รายงานปลาและระบบนิเวศน์แม่น้ำมูนบริเวณปากมูลภายหลังการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
วิธีการศึกษา
การสำรวจชนิดพันธุ์ปลาในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากประตูเขื่อนปากมูลปิดไปแล้วประมาณ 2 เดือน คือสำรวจในช่วงวันที่ 21-27 ธันวาคม 2543 และ 4-8 มกราคม 2544 ) โดยได้สำรวจใน 4 หมู่บ้าน ซึ่งเลือกมาเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนปากมูล นั้นคือ บ้านท่าค้อใต้ (ตอนบน) ต.โพธิ์ศรี อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี บ้านคำนกหอ (ตอนกลาง) ต.คำเขื่อนแก้ว อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี บ้านหัวเห่ว (ตอนปลาย) ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และบ้านท่าแพ ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านท้ายเขื่อน
วิธีการสำรวจในครั้งนี้ คณะผู้ศึกษาใช้วิธีการสำรวจจากการเฝ้าประจำในท่าปลาของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งทำให้นอกจากได้ข้อมูล เรื่องชนิดปลา (และได้ถ่ายรูปชนิดพันธุ์ปลาไว้ดังในภาคผนวก) แล้ว ยังทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวประมง อาทิเช่น สามารถทราบจำนวนชาวประมง จำนวนปลาที่ชาวบ้านจับได้ในแต่ละวัน และเครื่องมือที่ชาวบ้านใช้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วิธีการสำรวจเช่นนี้ในระยะแรกก็จะทราบแต่เพียงปลาที่ชาวบ้านต้องการเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาเศรษฐกิจ ต่อมาได้แก้ไข ด้วยการแจ้งให้ชาวประมงทราบและขอความร่วมมือ ซึ่งชาวประมงก็ให้ความร่วมมือในการจับปลาที่ไม่ใช่ปลาเศรษฐกิจ ดังนั้นข้อมูลชนิดพันธุ์ปลาที่พบ ในครั้งนี้จึงน่าจะน้อยกว่าที่มีอยู่จริง แต่ก็เพียงพอที่จะสรุปผลจากการเปิดประตูเขื่อนปากมูล
จำนวนชนิดพันธุ์ปลาที่ระบุในรายงานนี้ยังได้รวมพันธุ์ปลา 20 ชนิด ที่สถาบันเสมสิกขาลัย บันทึกว่าชาวบ้านจับได้ในช่วง เดือนสิงหาคมซึ่ง เป็นช่วงเวลาที่เปิดประตูเขื่อน โดยคณะผู้ศึกษาได้ตัดรายชื่อที่ซ้ำกันออกไปและนำข้อมูลไปตรวจสอบอีกครั้งจาก พรานปลาในการสัมมนาพรานปลา ปากมูลวันที่ 16 มกราคม 2544
ผลการศึกษา
จากการสำรวจพบว่า ภายหลังการเปิดประตูเขื่อนปากมูลพบชนิดพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ(ตัดชนิดปลาที่มีการ ผสมพันธุ์และนำ ไปปล่อยแล้ว) บริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อน 93 ชนิด (ดูรายชื่อในตารางที่ 1) เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีการศึกษาก่อนหน้านี้ (ตารางที่ 2) พบว่า มีปลาเพิ่มขึ้น 57 ชนิด เมื่อเทียบกับในช่วงที่เปิดประตูเขื่อน (เปรียบเทียบกับผลประสิทธิ์และคณะ (1997) และชวลิต วิทยานนท์ (1999) ใน World Commission on Dams (2000))
ในจำนวนปลา 93 ชนิดที่สำรวจพบนั้น เป็นพันธุ์ปลาที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนว่าพบในแม่น้ำมูนถึง 5 ชนิด ที่เหลือเป็นพันธุ์ ปลา ชนิดที่เคยพบ ในแม่น้ำมูนก่อนการสร้างเขื่อนปากมูล (เปรียบเทียบกับผลประสิทธิ์และคณะ (1997) และชวลิต วิทยานนท์ (1999) ใน World Commission on Dams (2000))
จากการศึกษายังพบอีกว่า ในจำนวนพันธุ์ปลา 93 ชนิดที่สำรวจพบนั้น มีเพียง 10 ชนิดเท่านั้นที่ข้ามบันไดปลาโจนในช่วง ที่มีการปิดประตู เขื่อน [2] ที่เหลือ 85 ชนิดเป็นชนิดปลาที่ไม่ปรากฏว่าเคยผ่านบันไดปลาโจน (เปรียบเทียบกับ World Commission on Dams, 2000) (ดูตารางที่ 2) ชนิดปลา ที่ชาวบ้านจับได้มากที่สุดก็คือ ปลาอีตู๋ ปลาอีก่ำ ปลาจอก ปลาโจก ปลาปึ่ง ปลานกเขา ปลาสะกาง ปลานาง ปลาน้ำเงิน ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ และเป็น ปลาเศรษฐกิจที่ชาวบ้านเคยจับได้ก่อนที่จะสร้างเขื่อนปากมูล
| |
ในจำนวนปลาที่สำรวจพบ 93 ชนิด เป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำและเป็นปลาอพยพถึง 44 ชนิดด้วยกัน และใน 44 ชนิดนี้ เป็นปลาที่ไม่ สามารถอพยพผ่านบันไดปลาโจนของเขื่อนปากมูลแม้แต่ชนิดเดียว
ข้อมูลข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าเขื่อนปากมูลคือตัวการสำคัญที่ขัดขวางการอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงโดยที่บันไดปลาโจนก็ ไม่สามารถ แก้ปัญหา นี้ได้ และการเปิดประตูเขื่อนทำให้ชนิดพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูนกลับคืนมาอีกครั้ง
การศึกษายังชี้ให้เห็นว่า การเปิดประตูเขื่อนครั้งนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะนอก จากพบปลาชนิด ใหม่ 5 ชนิดแล้ว ยังพบว่าในจำนวน 93 ชนิดที่สำรวจพบนั้น เป็นปลาที่อยู่ในบัญชีรายชื่อปลาใกล้สูญพันธุ์ของ สหพันธ ์เพื่อการอนุรักษ์นานาชาติ (IUCN) ถึง 3 ชนิด คือ ปลาตองลาย(ปลาตอง) ปลาสังกะวาดขาว (ปลายอน) และปลาเทพา(ปลาเลิม) และเป็น ปลาที่อยู่ในบัญชีรายชื่อปลาใกล้สูญพันธุ์ของ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.2539) ถึง 9 ชนิดด้วยกัน คือ ปลาตองลาย ปลาหมากผาง ปลาแมวหูดำ ปลาบ้า(ปลาโพง) ปลาเอินคางมุม ปลานวลจันทร์น้ำจืด(ปลาพร) ปลาหมูครีบแดง ปลาแขยงธง และ ปลาน้ำเงิน
การเปิดประตูเขื่อนปากมูลทำให้ชาวบ้านหันมาประกอบอาชีพประมงอีกครั้ง การสำรวจพบว่า ในช่วงเปิดประตูเขื่อนปากมูล 2 เดือน จำนวนชาวประมงในแต่ละหมู่บ้านที่จับปลาในแต่ละวันประมาณ 50 คน ในจำนวนนี้มีผู้ชายเป็นหลัก ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายนำปลามา ขายที่ตลาด และเด็กจะ ช่วยผู้ใหญ่จับปลา และใช้เครื่องมือหลักคือเครื่องมือพื้นบ้านได้แก่ มองตาใหญ่ ลาน และเบ็ดราว เนื่องจากค่าใช้จ่าย น้อย และชาวบ้านเองก็ไม่แน่ใจว่า จะมีปลาให้จับ
ในแต่ละหมู่บ้านที่ศึกษาสามารถจับปลาได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 200 กิโลกรัม เมื่อนำมาเฉลี่ยกับจำนวนชาวประมงทั้ง 4 หมู่บ้าน พบว่า ชาวประมง 1 คน จับปลาได้ประมาณวันละ 5 กิโลกรัม ซึ่งมากที่สุดในรอบ 10 ปีหลังการก่อสร้างเขื่อนปากมูล นอกจากปริมาณ ปลาที่จับได้เพิ่มขึ้นแล้ว ในแต่ละวันที่ลงจับปลา ชาวบ้านแต่ละคนจับปลาได้หลากหลายชนิดพันธ์ โดยเฉลี่ยในแต่ละวันจับปลาได้ถึง 20 ชนิด ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีการจับปลาได้ หลากหลายเช่นนี้ภายหลังการสร้างเขื่อน
หลังปิดประตูเขื่อนปากมูล ปรากฏว่า ปริมาณและชนิดพันธุ์ปลาที่ชาวบ้านจับได้ลดลง ในช่วงสองเดือนหลังปิดประตูเขื่อน ปากมูลแต่ละ หมู่บ้านจับปลาได้เฉลี่ยวันละ 50 กิโลกรัม และความหลากหลายจะลดประมาณครึ่งหนึ่ง สามเดือนหลังปิดประตูเขื่อน (เดือนมกราคม) ชาวบ้านจับปลา ได้น้อยลงทั้งจำนวนและชนิดพันธ์ปลา คือหมู่บ้านละประมาณ 30 กิโลกรัม และชนิดพันธุ์ปลาที่จับได้ใน แต่ละวันก็ลดลงเฉลี่ยเพียง 5 ชนิด
ในประมาณกลางเดือนมกราคมจำนวนปลาในแม่น้ำมูนได้ลดลงอย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับการลดลงของจำนวนชาวประมง แต่ชาวบ้านส่วน หนึ่งก็ยังคงจับปลาเพื่อการบริโภคในครัวเรือนต่อไปซึ่งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้พอสมควร
เป็นที่ชัดเจนว่า การลดลงของปลานี้ก็เนื่องมาระบบนิเวศน์แม่น้ำเสื่อมสภาพหลังการสร้างเขื่อน จากการสำรวจพบว่า แก่งที่โผล่เหนือน้ำ ได้แก่ แก่งคำพวง แก่งคันพ่อทา ดอนห่อข้าว แก่งสะพือ มีตะกอนดินและทรายทับถมอุดตันเพราะการกักเก็บน้ำของเขื่อนปากมูล ขณะที่ป่าบุ่งป่าทามถูกทำลายหมด อันเนื่องมาจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนปากมูล ทำให้ปลาต้องอพยพขึ้นไปทางตอนบนที่สภาพแม่น้ำ อุดมสมบูรณ์กว่า ดังปรากฏว่าในช่วงสองถึงสาม เดือนหลังการปิดประตูน้ำ ชาวบ้านแถบ อ.ตาลสุม อ.สว่างวีระวงศ์ อ.วารินชำราบ และ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สามารถจับปลาได้มากกว่าชาวบ้าน บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากมูล
| ปลาตองลาย(ปลากราย) หนึ่งในปลาที่อยู่ในบัญชีรายชื่อปลาใกล้สูญพันธุ์ของ สหพันธ ์เพื่อการอนุรักษ์นานาชาติ (IUCN) |