เอ็นจีโอเหนือจวก"สมัคร"หนุนเขื่อน ตัดตอนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่บ้านธารแก้ว มหาวิทยาลัยพายัพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) จัดเสวนาความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในกระบวนการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ในภาคเหนือ กรณีโครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น และโครงการเขื่อนสาละวิน โดยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเคารพสิทธิชุมชน สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน และสร้างธรรมาภิบาลในโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่พยายามเร่งผลักดันถือเป็นการทำลายหลักการบริหารแผ่นดิน ชี้นำให้หน่วยงานราชการละเลยการปฏิบัติตามกรอบกฎหมายและกฎระเบียบ
"นายกรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล ที่ต้องใช้เงินลงทุน 43,898 ล้านบาท โดยยังไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ โดยเฉพาะรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อประชาชนที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา โครงการเขื่อนสาละวินซึ่งลงทุนโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทยถูกวิจารณ์ว่าละเมิด สิทธิมนุษยชนในพม่าอย่างรุนแรง ซึ่งไทยผู้รับซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ไม่รับรู้ผลกระทบวิถีชีวิตชุมชนในบริเวณก่อสร้าง ส่วนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นระบุชัดว่าเป็นการลงทุนไม่คุ้มค่า ที่สำคัญยังมีปัญหาที่หาข้อยุติไม่ได้คือระบบนิเวศป่าไม้สัตว์ป่า พื้นที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบ สาธารณสุข และการเกิดแผ่นดินไหว การกระทำของนายสมัครเท่ากับเป็นการตัดตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนและที่สำคัญตัดตอนกระบวนการทางกฎหมายไปด้วยเช่นกัน"
น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ จากโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า โครงการผันน้ำยวมตอนล่าง-เขื่อนภูมิพล จะส่งผลกระทบเบื้องต้นกับพื้นที่ป่าสำหรับสร้างอ่างเก็บน้ำ ถนนเข้าออก พื้นที่ทิ้งดินและหินจากอุโมงค์ ซึ่งเป็นทั้งป่าลุ่มน้ำชั้น 1A และชั้น 1B รวมทั้งป่าอนุรักษ์กว่า 3,173.87 ไร่ และยังต้องเสียป่าเพื่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอีก 11,459 ไร่ หรือเท่ากับสูญเสียพื้นที่ซับคาร์บอนไดออกไซด์ 30,000 ตัน ไม่รวมผลกระทบที่จะตกกับชุมชน 14 หมู่บ้าน ของ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงใหม่ ในขณะที่โครงการก่อสร้างเขื่อนสาละวิน นอกจากไทยจะเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่แล้วนั้น ไทยจะยังได้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าและโรคมาลาเรียเป็นของแถม