eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
Share |

ถามตอบเรื่องเขื่อนและพลังงาน

  "แนวโน้มการสร้างเขื่อน น่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง "

อาจารย์นิธิ : ผมคิดว่าจะลดลง เพราะเมื่อก่อนนี้การสร้างเขื่อนมีการผลักภาระการสูญเสียให้ประชาชนไปเลย แต่บัดนี้คนตื่นตัว อย่างน้อยที่สุดก็ออกมาเรียกค่าชดเชย ถ้าทุกเขื่อนต้องจ่ายค่าชดเชยตามจริง ก็ไม่คุ้มและไม่เห็นต้องสร้าง ไม่ว่าจะผลิตไฟฟ้าหรือเพื่อการชลประทานก็ตาม ถ้าคิดต้นทุนที่แท้จริง อย่างที่นักวิชาการท่านหนึ่งบอกไว้ น้ำในเขื่อนแต่ละเขื่อนจะมีราคาลูกบาศก์เมตรละ 24 – 42 บาท แพงกว่าน้ำประปากี่เท่าล่ะ มันจะทำให้ต้องคิดเรื่องการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุกันละ เช่น คนในเมืองใช้น้ำมีประสิทธิภาพหรือเปล่า ระบบจัดการน้ำของรัฐเป็นยังงัย"   คัดลอกมาจาก บทสัมภาษณ์ อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ จาก วารสาร สารคดี ฉบับที่ 184 เดือนมิถุนายน 2543  

บทเพลงเกี่ยวกับเขื่อน

บทสัมภาษณ์ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น "ชำแหละโครงสร้างไฟฟ้าไทย จากแผนประเทศถึงบิลค่าไฟ" โดย ประชาไท (word 24 หน้า)

ตัวอย่างคำถามในบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจ

  • แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ซึ่งเป็นตัวกำหนดการจัดการไฟฟ้าทั้งระบบ  มีการพูดกันมากว่ามันมีปัญหา ปัญหาที่ว่าคืออะไร ?
  • สัดส่วนการใช้ไฟเป็นยังไงบ้าง ?
  • แล้วต้นทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อม ชีวิตของชาวบ้านเหล่านี้ ได้สะท้อนเข้ามาค่าไฟหรือเปล่า ?
  • ผู้ใช้ไฟรายย่อยไปอุดหนุนให้คนใช้ไฟรายใหญ่ให้จ่ายถูกๆ ได้ยังไง ?
  • นักวิชาการมีข้อวิจารณ์ตลอดเวลาว่า ตัวเลขการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริง เรื่องนี้เท็จจริงยังไง และมันนำไปสู่อะไร
  • การตุนไฟฟ้าเผื่อไว้เยอะๆ คือต้นทุน...แปลว่า ?
  • กำลังบอกว่าที่เข้าใจกันว่า พลังงานทางเลือกแพง เป็นไปได้ยาก เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง?
  • แปลว่าอุตสาหกรรมใหญ่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเองด้วย ?
  • แล้วเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มองยังไง ?
  • พีดีพีทบทวนกันทุกปีไหม แล้วมีความเป็นไปได้จะดึงเรื่องนิวเคลียร์ออกมาเพื่อตั้งต้นถกเถียงกันใหม่ไหม ?
  • พอจะให้เห็นภาพรวมได้ไหมว่าทั้งหมดแล้วมันเป็นเท่าไหร่ ถ้าเอาแผนพีดีพีฉบับล่าสุดนี้เป็นฐาน

ถาม:   ไม่สร้างเขื่อนแล้วจะเอาไฟฟ้ามาจากไหน

ตอบ: นักวิชาการภาคประชาชนด้านพลังงานได้รวบรวมตัวเลข ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน ณ เดือน กย. 2550 ได้ประมาณ 25,100 เมกกะวัตต์ และในทางปฏิบัติ  ณ สิ้นปี 2548 ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนรวม แล้ว ถึง 1,000 เมกกะวัตต์ ตัวเลขนี้ยืนยันจาก อาจารย์ เดชรัต สุขกำเนิด(อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ) ดังนั้นไม่มีโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าใดที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องสร้างอีกต่อไป การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนนั้นทำได้โดยใช้วิธีการต่าง ๆ 7 วิธี ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลม ตามแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตั้งแต่ จ.สงขลา – ปัตตานี  และบนเทือกเขาสูง มีศักยภาพ 1,600 เมกกะวัตต์ การผลิตไฟฟ้าด้วยระบบน้ำร้อน น้ำเสียและไอน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน (Cogeneration) มีศักยภาพ 3,000 เมกกะวัตต์ การผลิตไฟฟ้าด้วยแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ มีศักยภาพ 5,000 เมกกะวัตต์ Repowering หรือ เรียกว่า การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเก่ามีศักยภาพ 5,000 เมกกะวัตต์ การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล (ของเหลือใช้จากการเกษตร เช่น แกลบ,ฟางข้าว,ซังข้าวโพด,เศษไม้ยางพารา ฯลฯ) และก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ หรือ การหมักขยะ มีศักยภาพ 7,000 เมกกะวัตต์     การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำขนาดเล็กโดยชุมชนมีศักยภาพ  500 เมกกะวัตต์ การจัดการด้านความต้องการไฟฟ้าและการประหยัดพลังงาน(DSM) มีศักยภาพ 3,000 เมกกะวัตต์    รวมแล้วได้ประมาณ 25,100 เมกกะวัตต์

ถาม: ไฟฟ้าส่วนใหญ่ผลิตมาจากเขื่อนหรือไม่ ?

ตอบ : ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนมีประมาณร้อยละ 7.4 เท่านั้น ส่วนใหญ่ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศไทยมาจากก๊าซธรรมชาติซึ่งคิดเป็นร้อยละ 66.1 ดูได้จากแผนภูมิข้างล่างนี้

ถาม: ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ใครเป็นผู้ใช้ ?

ตอบ : จากปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดของไทย(ไฟฟ้าที่ผลิตได้รวมทั้งที่รับซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้าน) ส่วนใหญ่ป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 72 ส่วนบ้านเรือนประชาชนรายย่อยทั่วไปใช้ไฟฟ้าประมาณร้อยละ 8 และบ้านเรือนประชาชนรายใหญ่ใช้ไฟฟ้าประมาณร้อยละ 13 ดังที่ปรากฏในแผนภูมิข่างล่างนี้

ถาม : ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจากการประเมินการนั้น เกิดจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของภาคส่วนใด

ตอบ : จากการประเมินความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จากปี พศ. 2546 ถึง 2559 พบว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นั้นเกิดจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นรวมประมาณร้อยละ 63 ดังจะเห็นได้จากแผนภูมิข้างล่าง

ถาม:   ทำไมจึงมีการต่อต้านเขื่อนขนาดใหญ่อย่างกว้างขวาง?

ตอบ  เขื่อนขนาดใหญ่เป็นชนวนของความขัดแย้งทางสังคม สิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจ และมีความเสี่ยงมหาศาล เหตุผลหลักที่มีการ คัดค้านเขื่อนทั่วโลกก็คือ การที่ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพจากถิ่นฐานเดิมโดยไม่ได้รับการ คุ้มครองสิทธิของความเป็นมนุษย์ ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ขณะเดียวกันชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมากที่อยู่ท้ายน้ำต้อง ได้รับผลกระทบจากเขื่อนทั้งปัญหาน้ำเสีย ความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลาลดลง เกิดการขาดแคลนน้ำมากขึ้นจนต้องแย่งชิงน้ำกัน ขณะที่การผลิตทางการเกษตรลดลงแต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นเนื่องจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์จากการ ที่เขื่อนกักปุ๋ยธรรมชาติไว้จนต้องใช้ปุ๋ยเคมีทดแทน การที่ต้องเสี่ยงกับอุทกภัยที่เพิ่มมากขึ้น การเสี่ยงกับเขื่อนพังจากแผ่นดินไหว และการสร้างเขื่อนไม่ได้มาตรฐาน เขื่อนยังทำให้เกิดโรคระบาดมากขึ้นทั้งในอ่างเก็บน้ำและพื้นที่ชลประทาน ขณะที่ผลประโยชน์จากกรสร้างเขื่อนมักตกอยู่กับนายทุนที่ดินรายใหญ่ นักการเมือง บรรษัทข้าม ฯลฯ ที่รวมเรียกว่าบรรดาอุตสาหกรรมเขื่อน    ผู้ที่คัดค้านเขื่อนยังเห็นว่านโยบายการจัดการน้ำด้วยการสร้างเขื่อนนั้นไม่เหมาะสม และยังมีวิธีการอื่นที่เป็นทางเลือกใน การจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ถาม:   มีประชาชนที่ต้องอพยพจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมาจำนวนเท่าใด?

ตอบ:   นับแต่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลกเมื่อ 63 ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบันมีผู้ที่ถูกอพยพจากการสร้างเขื่อนประมารณ 30-60 ล้านคน ใกล้เคียงกับจำนวนประชากรในประเทศไทยทั้งประเทศ การอพยพส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในจีนและอินเดีย ในปัจจุบันคาดว่ามีชาวบ้านทั่วโลกประมาณ 2 ล้านคนต่อปีที่ถูกอพยพจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งเราเรียกว่าผู้ถูกอพยพเหล่านี้ว่า “ผู้อพยพจากอ่างเก็บน้ำ” (Reservoir Refugee) สำหรับประเทศไทยคาดว่ามีผู้ที่ถูกอพยพจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ประมาณ 250,000-500,000 โดยเขื่อนลำปาวมีชาวบ้านถูกอพยพมากที่สุด (5,500 ครอบครัว) แต่สถิตินี้กำลังจะถูกทำลายจากการสร้างเขื่อนป่าสัก

ถาม:   เกิดอะไรขึ้นเมื่อชาวบ้านคัดค้านเขื่อน?

ตอบ:   เมื่อมีการคัดค้านเขื่อนสิทธิความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านจะไม่ได้รับการคุ้มครอง นักสร้างเขื่อนและทางการที่มีอำนาจเหนือกว่าก็จะเข้าจัดการกับชาวบ้านด้วยวิธีความรุนแรง ชาวบ้านจะถูกคุกคาม และหลายกรณีถูกลอบสังหาร หลายกรณีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านมักจะจบลงด้วยการใช้กำลังของทางการ และกำลังของมวลชนจัดตั้งเข้าสลายการชุมนุม การจับกุมคุมขังและดำเนินคดี         การกระทำที่โหดร้ายที่สุดของนักสร้างเขื่อนก็คือ เหตุการณ์สังหารโหดร้ายที่เกิดขึ้นในกรณีการสร้างเขื่อนชิซอย (Chixoy Dam) ประเทศกัวเตมาลา เมื่อปี 1982  จากการที่กองกำลังของทางการได้ทำการสังหารโหดชนพื้นเมืองเผ่ามายันถึง 378 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรี มีการข่มขืนสตรีก่อนฆ่าแล้วเผา  นอกจากนั้นเด็กวัยรุ่นอี 18 คน ยังถูกจับไปเป็นทาสอีกด้วย ซึ่งเหตุหารณ์สังหารโหดนี้มีชนวนแค่ว่าชนพื้นเมืองเผ่ามายันปฏิเสธที่จะรับค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม         ในประเทศไทยการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นมากที่สุด เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2516-2519  โดยการสร้างเขื่อนห้วยหลวงเพื่อนำน้ำไปป้อนฐานทัพอเมริกัน ได้มีชาวบ้านคัดค้านแต่ทางการและนักสร้างเขื่อนได้ใช้ “ยุทธการหนองบัวบาน”เข้าจัดการกับชาวบ้าน เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องเสียชีวิตประมาณ 200 คน ในช่วงเดียวกันนั้นก็ได้เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างเขื่อนมาบประชัน 2 คน     ในระหว่างปี พ.ศ.2535-2539 แม้จะเป็นยุคประชาธิปไตย แต่ชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องเขื่อนยังถูกสังหารเพิ่มอีกหลายคน ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีเขื่อนภูมิพล เขื่อนห้วยขอนแก่น และเขื่อนโป่งขุนเพชร                 ขณะที่การชุมนุมเรียกร้องค่าชดเชยเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธรที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ได้จบลงด้วยการใช้กำลัง เจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้าน การคุกคามที่ชุมนุม และการจับกุมและดำเนินคดีผู้นำและแม้แต่สตรี ขณะที่กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น บรรดานักการเมืองท้องถิ่นประกาศอย่างเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนว่าจะจัดการผู้ที่คัดค้านเขื่อนด้วยกำลัง และประกาศจะสังหารนักสิ่งแวดล้อมที่คัดค้านเขื่อนแห่งนี้

ถาม:   มีผู้เสียชีวิตจากเขื่อนพังจำนวนเท่าใด?

ตอบ:       แม้ว่าไม่มีการบันทึกที่แน่ชัดว่านับแต่มีการสร้างเขื่อนยุคใหม่มีเขื่อน จำนวนเท่าใดกันแน่ที่พังลงมา แต่คาดว่าในศตวรรษที่ 20 นี้เขื่อนทั่วโลกได้พังลงประมาณ 2,000 แห่ง                 การพังของเขื่อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือการพังทั้งยวงของเขื่อน 62 แห่งที่เหอหนาน(Henan)ในจีน เมื่อเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2518 คาดว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 80,000 ถึง 230,000 คน ซึ่งรุนแรงกว่าการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลและกรณีโรงงานเคมีที่เมืองโบปาล      เฉพาะทศวรรษนี้ทั่วโลก (ไม่รวมจีน) มีผู้เสียชีวิตจากเขื่อนพังถึง 12,000 คน        ในอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2510 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 63 ตามมาตรริคเตอร์เป็นเหตุให้เขื่อนเขื่อนคอยนาพัง ทำให้ประชาชนต้องเสียชีวิตประมาณ 180 คน       “เขื่อนพัง” จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีประชาชนต้องเสียชีวิตมากที่สุดสาเหตุหนึ่ง   สำหรับประเทศไทยแม้ว่าไม่มีเหตุการณ์เขื่อนขนาดใหญ่พัง แต่ในปี พ.ศ. 2533 ได้เกิดเขื่อนขนาดใหญ่ชำรุด 1 แห่ง คือเขื่อนลำมูนบน  ทำให้ต้องอพยพประชาชนหนีตาย 12,395  คน      หลังเกิดเหตุการณ์ 1 ปี ได้มีการตรวจสอบเขื่อนทั่วประเทศโดยทางการพบว่า เขื่อนดิน 160 แห่งมีปัญหาเนื่องจากก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานและขาดการซ่อมบำรุง แต่รัฐบาลและหน่วยงานสร้างเขื่อนก็ไม่ได้ทำอะไร ทำให้ในปี พ.ศ.2537 ได้เกิดเขื่อนขนาดกลางและเล็กพังลง 5 แห่ง มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคนและบ้านพังนับร้อยหลัง หลังจากนั้นเขื่อนขนาดกลางและเล็กก็ทยอยพังลงมาทุกปีจนกลายเป็นเหตุการณ์เขื่อนพังรายปี

ถาม:   เขื่อนคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์จริงหรือไม่?

ตอบ:      โดยทั่วไปการสร้างเขื่อนมักเกิดปัญหาค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูงกว่าที่ประเมินแทบทุกเขื่อน ตัวอย่างก็คือ ในการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์มีการใช้จ่ายจริง 4,623  ล้านบาทจากที่มีการอนุมัติโครงการ 1,800  ล้านบาท เขื่อนบางลางใช้จ่ายจริง 2,729.2 ล้านบาท จากที่มีการอนุมัติโครงการ 1,560 ล้านบาท เขื่อนปากมูลใช้จ่ายจริง 6,600 ล้านบาท จากที่อนุมัติโครงการ 3,880 ล้านบาท ขณะที่เขื่อนเขาแหลมใช้จ่ายจริง 9,100 ล้านบาท จากที่อนุมัติโครงการ 7,711 ล้านบาท ซึ่งหากรวมเอาต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นต้นทุนและลบความล้มเหลวงของประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนออกไป เขื่อนก็จะไร้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์อย่างสิ้นเชิง                 ในปัจจุบันรัฐบาลกำลังผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น คาดว่าเขื่อนดังกล่าวจะทำลายสถิติเขื่อนที่แพง ที่สุดในประเทศไทย จากการที่เขื่อนดังกล่าวต้องลงทุนมหาศาลเพื่อป้องกันไม่ให้เขื่อนพัง

ถาม:   เขื่อนมีผลกระทบทางสาธารณสุขอย่างไร?

ตอบ:          ปัญหาสาธารณสุขเป็นปัญหาที่ใหญ่ปัญหาหนึ่งที่นักสร้างเขื่อนยังแก้ไม่ได้       ในอียิปต์ หลังการสร้างเขื่อนอัสวาน 3 ปี พบว่าได้เกิดการระบาดของโรคพยาธิใบไม้ในเลือดถึง 60% ซึ่งโรคดังกล่าวยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สำหรับประเทศไทยการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อปี พ.ศ.2525 พบว่าการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านในเขตชลประทานสูงถึง 3 เท่าตัว แต่ก็ได้เกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับบั่นทอนชีวิตของชาวบ้านเหล่านั้นลงโดยพบว่าภายใน 3-5 ปี มีชาวบ้านป่วยด้วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 50.7% อีกทั้งเกิดเด็กขาดอาหารถูกปล่อยปละละเลยมากขึ้น ขณะที่เขื่อนศรีนครินทร์ได้เกิดโรคมาเลเรียและไข้เลือดออกระบาดมากขึ้น ส่วนเขื่อนเชี่ยวหลานและเขื่อนบางลางได้เกิดการระบาดอย่างร้ายแรงของโรคเท้าช้างและโรคมาเลเรีย        ที่น่าสนใจก็คือ การสำรวจของศาสตราจารย์ วูดดรัฟฟ์ เมื่อปี พ.ศ.2536 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยพยาธิใบไม้ในเลือด 7,000,000 คน จากทั่วโลกที่มี 1,000,000 คน คิดเป็นร้อยละ 70 และโรคพยาธิใบไม้ลำไส้ 2,000,000 คนจากผู้ป่วยทั่วโลก 4,000,000 คนหรือร้อยละ 50

ถาม:   เขื่อนมีผลกระทบต่อพันธุ์ปลาอย่างไร?

ตอบ:       การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำก็เท่ากับเป็นการทำลายพันธุ์ปลาทั้งในทะเลและแม่น้ำ     ตัวอย่างผลกระทบต่อพันธุ์ปลาในทะเลก็คือ การสร้างเขื่อนอัสวานได้ทำให้ปริมาณการจับปลาซาร์ดีนในบริเวณ ทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยนของชาวประมงลดลงจากการ ที่สาหร่ายที่เป็นอาหาร ของมันลดลงเนื่องจากขาดความอุดมสมบูรณ์ จากการที่เขื่อนอัสวานกั้นปุ๋ยธรรมชาติไว้ในอ่าง     ในแม่น้ำ พันธุ์ปลาและปริมาณปลาตามธรรมชาติจะลดลงเมื่อเขื่อนปิดกั้นเส้นทางการอพยพของปลาบวกกับ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปหลังการสร้างเขื่อนรวมทั้งการที่เขื่อนต้องกักเก็บน้ำในฤดูฝน ทำให้ภาวะน้ำหลากในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างที่ราบลุ่มน้ำท่วมต้องหมดไป การสร้างเขื่อนภูมิพลทำให้พันธุ์ปลาในแม่น้ำปิงลดลงจาก 68 ชนิดเหลือเพียง 34 ชนิด และชาวบ้านท้ายเขื่อนไม่สามารถจับปลาได้เหมือนเดิมเนื่องจากไม่เกิดภาวะน้ำหลาก การสร้างเขื่อนเขาแหลมพันธุ์ทำให้ปลาลดลง 59 ชนิดจากแต่เดิมที่มี 78 ชนิด เขื่อนศรีนครินทร์ลดลง 20 ชนิด ขณะที่การสร้างเขื่อนสิริกิติ์เป็นสาเหตุให้ปลายี่สกหายไปจากแม่น้ำน่าน      เขื่อนปากมูลซึ่งเป็นเขื่อนล่าสุดที่สร้างเสร็จโดยไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ทำให้เกิดผลกระทบต่อพันธุ์ปลา 240 ชนิด โดยที่พันธุ์ปลาเหล่านี้คือ แหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญระดับครอบครัว และเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของชาวบ้าน      ผลกระทบจากการทำลายพันธุ์ปลานั้น ทุกวันนี้ได้กลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้น ดังเช่นที่อเมริกา ขณะนี้ได้มีความพยายามที่จะทุบเขื่อนเอลวาทิ้งเนื่องจากพบว่าประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนไม่คุ้มกับการสูญเสีย ผลผลิตปลาซัลมอนซึ่งแต่เดิมได้อพยพขึ้นตามมาแม่น้ำเพื่อไปวางไข่ที่ต้นน้ำ แต่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีกเมื่อมีการสร้างเขื่อน

ถาม:   บันไดปลาโจนแก้ปัญหาการสูญพันธุ์ของปลาได้จริงหรือ?

ตอบ:          บันไดปลาโจนแท้ที่จริงแล้วคือเทคโนโลยีที่อยู่ในขั้นทดลอง เพราะแม้ว่าจะออกแบบเฉพาะสำหรับปลาที่อพยพในเขตหนาวเช่นปลาซัลมอน แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้ปลาอพยพได้ และนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าไม่มีบันไดปลาโจนที่ไหนในเขตร้อนที่ช่วยให้ปลาอพยพข้ามเขื่อนได้ กรณีบันไดปลาโจนของเขื่อนปากมูลเป็นตัวอย่างที่ยืนยันได้ดีถึงความล้มของบันไดปลาโจนที่ไม่มีปลาโจน

ถาม:   ประสิทธิภาพของระบบชลประทานของเขื่อนเมืองไทยเป็นอย่างไร?

ตอบ:          ประสิทธิภาพของระบบชลประทานของเขื่อนเมืองไทยเฉลี่ยประมาณ 30% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานโลกเฉลี่ย 64% ในหลายกรณีพื้นที่ชลประทานเป็นเพียงตัวเลข “ลม” หรืออาจมีพื้นที่จริงแต่คลองชลประทานของเขื่อนกลับกลายเป็น “คลองส่งลม” ดังเช่นกรณีเขื่อนเชี่ยวหลานที่ก่อนสร้าง กฟผ.ระบุว่าจะได้พื้นที่ชลประทานมากกว่า 100,000 ไร่ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีพื้นที่ชลประทานแม้แต่ไร่เดียว ขณะที่เขื่อนบางลาง ในปี พ.ศ.2522-23 สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้เพียง 2,900 ไร่จากพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 300,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.97  

ถาม:   ทำไมนักการเมืองจึงผลักดันให้สร้างเขื่อนตลอดเวลา?

ตอบ:       นักการเมืองที่ออกมาผลักดันเขื่อนก็เพราะว่าความเชื่อที่ว่าการสร้างเขื่อนคือการพัฒนา เขื่อนจึงเป็นเครื่องมือในการหาสียงได้อย่างดี นักการเมืองบางคนยังมีที่ดินจำนวนมากที่อยู่ท้ายเขื่อนและหวังที่จะได้น้ำจากเขื่อน และอาจหวังผลในเรื่องของสัมปทานไม้ในอ่างหรือไม่ก็การรับช่วงเหมาการก่อสร้างถ้าหากเขื่อนได้รับการอนุมัติ    อย่างไรก็ตามนักการเมืองเป็นเพียงตัวละครที่ปรากฏบนฉากเท่านั้น เพราะแท้ที่จริงแล้วการตัดสินใจสร้างเขื่อนหรือไม่ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมเขื่อน ที่ประกอบด้วยองค์กรการเงินระหว่างประเทศ รัฐบาลต่างชาติ องค์กรช่วยเหลือต่าง ๆ บรรษัทข้ามชาติที่สร้างเขื่อนและผลิตอุปกรณ์ ที่ปรึกษาทางวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม      อุตสาหกรรมเขื่อนนั้นมีอำนาจมหาศาล ในหลายประเทศบริษัทสร้างเขื่อนสามารถได้รับสิทธิสัมปทานแม่น้ำทั้งสายจากรัฐบาลเพื่อสร้างเขื่อน ดังเช่น ในญี่ปุ่น และละตินอเมริกา

ถาม:   องค์กรต่างประเทสที่ให้เงินทุนและความช่วยเหลือการศึกษาสร้างเขื่อนแบบให้เปล่า เป็นการช่วยเหลือ ที่บริสุทธิ์จริงหรือ?

ตอบ:        กระบวนการผลักดันเขื่อนมักเริ่มต้นจากการที่สถาบันการเงินหรือองค์กรระหว่างประเทศ ให้การช่วยเหลือทางวิชาการและการเงินแบบให้เปล่าโดยให้ที่ ปรึกษาทางวิศวกรรมโดยร่วมกับหน่วยงานสร้างเขื่อนในประเทศทำการศึกษาโครงการเขื่อน เมื่อรัฐบาลอนุมัติเขื่อนแล้ว ที่ปรึกษาเหล่านั้นก็จะได้รับการจ้างให้เป็นที่ปรึกษาโครงการ และสถาบันหรือองค์กรการเงินระหว่างประเทสจะสนับสนุนเงินกู้โดยที่เงินกู้นั้นจะต้องนำกลับ ไปจ้างบริษัทสร้างเขื่อนและซื้ออุปกรณ์ของบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์สำหรับเขื่อนในประเทสผู้ให้เงินกู้                 ตัวอย่าง เช่น การสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ รัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนการศึกษาตามแผนโคลัมโบโดยให้บรรษัท พัฒนาแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า(EPDC)ศึกษาให้ฟรี เมื่อเขื่อนได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล บรรษัทดังกล่าวก็จะได้รับการเลือกให้เป็นที่ปรึกษา การกู้เงินก็ต้องกู้จากองค์กรการเงินของญี่ปุ่นอย่าง OECF ซึ่งเงินกู้นี้จะต้องนำกลับไปซื้ออุปกรณ์เขื่อนจากบริษัทญี่ปุ่น และบริษัทที่รับเหมาก่อสร้างและรับช่วงต่อเกือบทั้งหมดก็จะเป็นบริษัทจากญี่ปุ่น หลังจากสร้างเขื่อนนี้เสร็จ องค์กรเหล่านี้ก็เสนอให้สร้างเขื่อนท่าทุ่งนาต่อไป จะเห็นได้ว่าการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์คือตัวอย่างของการผูกขาดอย่างครบวงจรของอุตสาหกรรมเขื่อนจากญี่ปุ่น

ถาม:  ถ้าไม่สร้างเขื่อนแล้วมีทางเลือกอื่นในการจัดการน้ำหรือไม่

ตอบ:         ความรู้ในการจัดการน้ำที่เหมาะสมและยั่งยืนนั้นมีอยู่มากมาย ตัวอย่าง เช่น ระบบชลประทานเหมืองฝายของชาวบ้านนภาคเหนือที่ดำรงอยู่มานานหลายร้อยปีแล้ว หรือการจัดการน้ำโดยวิธีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยความรู้สมัยใหม่(เล็กแต่ทันสมัย) ที่สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำให้กับชาวบ้านได้โดยลงทุนน้อยกว่าการสร้างเขื่อน และไม่เกิดความขัดแย้งในสังคม                อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การฟื้นฟูและปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำ (เช่น บึงและที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง) ซึ่งวิธีการนี้เริ่มใช้กันในหลายประเทศแล้ว โดยเฉพาะอย่างในประเทศเขตร้อนที่แม่น้ำมักจะมีพื้นที่ชุ่มน้ำแถบตอนกลางของแม่น้ำ ซึ่งวิธีการนี้จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและยังเป็นแหล่งในฤดูแล้ง รวมทั้งการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติสำหรับคนในท้องถิ่นอีกด้วย

ถาม:  มีทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งจากการสร้างเขื่อนอย่างไร?

ตอบ:       ความขัดแย้งในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ดังเช่นโครงการสร้างเขื่อนนั้น ได้สะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินโครงการที่มีผลกระทบมากมายนั้นขาดการคุ้มครอง สิทธิของความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ขาดความโปร่งใส และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้จะต้องถูกขจัดให้หมดไปโดยโครงเขื่อนจะต้องปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกำหนดไว้ ซึ่งหมายถึงว่าประชาชนต้องมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โครงการเขื่อนจะต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีองค์กรอิสระควบคุม และต้องมีกระบวนการประชาพิจารณ์ก่อนการตัดสินใจเพื่อให้ประชาชนมีส่วนอย่างแท้จริง

 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ถ.คลองชลประทาน ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138/1 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา