eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

คำประกาศคิวริทิบา

 

"ยืนยันการมีสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ 

และวิถีชีวิตของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน" 

พันธสัญญาของที่ประชุมนานาชาติของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ครั้งที่ 1

ณ เมืองคิวริทิบา ประเทศบราซิล

14 มีนาคม 2540

          เรา ประชาชน จาก 20 ประเทศที่รวมตัวกัน ณ เมืองคิวริทิบา ประเทศบราซิล เป็นตัวแทนองค์กรประชนที่ได้รับผลกระทบจาก เขื่อนและผู้ต่อต้านภัยจากเขื่อน เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของความทุกข์ทรมานจากการสูญเสีย และการที่ต้องเผชิญกับการคุกคาม อันเนื่องมาจากเขื่อน แม้ว่าเราจะมาจากวัฒนธรรม สังคม การเมือง และสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย แต่การต่อสู้ของเราเป็นหนึ่งเดียว

          การต่อสู้ของเรานั้นเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะ เขื่อน ไม่ว่าที่ไหนล้วนแต่มีการ บังคับให้ผู้คนต้องอพยพออกจากถิ่นฐานเดิม ผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ป่าไม้ สถานที่ศักด์สิทธิ์ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ปลาและแหล่งน้ำที่สะอาดถูกทำลาย เกิดการล่มสลายของชุมชน และวัฒนธรรม และความยากจนเข้ามาเกาะกิน 

          การต่อสู้ของเรานั้นเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะ เขื่อน ไม่ว่าที่ไหนล้วนแต่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างคำสัญญาของนักสร้างเขื่อน ที่ว่าจะทำให้เกิดการอยู่ดีกินดี กับความจริงที่เกิดขึ้นหลังการสร้างเขื่อน เขื่อน ถึงแม่ว่ายังไม่ได่รวมต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ต้นทุนการสร้างเขื่อนเกือบทุกแห่งล้วนแต่สูงกว่าที่คำนวณไว้ เขื่อน ผลิตกระแสไฟฟ้าและให้ประโยชน์ด้านชลประทานน้อยกว่าที่ สัญญาไว้ เขื่อน ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมและความเสียหายมากขึ้น เขื่อนเอื้อประโยชน์แก่ผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ บรรษัทธุรกิจข้ามชาติด้าน การเกษตร และนักเก็งกำไร พวกเขาได้ทำลายชาวนาที่ยากจนในชนบท ชาวประมง ชนภูเขา ชนพื้นเมือง และชนเผ่าดั้งเดิม 

          การต่อสู้ของเรานั้นเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะ เรากำลังต่อสู้กับการลงทุนของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจเดียวกัน บรรดาองค์กรทุน ระดับโลกเดียวกัน องค์กรเงินกู้และความช่วยเหลือแบบทวิภาคี/พหุภาคีเดียวกัน บริษัทสร้างเขื่อนและผลิตอุปกรณ์เดียวกัน ที่ปรึกษาทาง วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมเดียวกัน และ บรรษัทข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมหาศาลทีเดียว

          การต่อสู้ของเรานั้นเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะ ประชาชนที่ต้องเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนในทุกที่ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การตัดสินใจถูกกระทำโดยบรรดานักวิชาการที่รับใช้รัฐและทุน บรรดานักการเมือง และบรรดาชนชั้นนำทางธุรกิจที่ล้วนแต่มีอำนาจ และความั่งคั่งขึ้นมาจากการสร้างเขื่อน

          การต่อสู้ที่เหมือนกันของเรา เป็นไปเพื่อการยุติยุคสมัยแห่งการสร้างเขื่อนที่นำไปสู่หายนะ และเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางเลือก ในการจัดหาพลังงานและการจัดการน้ำที่มีความยุติธรรม ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ 

          เพื่อให้สิ่งเหล่านี้บรรลุผล เราต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริงที่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และดำเนินนโยบายด้าน พลังงานและน้ำที่โปร่งใส พร้อมกับการกระจายอำนาจทางการเมืองและการคืนอำนาจแก่ชุมชน เราหวังที่ให้มีมาตรฐานที่ขจัดความไม่ เป็นธรรมเช่น ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการใช้ที่ดินให้หมดไป เราขอยืนยันในสิทธิชุมชนที่จะดูแลและจัดการที่ดิน น้ำ ป่า และ ทรัพยากรอื่นๆ รวมทั้งการมีสิทธิของทุกคนในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี

          เราต้องการก้าวไปสู่สังคมที่ความเป็นมนุษย์และธรรมชาติไม่ถูกลดค่าให้เหลือเพียงสินค้าและต้นทุน-กำไรทางการตลาดเพียงถ่าน เดียว เราจะต้องก้าวไปสู่สังคมที่ให้ความเคารพต่อความแตกต่างหลากหลายบนรากฐาน ของความยุติธรรมและความสัมพันธ์ที่เสมอภาค กัน

          การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเรา ได้นำไปสู่ข้อตกลงดังนี้ 

          1. เรา ตระหนักและสนับสนุน หลักการที่มีอยู่ใน คำประกาศขององค์กรพัฒนาเอกชนและการเคลื่อนไหวทางสังคม ณ กรุงริโอ เดอจาเนโร ปีพ.ศ. 2535 และคำประกาศมานิเบลิ ปีพ.ศ. 2537 ที่ว่าด้วยการให้เงินกู้ของธนาคารโลกในการสร้างเขื่อขนาดใหญ่ 

          2. เรา จะต้อต้านการสร้างเขื่อนทุกเขื่อนที่ไม่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบหลังจากผ่านการให้ข้อมูล และกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง 

          3. เรา ต้องการให้บรรดารัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ และนักลงทุนยุติการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทันที จนกว่า

 

3.1 มีการระงับการใช้ความรุนแรงและการคุกคามทุกรูปแบบ ที่มีต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และองค์กรที่คัดค้านเขื่อน

3.2 มีการชดเชยรวมทั้งการจัดหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอย่างเพียงพอ ให้กับประชาชน นับล้านคนที่ต้องสูญเสียอันเนื่องจากมาจากการสร้างเขื่อน 

3.3 มีการดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสียหายจากเขื่อนที่สร้างไปแล้ว แม้ว่าการดำเนินการนี้จะนำไปสู่การทุบเขื่อน ทิ้งก็ตาม 

3.4 สิทธิในแผ่นดินของชนเผ่าและชนพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนได้รับความคุ้มครองด้วยการจัดให้มีที่ดิน ที่พวกเขาสามารถ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เหมือนเดิมได้ ซึ่งอาจจะจำเป็นต้องทุบเขื่นทิ้งเช่นกัน

3.5 มีการตั้งคณะกรรมการอิสระนานาชาติเพื่อประเมินผลและทบทวนในทุกด้านของเขื่อนขนาดใหญ่ ที่องค์กรระหว่างประเทศได้ให้ เงินทุนหรือการสนับสนุนในทางอื่นใด รวมทั้งเสนอข้อสรุปเชิงนโยบายเพื่อนำไป ปฏิบัติ การแต่งตั้งและวิธีการประเมินผลและทบทวนต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของตัวแทนระดับนานาชาติ ของ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน 

3.6 บรรดาองค์กรทั้งระดับภูมิภาคและระดับชาติที่ให้เงินทุนหรือการสนับสนุนอื่นใดในการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องจัดให้มีคณะกรรมการอิสระในการประเมินผลและทบทวนเขื่อนขนาดใหญ่แต่ละแห่ง รวมทั้งเสนอข้อสรุปเชิง นโยบายเพื่อนำไปปฏิบัติ การประเมินผลและทบทวนต้องดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ที่ได้รับ ผลกระทบจากเขื่อน

3.7 นโยบายด้านพลังงานและน้ำจะต้องดำเนินการโดยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและการจัดการที่เหมาะ และยั่งยืน โดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่และองค์ความรู้ดั้งเดิม นโยบายดังกล่าวต้องไม่สนับสนุนให้มีการ บริโภคอย่างสิ้นเปลืองและสูญเปล่า และต้องมีหลักประกันรับรองสิทธิที่เท่าเทียมกันในการใช้ 

          4. ต่อกระบวนการ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสถานบันการเงินระหว่างประเทศได้กดดันให้ดำเนินการ ในหลายประเทศทั่วโลกเป็นการ ทำให้เกิดการกีดกันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และอยุติธรรม เราจะไม่ยอมรับการกล่าวอ้างที่ว่ากระบวนการนี้ช่วยแก้ปัญหา คอรัปชั่น ความไร้ประสิทธิภาพและปัญหาอื่นๆในภาคส่วนพลังงานและน้ำที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ สิ่งสำคัญสูงสุดของเราก็คือ การควบคุมโดยสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นประชาธิปไตย และการกำหนดทิศทางการจัดหาพลังงานและน้ำให้สอดคล้อง กับความต้องการและเจตนารมย์ของประชาชน

          5. หลายปีที่ผ่านมา เราได้แสดงให้เห็นถึงพลังที่เติบโตเข้มแข็งมากขึ้น เราได้ยึดหัวงานเขื่อนและสำนักงาน เดินขบวนในหมู่บ้าน และเมือง ยืนหยัดปฏิเสธการละทิ้งการละทิ้งผืนแผ่นดินของเรา แม้ว่าต้องเผชิญกับการถูกคุกคาม ความรุนแรงและน้ำจากเขื่อนที่กำลัง จะท่วมจะท่วมเราให้จมตายลงไป เราได้กระชากหน้ากากคอรัปชั่น การโกหก และความไร้สัจจะของนักสร้างเขื่อน เราได้ผนึกกำลังร่วมกัน ต่อสู้คัดค้านบรรดาโครงการพัฒนาที่นำไปสู่หายนะทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิ มนุษยชน ความยุติธรรมในสังคม และหยุดยั้งการทำลายสิ่งแวดล้อม

          เรา      เข้มแข็งและเป็นเอกภาพแห่งความหลากหลาย เพื่อความยุติธรรม เราได้หยุดเขื่อนที่สร้างหายนะและได้ต่อสู้ให้นักสร้าง เขื่อน เคารพสิทธิของเรา ในอดีตเราได้หยุดเขื่อนมาแล้วและจะหยุดเขื่อนในอนาคตให้มากขึ้น

          เรา     ให้พันธสัญญาด้วยหัวใจว่าจะต่อสู้คัดค้านเขื่อนที่ก่อให้เกิดหายนะอย่างเข้มแข็ง จากหลายหมู่บ้านในอินเดีย บราซิล เลโซโท และที่อื่นๆ ไปสู่ห้องประชุมในกรุงวอชิงตัน กรุงลอนดอน และนครโตเกียว เราจะต่อสู้ให้นักสร้างเขื่อนยอมรับข้อเรียกร้องของเรา 

          เรา     จะสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาคและนานาชาติให้มีพลังในการเคลื่อนไหว เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวกัน เราขอประกาศให้วันที่ 14 มีนาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันหยุดเขื่อนของบราซิลเป็นวัน "หยุดเขื่อนโลก" เพื่อปกป้องแม่น้ำและชีวิต 

 น้ำเพื่อชีวิต ไม่ใช่เพื่อความตาย

Water for life, not for death!

หนังสือวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคม 2541

จัดพิมพ์โดย มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ 

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา