eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

"นกยูง"

มติชน 29 มิย 2551 โดย ปริญญากร วรวรรณ
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01way03290651&day=2008-06-29&sectionid=0137

ในความเห็นของผม และผมเชื่อว่ามันคือความจริง นั่นคือ สัตว์ป่าที่ทำงานด้วยยากมากๆ คือ นกยูง

เหตุผลสำคัญซึ่งทำให้นกยูงเป็นสัตว์ที่บันทึกภาพได้ยาก เพราะว่าพวกมัน "ฉลาด"

ความฉลาดของนกยูง ประกอบด้วย ไหวพริบและประสาทการรับรู้ รับกลิ่น เสียง ได้ยอดเยี่ยม และมีสิ่งที่เรียกว่า การระวังไพร สูง

ว่าตามจริง ในความเห็นของผม ไม่มีสัตว์ป่าตัวไหนโง่เลยสักตัว

ในบางสถานการณ์ ผมเองนั่นแหละที่รู้ตัวว่า "โง่" กว่าสัตว์ป่าอยู่หลายขุม

นกยูงเป็นเหมือนๆ กับสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่เราสามารถใช้คำว่า ในสมัยก่อนเคยมีอาศัยอยู่ทั่วไปในพื้นที่ของประเทศไทย

การถูกบุกรุกถิ่นอาศัย ป่าโดนเปลี่ยนแปลงสภาพ รวมทั้งถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ฯลฯ ชะตากรรมเหล่านี้คือสิ่งที่นกยูงต้องเผชิญเหมือนๆ สัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เช่นกัน

กระนั้นก็เถอะ สิ่งที่พบเจอตลอดมานั้น ไม่ได้ทำให้สัตว์ป่าสูญสิ้นพันธุ์ไปทั้งหมด

มีหลายชนิดสูญพันธุ์ แต่มีอีกหลายชนิดยังคงอยู่

ถึงแม้การอยู่ของพวกมัน มีอนาคตอันไม่แจ่มใสเอาเสียเลย

ในงานถ่ายภาพสัตว์ป่า การบันทึกภาพนกยูงให้ได้นั้น ต้องใช้เวลาเตรียมการเป็นอย่างดี

เริ่มตั้งแต่สำรวจหาร่องรอยโดยสังเกตจากรอยตีนซึ่งย่ำเป็นวงกลม

โดยปกติของนกยูงเมื่อถึงช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่ราวเดือนพฤศจิกายน นกยูงตัวผู้จะเข้ามาจับจองอาณาเขตเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณหาดทรายริมลำห้วย จุดประสงค์คือ มาแสดงความแข็งแรงเหมาะสมเพื่อให้นกยูงตัวเมียเลือก

ตัวผู้มีวิธีการอวดความแข็งแรงเหมาะสมด้วยการคลี่ขนหางยาวๆ ออก เราเรียกวิธีนี้ว่า นกยูงรำแพน ขณะรำแพนมันจะหมุนตัวไปรอบๆ ขยับขนหางดัง "ฟู่ๆ"

บนพื้นจะเต็มไปด้วยรอยตีน ทำให้สังเกตเห็นง่ายๆ

เมื่อพบอาณาเขตเล็กๆ ของนกยูง การทำซุ้มบังไพรอย่างชนิดกลมกลืนมิดชิดจำเป็นที่สุด สำหรับผมแล้ว บังไพรนี้จะเปิดเฉพาะช่วงด้านหน้าเล็กๆ พอให้เลนส์ทำงานได้เท่านั้น ไม่เช่นนั้นหากกลิ่นกายลอยออกไปมากจะไม่พ้นประสาทรับกลิ่นอันยอดเยี่ยมของนกยูง ขณะอยู่ในซุ้มบังไพร เสียงชัตเตอร์หรือขาตั้งกล้องกระทบกัน แม้แต่เสียงกิ่งไม้ที่เราทำหัก นกยูงจะจับความผิดปกตินี้ได้ทันที

ในครั้งที่ผมทำงานใหม่ๆ อยากได้ภาพนกยูงและคิดว่าตัวเอง "ฉลาด" ประเมินว่าสัตว์ป่าคง "โง่" กว่าเราเยอะ จึงทำซุ้มบังไพรชนิดลวกๆ มีเพียงด้านหน้ากับด้านข้าง ด้านบนเปิดโล่ง

เป็นความคิดที่ผิดพลาด เพราะขณะนกยูงตัวผู้หางยาวสลวยตัวหนึ่งกำลังจะเดินออกมาจากชายป่าสู่ริมลำห้วย เมื่อได้ยินเสียงร้องเบาๆ จากนกจาบคาเคราสีน้ำเงิน มันรีบก้มตัวหันหลังวิ่งเหยาะๆ เข้าป่าไปทันที

นกจาบคาเคราสีน้ำเงินตัวหนึ่ง เกาะอยู่บนกิ่งไม้มองเห็นผมชัดเจน เพราะซุ้มบังไพรไม่ได้กั้นด้านบน

วันนั้นผมเห็นภาพการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาของสัตว์ป่าชัด

กฎระเบียบการอยู่ร่วมกันของสัตว์ป่าแน่นอนว่า การอยู่ร่วมฝูงย่อมช่วยกันดูแลได้มากกว่า ดวงตาหลายคู่ดีกว่าดวงตาคู่เดียว แต่สัตว์ที่อยู่ลำพังใช่ว่าจะขาดแคลนผู้ช่วยเหลือหรืออยู่ในป่าชนิดตัวใครตัวมัน

พูดง่ายๆ ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในป่านั้นเชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน ขาดอะไรไปสักอย่างมีผลถึงอย่างอื่นๆ เสมอ

ถึงวันนี้นกยูงสายพันธุ์ไทยซึ่งเคยมีอยู่ทั่วประเทศ มีอาศัยอยู่ในบางแห่งเท่านั้น

ในบางแห่งอย่างพื้นที่ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง การเอาจริงของคนดูแลป่าทำให้ในระยะเวลา 20 ปีมานี้ ประชากรนกยูงเพิ่มจำนวนมากขึ้นในป่าแห่งนี้ การพบเห็นนกยูงไม่ใช่เรื่องยาก

แต่นกยูงในป่าแห่งอื่นๆ อย่างผืนป่าแม่ยม การดูแลปกป้องพวกมันจากคนอย่างเข้มแข็งเอาจริงเพียงใด ดูจะไม่ทำให้พวกมันมีอนาคตอันดี

เพราะถิ่นที่นกยูงเหล่านั้นอยู่ มีโอกาสสูงจะจมอยู่ใต้น้ำ หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

คนจำนวนมากป่าวร้องตะโกนถึงหายนะซึ่งจะเกิดขึ้น

และมีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันไม่รับฟัง

ในฐานะของช่างภาพสัตว์ป่า ผมยืนยันว่าสัตว์ที่ทำงานด้วยยากมากคือนกยูง เพราะความฉลาดและการระวังภัยสูง นกยูงจึงไม่ใช่สัตว์ป่าที่บันทึกภาพได้ง่ายๆ

ผมเชื่อว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่มอง "เห็น" สัตว์ป่า ย่อมรับรู้ในความจริงนี้

และผมก็เชื่ออีกเช่นกันว่า มีคนจำนวนมากรู้ดีว่าในโลกนี้ไม่มีนกยูงตัวไหนโง่

ที่ "โง่" จริงๆ นั้นดูเหมือนจะไม่ใช่นกยูง

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา