ยกแก่งเสือเต้นช่วยลดโลกร้อน // อภิรักษ์โต้สมิทธ กทม.น้ำไม่ท่วม!
สยามรัฐ
5 มิถุนายน 2551
นายกฯเปิดงานรณรงค์ลดโลกร้อน ซัดเอ็นจีโอทำตัวเป็น “คุณพ่อ"ขวางสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ต้นเหตุน้ำท่วม อ้างทำลายไม้สักทอง 5 หมื่นต้นกับนกยูง 3 ตัว แถมคัดค้านขุด “โพรแทส”ส่วน “อนงค์วรรณ"รับลูกเตรียมเรียกประชุม เชื่อเอ็นจีโอจะไม่คัดค้านเช่นในอดีต ด้าน “อภิรักษ์"โต้ “สมิทธ”น้ำไม่ท่วมกรุง เพราะมีมาตรการรองรับไว้ดีเยี่ยม
ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูมอิมแพ็ค เมืองทองธานี วันที่ 5 มิ.ย.51 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดงานวันสิ่งแวดล้อมโลกประจำปี 2551 ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)ภายใต้คำขวัญที่องค์การสหประชาชาติกำหนดว่า CO2 Kick the Habit! Towards a Low Carbon Economy หรือ “ลดวิกฤติโลกร้อน เปลี่ยนพฤติกรรมปรับแนวคิด สู่เศรษฐกิจ คาร์บอนต่ำ”
นายสมัคร กล่าวว่า จากการที่อ่านคำแปล จะใช้ว่าลดวิกฤติโลกร้อน เลิกใช้คาร์บอนไดออกไซด์ไปเลย ตนเห็นด้วยกับการณรงค์เรื่องโลกร้อน เพราะนักวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ก็เห็นว่าเป็นความจริง ขณะที่ล่าสุดนายสมิทธ ธรรมสโรช ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ออกมาบอกว่าอีก 3-4 เดือนข้างหน้าน้ำจะท่วม เพราะน้ำทะเลสูงขึ้น มีพายุลูกใหญ่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ซึ่งรับฟัง เพราะนายสมิทธเป็นคนเก่ง อย่างไรก็ตามในทางตรงข้าม ทั่วโลกกำลังรณรงค์ลดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน แต่ชาติที่เจริญอย่างสหรัฐอเมริกา และจีนยังไม่ร่วมมือ ไม่ลงนามในอนุสัญญาเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และไทยเองก็ถูกกล่าวหาว่า เป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 31 ของโลก และอันดับ 4 ของกลุ่มอาเซียน แม้แต่ชาวนาที่ทำนาก็ยังโดนจัดอันดับว่าเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 23% ส่วนป่าไม้ 17% และภาคอุตสาหกรรม 50% นั่นแสดงว่าประเทศไทยเจริญมากแล้ว
นายสมัคร กล่าวต่อว่า วิธีการหนึ่งที่จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีคือการสร้างเขื่อน เพราะนอกจากรับน้ำในช่วงหน้าฝน แก้น้ำท่วม ช่วยพื้นที่การเกษตรแล้ว ยังนำพลังน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้า โดยไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตติ์ ที่สร้างขึ้นในอดีต ไม่ถูกกระแสต่อต้านเหมือนตอนนี้ เพราะสมัยนั้นเอ็นจีโอยังไม่เกิด แต่ในยุคนี้การสร้างเขื่อนทำยาก เพราะเอ็นจีโอทั้งหลายออกมาประท้วงทุกคนก็กลัวกันไปหมด ทำให้เขื่อนในลุ่มแม่น้ำยม หรือแก่งเสือเต้นนั้นยังเกิดไม่ได้ เพราะอ้างว่ามีป่าสักทอง 50,000 ต้นที่สมบูรณ์ และมีนกยูง 3 ตัว ซึ่งถ้านกยูงยังโง่อยู่ก็ไม่ควรเป็นนกยูง ส่วนป่าสักตอนนี้ก็เอาไปปลูกเป็นบ้านเรือนกันหมดแล้ว
“ที่ผ่านมาพอน้ำท่วมพื้นที่สุโขทัยที พวกคุณหญิง คุณนายก็ออกไปแจกข้าวของ ซึ่งคุณอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรฯ เป็นชาวสุโขทัย น้ำท่วมทีก็ต้องคอยไปนั่งเฝ้าสะพานว่าระดับน้ำจะล้นตลิ่งหรือเปล่าพอแล้งทีชาวบ้านก็ต้องหาน้ำ เป็นแบบนี้มา 30 ปีแล้ว แต่ตอนนี้จะผลักดันให้มีเขื่อนในน้ำยมให้สำเร็จ เพื่อแก้ปัญหาด้านการเกษตร และแก้น้ำท่วมและเอามาผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่ 32 จังหวัดภาคกลางได้ประโยชน์ด้วย”
นายสมัคร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลาวที่สร้างเขื่อนน้ำงึม เขื่อนน้ำเทิน 2 และ 3 ทำให้เขามีน้ำเหลือใช้และยังเผื่อแผ่มาถึงเพื่อนบ้าน ก็เลยบอกว่า ความมั่นคงของลาวคือความมั่นคงของไทย เพื่อนบ้านมีไมตรี ไม่ต่อต้านการทำเขื่อนเพื่อผลิตพลังงานไฮโดร ไม่ต้องใช้คาร์บอน ไม่ต้องใช้แก๊ส ไม่ใช้น้ำมันทำไมลาวถึงทำอย่างนั้นได้ เพราะลาวไม่มีเอ็นจีโอ เรามีโพแทสแต่ขุดไม่ได้ ตั้งแต่ตันละ 150 เหรียญ เดียวนี้ตันละ 400 เหรียญ ก็ขุดไม่ได้ เพราะเอ็นจีโอปักธงไว้ไม่ให้ขุด แต่ที่ลาวไม่มีเอ็นจีโอ ที่ลาวมีแร่เหล็ก ลาวให้ไทยไปขุดทำอลูมินั่ม และให้ประเทศออสเตรเลียขุดทำเหมืองทองแดง แต่มีข้อแม้นิดหน่อยคือต้องมาถลุงที่ในประเทศไทยที่มาบตาพุด นี่ล่ะครับเพื่อนบ้านที่ไม่มีเอ็นจีโอ “นายสมัคร กล่าว
“เราเก็บน้ำไว้ปลูกข้าว เราเก็บน้ำไว้ทำไฟ ต่อต้านกันต่อไปซิทางนี้ก็รณรงค์ต่อต้านคาร์บอน ก็ถูกต้อง ใส่เขื่อนลงไป ใส่ไฮโดรลงไป จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ผมสนับสนุนเต็มที่ ตามรายงานที่เขียนมาให้อ่าน รัฐบาลก็ทำเป็นตัวอย่าง เมื่อก่อนเปิดแอร์ 25 ตอนนี้ 26 องศาฯ ถอดสูทนั่งประชุมครม. ส่งเสริมใช้รถที่เติมน้ำมัน อี85 รัฐบาลก็ส่งเสริมเต็มที่ ส่งเสริมขับรถ 90 กม./ชม. อันนี้ต้องตั้งให้ดี ล๊อคซะเลยไม่ให้เกิน 90 หมดเรื่อง”นายกฯกล่าว
ด้านนางอนงค์วรรณ กล่าวว่า ทางทส.จะเรียกประชุมผู้บริหารเรื่องการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยมตามที่นายกฯได้พูดอย่างเร่งด่วน คิดว่าการสร้างเขื่อนในแม่น้ำยมมีความจำเป็นสำหรับประชาชน เพราะที่ผ่านมาในช่วงฤดูน้ำหลากน้ำท่วมหนักทุกปี และส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นถ้ามีการสร้างเขื่อนจะทำให้เก็บกักน้ำ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติได้ แต่ยังยืนยันไม่ได้ว่าจะผลักดันให้สำเร็จในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมีการศึกษมาแล้ว 30ปี และได้รับการต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอที่ไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด แต่สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันเชื่อว่ากระแสการต่อต้านน่าจะน้อยลง เพราะเห็นความจำเป็นของเขื่อนมากขึ้น ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีนายสมัครอ้างว่าสร้างเขื่อนจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเพราะจะมีพลังงานน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้นั้น เป็นการรู้ข้อมูลเพียงมิติเดียวเท่านั้น และไม่ได้รู้จริง ทำให้อธิบายประโยชน์ของเขื่อนไม่ครบ ซึ่งหากจะบอกว่าเขื่อนลดก๊าซได้จริงเนื่องจากในระหว่างที่สร้างเขื่อนก็ต้องตัดต้นไม้จำนวนมาก และระหว่างที่เก็บน้ำก็มีการปล่อยก๊าซมีเทน ที่มาทับถมเป็นตะกอนในเขื่อนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตรงนี้อาจไม่ใช่ประเด็นใหญ่เท่ากับการประกาศว่า ผู้ที่คัดค้านโครงการคือคุณพ่อเอ็นจีโอ เพราะสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะเอาเครือข่ายเอ็นจีโอหรือชาวบ้านที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เข้ามาเป็นพันธมิตรในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า และการสร้างความตระหนักอย่างแท้จริง ทั้งนี้อยากเชิญนายกสมัคร ไปดูพื้นที่ให้เห็นกับตาอีกสักครั้งว่า ป่าสักที่เหลือน้อย เหลือนกยูงที่มี 3 ตัวจริงหรือไม่
ขณะที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงกรณีที่นายสมิทธ ธรรมสโรช ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติออกมาระบุว่า ในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.ปีนี้จะมีพายุพัดเข้าไทยน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ไหลเข้ามาถึงปากอ่าวเจ้าพระยาและจะท่วม กทม.เป็นเวลา2-3 สัปดาห์ จนทำให้ กทม.ไม่มีน้ำประปาบริโภคว่า ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกกับการคาดการณ์ดังกล่าว แต่ขอให้ตื่นตัวกับภัยธรรมชาติที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่ง กทม.ได้มีมาตรการเตรียมพร้อมไว้แล้ว โดยประสานทุกหน่วยงานรวมทั้งพื้นที่รอยต่อจังหวัดใกล้เคียง ส่วนระยะยาว ได้เตรียมการป้องกันโดยการสร้างแนวคันกั้นน้ำทะเลกัดเซาะรณรงค์ปลูกป่าชายเลน ทั้งนี้ ทุกฝ่ายมีความพร้อมเต็มที่ ส่วนโบราณสถานที่มีความกังวลว่าน้ำจะท่วมขังนั้น กทม.ก็จะประสานกรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการทำนุบำรุงซ่อมแซมโบราณสถานให้เข้าไปดูแลแล้ว