แถลงการณ์ร่วม องค์กรนักวิชาการ องค์กรประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน กรณีโครงการเขื่อนและผันน้ำสาละวิน
สืบเนื่องจากขณะนี้ได้มีการรื้อฟื้นโครงการสร้างเขื่อนในเขตลุ่มน้ำสาละวินและโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินลงสู่ลุ่มเจ้าพระยา ดังที่ได้มีการเข้าสำรวจเขื่อนของบริษัทต่างๆ และการที่คณะรัฐมนตรีของไทยจะอนุมัติงบประมาณจำนวน 185 ล้านบาทเพื่อศึกษาโครงการผันน้ำสาละวิน-ภูมิพล
องค์กรนักวิชาการ องค์กรประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชนที่รับรองแถลงการณ์นี้มีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของหน่วยงานสร้างเขื่อนของรัฐบาลไทยไม่มีความชอบธรรม ด้วยเหตุผลดังนี้:
ประการแรก การกล่าวอ้างว่าโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มเจ้าพระยานั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่ชอบธรรม เนื่องจากในปัจจุบันสังคมไทยยังมีข้อสงสัยว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มเจ้าพระยาน่าจะเกิดมาจากความผิดพลาดในการบริหารและจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ที่รวมศูนย์อยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การขาดแคลนน้ำในลุ่มเจ้าพระยายังอาจจะเกี่ยวข้องกับการนำน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อมิให้กระทบต่อกำไรของ กฟผ. ที่สำคัญก็คือ ปัจจุบันได้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่กระทบต่อ กฟผ. โดยตรง ดังนั้นสถานการณ์การขาดแคลนน้ำจึงมิได้เกิดจากภัยแล้งธรรมดา แต่อาจจะมีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดการขาดแคลนน้ำในเขื่อนทั้งสองขึ้นเพื่อจะได้นำไปเป็นข้ออ้างในการดำเนินการสร้างเขื่อนและผันน้ำสาละวินรวมทั้งการผันน้ำโขง ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนและรัฐบาลไทยมิเคยค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและมิเคยแสวงหาทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหานอกจากต้องการสร้างโครงการขนาดใหญ่เพียงประการเดียว
ประการที่สอง โครงการเขื่อนและผันน้ำสาละวินเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เกิดจากแรงผลักดันของกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่ต้องการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำของญี่ปุ่นโดยใช้ไทยเป็นฐาน เพราะโครงการนี้หากมีการดำเนินโครงการเต็มรูปแบบจะทำให้มีการลงทุนถึง 500,000-1,000,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อแน่ว่ารัฐบาลไทยไม่มีความสามารถที่จะดำเนินได้โดยลำพังเนื่องจากวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงิน อีกทั้งยังปรากฏว่าที่ผ่านมาผู้ที่มีบทบาทหลักในโครงการนี้คือกลุ่มทุนอุตสาหกรรมสร้างเขื่อนจากญี่ปุ่นที่เข้าศึกษาโครงการมาโดยตลอด และยังมีแนวโน้มว่าหากมีการดำเนินโครงการจริงญี่ปุ่นจะเป็นแหล่งเงินกู้หลักทั้งจากแผนมิยาซาว่าและในรูปของโครงการให้ความช่วยเหลือเงินกู้อื่น ซึ่งในที่สุดผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือกลุ่มทุนอุตสาหกรรมสร้างเขื่อนของญี่ปุ่นที่จะมีงานทำจากการรับเหมาก่อสร้างและขายอุปกรณ์แก่โครงการ
โครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำสาละวินจึงสะท้อนให้เห็นถึงการฮั้วกันระหว่างทุนข้ามชาติ ทุนในประเทศไทย และหน่วยงานสร้างเขื่อนของไทย ในสถานการณ์ที่ทุนนิยมโลกกำลังเข้ายึดครองประเทศโลกที่สาม ดังที่กำลังเกิดขึ้นในกรณีเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของ IMF
ประการที่สาม การดำเนินโครงการดังกล่าวจะทำลายระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำสาละวินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และของโลกทั้งความหลายหลากทางชีวภาพป่าเขตร้อน ระบบนิเวศแม่น้ำ และระบบธรรมชาติอื่น ๆ ผลกระทบนี้มิเพียงแต่จะกระทบต่อประชาชนในลุ่มน้ำสาละวินและแม่น้ำสาขาเท่านั้น แต่ยังจะกระทบต่อประชาชนโดยส่วนใหญ่บนผืนแผ่นดินทั้งอนุทวีปอุษาคเนย์ ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมให้วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ดังเช่น ปัญหาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น
ประการที่สี่ โครงการเขื่อนและผันน้ำสาละวินจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามมาอย่างมหาศาล ดังปรากฏว่าที่ผ่านมา การดำเนินโครงการดังกล่าวมิได้กล่าวถึงผลกระทบต่อประชาชนเหล่านี้แต่ประการใด จนดูเสมือนว่าลุ่มน้ำสาละวินมิได้มีประชาชนมากมาย มีแต่เพียงชนกลุ่มน้อยเท่านั้น ขณะที่ในความเป็นจริงลุ่มน้ำสาละวินมีประชาชนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนจาก 13 เผ่าที่ดำรงชีวิตและอาศัยทรัพยากรธรรมชาติตลอดลำน้ำสาละวินและแม่น้ำสาขา ที่มีสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่ผ่านมาประชาชนเหล่านี้มิเคยได้รับข้อมูลข่าวสารใด ๆ และเชื่อแน่ว่าจะไม่มีส่วนในการตัดสินใจใดในอนาคต
การดำเนินโครงการดังกล่าวเชื่อแน่ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อชุมชนและสังคมในเขตลุ่มน้ำสาละวินและแม่น้ำสาขาตามมาอย่างมหาศาลยิ่งกว่าโครงการท่อส่งก๊าซยาดานานับร้อย ๆ เท่า เนื่องจากต้องมีการบีบบังคับให้ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพทิ้งถิ่นฐาน การทำลายสภาพแวดล้อมยังจะทำให้ประชาชนจำนวนมหาศาลไม่สามารถดำรงชีวิตตามแบบดั้งเดิมได้ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าประชาชนเหล่านี้ได้เผชิญกับภาวะสงครามที่ต้องต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระจากเผด็จการทหารพม่ามาโดยตลอด ดังนั้นประชาชนผู้จะได้รับผลกระทบเหล่านี้จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องอพยพเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาที่ต่อเนื่องตามมามากมายยิ่งกว่าการอพยพจากสงคราม เช่น การก่อให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงต่อประเทศไทย เป็นต้น
ด้วยเหตุที่สาธารณชนและประชาชนในเขตลุ่มแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสาขามีสิทธิพื้นฐานอันชอบธรรมที่จะปกป้องวิถีชีวิตและทรัพยากรบนลุ่มน้ำสาละวินและแม่น้ำสาขา ดังนั้นองค์กรที่ลงนามในท้ายแถลงการณ์นี้จึงขอเรียกร้องดังนี้
- ขอเรียกร้องต่อสังคมไทยและสังคมโลกร่วมมือกันผลักดันดังนี้คือ:
1.1 ร่วมกันคัดค้านรัฐบาลทหารพม่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานสร้างเขื่อนของรัฐไทย บริษัทเอกชนสร้างเขื่อนของไทย บรรษัทสร้างเขื่อนข้ามชาติจากญี่ปุ่น และรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ร่วมมือกันผลักดันโครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำสาละวิน
1.2 กดดันให้องค์กรระหว่างประเทศเช่น องค์การสหประชาชาติ และองค์กรการเงินระหว่างประเทศเช่น ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาแห่งเอเซีย ยุติการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการสนับสนุนโครงการดังกล่าว
- ขอเรียกร้องต่อสังคมไทยให้กดดันคณะรัฐมนตรีของไทยทบทวนการอนุมัติงบประมาณในการศึกษาโครงการเขื่อนและผันน้ำสาละวินที่ได้อนุมัติไปแล้ว และขอให้ระงับการอนุมัติงบประมาณในการศึกษาความเหมาะสมโครงการเขื่อนและผันน้ำสาละวินเพิ่มเติมในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้
- องค์กรที่รับรองแถลงการณ์นี้ขอยืนยันว่าเราเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มเจ้าพระยาที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อพี่น้องชาวนาและประชาชนในลุ่มเจ้าพระยา แต่เนื่องจากสาเหตุที่มาของปัญหานี้มีเบื้องหลังดังได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นเราจึงขอเรียกร้องให้สังคมไทยช่วยกันผลักดันให้มีการตรวจสอบถึงสาเหตุและเบื้องหลังของการขาดแคลนน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ และผลักดันให้หน่วยงานของรัฐหาวิธีการและยอมรับทางเลือกอื่น ๆ ที่เหมาะสมในการจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรมสำหรับกลุ่มต่าง ๆ ในลุ่มเจ้าพระยาอย่างแท้จริง มิใช่ฉวยโอกาสสถานการณ์การขาดแคลนน้ำในเขื่อนทั้งสองมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ดังที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
รับรองโดย:
- Burma Release Center
- Images Asia
- Kareni Evergreen
- Shan Herald Agency for News
- Shan Human Rights Foundation
- Shan Democratic Union
- Shan State Organization
- South East Asia River Network (Thailand Chapter)
- The Monks of Shan
- The Shan Youth Network Group
- The Syam Students' Federation
- United Front of the People of the Salween
- กลุ่มเพื่อประชาชน
- คณะกรรมการเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย
- คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) 68 องค์กร
- โครงการพัฒนาลุ่มน้ำภาคเหนือ
- เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ
- เครือข่ายชาวบ้านฮักป่าแม่ฮ่องสอน
- เครือข่ายประชาชนเพื่อการปกป้องแม่น้ำ
- เครือข่ายประชาชนภาคเหนือตอนบนเพื่อรัฐธรรมนูญ
- มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
- มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
- มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
- สมัชชาคนจน
- สมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน
- สมาคมสร้างสรรชีวิตและสิ่งแวดล้อม เชียงราย
- ศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- องค์กรชาวบ้านพิทักษ์ลำน้ำแม่ละเมา
- องค์กรประสานและสนับสนุนเครือข่ายงานพัฒนาชาวเขา