eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน

14 มีนาคม 2545

วันหยุดเขื่อนโลก วันหยุดเขื่อนในแม่น้ำมูน

            ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เขื่อนราษีไศลและเขื่อนปากมูลต้องเปิดประตูระบายน้ำ ตามคำสั่งของมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สถาบันทางวิชาการ ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคม รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากเขื่อนทั้งสองแห่ง ในรอบปีที่ผ่านมาแม่น้ำมูนจึงอยู่ในสภาพของระบบวงจรวัฏจักรตามธรรมชาติ ที่แม่น้ำมูนจะต้องมีการขึ้น – ลง มีช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำลด และฤดูแล้ง ซึ่งเป็นวงจรปกติของแม่น้ำมูน

            ขณะเดียวกัน การศึกษาของสถาบันวิชาการ ( ม.อุบล , สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์ ) กำลังดำเนินการอยู่ หน่วยงานเจ้าของโครงการของเขื่อนทั้งสองแห่ง คือ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้มีการเคลื่อนไหวสร้างกระแสสถานการณ์ความแห้งแล้ง โดยอ้างว่ามีสาเหตุมาจากการเปิดประตูเขื่อนทั้งสองแห่ง

            ข้อเท็จจริง            ตามสภาพของฤดูแล้งที่มีอากาศร้อน และระดับน้ำตามแหล่งน้ำ ที่ขึ้น – ลง ตามสภาพของวงจรธรรมชาติเป็นเรื่องปกติ และหากย้อนดูว่าในปีที่ผ่านมา สภาพระดับน้ำตามแม่น้ำมูนก็ไม่ได้แตกต่างจากปีนี้ ชาวบ้านในชุมชนที่อยู่รายรอบแม่น้ำมูนสามารถดำรงค์ชีวิตได้อย่างปกติสุข และความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ที่ปลาจากแม่น้ำโขง ได้ว่ายเข้ามาตามแม่น้ำมูน และแพร่ขยายพันธุ์ในแม่น้ำมูน ในช่วงฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา ก็ได้เติบความอุดมสมบูรณ์ให้กับชุมชนอย่างมหาศาล

            การสร้างกระแสภัยแล้ง จึงเป็นเพียงเจตนาของหน่วยงานเจ้าของเขื่อน ที่ต้องการจะสร้างกระแสเพื่อกลบเกลื่อนความจริง เพราะการเปิดเขื่อนทั้งสองแห่ง ได้ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ กลับคืนมาสู่แม่น้ำมูนอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การศึกษาของสถาบันทางวิชาการ ที่จะนำข้อเท็จจริงมาเผยแพร่ต่อสาธารณะชน อันเป็นผลที่จะทำให้ทุกคนได้รู้ว่าเขื่อนทั้งสองแห่ง ไม่มีความคุ้มค่าในการก่อสร้าง ทั้งยังได้ทำลายวิถีชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์แม่น้ำมูน อันจะเป็นผลให้รัฐบาลและสาธารณะชนได้ประจักษ์ถึงข้อเท็จจริง อันจะนำไปสู่การเปิดประตูเขื่อนอย่างถาวรต่อไป

            อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์การรณรงค์หยุดเขื่อน เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน ตามข้อเสนอของผลการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก ( WCD ) ที่ได้เสนอไว้ดังนี้

1.      จะต้องไม่มีการสร้างเขื่อนที่ผู้ได้รับผลกระทบด้านลบไม่ยินยอม และไม่ดำเนินการสร้างเขื่อนที่ไม่ได้มีการให้ข้อมูลอย่างอิสระก่อนการดำเนินโครงการต่อชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

2.      ก่อนที่จะเริ่มโครงการใดๆ จะต้องมีการประเมินความจำเป็นด้านพลังงานและน้ำ และทำการประเมินทางเลือกอย่างละเอียดที่หลากหลายที่จะใช้แก้ไขปัญหาความจำเป็นนั้น

3.      ก่อนที่จะมีการสร้างโครงการใหม่ จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงการที่มีอยู่ แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดเสียก่อน

4.      ต้องมีการทบทวนเขื่อนที่สร้างไปแล้ว โดยกระบวบมีส่วนร่วมเป็นระยะๆ เพื่อประเมินความปลดภัยของเขื่อน และความเหมาะสมในการยกเลิกการใช้เขื่อน

5.      ต้องมีการกำหนดกลไก เพื่อที่จะดำเนินการฟื้นฟูหรือจ่ายค่าชดเชยย้อนหลัง สำหรับสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างไปแล้ว และฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่เสียหายจากการสร้างเขื่อน

 

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน

สมัชชาคนจน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา