eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์ตอบจากงานสิ่งแวดล้อมโลกประจำปี 2551

นายก “ปากตลาด” ทรัพยากรธรรมชาติจะล่มจม

                เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานสิ่งแวดล้อมโลก  ที่เมืองทองธานีและได้กล่าวถึงโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น  ว่ามีกลุ่ม NGO  เป็นผู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นและยังกล่าวต่อไปอีกว่า ไม้ในป่าที่บริเวณอ่างเก็บน้ำในโครงการแก่งเสือเต้นมีเพียง  50,000  ต้นเท่านั้น  และมีนกยุง  3  ตัว  คำพูดนี้ทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจและอยากรู้ความหมายของคำกล่าวที่นายกพูดนั้นหมายถึงอะไร 

1.  ไม้  50,000  ต้นนั้น  หมายความว่าไม่มีความสำคัญกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม  ที่รัฐบาลได้จัดงานสิ่งแวดล้อมโลกขึ้นทุกปี  มีผู้ใหญ่ขึ้นมาเป็นประธานอันทรงเกียรติและเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับคนที่รู้จักรักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม  อย่างเช่นทรัพยากรป่าไม่ที่กำลังร่อยหลอและถูกทำลายลงไปทุกวัน  พวกเราไม่เข้าใจความหมายและคำพูดของผู้ที่เป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้  ว่าท่านมีมุมมองต่อการจัดงานสิ่งแวดล้อมโลกของทุกปีอย่างไร 

อีกประเด็นหนึ่งที่ชาวบ้านยังไม่พอใจต่อคำพูดของท่านนายกที่ใช้คำว่า   “มีแค่ต้นไม่  50,000  ต้น”  ซึ่งขัดต่อความเป็นจริงและความรู้สึกที่ชาวบ้านดูแลรักษามาด้วยชีวิต  การที่พูดอย่างนี้พวกเราอยากให้ท่านนายกมาพิสูจน์ความจริงกับชาวบ้าน  โดยให้มานับต้นไม้ด้วยตนเองและชาวบ้านจะให้ความร่วมมือทุกประการ  และพร้อมที่จะ “ดูแลความปลอดภัย”  ให้กับท่านนายกอย่างเต็มที่  หากการนับต้นไม้เป็นไปอย่างที่นายกพูด  มีแค่ 50,000  ต้น   เราชาวตำบลสะเอียบพร้อมที่จะให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นได้เลย  แต่ถ้ามากกว่า  50,000  ต้น  แล้ว  เราขอให้ท่านนายกหยุดพูดเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นไปจนวันตาย  เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจของชาวบ้านที่ดูแลรักษาป่ามาด้วยชีวิต  โดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ถ้าหากท่านไม่มาพิสูจน์ความจริงกับชาวบ้าน  พวกเราถือว่าท่านเป็น  “คนปากตลาด”  พูดแบบไม่มีข้อมูลสร้างความเสื่อมเสียให้กับบุคคลอื่น  เรื่องใหญ่ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นผู้นำของประเทศ

2.  สำหรับเรื่อง  “ นกยุงหน้าโง่ “  นั้น  ถ้าหากความหมายเป็นนกยุงจริงพวกเราคิดว่านกยุงน่าจะฉลาดกว่าสิ่งมีชีวิต  “บางตัว”  ที่ยังกลัวความเดือดร้อนต่อวิถีชีวิตของมันเอง  ไม่ใช่นกยุงที่จะต้องยอมทุกลำบากเพื่อให้คนอื่นมาเสวยสุข โดยตัวเองต้องยอมตายเอาดาบหน้า  แต่ถ้าท่านนายกเปรียบนกยุงเป็นคน บางคน หรือบางกลุ่มนั้น  ท่านต้องคิดดูว่าคนที่อยู่กับน้ำท่วมโดยธรรมชาติมาตั้งแต่ไหนแต่ไรจนเป็นวิถีชีวิตปกติแล้ว  เขายังไม่ขอย้ายไปไหน  แต่ทำไมต้องทำให้คนที่อยู่ดีๆ เสียสละและไม่รู้ว่าใครจะได้ผลประโยชน์ จากการเสียสละของพวกเขาที่ยอมให้มีการสร้างเขื่อนโดยไม่รู้ชะตะกรรมและอนาคตของตนเองว่าจะเป็นอย่างไร  ไม่มีใครรับผิดชอบได้

เรื่องของวิถีชีวิตของคนอยู่กับป่า  ดูแลป่า  และได้ประโยชน์จากป่า  ถือว่าเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน  เราดูแลป่า ป่าก็ดูและเรา  เป็นไปตามแบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น  โดยที่ช่วยกันดูแลป่าไม้  ซึ่งในยุคปัจจุบันทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนยังพูดถึงปัญหาโลกร้อน  การที่นายกเชื่อว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนต้องสร้างเขื่อน  ที่มีผลกระทบต่อป่าไม้อย่างมหาศาลนั้นเป็นความเชื่อของท่าน  แต่พวกเราเชื่อว่าการมีป่าน่าจะแก้ปัญหาโลกได้ดีกว่าการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างเขื่อน

ในนามชาวบ้านตำบลสะเอียบขอประนามคำพูดของท่านนายกที่พูด “ปากตลาด”  พูดโดยไม่มีข้อมูลและใช้อำนาจของนายกผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น  โดยที่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นที่มีความรู้ความสามารถในแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้หลายวิธี   และเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบที่ดีกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่  ที่เอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง  และกลุ่มที่เข้ามาหาผลประโยชน์ได้แล้วออกไป

คณะกรรมการชาวบ้านตำบลสะเอียบ

7 มิถุนายน 2551 ณ ขื่อเมือง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา