวขนาด 7 ริกเตอร์ เกิดขึ้นเมื่อกี่ปีมาแล้ว


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง